Skip to main content
sharethis

ดูร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่เดิม สนช. มีคิวพิจารณาพรุ่งนี้ (แต่ล่าสุดถูกถอนออกไป) ทำให้การทรมานและอุ้มหายเป็นอาชญากรรม เปิดช่องให้ขอข้อมูลที่คุมขัง การตามหาตัวคนที่สูญหาย แต่ก็ยังมีทางให้เจ้าหน้าที่รัฐปิดข้อมูล ด้านอดีตผู้ถูกทรมานระบุ มี พ.ร.บ. ก็ดีแต่ไม่คาดหวัง นักกฎหมาย-นักสิทธิเล่าเส้นทางกฎหมาย กังวลหลายส่วนตกมาตรฐาน- ร่างฯ เคยดีและก้าวหน้ากว่านี้ 

  • ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะถูก สนช. พิจารณาในวันที่ 7 มี.ค. 2562 นี้ แต่ล่าสุดมีการถอนวาระออกไป
  • กฎหมายเป็นการผสานเอาสองอนุสัญญาที่ไทยไปลงนามไว้มาเป็นกฎหมายตัวเดียวกัน ได้แก่อนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานฯ และอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญฯ
  • ร่างฯ ทำให้การทรมานและบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรม เจ้าหน้าที่ที่มีความผิดจะต้องรับโทษ มีการให้ญาติ อัยการ พนักงานสืบสวนขอศาลให้เจ้าหน้าที่รัฐเปิดเผยสถานที่คุมขังระงับการทรมานหรือบังคับให้สูญหาย และให้เจ้าหน้าที่รัฐบันทึกข้อมูลหลายอย่างเมื่อมีการคุมขัง เคลื่อนย้ายบุคคล
  • ยังมีหลายข้อที่นักสิทธิและนักกฎหมายตั้งข้อกังขา เช่น การตัดเรื่องการเลือกปฏิบัติ และการรับผิดรับชอบของผู้บังคับบัญชาเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาซ้อมทรมาน ที่ไม่ต้องรับโทษเหมือนกับเมื่อมีการบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือการตีความเรื่องการทรมานแบบปลายปิด ทั้งที่ในระดับสากลนั้นเป็นปลายเปิด

5 มี.ค. 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีกำหนดที่จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. (ฉบับปรับปรุง) ในวันที่ 7 มี.ค. นี้ในวาระด่วน หลังผ่านเส้นทางการริเริ่ม ถูกตีตก เขียนใหม่ วนไปเช่นนี้นานเนิ่นตั้งแต่ปี 2557เพื่อปลายทางของการมีกฎหมายที่ทำให้การทรมานและการบังคับสูญหายด้วยเจ้าหน้าที่รัฐกลายเป็นอาชญากรรม

(หมายเหตุ: ในเวลา 19.20 น. ของวันที่ 6 มี.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่พบวาระพิจารณาร่างฯ ดังกล่าวในวันที่ 7 และ 8 มี.ค. 2562 ทั้งนี้ สนช. กำหนดให้วันที่ 8 มี.ค. เป็นวันพิจารณากฎหมายวันสุดท้าย)

อาจฟังดูไกลตัวใครหลายคน แต่การทรมานและบังคับสูญหายก็เกิดขึ้นวนเวียนในสังคมไทย ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา องค์กร Protection International ระบุว่าประเทศไทยมีการบังคับบุคคลให้สูญหาย 90 กรณี มี 81 กรณียังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงกรณีการอุ้มหายล่าสุดอย่าง พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยง ที่หายตัวไปตั้งแต่เดือน เม.ย. 2557 และกรณี เด่น คำแหล้ ประฐานโฉนดชุมชนโคกยาวที่ต่อสู้ในประเด็นที่ทำกินและหายตัวไปเมื่อเดือน เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา

ยังไม่นับกรณีการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยภายใต้การควบคุมตัวของตำรวจหรือทหารที่มีออกมาตามหน้าข่าวเรื่อยมา คู่ขนานกับการปฏิเสธจากทางเจ้าหน้าที่รัฐว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น

