Skip to main content
sharethis

"การเมืองไทย เดอะ มิวสิคัล: พรรคนี้มีเพลงฮิต" การสื่อสารทางการเมืองผ่านเพลงหาเสียงในการเลือกตั้งปี 2562

หากจะคิดถึงเสียงของการเลือกตั้ง ก็คงจะหนีไม่พ้นเสียงประกาศของรถหาเสียงที่วิ่งไปตามถนนในชุมชนต่างๆ พร้อมประกาศนโยบายพรรคและชักชวนให้พ่อแม่พี่น้องเข้าคูหาไปกาเบอร์นั้นเบอร์นี้ และแน่นอนว่าอีกเสียงที่มาพร้อมกับรถหาเสียงก็คงจะหนีไม่พ้น “เพลงหาเสียง” 

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าดนตรีถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเสมอ ตั้งแต่ในฐานะเครื่องมือถ่ายทอดอำนาจรัฐ ไปจนถึงเครื่องมือในการประท้วงอำนาจรัฐ ไม่อย่างนั้นเราคงไม่มีเพลงปลุกใจ และคงไม่มีเพลงเช่น “แสงดาวแห่งศรัทธา” หรือ  “ประเทศกูมี” ในการเลือกตั้งก็เช่นกัน ดนตรีถูกใช้เป็นเครื่องมือถ่ายทอดอุดมการณ์ของพรรคการเมืองและสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรค ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีเพลงหาเสียงหลากหลายแนวด้วยกัน

แนวเพลงหลากหลายจากลูกทุ่งสามช่าจนถึงแร็ป

เราจะสังเกตได้ว่าเพลงหาเสียงส่วนมากมักเป็นเพลงแนวป็อบ ลูกทุ่ง หรือเพื่อชีวิต เช่น เพลง “คิดใหม่ ทำใหม่ กล้าเปลี่ยนแปลง” ของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมาในแนวป็อบใสๆ เพลง “พรรคเพื่อไทย หัวใจเพื่อเธอ” และเพลง “ประชาธิปัตย์มาแล้ว” เป็นเพลงที่เขียนในแนวลูกทุ่งสมัยใหม่จังหวะครึกครื้น แถมยังใช้น้ำเสียงและสไตล์คล้ายเพลงของอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำ นปช. และแกนนำพรรค ซึ่งชี้นำไปถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองในอดีตโดยที่ตัวเนื้อเพลงไม่ต้องพูดถึงเลย

ส่วนเพลง “สามช่าอนาคตใหม่” ของพรรคอนาคตใหม่ก็มาในแนวลูกทุ่งพร้อมกับจังหวะสามช่า ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าทำไมถึงเลือกจังหวะสามช่า และเลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงาน แต่ก็อาจจะเป็นได้ว่าพรรคต้องารขยายกลุ่มฐานเสียง อีกทั้งธนาธรเองก็เป็นนักธุรกิจเจ้าของโรงงาน จึงอาจต้องการแสดงความใกล้ชิดกับกลุ่มฐานเสียงกลุ่มนี้ แถมยังมีเพลง “อนาคตใหม่คักๆ” ของผู้ลงสมัครส.ส. จังหวัดกาฬสินธุ์ เขต1 ที่ช่วงหลังของเพลงเป็นแบบหมอลำ นอกจากนี้ยังมีเพลงแนวอื่นๆ เช่นเพลง The Future of Our Country เพลงร็อคที่ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดบทเพลงเพื่อพรรคอนาคตใหม่ และเพลงทุ่งฝันวันใหม่ ซึ่งได้รับคัดเลือกจากโครงการ “ร่วมสร้างอนาคตใหม่ผ่านเสียงดนตรี” มาในแนวเพลงอะคูสติกซอฟต์ๆ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ให้ศิลปินเข้ามาช่วยกันแต่งเพลงให้พรรค ความหลากหลายนี้อาจจะสะท้อนความตั้งใจอยากจะสร้างภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองที่รวมความหลากหลายและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

