Skip to main content
sharethis

กสม.จัดงานประกาศเกียรติยศ 'ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน' ประจำปี 62 เนื่องในวันสตรีสากล เรียกร้องคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ที่ถูกฟ้องกลั่นแกล้งจากการต่อสู้เพื่อประโยชน์สาธารณะ วงเสวนาอัดรัฐและเอกชน ข่มขู่คุกคาม ทั้งติดตามและใช้ กม.ฟ้องปิดปาก ประสานเสียงยกเลิก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ชุมนุม ต้องการ รบ.ที่มาจากการเลือกตั้งมาแก้ปัญหาให้

7 มี.ค.2562  วันนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) จัดงานวันสตรีสากล 8 มีนาคม และการประกาศเกียรติยศ “ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2562 ประกอบด้วย เครือข่ายผู้หญิงรักษ์น้ำอูน เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย เครือข่ายปกป้องสิทธิผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มูลนิธิผู้หญิง สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ และ พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของน.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี 2553 โดยมี อังคณา นีละไพจิตร และ เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมมอบรางวัลประกาศเกียรติยศ 

อังคณา กล่าวเปิดงานว่า หลายปีที่ผ่านมาในประเทศไทยมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนทั้งหญิงและชายถูกสังหาร ถูกอุ้มหาย ถูกทำร้าย หรือถูกคุกคาม รวมถึงการคุกคามทางเพศ ซึ่งส่วนมากรัฐไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายได้ และบ่อยครั้งที่มีการนำเรื่องเพศสภาพมาลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ แต่ในปัจจุบันรูปแบบการคุกคามได้เปลี่ยนไป นักปกป้องสิทธิฯ ซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงมักเผชิญการคุกคามทางกฎหมาย โดยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะที่เป็นการฟ้องร้องเพื่อปิดปากหรือฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้ง ดังที่เรียกกันว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation - SLAPP) ” มากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯในฐานะที่พวกเธอเป็นแม่ ภรรยา และลูก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหากปล่อยให้มีการฟ้องร้องเช่นนี้มากขึ้น จะทำให้เกิดการสูญเสียคุณค่าที่สำคัญของหลักประชาธิปไตย คือ คุณค่าของการคุ้มครองและการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสเพื่อประโยชน์สาธารณะ

อังคณา กล่าวต่อว่า ในโอกาสวันสตรีสากล ตนในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ตระหนักถึงคุณค่าของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ทุกคน จึงเห็นควรยกย่อง เชิดชู ผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกจำกัด เรื่องราวความกล้าหาญของพวกเธอจากการสร้างคุณูปการแก่สังคมในการทำให้เกิดกลไกการคุ้มครองและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในวันนี้จะเป็นแบบอย่างที่คนรุ่นหลังจะได้เรียนรู้และจดจำต่อไป

รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา เรื่อง “มาตรการคุ้มครองผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” สรุปว่า ขอชื่นชมผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ทุกคนที่ได้ใช้ความรู้ ความกล้าหาญในการปกป้องสิทธิของผู้อื่น สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญมากในสังคมโลกและสังคมไทย โดยในบรรดาสิทธิทั้งหลาย อยากเชิญชวนให้ทุกท่านให้ความสำคัญคือ “สิทธิเด็ดขาด” หรือ “สิทธิที่ไม่อาจถูกพรากไปได้” ซึ่งหมายถึง สิทธิที่ติดตัวเรา

มาแต่กำเนิด โดยที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐจะมาละเมิดสิทธิเหล่านี้ของประชาชนไม่ได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดอันเป็นสิทธิสำคัญที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ข้อ 4 กำหนดไว้ ได้แก่ สิทธิที่จะไม่ถูกทำให้เสียชีวิตนอกกฎหมาย  สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน สิทธิที่จะไม่ถูกบังคับให้สูญหาย สิทธิที่จะไม่ถูกเอาเป็นทาสหรือถูกปฏิบัติอย่างทาส สิทธิที่จะไม่ถูกจำคุกเพียงเพราะไม่มีเงินชำระหนี้ สิทธิที่จะไม่ถูกกฎหมายให้โทษย้อนหลัง และสิทธิในความคิดความเชื่อทางศาสนา

