นิธิ เอียวศรีวงศ์: ประชาธิปไตยที่กินได้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลังจากใช้เอกสารชั้นต้นเป็นร้อยชิ้น ในภาษาต่างๆ เกือบสิบภาษา เพื่อบรรยาย “ยุคการค้า” ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว อดีตศาสตราจารย์ Anthony Reid ก็หันมาใคร่ครวญเกี่ยวกับ “รากเหง้าของความยากจน” ของภูมิภาคนี้

นี่เป็นปัญหาที่ชวนใคร่ครวญอย่างยิ่ง เพราะในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึงกลางศตวรรษที่ 17 อาจถือได้ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่รุ่มรวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เพราะได้เข้าร่วมในการค้าโลกอย่างใกล้ชิด ในฐานะภูมิภาคที่ทั้งขายและซื้อสินค้าจากตลาดใหญ่ๆ ทั่วโลก มีเงิน (ทั้งในรูปโลหะมีค่าและเงินตรา) หลั่งไหลเข้าสู่ภูมิภาคจากอเมริกา, จีน, อินเดีย, ตะวันออกกลาง และการถลุงภายในจำนวนมาก จนกระทั่งเศรษฐกิจเงินตรากระทบชีวิตของผู้คนอย่างกว้างขวาง เพราะการผลิตเชิงพาณิชย์ขยายตัวไปสู่ประชาชน แม้ในเขตที่อยู่ส่วนที่ไกลจากเมืองท่าชายฝั่งออกไป เช่น พริกไทย, ข้าว, กระวาน, กานพลู ฯลฯ เป็นต้น

ในศตวรรษที่ 16 ยุโรปมีเมืองที่มีพลเมืองถึง 100,000 คนเพียงสองเมือง แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมืองเช่นนั้นมีจำนวนไม่น้อย รวมทั้งอยุธยาด้วย (ซึ่งใหญ่กว่าลอนดอนหนึ่งเท่าตัว เพราะในช่วงนั้นลอนดอนมีประชากรเพียงประมาณ 5 หมื่น)

แต่พอถึงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รายได้ประชาชาติของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหลือเพียงนิดเดียว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศที่ได้ก้าวเข้าสู่ทุนนิยมเต็มตัวแล้ว (เช่นเท่ากับ 1/30 ของออสเตรเลีย)

ท่านศาสตราจารย์รีดค้นหารากเหง้าของความยากจนอย่างนักประวัติศาสตร์ คือดูว่ามันเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ของเมืองท่าซึ่งเคยรุ่งเรือง จนมักกลายเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรใหญ่ๆ (เช่น มะละกา, อาเจะห์, มักกะสัน, พะโค, อยุธยา, ละแวก ฯลฯ)

คำตอบโดยสรุปก็คือ ด้วยเหตุผลนานัปการ ภูมิภาคนี้ไม่มีโอกาสสะสมทุน ทั้งๆ ที่มีทุนไหลเข้ามาสู่มือพ่อค้าและท้องพระคลังของรัฐต่างๆ อย่างมหาศาล และด้วยเหตุดังนั้นจึงทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่สามารถสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการก้าวเข้าสู่ทุนนิยมเหมือนยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่น

ทรัพย์สมบัติมหาศาลของพ่อค้า ไม่มีกฎหมายหรือประเพณีรองรับที่มั่นคงแข็งแรงสักอย่างเดียว อาจถูกราชาหรือสุลต่านจับประหารเพื่อริบราชบาทว์เสียเมื่อไรก็ได้ วิธีเดียวที่จะสร้างความปลอดภัยให้แก่ทรัพย์ของตนคือแสวงหาอำนาจ ซึ่งในภูมิภาคนี้ไม่ใช่ที่ดิน แต่เป็นข้าคนหรือกำลังคน ต้องสะสมไว้ให้มาก ทั้งเพื่อเป็นกำลังป้องกันตนเองและถือเป็นเกียรติยศ

อีกวิธีหนึ่งคือแทรกตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำ ได้ดำรงตำแหน่งในราชสำนัก ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มกำลังผู้คนของตนขึ้นไปอีก ในเมืองไทยคือได้เป็นขุนนาง ส่วนในรัฐมลายูก็เป็นโอรังกายา (ภาษาไทยปัจจุบันคือ “บิ๊ก”) ที่มีตำแหน่งเจ้าท่าบ้าง, อัครมหาเสนาบดีบ้าง

แต่วิธีนี้ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยนัก เพราะสุลต่านองค์สุดท้ายของมะละกาก็จับอัครเสนาฯ ของตนที่ชื่อศรีมหาราชาฆ่าเสีย เพื่อริบทรัพยสมบัติเป็นของหลวง