และยังมีเพลง “ทลาย” ของพรรคภูมิใจไทยที่เป็นเพลงแร็ป นำเสนอภาพของ “นักเลงน้ำดี” ที่จะมา “ทลายทุกข้อจำกัด” ใช้เพลงแร็ปบรรยายนโยบายทุกอย่างได้ครบถ้วนสมบูรณ์ และพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการแทรกท่อนแร็ปที่พูดถึงนโยบายของพรรคลงไปในเพลง “ประชาธิปัตย์มาแล้ว” ด้วย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพราะแนวเพลงเหล่านี้เป็นที่นิยมและเข้าถึงง่าย การเขียนเพลงแนวนี้จึงเป็นประโยชน์ในการเข้าถึงกลุ่มฐานเสียงของพรรค 

นอกจากนี้ในฐานะที่เพลงหาเสียงเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอุดมการณ์และนโยบายของพรรค การทำเพลงให้ติดหูคนฟังจึงเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายทอดเนื้อหาและยังทำให้พรรคเป็นที่จดจำอีกด้วย อีกทั้งยังมีบางพรรคที่มีการใช้ภาษาถิ่นในเพลงหาเสียง เช่นเพลง “อนาคตใหม่คักๆ” ที่เป็นเพลงหมอลำในภาษาอีสานเพื่อให้เข้าถึงฐานเสียงในพื้นที่ และเพลง “มาร์ชประชาชาติ” ของพรรคประชาชาติ ซึ่งมีทั้งเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษามลายู สะท้อนทั้งภาพของพรรคการเมืองที่สนับสนุนสังคมพหุวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธ์ และอาจรวมไปถึงความต้องการแสดงความใกล้ชิดกับฐานเสียงใหญ่ในภาคใต้ คือกลุ่มวาดะห์ ขั้วสำคัญของพรรค อีกด้วย 

หากยังสังเกตให้ดี จะพบการใช้คำในเนื้อเพลงของแต่ละเพลงนั้นสอดคล้องกับอุดมการณ์ของพรรคและยังนำเสนอนโยบายของพรรคไปพร้อมๆกัน เช่น เพลง “พรรคเพื่อไทย หัวใจเพื่อเธอ” นำเสนอภาพของพรรคที่ใกล้ชิดกับประชาชน โดยคำว่า “เธอ” ในเพลงคือหมายถึงประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของพรรค และยังบอกอีกว่า จะ “รักเธอทุกวัน ไม่เปลี่ยนไม่ผัน ก็มีแต่เธอ” ซึ่งมีความน่าสนใจ เนื่องจากเพลงหาเสียงส่วนมากมักไม่เขียนเนื้อเพลงที่พูดกับประชาชนโดยตรง นอกจากนี้เพลงยังเป็นเครื่องมือในการนำเสนอนโยบายพรรค ซึ่งเน้นการแก้ปัญหาสังคมเช่นปัญหาความยากจนและปัญหายาเสพติด พัฒนาเศรษฐกิจ และยังมีการบอกอีกว่าพรรค “เป็นห่วงพวกเราจะค้าขายไม่ดี” มีการบอกว่า “เพื่อไทยเฝ้ามองก็เจ็บปวดหัวใจ” เมื่อเห็นว่าประชาชนมีปัญหา และบอกว่าทุกข์ของประชาชนคือ “ทุกข์ของแผ่นดิน” ซึ่งพรรคเพื่อไทยอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ขอแค่ให้ประชาชนจะลงคะแนนเสียงให้ โดยย้ำว่าให้เลือกพรรคเพื่อไทยเพื่อ “เอาไปแก้ปัญหา” นั่นเอง