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้ช่วยเหลือประชาชนในการคุ้มครองสิทธิเด็ดขาดและสิทธิด้านต่าง ๆ ในปัจจุบันล้วนต้องประสบกับภัยมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเผชิญกับการคุกคามแบบใหม่ คือ การถูกฟ้องเพื่อปิดปาก (SLAPP) ในคดีอาญาและคดีแพ่ง เช่น การฟ้องหมิ่นประมาท เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อบั่นทอนกำลังใจในการทำงานของนักปกป้องสิทธิฯ อย่างไรก็ดี ในทางกฎหมายยังมีทางออกให้แก่นักปกป้องสิทธิฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ให้หลักว่า ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หากเพื่อประโยชน์สาธารณะให้ถือว่าไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้มีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรค 2 ที่แก้ไขใหม่ โดยมีสาระว่า ในกรณีที่โจทก์ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือทุนมาฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิฯ จากเดิมในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลจะฟังพยานหลักฐานจากฝ่ายโจทก์ฝ่ายเดียว โดยนักปกป้องสิทธิฯ ในฐานะจำเลยไม่สามารถนำพยานหลักฐานขึ้นต่อสู้ได้ ซึ่งเมื่อศาลประทับรับฟ้อง และมีการออกหมายจับ จำเลยจะต้องรอประกันตัวในภายหลัง แต่กฎหมายใหม่แก้ไขมาตราดังกล่าวให้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์และจำเลยสามารถยื่นพยานหลักฐานได้เช่นเดียวกัน โดยจำเลยอาจต่อสู้ว่าความเห็นหรือข้อมูลที่ได้แสดงต่อสาธารณะเป็นไปโดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามหลักประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) และขอให้ศาลยกฟ้องได้  ซึ่งจะเป็นทางออกหนึ่งในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามกลไกของกฎหมาย 

Katia Chirizzi รองผู้แทนภูมิภาค สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับนักปกป้องสิทธิฯ ที่เป็นผู้ชายแล้ว ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ เผชิญกับความท้าทายที่มีพื้นฐานทางเพศสภาพ รวมทั้งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเผชิญกับอคติ การกีดกัน การตีตราจากบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนการเหมารวมต่อบทบาทและสถานภาพของผู้หญิงในสังคม โดยในบรรดาผู้ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติในวันนี้ หลายคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยรัฐและทุน ซึ่งถือเป็นโชคร้ายที่กระบวนการยุติธรรมได้ถูกใช้เพื่อทำร้ายหรือคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนฯ ตระหนักถึงบทบาทของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ รวมทั้งนักปกป้องสิทธิฯ ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยพร้อมที่จะสนับสนุนพวกเธอเหล่านี้ในทุกวิถีทางต่อไป

อัดรัฐและเอกชน ข่มขู่คุกคาม ทั้งติดตามและใช้ กม.ฟ้องปิดปาก ประสานเสียงยกเลิก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ชุมนุม ต้องการ รบ.ที่มาจากการเลือกตั้งมาแก้ปัญหาให้

ขณะที่เวทีอภิปรายเรื่อง “ถอดบทเรียนจากประสบการณ์การต่อสู้ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิแรงงานและแรงงานข้ามชาติ  ซึ่งเป็นบุคคลที่ผลักดันให้วันที่ 8 มีนาคมหรือวันสตรีสากลเป็นวันหยุดของโรงงานในทุกปี กล่าวว่า การต่อสู้ของตนเริ่มจากเป็นคนงานในโรงงาน และร่วมชุมนุมกับสหภาพแรงงานของโรงงาน โดยขณะนั้นได้ตั้งคำถามว่าเหตุใดการได้มาเรื่องสวัสดิการของลูกจ้างในโรงงานล้วนแล้วแต่ต้องเรียกร้องทั้งหมด ไม่ว่าเป็นห้องน้ำ หรือ น้ำดื่มที่สะอาด

"ทุกอย่างทำไมต้องไปสู้เอา บางอย่างเป็นเรื่องข้อกฎหมาย แต่บางอย่างเป็นสิทธิของความเป็นคน การเรียกร้องสิทธิหลายครั้งก็นำไปสู่การถูกดำเนินคดี ทั้ง ถูกนายจ้างฟ้องเลิกจ้าง ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีทัศนคติไม่ดี หรือแม้แต่เมื่อมาทำงานเป็นเอ็นจีโอแล้ว ก็ถูกนายจ้างของบริษัทแจ้งความข้อหาบุกรุก เพราะเราไปให้คำปรึกษากับแรงงานในพื้นที่เขา"