ด้วยเหตุดังนั้น แม้มีทุนมาก แต่พ่อค้าใหญ่เหล่านี้ไม่สะสมทุนในรูปของสิ่งที่ถูกยึดได้ง่าย (fixed capital เช่นเรือกสวนไร่นาที่ใช้ผลิตสินค้าส่งออก หรือโรงงาน) นอกจากสำเภาที่ใช้ค้าขายแล้ว ก็ลงทุนไปกับความหรูหราต่างๆ เช่น เครื่องประดับทองคำ หรือเสื้อผ้าแพรพรรณ และการแสดงเกียรติยศ เช่น การเลี้ยงใหญ่ ทุนไม่เบนมาสู่การผลิตมากนัก กำไรได้จากการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ

การค้าระหว่างประเทศที่ภูมิภาคนี้มีบทบาทอย่างมาก มิได้อาศัยทุนมากเหมือนกัน สำเภาของเศรษฐีมักเปิดให้พ่อค้ารายย่อยได้เช่าพื้นที่ระวาง เพื่อขนสินค้าไปขายต่างแดนด้วยเสมอ แม้แต่พระคลังหลวงซึ่งผูกขาดสินค้านำเข้าบางอย่าง ก็มิได้จ่ายเงินให้แก่พ่อค้าเป็นก้อน แต่รับสินค้าไว้ก่อน และระบายออกขายตามช่องทางต่างๆ จึงรวบรวมเงินมาใช้คืนพ่อค้าอีกต่อหนึ่ง

นอกจากสะสมทุนไม่ได้แล้ว ก็แน่นอนว่าย่อมขยายกำลังของทุนไม่ได้ด้วย ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในกรุงอัมสเตอร์ดัมอยู่ระหว่าง 2.5 ถึง 5% ต่อปี (ถูกกว่าที่อาจกู้ได้จากกรุงเทพฯ แม้ในปัจจุบัน) ในขณะที่ในกรุงอาเจะห์อยู่ที่ 2% ต่อเดือน สำหรับลูกค้าชั้นดีเท่านั้น เพราะหากไม่ใช่ก็อาจเรียกถึง 5-6% ต่อเดือน

แสดงว่าทุนมีเหลือเฟือในยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือขณะนั้น แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อัตราดอกเบี้ยที่แพงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะทุนมีจำกัด แต่เพราะไม่มีกฎหมายและระบบบริหารที่ช่วยประกันหนี้ นอกจากเอาตัวลงเป็นทาส ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับหนี้รายใหญ่ แม้ว่าระบบกู้หนี้ยืมสินได้พัฒนาไปไกลในภูมิภาคนี้แล้วก็ตาม เช่น มีนายทุนชาวอินเดียออก “ตั๋วเงิน” ที่สามารถเอาไปขึ้นเงินตามเมืองท่าต่างๆ จากอินเดียถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ แต่ไม่มีกิจการธนาคารเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

ก็เข้าใจได้ไม่ยาก หากไม่มีหลักประกันที่เพียงพอให้แก่ทรัพย์ ใครจะเอาเงินไปรวมกันเพื่อหากำไรจากธุรกิจการเงินล่ะครับ

ยิ่งตกมาถึงกลางศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ราชาและสุลต่านของประเทศแถบนี้มีอำนาจมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้จากการค้าระหว่างประเทศ (ปืนไฟ, ปืนใหญ่, ทหารจ้างตะวันตก, ตัวหนังสือและการบริหารด้วยตัวหนังสือ ฯลฯ) จึงสามารถรวมศูนย์อำนาจไว้ในมือกษัตริย์ได้มากขึ้น เหล่าบิ๊กๆ ที่เคยสะสมกำลังผู้คนและกลืนเข้ามาในระบบบริหารถูกขจัดลิดรอนอำนาจจนแม้แต่จะสร้างบ้านหรูๆ อยู่ก็ไม่กล้า เพราะจะทำให้เป็นที่หวาดระแวงของพระราชา

อำนาจเด็ดขาดที่เอาไปใช้เพื่อกีดขวางการสะสมทุนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับรัฐของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น รัฐอาณานิคมของยุโรปเองก็ทำอย่างเดียวกัน เช่น ฟิลิปปินส์ภายใต้สเปน และชวาภายใต้บริษัทฮอลันดา ฝ่ายหลังมีอำนาจทางทหารสูงสุดในศตวรรษที่ 17 และใช้อำนาจนี้ไปในการผูกขาดสินค้าซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกหมด ไม่ว่าจะเป็นกระวาน, กานพลู, ยี่หร่า ฯลฯ หรือพริกไทย ไม่เฉพาะแต่ในดินแดนภายใต้อำนาจของตนเท่านั้น แต่รวมถึงราชอาณาจักรอื่นๆ ที่ยังเป็นอิสระอยู่ด้วย (เช่น บังคับผูกขาดหนังกวางจากอยุธยา เพื่อนำไปขายตลาดญี่ปุ่น)