นอกจากนี้ยังสามารถตั้งข้อสังเกตได้อีกว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีการพูดถึงเผด็จการหรือประชาธิไตยในเพลงเลย และไม่ได้พูดถึงอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือทักษิณ ชินวัตรเลย ซึ่งอาจเป็นได้ว่าเป็นเพราะความเกี่ยวข้องตรงนี้เป็นที่รู้ๆกันอยู่แล้ว หรือไม่ก็เป็นเพราะพรรคต้องการลดความเสี่ยงกับ กกต. หรือต้องการลดกระแสโต้กลับจากฝั่งที่ไม่ได้สนับสนุนก็เป็นได้ ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงเลือกเน้นจุดขายที่นโยบายแทน โดยชูเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เน้นย้ำว่าเลือกตั้งครั้งนี้ให้เลือกพรรคเพื่อไทย เพื่อ “เอาไปแก้ปัญหา เรื่องความยากจน” และเสนอนโยบายที่เข้ากับความฝันของกลุ่มฐานเสียงที่เป็นกลุ่มชนชั้นกลางถึงล่าง เช่นการเสนอจะเข้ามาแก้ปัญหาผลิตผลทางการเกษตรขายไม่ได้ราคา หรือที่ว่า “จะส่งลูกหลานไปเรียนเมืองนอกเมืองนา พอจบกลับมาได้พัฒนาบ้านเมือง”

ในมิวสิควีดิโอที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2561 นั้นยังชูภาพสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่ง 2 เดือนต่อมาทางพรรคก็ได้ประกาศชื่อว่าเป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอันดับ 1 โดยเสนอภาพสุดารัตน์ไปพบปะประชาชน สร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นแคนดิเดตนายกฯที่เข้าถึงได้และรับฟังปัญหาของประชาชน 

"ประชาธิปัตย์มาแล้ว" เวอร์ชั่นลูกทุ่งไฮบริดรับเลือกตั้ง 2562

ส่วนเพลง “ประชาธิปัตย์มาแล้ว” เวอร์ชั่นเลือกตั้ง 2562 พรรคประชาธิปัตย์ใช้กลยุทธในการนำเสนอคล้ายกับเพลงของพรรคเพื่อไทย คือนำเสนอนโยบายพรรคและสร้างภาพลักษณ์ของพรรคที่ต้องการให้ผู้ฟังรับรู้ ซึ่งเพลงนี้มีความน่าสนใจตรงที่ว่าใช้ทำนองเพลงลูกทุ่ง ทั้งๆที่ฐานเสียงใหญ่ของพรรคคือชนชั้นกลางในเขตกรุงเทพมหานครและในเขตภาคใต้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าต้องการเข้าถึงกลุ่มฐานเสียงอื่นนอกจากกลุ่มดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังใช้ทำนองของเพลงเก่าจากเมื่อแปดปีที่แล้ว แต่เปลี่ยนเนื้อเพลงส่วนอื่นนอกจากท่อนฮุคและเปลี่ยนแนวเพลงให้เป็นลูกทุ่งน้อยลง มีความเป็นเพลงป็อบมากขึ้น ส่วนท่อนที่บรรยายนโยบายพรรคก็เปลี่ยนจากเสียงร้องเป็นท่อนแร็ป ซึ่งอาจเป็นการ “อัพเดท” ให้เพลงฟังดูเป็นสมัยนิยมมากขึ้นแต่ยังคุ้นหูผู้ฟังที่อาจจะจำทำนองเพลงเดิมได้ นอกจากนี้การแร็ปอาจจะใช้อธิบายนโยบายได้ครบถ้วนกว่า ซึ่งสังเกตว่าในเพลงนี้พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอนโยบายที่เข้ากับสมัยนิยม เช่น เสนอนโยบายเทคโนโลยี สมาร์ทซิตี้ นโยบายสร้างสวนเพื่อลดปริมาณฝุ่น นโยบายส่งเสริมe-commerce เป็นต้น

ส่วนท่อนฮุคของเพลงร้องว่า “ซื่อสัตย์มีความจริงใจ อยู่คู่คนไทยมานานหนักหนา ใกล้ไกลบุกไปทุกที่ พระแม่ธรณีที่พวกเราศรัทธา” ซึ่งเป็นการนำเสนออัตลักษณ์ที่พรรคต้องการนำเสนอ ทั้งความเป็นพรรคที่อยู่มานาน ผ่านวิกฤตทางการเมืองมาได้โดยไม่เคยถูกยุบพรรค และมีการพูดถึงพระแม่ธรณีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพรรคอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีความน่าสนใจอีกอย่างคือมีการเอ่ยชื่อหัวหน้าพรรคในเพลง 