หากร่างฯ ดังกล่าวได้รับอนุมัติ มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ก็จะเป็นครั้งแรกที่ไทยกำหนดให้การทรมานและบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอาชญากรรม มีบทลงโทษ และยังเพิ่มอำนาจ สิทธิให้กับผู้เสียหายหรือญาติผู้เสียหายที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

ฟังดูดีมีอนาคต แต่หากดูเบื้องหลังก่อนที่ร่างฯ จะเข้าสู่การพิจารณาในวันพรุ่งนี้จะพบว่ามีเส้นทางการปรับแก้ยาวเหยียด และมีประโยคคำถามจากผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน

แก้แล้วแย่กว่าเดิม?: ร่างใหม่พรบ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ที่ไม่สอดคล้องหลักสากล

ประชาไทชวนดู ทำความเข้าใจเนื้อหาของร่างฯ ว่าทำอะไรได้บ้าง มีใครที่เกี่ยวข้อง ย้อนดูเส้นทางยาวไกลของที่มาผ่านคำบอกเล่าของนักกฎหมาย นักสิทธิที่บอกว่าร่างฯ เคยดีกว่านี้ จนเกือบกลายเป็นนวัตกรรมทางกฎหมายที่ก้าวหน้า และจบด้วยความคาดหวังของผู้ที่ระบุว่าเคยถูกซ้อมทรมานภายใต้การคุมขังของเจ้าหน้าที่รัฐถึงการมีกฎหมายที่จะทำให้สิ่งที่พวกเขาประสบมากลายเป็นอาชญากรรม

อะไร: รูปร่าง หน้าตาของการทรมาน อุ้มหาย

ร่างฯ นิยามคำสำคัญไว้ดังนี้

การทรมาน หมายความว่า การกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ

การกระทำให้บุคคลสูญหาย หมายความว่า การจับ ขัง ลักพา หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยผู้กระทำปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าวหรือไม่ให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร หรืออยู่ที่ใด

เจ้าหน้าที่รัฐ หมายถึง บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับแต่งตั้ง อนุญาต การสนับสนุนหรือการยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย ให้ใช้อำนาจรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย

ผู้ได้รับความเสียหาย หมายความว่า บุคคลที่ได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจจากการทรมานหรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย

คณะกรรมการ หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันป้องกันและปราบปรามการทรมานและกรกระทำให้บุคคลสูญหาย

อย่างไร: ทำให้การทรมาน อุ้มหายเป็นอาชญากรรม โทษเจ้าหน้าที่รัฐถูกปรับลดลง

ในมาตรา 5 ระบุว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าข่ายเป็นการทรมาน คือการทำให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

  1. ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
  2. ลงโทษผู้ถูกกระทำ โดยมีเหตุจากการกระทำซึ่งผู้นั้นหรือบุคคลที่สามได้กระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำ หรือ
  3. ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม

ร่างฯ ปัจจุบันได้ตัดข้อที่ 4 ที่รวมเรื่องการ “เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม” ออกไป

มาตรา 6 ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐจับ ขัง ลักพา หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายโดยเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นปฏิเสธว่าไม่ได้ทำ หรือไม่ให้ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นตายร้ายดีอย่างไร หรืออยู่ทีใด ถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐนั้นกระทำผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย

ในมาตรา 7-9 ระบุว่า การกระทำความผิดตามมาตรา 5 และ 6 นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร โดยให้นำมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาญา (ไม่เป็นเหตุยกเว้นไม่ให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน) โดยหากเป็นการทำให้สูญหาย จะต้องสืบสวนจนกว่าจะพบหรือปรากฎหลักฐานน่าเชื่อถือว่าบุคคลนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว

ในมาตรา 10 นั้น ให้สามี ภริยา บุพการี และผู้สืบสันดานของผู้ถูกบังคับให้สูญหายเป็นผู้เสียหาย หมายความว่าบุคคลเหล่านี้สามารถเข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ได้

ร่างฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งชื่อ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” (ต่อไปนี้เรียกว่า คณะกรรมการ) มีหน้าที่คร่าวๆ ได้แก่การกำหนดนโยบาย แผนงาน มาตรการป้องกันปราบปรามการทรมาน การกระทำ การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการบังคับสูญหาย กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์การฟื้นฟูเยียวยาด้านร่างกายและจิตใจ

ในหมวดที่ 3 เรื่องการป้องกันการทรมานและบังคับสูญหาย ระบุให้ เจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมตัวบุคคล ต้องบันทึกข้อมูลผู้ถูกจำกัดเสรีภาพไว้ อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังนี้

  1. ข้อมูลที่ใช้ระบุตัวตน จำพวกชื่อ นามสกุล รูปถ่าย ตำหนิรูปพรรณ อื่นๆ
  2. วัน เวลา สถานที่ของการถูกจำกัดเสรีภาพ ต้องระบุสถานที่ปลายทางที่รับตัวผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ
  3. คำสั่งและเหตุแห่งการออกคำสั่งจำกัดเสรีภาพ
  4. เจ้าหน้าที่รัฐผู้ออกคำสั่ง
  5. วัน เวลา สถานที่ของการปล่อยตัว
  6. ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพร่างกาย ก่อน-หลัง การจำกัดเสรีภาพของผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ หากผู้นั้นถึงแก่ความตายระหว่างการควบคุม จะต้องระบุสาเหตุการตายและสถานที่เก็บศพ

ญาติหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ มีสิทธิร้องขอเจ้าหน้าที่รัฐผู้จำกัดเสรีภาพให้เปิดเผยข้อมูลผู้ถูกจำกัดเสรีภาพได้ (มาตรา 22) และถ้าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่เปิดเผยข้อมูล ญาติ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีสิทธิร้องขอศาลอาญาหรือศาลจังหวัดในท้องที่ที่มีการทรมานหรือบังคับสูญหายให้สั่งเปิดเผยข้อมูลได้

ในมาตรา 24 ระบุว่า เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดถูกทรมาน หรือถูกทำให้สูญหาย ให้บุคคลต่อไปนี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลอาญาหรือศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา เพื่อให้มีคำสั่งระงับการกระทำเช่นว่า

  1. ผู้ได้รับความเสียหาย สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น
  2. พนักงานอัยการ
  3. พนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
  4. คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ

หากศาลเห็นสมควรก็ให้ไต่สวนโดยพลัน และให้ศาลมีอำนาจเรียกเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลใดมาให้

ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสาร หรือวัตถุอื่นใดประกอบการไต่สวนหรือสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐนำตัวผู้ได้รับความเสียหายมาที่ศาลด้วยก็ได้ นอกจากนั้นศาลยังมีอำนาจออกคำสั่งเพื่อระงับการทรมาน เยียวความเสียหายเบื้องต้นได้ด้วย (มาตรา 25)

ทั้งนี้ในมาตรา 23 หากเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าการเปิดเผยดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนคดีอาญา ก็อาจไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพก็ได้

ความผิดตาม พ.ร.บ. นี้ถือเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ หมายความว่าให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้รับสอบสวน แต่หากเจ้าหน้าที่สังกัดดีเอสไอเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเสียเอง ก็ให้พนักงานสอบสวนทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน แต่ถ้ามีกรณีที่ทั้งสองฝ่ายข้างต้นถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ก็ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายให้พนักงานอัยการเป็นผู้รับผิดชอบสอบสวนแทนก็ได้ (มาตรา 26)

ในส่วนมาตรา 27 ระบุให้ความผิดตาม พ.ร.บ. นี้อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

ในส่วนบทลงโทษนั้นมีการปรับลดลงมาดังนี้

  • มาตรา 28-29 สำหรับผู้กระทำความผิดฐานทรมานหรือทำให้บุคคลสูญหาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท (จากเดิมจำคุก 5-15 ปี ปรับ 100,000-300,000 บาท)
    • ถ้าทำให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท (จากเดิมจำคุก 15-25 ปี ปรับ 200,000-500,000 บาท)
    • ถ้าทำให้เสียชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 200,000-400,000 บาท (จากเดิมโทษจำคุกเป็น 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 300,000-1,000,000 บาท)

มาตรา 30 ระบุว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 28 และ 29 ทำแก่คนอายุไม่เกิน 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางกายหรือจิตใจ หรือผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้เพราะอายุหรือความป่วยเจ็บ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่ระบุในมาตรา 28 และ 29 กึ่งหนึ่ง

ที่น่าสังเกตคือ ในมาตรา 31 ยังระบุว่า ผู้บังคับบัญชาที่ผู้ใต้บังคับบัญชาภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของตนทำความผิดตามมาตรา 29 หรือ 30 วรรคสอง และไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด หรือไม่ส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เท่ากับว่ากฎหมายออกแบบให้ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่รับผิดชอบ และควบคุมเพียงการกระทำให้บุคคลสูญหายเท่านั้น แต่ไม่มีส่วนในเรื่องของการทรมาน

หลายคำถามบนร่างฯ แม้มีดีกว่าไม่มี แต่ยังตกมาตรฐานสากล

การมีกฎหมายที่ป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ทรมานหรือบังคับให้บุคคลสูญหาย ย่อมเป็นนิมิตรหมายที่ดี อย่างน้อยญาติของผู้เสียหายก็มีเครื่องไม้เครื่องมือในการติดตาม ขอข้อมูลของผู้เสียหาย และยังทำให้มีบทลงโทษแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการขัดกับหลักสากลที่ไทยไปลงนามเอาไว้ก่อน แต่เมื่อมองย้อนไปถึงกระบวนการจัดทำกฎหมายฉบับนี้แล้วพบว่ายังมีปัญหาและคำถามอยู่ในบางประเด็น

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ (ผอ.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในผู้ทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีข่าวเรื่องการซ้อมทรมานอยู่เนืองนิจภายใต้การประกาศภาวะฉุกเฉินและกฎอัยการศึก และยังเป็นผู้ที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงตัวเนื้อหาในร่างฯ มาตั้งแต่ต้น กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้น ร่างฯ ดังกล่าวเกือบเป็นนวัตกรรมทางกฎหมายที่รวมเอาสองอนุสัญญาที่ไทยไปลงนามเอาไว้ ได้แก่อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UNCAT ลงนามเมื่อปี 2550  และให้สัตยาบันแล้วในปีเดียวกัน)  และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICCPED ลงนามเมื่อปี 2555 ยังไม่ให้สัตยาบัน) ไว้ในกฎหมายฉบับเดียว แต่ก็ถูกปรับแก้ ตัดทอนไปเยอะ

“มีนักวิชาการคิดว่า เนื่องจากกฎหมายอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันปราบปรามการทรมานนั้นเก่า มีอายุ 30 ปี อนุสัญญาว่าด้วยเรื่องคนหายนั้นใหม่ เพิ่งจะมีไปไม่ถึง 10 ปี ดังนั้นความทันสมัยของการป้องกันการละเมิดสิทธินั้นต่างกันมาก นักกฎหมายไทยก็ชาญฉลาด เลยเอาสองอันนี้มารวมกันกลายเป็นร่างฯ ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ซึ่งถ้ามันผ่านไปในรูปแบบเมื่อปี 2557 แบบที่นักวิชาการประดิษฐ์มันมาแล้วให้เหมาะสมกับข้อจำกัดต่างๆ ตามอนุสัญญาต่างๆ ที่เราดำเนินการ พี่ก็ยกธงเลยว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลกที่เอาสองอนุสัญญามารวมกัน แต่เวลาก็ผ่านมานานมากจนฉบับที่เข้า สนช. มัน (ถูก) บิดเบือน ตัดทอนจนแทบไม่เหลือหลักการสำคัญๆ ไว้แล้ว” พรเพ็ญกล่าว

สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมายโครงการเอเชีย-แปซิฟิก จากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ให้ข้อมูลในรายละเอียดต่างๆของร่างฯ ที่เธอยังตั้งประโยคคำถามเอาไว้หลายประการ