สุธาสินี กล่าวอีกว่า หลังจากมาช่วยแรงงานข้ามชาติ ในปี 2559 ก็ถูกแจ้งความจากนายจ้างโรงงานสัตว์ปีกแห่งหนึ่ง ในข้อหาผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะโพสต์เฟสบุ๊คเรื่องการที่โรงงานให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลา และได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด

"เราได้รับการร้องเรียนจากคนงาน ที่ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเลย ชั่วโมงการทำงานยาว ไม่ได้รับตอบแทนตามแรงขั้นต่ำ ไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่มีสิทธิตามกฎหมายเลย และพอไปไกล่เกลี่ยก็ไม่มีข้อยุติ เมื่อถูกแจ้งความ เราก็คุยกับคู่ค้าให้คู่ค้าของฟาร์มพูดคุยกับฟาร์มให้ เขาเลยยอมถอนแจ้งความ แต่ต่อมาเขาก็ไปแจ้งความข้อหาลักทรัพย์ในยามกลางคืน โดยขโมยบัตรตอกเวลา เขาพยายามแกล้งเรา ส่วนข้อเสนอต่อรัฐนั้น ขอให้อย่าเลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ เพราะเขาควรมีสิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย เพราะกฎหมายเองก็ไม่ได้แยกการบังคับใช้ ตนอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลใหม่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยกเลิกพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะมีการนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการรังแกคนจนรวมทั้งให้มีการยกเลิก พ.ร.บ.ชุมนุมเนื่องจากเป็นการจำกัดสิทธิการแสดงออกของประชาชน" สุธาสินีกล่าว

สมัย มังทะ เครือข่ายผู้หญิงกลุ่มรักษ์น้ำอูน กล่าวว่า รางวัลที่ได้ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ รางวัลนี้เป็นกำลังใจในการต่อสู้ของกลุ่มฯ  เหมือนกลุ่มไม่เดียวดาย เพราะมีคนให้กำลังใจเราอยู่ เป็นแรงผลักดันให้เราสู้ต่อไป ทั้งนี้ในการต่อสู้ที่ผ่านมา สิ่งที่ยากลำบากที่สุด คือ ความกดดันด้านจิตใจ เพราะคนในพื้นที่มีความเห็นที่แตกต่างกัน ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนชาวบ้าน กับผู้นำชุมชนที่สนับสนุนการตั้งโรงงาน ซึ่งประกาศว่ากลุ่มเราเป็นตัวถ่วงความเจริญ

“ตอนรณรงค์ใหม่ๆ หลังจากที่ประกาศตัวคัดค้านโครงการ เดินไปทุกบ้านทั้งในหมู่บ้าน และ หมู่บ้านใกล้เคียง ไม่ได้รับการต้อนรับ ไม่มีคนสนใจ มองเราเป็นตัวถ่วงความเจริญ มองเป็นคนเลว ทั้งที่เป็นเพื่อนกันมา 10-20 ปี  มีประกาศเสียงตามสายบอกว่าอย่าฟัง รู้สึกสุดๆมาก แต่เรายืนยันแม้จะคิดต่าง แต่ก็เป็นพี่น้อง เป็นญาติกัน ตอนตายเราก็ต้องเผาผีอยู่ดี พอโรงงานได้ตั้ง เขาบอกว่าเราแพ้ แต่เราคิดว่าการต่อสู้อีกยาวไกล ไม่มีทางที่เราจะแพ้” สมัย กล่าว

สมัย กล่าวว่า อยากให้พี่น้องในชุมชนให้รักบ้านเรา รักษาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ให้ลูกหลานเราจะได้อยู่สบาย อนุรักษ์ป่า อนุรักษ์แหล่งน้ำ ถ้าเรารักษาแล้วมันจะส่งผลดีต่อภาพรวม ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษา ไม่นานพอเราตายไป ลูกหลานเราได้รับผลกระทบทุกด้าน 

รัศมี ทอศิริชูชัย เครือข่ายสตรีม้งในประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจที่สังคมเห็นความพยายามและเห็นประโยชน์ในสิ่งที่เครือข่ายทำ โดยช่วงแรกความพยายามผลักดันเป็นไปอย่างลำบาก เพราะทัศนคติของกลุ่มชาติพันธ์ม้ง ไม่ฟังเสียงของผู้หญิง การแสดงความคิดเห็นของผู้หญิงไม่มีคุณค่า หรือน้ำหนัก ซึ่งทัศนคติเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ชายเท่านั้น แม้แต่ผู้หญิงม้งเองก็ยึดถือกับประเพณีความเชื่อเหล่านี้ ซึ่งเครือข่ายยึดหลักสันติวิธีมาโดยตลอด แม้จะต้องเจอกับแรงเสียดทานมากมาย

"เราเริ่มจากผู้ชาย เพราะในสังคมม้งผู้ชายเป็นใหญ่ ถ้าผู้ชายเห็นด้วยกับเราผู้หญิงก็ไม่มีปัญหา ซึ่งจากการพูดคุยผู้ชาย ที่เป็นพ่อของผู้หญิงม้งที่มีปัญหาการหย่าร้าง แต่ไม่สามารถกลับเข้ามาในตระกูลแซ่เดิมของตัวเองได้ หรือบางแซ่ที่มีความเคร่งครัดมากกับแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ตั้งท้องโดยไม่ได้แต่งงาน ผู้หญิงคนนั้นจะไม่สามารถเข้าบ้านพ่อ-แม่ได้ตลอดชีวิต จนกว่าจะแต่งงานมีสามีใหม่ ก็บอกว่าพวกเรารู้ว่าลูกของเขาทุกข์ แต่พวกเขาก็ทุกข์ยิ่งกว่าที่เห็นลูกทุกข์ แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นประเพณีความเชื่อที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ"

รัศมี กล่าวว่า ใน 2 ปีแรกในการเริ่มโครงการสามารถทำให้ผู้หญิงม้งกลับสู่ตระกูลแซ่ได้กว่า 40 คน ซึ่งในขณะนี้ได้จำนวนมากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามเครือข่ายฯหวังว่าในวันหนึ่งเรื่องนี้จะถูกผลักดันเป็นกฎหมาย ให้ชนเผ่าม้ง ทั้ง18 ตระกูลแซ่ในประเทศ ยอมรับลูกสาวกลับเข้าบ้าน แม้ว่าพวกเธอจะมีปัญหาการหย่าร้าง หรือต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ตามเพื่อความเสมอภาคกันในสังคมชาวม้ง ทั้งนี้เนื่องจากสิ่งที่เราทำมีความหลากหลายทางชาติพันธ์จึงขอเรียกร้องไปยังกระทรวงวัฒนธรรมออกเป็นระเบียบให้ท้องถิ่นบรรจุโครงการรับลูกสาวกลับบ้านให้ใช้ในท้องถิ่นเพื่อนให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ

พะเยาว์ อัคฮาด ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แม่ผู้เรียกร้องความยุติธรรม กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นแม่และต่อสู้มานานถึง เก้า ปี แม้ว่าจะได้รับผลกระทบมากมายขนาดไหน แต่ตนยืนหยัดที่จะสู้ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกสาวที่เสียชีวิต รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของชีวิตประชาชน โดยการต่อสู้ที่ผ่านมา ผ่านความยากลำบาก จนถึงขั้นถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จากการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2553 ซึ่งในวันที่ 16-17  พ.ค.นี้ก็ต้องขึ้นศาล สืบพยานในคดี พ.ร.บ.ชุมนมสาธารณะ และรอศาลตัดสิน

พะเยาว์ กล่าวว่า ไม่คาดคิดว่าการที่ต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกสาว และประชาชนที่เสียชีวิต จะส่งผลย้อนกลับมาที่ตนเอง จนรู้สึกถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น จากการถูกกลั่นแกล้งจากคนที่สั่งฆ่าและคนที่ฆ่าในปี 2553 ที่มีการตั้ง ศอฉ.ขึ้น  และเวลานี้ได้ม้วนตัวกลับมาเป็น คสช.ที่ยึดอำนาจ ทำให้กระบวนการยุติธรรมที่ต่อสู้มายากขึ้นอีก ขณะเดียวกันรัฐบาลกลับไประบุกับสื่อต่างชาติว่าจะยกระดับสิทธิมนุษยชน แต่ผลสุดท้ายไม่มีจริง รัฐบาลโกหกต่อสังคมโลก เพราะวันนี้คนไทยไม่มีสิทธิในชีวิต ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งคดีของลูกสาวตนดำเนินการไปจนถึงชี้มูลการตายแล้ว แต่ทุกอย่างถูกเอาไปกองไว้หลังจากการยึดอำนาจตั้งหลายปี