ช่วงกลางเพลงมีการเปลี่ยนเนื้อจาก “ประชาธิปัตย์เขามา” เป็น “อภิสิทธิ์เขามา” และมีการบรรยายสรรพคุณของหัวหน้าพรรคตามที่พรรคอยากนำเสนอ คือ “ซื่อสัตย์ มีความจริงใจ ไม่เกรงใจใคร ชนทุกปัญหา” และ “ยึดมั่นในคุณธรรม ไม่แบ่งชนชั้น รับฟังพี่น้องว่า” ซึ่งสะท้อนภาพของนักการเมืองที่ลงมือทำงานและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และยังอาจตีความได้อีกด้วยว่าอัตลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์นั้นไม่อาจแยกออกจากตัวของอภิสิทธิ์ในฐานะนักการเมืองได้

ในเพลง "ประชาธิปัตย์มาแล้ว" เวอร์ชั่นปี 2562 นี้ยังมีการแทรกท่อนแร็ปที่บรรยายนโยบายพรรคอย่างตรงไปตรงมาและชัดเจน และสัญญากับผู้ฟังว่า ประชาธิปัตย์ “ทำได้” และจะ “ชนทุกปัญหา” ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์จะมีลักษณะเป็นพรรคที่เกรงใจพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้ “ไม่เกรงใจใคร ชนทุกปัญหา” อย่างที่เพลงว่า ซึ่งอาจตีความได้ว่าการที่เพลงหาเสียงของพรรคนำเสนอภาพลักษณ์ที่ต่างไปอาจเป็นความต้องการกลบจุดอ่อนของพรรคและลบภาพลักษณ์แบบเดิมๆ ก็เป็นได้

ชาติพัฒนาและชาติไทยพัฒนา การสืบมรดกทางการเมืองผ่านเพลงหาเสียง

เพลง No Problem ของพรรคชาติพัฒนา หยิบยกวลีเด็ด “no problem” ของอดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ก่อตั้งพรรค รวมถึงนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า พัฒนาอินโดจีน ซึ่งทำให้ต้องตั้งคำถามว่านโยบายที่พรรคเลือกนำเสนอเหล่านี้เหมาะสมกับยุคสมัยหรือไม่ หรือว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ผูกโยงตัวพรรคกับมรดกตกทอดจากผู้ก่อตั้งพรรค ชูความเกี่ยวพันเพื่อให้ตรงใจฐานเสียงเดิม

ส่วนเพลงของพรรคชาติไทยพัฒนา เล่าประวัติของพรรคว่าเริ่มมาจากพรรคชาติไทย ซึ่งปัจจุบันแตกออกเป็นสองขั้ว คือพรรคชาติพัฒนา และพรรคชาติไทยพัฒนา และนำเสนอภาพว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งนำโดยกัญจนา ศิลปอาชา จะมาเป็นผู้ “รับไม้ต่อภารกิจอันยิ่งใหญ่” ในการพัฒนาชาติจากพรรคชาติไทย ชูนโยบายสร้างสังคมปรองดอง ปฏิรูปการเมือง พัฒนาเศรษฐกิจ ทำงานในระดับรากหญ้า พร้อมวลีเด็ด “เราทำมากกว่าพูด” ซึ่งนอกจากทั้งสองพรรคนี้จะมีความเกี่ยวข้องกันแล้ว เพลงของทั้งสองพรรคยังนำเสนอมรดกทางการเมืองที่รับสืบทอดมาก่อนจะนำเสนอนโยบาย ซึ่งนี่อาจเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของพรรคในยุคปัจจุบันโดยผูกโยงกับแกนนำพรรครุ่นก่อนๆ เพื่อรักษาฐานเสียงเดิมของพรรคก็เป็นได้