“ด้านที่เราค่อนข้างกังวลคือเรื่องการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ ที่ไม่ครอบคลุมบทนิยามและขอบเขตการรับผิดตามหลักสากลอย่างสมบูรณ์” สัณหวรรณกล่าว

“ข้อกังวลคือเรื่องระยะเวลาที่กฎหมายจะถูกนำไปใช้ จะมีหลักกฎหมายทั่วไปคือ กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง คือต้องมีกฎหมายในตอนนั้นแล้วคุณทำผิด ในรายงานคณะกรรมาธิการของ สนช. ก็ระบุว่าจะเอาหลักนั้นมาใช้ คือจะใช้กับกรณีที่เกิดขึ้นในอนาคตนับจากวันประกาศกฎหมายป็นต้นไป ไม่บังคับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันบังคับใช้กฎหมาย แต่ในลักษณะการบังคับให้สูญหายนั้นจะมีลักษณะเด่นคือ ความผิดเกิดขึ้นเป็นห่วงโซ่ เกิดขึ้นต่อเนื่องกันจนกว่าเราจะพบตัวผู้สูญหาย อย่างในวันนี้ กรณีคุณสมชาย (นีละไพจิตร) ที่หายไป 15 ปี แล้ววันนี้ยังถือว่ามีการกระทำผิดเกิดอยู่ในทางสากล การตีความในประเด็นนี้จึงต้องดูว่าจะสัมพันธ์กับหลักสากลหรือเปล่า (คนที่ตีความคือคนใช้กฎหมาย เช่น ศาล อัยการ ตำรวจ)”

ในส่วนบททั่วไปที่กำหนดองค์ประกอบที่เข้าข่ายเป็นการทรมาน (มาตรา 5) ที่ปรึกษาจาก ICJ มองว่าการจำกัดขอบเขตของวัตถุประสงค์การทรมานแคบกว่าหลักสากล เนื่องจากหลักสากลนั้นปลายเปิด เป็นการยกตัวอย่างว่าพฤติการณ์ต่อไปนี้เข้าข่ายเป็นวัตถุประสงค์การทรมาน แต่ร่างฯ ฉบับนี้ปิดเอาไว้เพียงไม่กี่ประเภท เช่นเดียวกันกับเรื่องพฤติการณ์การถูกทำให้สูญหาย (มาตรา 6)  ที่ถ้าไปอ่านตัวบทของ ICCPED ก็จะพบว่าผู้กระทำผิดนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกับที่ออกมาปฏิเสธ เพราะตามธรรมชาติก็อาจจะไม่ใช่คนเดียวกันอยู่แล้ว จึงกังวลว่าในทางปฏิบัติอาจมีหลายกรณีที่ไม่เข้ากับนิยามกฎหมาย

เธอยังกังวลในการตัดมาตรา 12 ออกไปจากร่างฯ เรื่องห้ามรัฐส่งคนออกนอกราชอาณาจักร หากพิสูจน์แล้วว่าบุคคลนั้นจะเผชิญอันตราย แม้หลักการดังกล่าวจะเป็นจารีตระหว่างประเทศอยู่แล้วว่าด้วยการไม่ส่งคนกลับไปเผชิญอันตราย (Non-Refoulement) แต่ยังไม่มีแนวทางการใช้ดุลพินิจชัดเจนในไทย ซึ่งถ้าหากบัญญัติไว้ในกฎหมายก็จะดีและหนักแน่นกว่า เพราะจะเป็นตัวช่วยฝ่ายบริหารที่เป็นผู้ตัดสินใจเมื่อมีเหตุการณ์

ในส่วนการรับผิดรับชอบของผู้บังคับบัญชา (มาตรา 32) สัณหวรรณอธิบายว่าในอีกมุมหนึ่งมาตรานี้เป็นมาตรการป้องกันการกระทำผิดได้ในทางจิตวิทยาที่สำคัญ เพราะเมื่อผู้บังคับบัญชามีสิทธิที่จะมีความผิดด้วย ก็จะป้องกันและระมัดระวังไม่กระทำการที่อาจส่งผลให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำความผิด

แต่ในประเด็นที่ตัดความรับผิดชอบเรื่องการทรมานออกนั้น สัณหวรรณมองว่ามีสาเหตุจากอนุสัญญา UNCAT ที่เป็นกฎหมายเก่า ไม่มีหลักรับผิดรับชอบดังกล่าวชัดเจน ร่างฯ ของไทยจึงเหลือไว้แค่ตามที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญา ICCPED เรื่องการทำให้บุคคลสูญหายเท่านั้น แต่อันที่จริงแล้วคณะกรรมการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติได้เคยตีความ UNCAT และมองว่ากรณีการทรมานเองผู้บังคับบัญชาก็หลีกเลี่ยงความรับผิดไม่ได้ เรื่องนี้พรเพ็ญมองว่าเป็นความลักลั่นเพราะเป็นความผิดที่เอามารวมในกฎหมายเดียวกันแล้วแต่กลับไม่มีโทษเหมือนกัน

นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าร่างกฎหมายนี้ยังไม่ครอบคลุมประเด็นการการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีที่ยังไม่ถึงขั้นการทรมานชัดเจนนัก

อีกหนึ่งข้อกังวลโดยพรเพ็ญก็คืออำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐตามมาตรา 23 ที่อาจไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ หากมองว่าการเปิดเผยดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้สามารถข้ามผ่านข้อบังคับอื่นๆ ในร่างฯ ฉบับนี้หมด ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องตีความต่อไปหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้

ท่ามกลางประโยคคำถามมากมาย สัณหวรรณและพรเพ็ญเองยังมองว่ามีหลายส่วนที่ดี โดยเฉพาะการมีกฎหมายที่ญาติผู้เสียหายสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสืบเสาะ ตามหาผู้ถูกทรมาน สูญหาย และยังมีบทกำหนดโทษต่อผู้กระทำความผิดด้วย

“อยากชื่นชมว่า สนช. ชุดเผด็จการชุดนี้กล้าหาญและร่วมกันสร้างเจตนารมณ์ว่า การซ้อมทรมานและอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญา ถือเป็นคุณูปการเรื่องเดียวที่เห็น” ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าว

อดีตผู้เสียหายเห็นด้วยกับการมีกฎหมาย แต่ไม่คาดหวัง 

อนุพงศ์ พันธชยางกูร อดีตกำนัน ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ผู้เคยระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมทรมานขณะถูกควบคุมตัวเมื่อปี 2552 เห็นด้วยที่จะมีกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย ควรมีไว้เผื่ออนาคตได้ใช้ แต่ว่าไม่ได้คาดหวังว่าความเปลี่ยนแปลงว่าจะมีขึ้นในเร็ววันนี้

“โดยความเห็นส่วนตัว ร่างฯ นี้เห็นด้วย อยากให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาและสามารถคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหายได้ และผู้เสียหายก็สามารถจะใช้สิทธิในการต่อสู้ เรียกร้องความเป็นธรรมกับตัวเอง ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้าไม่เป็นผู้บริสุทธิ์ก็ว่ากันไปตามตัวบทกฎหมาย”

“คิดว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่นัก เพราะการใช้อำนาจตรงนี้ของผู้มีอำนาจก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีอยู่ เพียงแต่เขาปฏิเสธว่าไม่ทำ”  อนุพงศ์กล่าว

ในอดีต อนุพงศ์เป็นเคยฟ้องร้องเรื่องการถูกซ้อมทรมานขณะถูกควบคุมตัวเมื่อปี 2547 ในข้อหาปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส โดยอ้างว่าระหว่างถูกควบคุมตัวนั้นถูกรุมซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพ แต่ท้ายที่สุดกลับถูกศาลฎีกาตัดสินว่าแจ้งความเท็จแล้วติดคุกเสียเองหนึ่งปี เขาเพิ่งออกจากเรือนจำเมื่อราวเดือน พ.ย. 2560

