Skip to main content
sharethis

วันที่ 14 ก.พ. หรือวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องจาก กกต. เพื่อตัดสินคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้พิพากษาเพียง 9 คน จะตัดสินชะตาการเมืองไทยทั้งประเทศ (อีกครั้ง)

คดีนี้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2562 ซึ่งเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของการเมืองไทย เมื่อ ทษช. เสนอทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว ต่อมาในวันเดียวกัน เวลา 22.45 น. จึงได้มีพระราชโองการออกมาว่าการเสนอชื่อดังกล่าวขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ และเป็นเรื่องมิบังควร

13 ก.พ.ที่ผ่านมา กกต. มีมติให้ยื่นฟ้องยุบ ทษช. กับศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องพิจารณาในวันที่ 14 ก.พ.2562 ซึ่งเป็นวันวาเลนไทน์ กล่าวอีกอย่างคือเป็นอีกครั้งแล้วที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินชะตาของการเมืองไทย

ตุลาการภิวัตน์ในการเมืองไทย

คดีของพรรค ทษช. อาจนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตุลาการภิวัตน์ในการเมืองไทย ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ศาลรัฐธรรมนูญได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤติการณ์การเมืองไทยรวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 9 ครั้งที่สำคัญ และตลอด 9 ครั้งที่สำคัญนั้นบ่งชี้ว่าสัญญาณไม่สู้ดีนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาโดยตลอด

ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่บังคับใช้หลังรัฐประหาร 2549 ได้มีการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นทั้งหมด 9 คน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตามคำแนะนำของ ส.ว. ในขณะนั้น ส.ว. จำนวน 73 คนมาจากการแต่งตั้ง ส่วนอีก 77 คนมาจากการเลือกตั้ง ตุลาการจำนวน 9 คนนี้ทำงานได้ 1 วาระ เป็นเวลา 9 ปี ในระหว่าง พ.ศ. 2556-2558 มีตุลาการลงจากตำแหน่งทั้งหมด 4 คน โดย 3 คนลงจากตำแหน่งเนื่องจากครบเกษียณอายุ และอีก 1 คนลงตำแหน่งด้วยการลาออก

ตุลาการอีก 5 คน ควรจะลงจากตำแหน่งหลังจากที่ครบวาระ 9 ปีแล้วในปี 2560 แต่ สนช. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช. ได้ต่ออายุให้กับตุลาการทั้ง 5 คน จนกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ หลังจากมีรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว มีการลดวาระการทำงานลงเหลือ 7 ปี และจำกัดอายุไว้ไม่เกิน 60 ปี

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ถูกนำมาใช้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ตุลาการ 5 คนที่อยู่มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 แต่กลับได้รับการผ่อนผันจาก สนช. ให้อยู่ต่อไปอีกจนกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งจะดำเนินการแต่งตั้งตุลาการชุดใหม่ นอกจากนี้ ตุลาการอีก 4 คนที่ได้รับการแต่งตั้งในช่วง พ.ศ. 2556-2558  ยังได้รับการผ่อนผันให้อยู่จนกว่าจะครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วย 

กล่าวอีกอย่างคือ ตุลาการชุดปัจจุบันทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งภายใต้ฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในปี 2561 สนช. ได้เพิ่มเงินเดือนให้กับตุลาการชุดนี้และองค์กรอิสระอื่น ๆ ประธานศาลรัฐธรรมนูญได้รับเงินเดือนเพิ่มจาก 125,590 บาท เป็น 138,090 บาทต่อเดือน ส่วนตุลาการคนอื่น ๆ ก็ได้รับการขึ้นเงินเดือนเช่นกัน จาก 115,740 บาทเป็น 131,920 บาท ตั้งแต่ที่มีศาลรัฐธรรมนูญมาหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ยังไม่เคยมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดเป็นผู้หญิงเลย แม้แต่คนเดียว

ศาลรัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้ง 24 มี.ค.62

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค ทษช. ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้ ผู้ลงสมัคร ส.ส. จำนวน 284 รายของพรรคจะหายไปจากการเลือกตั้งโดยทันที และหากไม่มีพรรค ทษช. แล้ว ค่ายทักษิณ (เพื่อไทย-เพื่อชาติ-ไทยรักษาชาติ) จะยิ่งตกอยู่ในสถานะลำบาก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นที่คาดการณ์กันว่าจะได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา 250 คนอยู่แล้ว จึงต้องการ ส.ส. อีกเพียง 126 ที่นั่งเท่านั้น เพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (รวมกันเป็น 376 เสียงจากทั้งหมด 750 เสียง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดให้ ส.ว. เลือกนายกได้ในช่วง 5 ปีแรก)

พรรคการเมืองของค่ายทักษิณจำเป็นต้องมี ส.ส. ทั้งหมด 376 ที่นั่ง จาก สส. เพื่อตั้งรัฐบาลพรรคเดียว หากไม่มี ทษช. พรรคการเมืองของค่ายทักษิณจะได้รับผลกระทบอย่างมากในเขตเลือกตั้งบางเขตได้ กรณีที่เป็นไปได้น้อยกว่าคือการเลื่อนคำวินิจฉัยออกหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค.นี้ หากเป็นเช่นนี้ ส.ส. ของพรรค ทษช. ที่ชนะเลือกตั้งจะยังคงสภาพเป็น ส.ส. อยู่ แม้พรรคจะถูกยุบไปแล้ว แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่พรรคพลังประชารัฐหรือพรรคอื่น ๆ จะโน้มน้าว ส.ส. กลุ่มนี้ให้เข้าร่วมกับพรรคของตน

คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพยายามถึงที่สุดไม่ให้มีการวินิจฉัยคดีในระหว่างช่วงหลังเลือกตั้งถึงช่วงหลังประกาศผลการเลือกตั้ง เพราะจะถือเป็นการทำให้คะแนนเสียงของประชาชนเป็นโมฆะ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือวิกฤติการณ์ทางรัฐธรรมนูญขึ้นได้

สถานะของพระราชโองการ

ความท้าทายคือศาลธรรมนูญจะพิจารณายุบพรรค ทษช. อย่างไร คนบางกลุ่มอาจเสนอได้ว่าพรรค ทษช. ไม่ได้ทำอะไรผิดเนื่องจากทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ได้สละตำแหน่งมาเป็นสามัญชนแล้ว จากการวิเคราะห์ของสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้สัมภาษณ์กับประชาไทไว้เมื่อ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา สาวตรี เห็นว่า “ถ้าสุดท้ายทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ตัดสินใจเป็นแคนดิเดตนายกฯ ต่อก็สามารถทำได้ เพราะไม่ได้มีรัฐธรรมนูญห้ามไว้”

วิธีการหนึ่งที่เป็นไปได้คือการใช้พระราชโองการที่ประกาศเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลา 22.45 น. ซึ่งเผยว่าทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ยังคงเป็นสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์อยู่ อย่างไรก็ตาม พระราชโองการก็ยังมีสถานะทางกฎหมายที่ไม่ชัดเจนนัก ในบทสัมภาษณ์ สาวตรีกล่าวว่าพระราชโองการไม่มีสถานะเป็นกฎหมาย เพราะไม่ได้มาจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร

“โดยเนื้อหาของพระราชโองการก็ไม่ใช่การสั่ง แต่เป็นการให้คำแนะนำ แม้ช่วงท้ายๆ ที่เหมือนจะตีความ ขยายความรัฐธรรมนูญออกไป แต่โดยภาพรวมไม่ได้มีคำสั่งที่ชัดเจนให้มีผลในทางกฎหมายใดๆ เลย ดังนั้น พระราชโองการไม่ใช่กฎหมายแน่ๆ และต่อให้เป็นพระราชโองการลงมา แต่โดยเนื้อหาก็ไม่ได้เป็นการสั่งให้ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงแต่ระบุว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ควรอยู่เหนือการเมือง ล่วงละเมิดมิได้ ทีนี้ก็ให้แต่ละฝ่ายไปคิดกันเองว่าควรจะเกิดอะไรต่อไปหลังจากนี้ ซึ่งแน่นอนว่าพระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับการที่ให้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ลงมาตรงนี้เท่านั้นเอง เป็นเหมือนคำบอกกล่าวว่าพระองค์ทรงคิดอย่างไร” สาวตรี กล่าว

สาวตรี กล่าวว่าในระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรแบบของไทย ต่อให้ศาลตีความออกมามีเหตุผลดีเพียงใด สิ่งนั้นก็ไม่มีผลบังคับใช้ในทางกฎหมาย เป็นเพียงการตีความขององค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรหนึ่งเท่านั้นเอง “มาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้น ยังไงก็ไม่สามารถตีความเกินไปกว่าตัวถ้อยคำที่อยู่ในกฎหมายได้” สาวตรีกล่าว

ถึงอย่างนั้น สาวตรี ก็ระบุว่าต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะนำพระราชโองการเป็นข้ออ้างในการวินิจฉัยหรือไม่

หมายเหตุ : แปลจาก "9 judges will decide the fate of Thai General Election" ซึ่งเผยแพร่เมื่อ วันที่ 18 ก.พ.2562 https://prachatai.com/english/node/7933

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net