สามช่าอนาคตใหม่-ทุ่งฝันวันใหม่ : เพลงที่มาก่อน #ฟ้ารักพ่อ

เพลง “สามช่าอนาคตใหม่” ชูนโยบาย “ปลด-ปรับ-เปิด” และแสดงจุดยืนที่ว่าประเทศต้องมีประชาธิปไตย เช่นในเนื้อเพลงที่ร้องว่า “มาแล้วพรรคอนาคตใหม่ สีทองผ่องอำไพ ประชาธิปไตยต้องเบ่งบาน ร่วมมือร่วมต้านเผด็จการ เพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน ระบอบประชาธิปไตย” นอกจากนี้เพลงยังนำเสนออุดมการณ์ที่จะพาประเทศเดินไปข้างหน้า ด้วยการใช้เนื้อเพลงเช่น “สองมือสองขาก้าวไป” และการนำเสนอนโยบาย “ปลดล็อคอุปสรรค ที่ทำให้ชะงักสังคมไม่ก้าวเดิน” นอกจากนี้ยังเน้นย้ำอุดมการณ์ที่จะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตของชาติ อย่างที่ในเพลงร้องว่า “กระจายอำนาจให้ประชาชนส่วนใหญ่ ร่วมตัดสินใจอนาคตตัวเอง” และ “ประชาชนจงเจริญในระบอบประชาธิปไตย” และยังสะท้อนภาพของพรรคที่มีความตั้งใจจะแก้ปัญหาต่างๆ ของประเทศตั้งแต่ระดับโครงสร้าง และให้ความสำคัญกับประเด็นเสรีภาพและความเท่าเทียม นับว่าเพลง “สามช่าอนาคตใหม่” เป็นหนึ่งในเพลงหาเสียงจำนวนน้อยที่แสดงจุดยืนต่อต้านเผด็จการ

นอกจากนี้ยังมีเพลง “ทุ่งฝันวันใหม่” เพลงที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ “ร่วมสร้างอนาคตใหม่ผ่านเสียงดนตรี” ซึ่งแสดงจุดยืนต้านเผด็จการอย่างชัดเจน ชักชวนทุกคนมา “วาดแผ่นดินให้งดงาม ดอกไม้บานกลางทุ่งใหม่ ต้นประชาธิปไตยได้เติบโต” และบอกว่าให้ช่วยกันดูแลต้นประชาธิปไตยดังกล่าวนี้ให้ออกดอกผล ให้ “พ้นโพยภัย จากเหลือบไรที่เกาะกินแผ่นดินนี้” 

โดยเพลงนี้ใช้การอุปมาที่เปรียบประชาธิปไตยเป็นต้นไม้ที่ต้องได้รับการดูแลจึงจะเติบโตได้ และเปรียบระบอบเผด็จการเป็นเหลือบไรที่ทำให้แผ่นดินไม่งอกงาม นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาพของดอกไม้ซึ่งเป็นสัญญะของสิ่งสวยงาม ที่จะบานได้ใน “ทุ่งใหม่” ซึ่งอาจสื่อถึงอนาคตใหม่ที่จะถูกสร้างขึ้น ถ้าหากคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีอำนาจทางการเมือง ซึ่งจะเป็นอนาคตที่สวยงาม อีกทั้งยังแสดงความหวังที่ใน “ทุ่งหญ้าฟ้านี้” คนจะเท่าเทียมกัน แถมในมิวสิควีดิโอยังปิดท้ายด้วยภาพของนักดนตรีที่อุ้มเด็กน้อยในชุดสีส้ม สีประจำพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งอาจสื่อได้ว่าเราควรสร้างประเทศที่ดีให้เด็กๆ ได้มีอนาคตที่สวยงาม หรือมองได้อีกทางว่าเยาวชนนั้นคือ “อนาคตใหม่” ของประเทศไทย 

เนื้อเพลงเชิดชูประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการจากเสรีรวมไทย ไทยรักษาชาติ และสามัญชน

ส่วนเพลงของพรรคเสรีรวมไทย มีเนื้อร้องว่า “ประชาธิปไตยให้ดำรงคงคู่ฟ้าสถาพร” และ “ปฎิวัติรัฐประหารต้องหยุดยั้ง เพราะทำลายชาติพังทั้งระบบครบวงจร” และในเพลง “คิดใหม่ ทำใหม่ กล้าเปลี่ยนแปลง” ของพรรคไทยรักษาชาติ ก็มีท่อนที่ร้องว่า “มีประชาธิปไตยเป็นพื้นฐาน” 

ส่วนเพลง “เราคือเพื่อนกัน” ที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคสามัญชนนั้นเขียนขึ้นหนึ่งปีหลังจากการรัฐประหารปี 2557 ในช่วงที่กลุ่ม 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ถูกจับขึ้นศาลทหาร เพลงนี้อาจไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อการหาเสียงโดยตรง แต่ก็สะท้อนอัตลักษณ์ของพรรคที่เกิดจากกลุ่มคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เน้นย้ำว่านี่คือพรรคของคนธรรมดา ซึ่งเห็นได้จากการเลือกใช้คำเช่น “มวลชน” และ “เสรีชน” และย้ำว่าจะ “ไม่ยอมให้ผู้ใดมาทำลายลิดรอนสิทธิเสรีที่เรามีตราบที่เรายังหายใจ” นอกจากนี้การเลือกใช้คำว่า “เพื่อน” และ “คนใต้ฟ้าเดียวกัน” มากกว่า “ประชาชน” อาจสื่อถึงอุดมการณ์ของพรรคที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม นอกจากนี้เพลงนี้ยังมีสัญญะที่น่าสนใจคือในท่องของนักร้องชาย มีการใช้คำที่สื่อถึงเสียงฝีเท้าของมวลชน และสื่อถึงการกระทำที่เป็นรูปธรรม ส่วนท่อนของนักร้องหญิง ใช้คำที่เป็นนามธรรม เปรียบจุดหมายปลายทางที่มุ่งไปหาเป็นแสงดาว 

เพลงหาเสียงกับโจทย์เลือกตั้งยุค คสช. ประชาธิปไตยหรือปากท้อง

เราไม่อาจลืมได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้เงาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และห้าปีภายใต้รัฐบาล คสช. ดังนั้นเพลงหาเสียงเช่น “สามช่าอนาคตใหม่” “เสรีรวมไทย” และ “เราคือเพื่อนกัน” จึงเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมโดยตรงของการใช้ชีวิตในสังคมไทยยุค คสช. ซึ่งทำให้พรรคการเมืองเหล่านี้เลือกจะนำสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาเป็นหนึ่งในอุดมการณ์หลักของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้

กรณีนี้ต่างจากเพลงของพรรคประชาธิปัตย์ ที่แต่งไว้ตั้งแต่การเลือกตั้งคราวที่แล้ว และเพลงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งชูนโยบายแก้ปัญหาปากท้องและไม่พูดถึงปัญหาทางการเมือง ซึ่งทั้งสองเพลงอาจแสดงถึงความต้องการย้อนกลับไปก่อนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ในยุคที่พรรคการเมืองยังหาเสียงด้วยนโยบาย โดยไม่ต้องการขุดคุ้ยประวัติศาสตร์บาดแผลของการชุมนุมทางการเมือง ทั้งการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ในปี 2553 และการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในปี 2557 ก็เป็นได้ ดังนั้นถึงแม้ว่าเพลงของพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ใช่ผลผลิตของยุคคสช. แต่การเลือกใช้เพลงเดิม และรวมถึงเพลงของพรรคเพื่อไทยที่เพิ่งแต่งขึ้น ก็อาจแสดงถึงวิธีการตอบสนองต่อช่วงเวลาที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาล คสช. อีกแบบหนึ่งก็เป็นได้