ศาลฎีกาสั่งจำคุก กำนันโต๊ะเด็ง แจ้งความเท็จถูกซ้อม คดีปล้นปืนปี 47

อนุพงศ์เคยเล่าในเวทีเสวนา “10 ปี กฎอัยการศึก 10 ปี ณ ปาตานี กับการบังคับให้สูญหายของเสียงเรียกร้อง” เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2557 ที่ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดยมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ว่า เขาได้ถูกพล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา และพวกซ้อมทรมานจนฟันกรามหัก 2 ซี่ ถูกจับมัดขาแล้วโยนตัวห้อยจากเฮลิคอปเตอร์กลางทะเล ถูกจับใส่ห้องเย็น และสุดท้ายยังได้จับตัวลูกและเมียของเขามาทรมานต่อหน้า เพื่อให้เขาแถลงข่าวยอมรับว่าเป็นคนปล้นปืนในค่ายทหารปี 2547 และให้ใส่ร้ายหะยีสุหลง พ่อของเด่น โต๊ะมีนา และกลุ่มวาดะห์ในพรรคไทยรักไทยว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน เขาจึงยอมรับสารภาพเพื่อแลกกับความปลอดภัยของลูกเมีย

สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน อาชีพขับแท็กซี่ อดีตแกนนำ นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) รุ่น 2 ตกอยู่ในความควบคุมของทหาร 7 วันหลังถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อ 9 มี.ค. 2558 และส่งมอบตัวให้ทหาร เนื่องจากตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนพัวพันกับคดีขว้างระเบิดที่ศาลอาญาเมื่อปี 2558

สรรเสริญระบุว่าเขาถูกซ้อมทรมานเพื่อให้เขาสารภาพ กระบวนการที่เจ้าหน้าที่พยายามทำให้สารภาพคือ การขู่ตะคอก ตบหน้า ชกเขาที่บริเวณลิ้นปี่และชายโครง รวมถึงเหยียบบริเวณลำตัว รอยช้ำส่วนใหญ่เริ่มจางลงไปไปหมดแล้ว เหลืออยู่เพียงบางส่วน อย่างไรก็ตาม เขายังรู้สึกเจ็บชายโครงที่ถูกชก

เบื้องหลัง ‘สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน’ ไม่รับสารภาพ คดีระเบิดหน้าศาล

แม้ปัจจุบันเขาระบุว่าแผลดังกล่าวไม่ได้มีผลในการใช้ชีวิต แต่ก็ยังรอวันที่จะเดินหน้าพูดถึงความจริงเรื่องการถูกซ้อมทรมานต่อไปหลังจากมีรัฐบาลพลเรือน ในมุมมองของเขา มอง พ.ร.บ. ป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายนั้น ตามหลักการแล้วควรมี แต่ก็เหมือนกับอนุพงศ์ เขาไม่ได้คาดหวังอะไรกับการเปลี่ยนแปลงในเวลานี้ ด้วยเหตุผลเรื่องความชอบธรรมของ สนช. ที่ถูกแต่งตั้ง และกระบวนการมีส่วนร่วมของสาธารณะ

“โดยหลักการแล้วกฎหมายชิ้นนี้ การคุ้มครองสิทธิพลเมืองที่จะถูกละเมิดมันเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ผู้ที่จะกระทำได้ดีคือตัวแทนกลุ่มชนต่างๆ  ผู้มีสว่นได้เสีย สังคมก็ต้องมีส่วนที่แสดงความคิดเห็นประกอบ ไม่ใช่ตั้งตลกคณะใดแล้วมาแอบอ้างพูดว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วอ้างว่าเป็นกฎหมาย ก็จบ หรือกระบวนการพิจารณาก็ไม่มีส่วนร่วมของผู้มีสว่นได้เสียต่างๆ สำหรับผมไม่ได้คาดหวังอะไรกับพวกเขา” สรรเสริญกล่าว

หมายเหตุ: เวลา 19.20 น. ของวันที่ 6 มี.ค. 2562 มีการแก้ไขพาดหัว โปรย และเนื้อหาที่ระบุว่า สนช. จะพิจารณาร่างฯ ในวันพรุ่งนี้ (7 มี.ค. 2562) เนื่องจากพบว่ามีการถอนวาระออกไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net