“เราต้องการฟ้องสังคม กระบวนการยุติธรรมกำลังบีบเค้น แม้แต่ไปทำกิจกรรมวันสิทธิมนุษยชนสากล ดิฉันยังถูกดำเนินคดี ถามว่าอะไรคือสิทธิของเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย ประชาชนเคยรู้สิทธิตัวเองบ้างไหม พอประชาชนคนไหนรู้สิทธิของตัวเองและออกมาเรียกร้อง ก็ถูกดำเนินคดีความ ถูกยัดเยียดข้อกล่าวหา แต่ยืนยันแน่นอนค่ะ ต่อให้ดิฉันจะต้องตาย ต้องติดคุกเราก็ยอม เราต้องสู้ต่อไป” พะเยาว์ กล่าว พร้อมระบุว่า สิ่งที่ตนอยากได้มากที่สุดคือรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย และอยากขอเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพโดยตัดงบประมาณกองทัพด้วย

ดาราราย รักษาสิริพงษ์ ตัวแทนมูลนิธิผู้หญิง กล่าว่า ที่ผ่านมาถูกคุกคามบ้าง เพราะทำเรื่องความรุนแรงของคนในครอบครัว คนที่เป็นสามีเขาเชื่อว่าจะทำอะไรกับครอบครัวก็ได้ จะทำอะไรกับภรรยาก็ได้ แม้แต่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายก็ไม่อยากเข้าไปยุ่ง ดังนั้นคนที่เข้าไปทำงานเรื่องนี้ จะถูกตั้งคำถามว่าเป็นใคร ทำไมต้องมายุ่งกับคนในครอบครัวเขา นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของความตระหนักของผู้ที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าคดีแบบนี้เป็นคดีที่สำคัญ และเมื่อนำไปเทียบกับคดีอาชญากรรมอื่นเขาให้น้ำหนักน้อยกว่า ทั้งที่ความรุนแรงอาจนำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้

"คนบางคนคิดว่านี่เมียเขา เขาจะทำอะไรก็ได้ คุณมีสิทธิอะไร การได้รับรางวัลนี้อาจทำให้เสียงของเราได้รับการรับฟังมากขึ้น ความรุนแรงในผู้หญิง ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย ให้น้ำหนักกับคดีเหล่านี้ การที่เราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยุติธรรม หรือพยายามไกล่เกลี่ยอย่างเดียว ทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระความด้วยความรุนแรงไม่มีทางเลือก พวกเธอต้องเผชิญปัญหาโดยลำพัง ออกไปขอความช่วยเหลือก็บอกให้กลับไปไกล่เกลี่ย ดังนั้นผู้หญิงจะโดดเดี่ยวมาก"

ดาราราย กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ว่า ถ้าเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเมื่อ10 ปีที่แล้ว ที่ไม่มีกฎหมายว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ขณะนี้แม้มีกฎหมายเรื่องความรุนแรงในครอบครัวแล้ว แต่ยังไม่อาจนับเป็นความสำเร็จได้ เพราะเวลาที่ไปใช้บังคับกฎหมาย จะเห็นว่าทัศนคติเรื่องนี้ยังไม่เปลี่ยนมากนัก อย่างไรก็ตามในแง่เชิงนโยบายเราอยากให้มีผู้หญิงเข้าไปในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นเพราะผู้หญิงจะเข้าใจประสบการณ์ที่ผู้หญิงด้วยกันต้องพบเจอมามากกว่า

ขณะที่ รอซิดะห์ ปูซู ตัวแทนเครือข่ายปกป้องสิทธิผู้หญิงมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นกล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานเครือข่ายมีปัญหาในเรื่องความร่วมมือกับในท้องถิ่นด้วยเหตุแห่งศาสนา ทำให้ผู้หญิงในพื้นที่มีบาทบาทการต่อสู้ทางด้านสิทธิมนุษยชนน้อยลง เครือข่ายเราได้ทำงานรณรงค์ในเรื่องการจำกัดอายุการแต่งงานของผู้หญิงมุสลิมว่าต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปเพราะที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการแต่งงานกับเจ้าสาวที่อายุยังน้อยซึ่งถือว่าเป็นละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสำหรับการทำงานพวกเราอยากให้มีการจัดตั้งกองทุนสำหรับผู้หญิงเข้ามาขับเคลื่อนนโยบายในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมเพราะที่ผ่านมาขาดงบประมาณในการดำเนินการเรื่องนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net