"รวมพลังประชาชาติไทย" ปลุกใจคนไทยช่วยกันทำให้บ้าน "มั่นคง" "ร่มเย็น" สืบไป

ทั้งนี้ เพลงหาเสียงที่ไม่ได้นำเสนอนโยบายก็มีเช่นกัน เช่น เพลง “รวมพลังประชาชาติไทย” ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่นอกจากจะใช้จังหวะเพลงมาร์ชแบบสากลแล้วยังมีเนื้อหาค่อนไปทางเพลงปลุกใจมากกว่าเพลงหาเสียงอีกด้วย โดยชูความเป็นชาติไทยในฐานะสิ่งที่ต้องปกปักรักษาไว้ และใช้การอุปมาอุปไมยว่าประเทศเป็นบ้านที่คนไทยต้องมาช่วยกันทำให้ “มั่นคง” และ “ร่มเย็น” สืบไป นอกจากนี้ยังกำหนดกรอบของความเป็นไทยและหน้าที่ของคนไทยไว้ว่าต้อง “เทิดทูนมหากษัตริย์อยู่เหนือเกล้า เชิดชูศาสนาด้วยความศรัทธา สร้างความเข้มแข็ง ให้รากของไทยยิ่งแกร่ง และพร้อมจะมอบให้ลูกหลาน ช่วยสืบสาน บ้านเรา”

นอกจากนี้ยังเนื้อเพลงว่า “เทิดทูนมหากษัตริย์อยู่เหนือเกล้า” ซึ่งมีเนื้อเพลงและทำนองคล้ายคลึงกับท่อนหนึ่งในเพลง “ภูมิแผ่นดิน นวมินทร์มหาราชา” คือท่อนที่ร้องว่า “เทิดไท้ นบน้อมเทิดทูล ธ เหนือเกล้า”

ดังนั้นเพลงนี้แทนที่จะกล่าวถึงตัวพรรครวมพลังประชาชาติไทยในฐานะองค์กรทางการเมืองแล้ว กลับไปทำหน้าที่ในการเสริมสร้างอัตลักษณ์ชาติไทยแบบตามขนบแทน นอกจากนี้ยังอาจมองได้อีกว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ในฐานะที่มีสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. เป็นหัวหน้าพรรค ก็ได้รับสืบทอดวาทกรรม “คนดี” มาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่ม กปปส.ด้วย โดยใช้ภาพของ “คนดี” ตามขนบแบบไทยๆ ที่ต้องเก็บกระเป๋าเงินที่หล่นไปคืนเจ้าของ และพาคุณยายข้ามถนน ซึ่งในเพลงนี้ พรรครวมพลังประชาชาติไทยแสดงตัวว่าเป็นผู้คุมกฎ กำหนดกรอบนิยามของคำว่า “คนดี” และ “คนไทย” ดังนั้นตัวเพลงจึงมีหน้าที่เป็นเพลงปลุกใจให้รักชาติและเป็น “คนดี” มากกว่าจะหาเสียงให้พรรค

พรรคพลังประชารัฐและการย้ำซ้ำๆ ว่า "เป็นพรรคของประชาชน"

ส่วนเพลงของพรรคพลังประชารัฐ เปิดมาด้วยเนื้อเพลงที่ว่า “ พรรคพลังประชารัฐ คือพรรคของประชาชน” ซึ่งอาจมองได้ว่าการเน้นย้ำว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นเพลงของประชาชนนั้นก็เพื่อกลบข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นพรรคที่ คสช. และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม แถมท่อนต่อมายังอธิบายสาเหตุการก่อตั้งพรรคว่า “ประชาชนทั่วประเทศไทย มาร่วมจิตร่วมใจเป็นพลังประชารัฐ มารวมตัวกันร่วมแก้ปัญหา ร่วมพัฒนาเดินหน้าในนามรัฐ” รวมทั้งย้ำว่าต้องการสลายความขัดแย้งทางการเมืองของสีเสื้อ และปรับเปลี่ยนประเทศไทย และบอกว่าพรรคพลังประชารัฐคือ “ทางเลือกใหม่ของการเมืองไทยวันนี้” ซึ่งในฐานะพรรคที่มีข้อกังขาอยู่แล้วว่าจะเป็นเครื่องมือให้ คสช. เข้ามาสืบทอดอำนาจ การชูว่าพรรคจะมาเป็นทางเลือกใหม่คงจะทำให้ถูกตั้งคำถามมากกว่าว่าพรรคพลังประชารัฐจะเป็นทางเลือกใหม่หรือจะเป็นตัวแทนอำนาจเก่ากันแน่ 

การย้ำชื่อพรรค และการชักชวนผู้ลงคะแนน

จะเห็นได้ว่าลักษณะที่เหมือนกันในเพลงของแทบทุกพรรคคือการย้ำชื่อพรรค และชักชวนให้ผู้ฟังมาลงคะแนนเสียงให้พรรค เช่น ในเพลงของพรรคภูมิใจไทยก็มีการย้ำว่าให้ “กาภูมิใจไทย เลือกภูมิใจไทย”

ส่วนเพลง “คิดใหม่ ทำใหม่ กล้าเปลี่ยนแปลง” ของพรรคไทยรักษาชาติ นอกจากจะมีการย้ำชื่อพรรคแล้ว ยังมีการแทรกคำว่า “ไทยรักไทย” “พลังประชาชน” และ “เพื่อไทย” เข้าไปในเนื้อเพลงด้วย ซึ่งในทางการเมืองแล้วนี่อาจจะเป็นการแสดงถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างพรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทยแบบไม่ต้องบอกตรงๆก็เป็นได้ 

เพลงแบบไหนเหมาะกับรถแห่หาเสียง

ไม่เพียงเท่านั้น การย้ำชื่อพรรคซ้ำๆ ก็อาจจะมีสาเหตุมาจากการที่ว่า เพลงหาเสียงเหล่านี้จะต้องถูกนำไปเปิดบนรถหาเสียง ซึ่งแน่นอนว่าการที่รถวิ่งไปเรื่อยๆ ผู้ฟังไม่สามารถเลือกได้ว่าจะได้ยินท่อนไหนของเพลง ดังนั้นการย้ำชื่อพรรคให้มากที่สุดจึงเป็นทางเลือกที่ดี เพื่อให้ผู้ฟังสามารถรู้ทันทีที่ได้ยินว่านี่คือเพลงของพรรคไหน เช่นพรรคเพื่อไทย ย้ำชื่อพรรค 11 ครั้ง และพรรคพลังประชารัฐย้ำชื่อพรรคถึง 17 ครั้ง และพรรคประชาธิปัตย์ พูดชื่อพรรค

ในแทบทุกวรรคของเพลง ส่วนเพลงที่ไม่ได้มีลักษณะย้ำเนื้อหาเดิมๆ เช่นเพลงของพรรคอนาคตใหม่ และเพลงของพรรครวมพลังประชาชาติไทย อาจจะเหมาะกับการใช้งานในรูปแบบอื่น เช่นการเปิดในงานปราศรัย มากกว่าการเปิดบนรถหาเสียง

แน่นอนว่าจุดหมายหลักที่ทุกพรรคต้องการจะไปถึงจากการสื่อสารนี้ก็คือการเรียกคะแนนเสียงนั่นเอง แต่ในฐานะเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองแล้ว เพลงหาเสียงถือเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจในฐานะเครื่องมือในการนำเสนออุดมการณ์ทางการเมืองและเป็นเครื่องมือที่พรรคการเมืองใช้สร้างภาพลักษณ์ที่ตนอยากนำเสนอต่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อีกทั้งยังเป็นสื่อกลางในการนำเสนอนโยบายในแบบที่เข้าถึงง่ายและน่าจดจำ จึงอาจถือได้ว่าเพลงหาเสียงคือภาพสะท้อนภูมิทัศน์การเมืองไทยในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562นั่นเอง

บทความนี้นำเสนอเพลงหาเสียงจำนวนไม่มาก แต่หากผู้อ่านสนใจ สามารถรับชมและรับฟังเพลงอื่นๆ ได้ในวีดิโอที่ประกอบการนำเสนอนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net