ดังนั้น ยุคการค้าจึงสิ้นสุดลง เพราะบทบาทของภูมิภาคนี้ในการค้าโลกลดความสำคัญลงจนแทบไม่เหลือ มีแต่ตลาดจีนและอินเดียเท่านั้นที่ช่วยพยุงการค้าต่างประเทศไว้ได้บ้าง โอกาสที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการก้าวกระโดด เมื่อมหาอำนาจตะวันตกกลับเข้ามาใหม่พร้อมทุนนิยมจึงไม่เกิดขึ้น และกลายเป็นภูมิภาคที่ยากจนสืบมา

ผมนำเอาความเห็นของท่านศาสตราจารย์รีดมาย่นย่อเสนอ เพื่อชี้ให้เห็นว่าปัจจัยสำคัญของความยากจนในภูมิภาคของเรานั้นเกิดจากปัจจัยทางการเมือง ไม่ใช่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ อำนาจทางการเมืองที่ขาดการควบคุมถ่วงดุล ไม่ว่าจะเป็นของชาวพื้นเมืองหรือของชาวต่างชาติ ทำให้ทุนซึ่งไม่ขาดแคลนในภูมิภาคนี้ ไม่มีระบบที่จะช่วยให้เกิดการสะสมทุนขึ้นตลอดมา

ผมอยากให้สังเกตด้วยว่า สภาพคล้ายๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 300-400 ปีก่อน ก็ยังหลงเหลืออยู่มาถึงในยุคสมัยของเรา เช่น อำนาจทางการเมืองเป็นเงื่อนไขในการทำธุรกิจเสียยิ่งกว่าอื่นใด ทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ พัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้อำนาจทางการเมืองบีบบังคับให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ค่าตอบแทนที่ต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน แม้แต่สิงคโปร์ก็ไม่ยกเว้นในแง่นี้ แต่ยกเว้นในแง่ที่ว่า เมื่อเศรษฐกิจสมัยใหม่เริ่มเดินไปได้ดีแล้ว สิงคโปร์ก็ใช้อำนาจทางการเมืองบีบบังคับนายทุนให้จ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นตลอดมา ในขณะที่ประเทศอื่นยังมีแนวโน้มร่วมกับนายทุนในการกดค่าแรงให้ต่ำไว้ต่อไป

อำนาจทางการเมืองของภูมิภาคนี้ก็ยังถูกตรวจสอบควบคุมและถ่วงดุลน้อย หน้าของผู้นำทางการเมืองอาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่อำนาจที่แท้จริงของชนชั้นนำทั้งกลุ่มก็ยังคงเดิม

ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งช่วงนี้ หลายฝ่ายออกมาพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่ทุกฝ่ายมองความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก จนถึงขนาดบางพรรคเสนอแจกเงินให้กว้างขึ้นและมากขึ้น และหลายพรรคเสนอโครงการสวัสดิการที่ช่วยลดรายจ่ายของประชาชนลง

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้นมองเห็นได้ชัด แต่ต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกิดขึ้นจากมีเงินน้อยเฉยๆ มีเงินน้อยก็เพราะมีอำนาจน้อย จึงไม่อาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมแก่ตนเองได้ และแน่นอนก็ทำให้เข้าไม่ถึงบริการของรัฐ ซึ่งนอกจากทำให้มีทรัพย์น้อยลงแล้ว ยังมีอำนาจน้อยลงไปด้วย

ดังนั้น หัวใจสำคัญของการลดความเหลื่อมล้ำจึงไม่ได้อยู่ที่ทำให้คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ต้องทำให้เขามีอำนาจมากขึ้นด้วยต่างหาก และข้อนี้แหละที่ดูเหมือนพรรคการเมืองที่แข่งขันกันอยู่เวลานี้จะให้ความสำคัญน้อยเกินไป

ผมเข้าใจว่า “ประชาธิปไตยที่กินได้” เป็นคำขวัญซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน สมัยที่ยังมีคุณมด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) เป็นผู้ประสานงานหลัก ความหมายในครั้งนั้นก็คือ ประชาธิปไตยต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้กำกับควบคุมและใช้ทรัพยากรในวิถีทางที่เขาถนัดและทำได้ เช่น จับปลาในเขตปากมูล ถ้าประชาธิปไตยมีความหมายแต่เพียง ส.ส.โหวตกันในสภาให้เอาปากมูลไปผลิตกระแสไฟฟ้า ประชาธิปไตยเช่นนั้นชาวบ้านก็กินไม่ได้

แต่ดูเหมือนประชาธิปไตยที่ “กินได้” ในปัจจุบัน ความหมายจะเปลี่ยนไปสู่การ “กิน” จริงๆ เสียแล้ว เช่น การแจกเงินและสวัสดิการต่างๆ ให้ถึงมือประชาชน

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_173893

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท