Skip to main content
sharethis

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อ่านแถลงการณ์พรรคกรณีศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ ชี้ ตุลาการภิวัฒน์เป็นเครื่องมือทางการเมืองมานานกว่าทศวรรษ การยุบพรรค ไม่ส่งผลดีต่อประชาธิปไตย เสี่ยงถึงจุดที่สังคมกังขาจนหาจุดร่วมไม่ได้ ยุบพรรคก่อนเลือกตั้ง 17 วันส่งผลทางการเมือง ทำลายเจตจำนงประชาชนที่อยากเลือกพรรค ชวนประชาชนจับปากกาฆ่าเผด็จการในวันเลือกตั้ง

ปิยบุตร แสงกนกกุลอ่านแถลงการณ์ (ที่มา:Facebook/พรรคอนาคตใหม่ - Future Forward Party)

7 มี.ค. 2562 พรรคอนาคตใหม่ออกแถลงการณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ขึ้นอ่านแถลงการณ์ที่อาคารที่ทำการพรรคอนาคตใหม่และตอบคำถามผู้สื่อข่าว

สั่งยุบ ทษช. ตัดสิทธิ กก.บห.พรรค 10 ปี เหตุกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง

หัวหน้าพรรคทษช. ยันเจตนาบริสุทธิ์ แม้ถูกเพิกถอนสิทธิจะทำประโยชน์ให้บ้านเมืองต่อไป

แถลงการณ์พรรคอนาคตใหม่ เรื่อง ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

  1. ในรัฐเสรีประชาธิปไตย บุคคลที่มีแนวคิดอุดมการณ์เดียวกันย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐโดยผ่านการนำเสนอนโยบายเพื่อให้ประชาชนเลือก พรรคการเมืองจึงเป็นสถาบันการเมืองอันสำคัญยิ่งในระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอันจำเป็นที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น
  2. ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมา มีกระบวนการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง มีการยุบพรรคการเมืองซึ่งครองเสียงข้างมากมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ตรงกันข้าม การยุบพรรคการเมืองกลับทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยต่อการใช้อำนาจขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดที่ไม่อาจหา “ข้อยุติ” ที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้
  3. การยุบพรรคการเมืองในช่วงเวลาก่อนถึงวันเลือกตั้งเพียง 17 วัน ย่อมส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ด้วย ในประการแรก การยุบพรรคการเมืองเป็นการตัดโอกาสมิให้พรรคการเมืองที่ถูกยุบได้เข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง และทำลายเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการเลือกพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ประการที่สอง การยุบพรรคการเมืองในช่วงเวลานี้อาจทำให้ประชาชนเสียความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะดำเนินไปอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพรรคที่ถูกยุบเป็นพรรคที่มีจุดยืนต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.
  4. ในรัฐเสรีประชาธิปไตยประกอบไปด้วยความชอบธรรมสองประการ ประการแรก ความชอบธรรมจากฐานที่มาของอำนาจรัฐ ได้แก่ อำนาจของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง การเลือกผู้แทนราษฎรและรัฐบาล ประการที่สอง ความชอบธรรมจากการจำกัดการใช้อำนาจ ได้แก่ การประกันเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกอำนาจรัฐล่วงละเมิด และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่า ในรัฐเสรีประชาธิปไตยก็ไม่อาจยอมรับให้องค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสามารถใช้อำนาจในนามของการตรวจสอบตามอำเภอใจ

ขบวนการ “ตุลาการภิวัตน์” หรือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองตลอดกว่าทศวรรษ ไม่ได้ช่วยให้ความขัดแย้งทางการเมืองลดลง แต่กลับทำให้ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจถูกตั้งคำถาม จนกลายเป็นว่า ฝ่ายหนึ่ง ก็มองว่ารัฐบาลเสียงข้างมากใช้อำนาจโดยมิชอบ อีกฝ่ายหนึ่ง ก็มองว่าองค์กรตุลาการและองค์กรอิสระต้องการทำลายฝ่ายเสียงข้างมาก สภาพการณ์เช่นนี้ นำมาซึ่งการแตกขั้วทางการเมืองจนถึงที่สุด จนสังคมไทยไม่อาจหาฉันทามติได้

พรรคอนาคตใหม่เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ให้ได้ดุลยภาพ เคารพเสียงข้างมากพร้อมกับคุ้มครองเสียงข้างน้อย สร้างระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรตุลาการ และองค์กรอิสระที่ได้มาตรฐานแบบประชาธิปไตยสากลและสามารถควบคุมมิให้เสียงข้างมากใช้อำนาจโดยมิชอบได้ โดยไม่ต้องตกเป็น “เครื่องมือ” ในการกวาดล้างทางการเมือง

พรรคอนาคตใหม่ขอเรียกร้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ระบอบเผด็จการได้วางกลไกการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายไว้ แต่ก็ไม่อาจต้านทานอำนาจของประชาชนได้

24 มีนาคม 2562 จับปากกาฆ่าเผด็จการ เริ่มต้นยุติวงจรรัฐประหาร เปิดฉากการเมืองแบบใหม่ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

พรรคอนาคตใหม่

วันที่ 7 มีนาคม 2562

ปิยบุตรตอบคำถามนักข่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะมีการยุบพรรคใดๆ และการที่กรรมการบริหารพรรคต้องถูกตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ก็เป็นเรื่องที่เขามองว่ารุนแรง ส่วนการยุบพรรคการเมืองนั้น จริงอยู่ว่ารัฐเสรีประชาธิปไตยก็มีการยุบพรรค แต่เขาจะทำต่อเมื่อพรรคการเมืองมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เช่น การสร้างพรรคการเมืองที่สมาชิกมีแนวคิดล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เช่น พรรคที่สนับสนุนเผด็จการ หรือมีแนวคิดว่าต่อจากนี้ไปไม่ต้องมีการเลือกตั้งแล้ว หรือจะลิดรอนเสรีภาพประชาชน เป็นต้น

ปิยบุตรยังกล่าวว่า แท้ที่จริงแล้ว พรรคการเมืองคือการรวมกันของบุคคลที่มีความเห็นทางการเมืองตรงกัน การยุบพรรคก็เหมือนยุบองค์กรไป แต่ว่ายุบความคิดคนที่มารวมตัวกันไม่ได้ บทพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดคือ 13 ปีที่ผ่านมามีการยุบพรรคที่ครองเสียงข้างมากมาแล้วสองครั้ง ครั้งนี้อาจจะนับเป็นครั้งที่สามก็ได้ แต่ท้ายที่สุดความคิดก็ยังคงอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net