Skip to main content
sharethis


(ภาพงานมอบรางวัลกล้าที่จะแตกต่างครั้งที่1 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

กองทุนสดุดีการศึกษา (ภาษาอังกฤษคือ In Praise of Education Fund) ร่วมกับ กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท จัดงานมอบรางวัล “กล้าที่จะแตกต่าง” ครั้งแรกของประเทศไทย ให้กับหนึ่งนักเรียน หนึ่งครู ผู้อุทิศตนเพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในโรงเรียน ปลูกฝังคุณค่าความเป็นประชาธิปไตย และแสดงออกตามอุดมการณ์หรือความคิดเห็นของตนเองอย่างเป็นอิสระ


(ภาพ: นักเรียนและประชาชนร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีมอบรางวัล)

ที่มาของรางวัลเกิดจากการที่เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ในฐานะประธานกองทุนสดุดีการศึกษาเห็นว่าการศึกษา สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยในโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญ แต่มีการเน้นย้ำสิ่งเหล่านี้พร้อมกันน้อย 

เนติวิทย์จึงเสนอความคิดให้มีการมอบรางวัลให้กับนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาที่อุทิศตนเพื่อการสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย เพื่อเป็นเกียรติ เป็นกำลังใจ และเพื่อสนับสนุนให้เขาสนับสนุนคุณค่าของสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในโรงเรียนต่อไป รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคนอื่น ๆ ในสังคมร่วมกันใส่ใจและให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในโรงเรียนมากยิ่งขึ้น

กองทุนสดุดีการศึกษาได้จัดประชุมกัน ซึ่งในคณะกรรมการเป็น เพื่อนสมัยโรงเรียนเก่าของเนติวิทย์ (กองทุนสดุดีการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอื่นๆ) อาจารย์ที่เขารู้จัก และนักสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย จนในที่สุดจึงเกิดโครงการมอบรางวัลกล้าที่จะแตกต่างขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทรางวัล ได้แก่ ประเภทนักเรียน นิสิต และนักศึกษา และประเภทครู และบุคลากรทางการศึกษา

การมอบรางวัลดังกล่าวนี้ได้มีคณะกรรมการที่หลากหลากหลายภาคส่วนเช่น อาจารย์ นักเรียนนิสิตนักศึกษา และนักสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย 

1) ดาริกา บำรุงโชค    ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ฯ ไทย

2) กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

3) สิรินทร์ มุ่งเจริญ     สมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ ฝ่ายพิทักษ์สิทธิฯ

เชิญกรรมการกองทุนสดุดีการศึกษาจำนวน 2 คน ได้แก่

1) ณัฐนันท์ ทองเกื้อสกุล     กรรมการและเลขานุการกองทุนสดุดีการศึกษา

2) ชิษณุพงษ์ อ่วมศรี   กรรมการกองทุนสดุดีการศึกษา

และเชิญกรรมการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทจำนวน 2 คน ได้แก่

1) ธัญชนก คชพัชรินทร์     เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

2) ศุภณัฐ อเนกนำวงศ์ กรรมการบริหารกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท
 

ทั้ง 7 คนเป็นคณะกรรมการคัดเลือกผู้ที่จะได้รับรางวัลทั้ง 2 ประเภท โดยผู้ได้รับรางวัลจะต้องเป็นผู้ที่มีทัศนคติหรือผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด อย่างน้อย 2 ข้อจาก 3 ข้อต่อไปนี้

1) ส่งเสริมประชาธิปไตย หรือสิทธิมนุษยชน

2) สนใจปัญหาการศึกษา หรือวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง

3) เป็นผู้แสดงออกตามอุดมการณ์หรือความคิดเห็นของตนเองอย่างเป็นอิสระ



(ภาพ: คณะกรรมการตัดสินรางวัลฯ จากหลากหลายกลุ่ม)

รางวัลเกียรติยศ
นอกจากรางวัลทั้ง 2 ประเภทดังกล่าว กองทุนสดุดีการศึกษาได้มอบรางวัลเกียรติยศให้แก่ครูผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดรางวัลนี้ขึ้น ครูผู้เป็นแรงบันดาลใจที่กล่าวถึงคือ ครูยุพดี สุดถนอม ครูโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ครูผู้มีทั้งข้อดีและข้อบกพร่องเหมือนครูอื่นทั่ว ๆ ไป แต่ “การกล้าที่จะสอน” ของท่านเป็นแรงบันดาลใจแก่เหล่าบรรดาลูกศิษย์และผู้มีใจต่อการพัฒนาการศึกษาไทย

(ข้อความบางส่วน จากคำประกาศรางวัลเกียรติยศ)

ครูยุพดี สุดถนอม เกิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2500 ที่ตำบลนาบอน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน วิชาเอกเคมี จังหวัดชลบุรี ครูยุพดีเข้ารับราชการครั้งแรกที่จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ. 2521 จากนั้นย้ายมาที่โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ในปี พ.ศ. 2526 และมาเป็นครูที่โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในปี พ.ศ. 2541 ตราบจนสิ้นอายุขัยในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557  


(ภาพ: ครูยุพดี สุดถนอม ผู้ล่วงลับ)

ตลอดชีวิตของการเป็นครู ครูยุพดีเป็นครูที่ส่งเสริมเจือจุนลูกศิษย์มาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการแสดงความคิดสร้างสรรค์ในโรงเรียน ดังมีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย อาทิ ครูยุพดีเป็นผู้อุดหนุนการเงินให้แก่ “จุลสารปรีดี” เพื่อให้นักเรียนกลุ่มหนึ่งในโรงเรียนมีพื้นที่แสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งเป็นกำลังใจและส่งเสริมให้นักเรียนในชั้นเรียนคิดนอกกรอบและตั้งคำถาม อีกทั้งยังเป็นครูผู้กระตือรือร้นจริงจังในการส่งเสริมกิจการห้องสมุดโรงเรียน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของครูวิษณุ สังข์แก้ว ครูผู้เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุด

นอกจากนั้น เมื่อมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งต้องการขอให้มีกิจกรรม “ฉายภาพยนตร์” ในโรงเรียนในช่วงวันพักเที่ยง เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้มีพื้นที่แสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ครูยุพดีอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มที่จนเกิดเป็นกิจการให้เช่าภาพยนตร์และเกิดเสวนาภาพยนตร์ในห้องนั้น แต่ความใจดีของท่านที่สนับสนุนกิจกรรมนี้ทำให้ท่านถูกผู้อำนวยการโรงเรียนในเวลานั้นซึ่งไม่ได้สนใจกิจการของโรงเรียนเท่าที่ควรเรียกท่านและกลุ่มนักเรียนไปตำหนิ และสุดท้ายก็มีคำสั่งให้ห้องดูหนังฟังเพลงยุติไป ครูยุพดีจึงต้องย้ายห้องไปใช้พื้นที่ห้องสมุดเล็ก ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่มีห้องดูหนังฟังเพลง ครูยุพดีก็ยังอนุเคราะห์ให้ใช้พื้นที่เล็ก ๆ ชองท่านให้นักเรียนได้ทำกิจการดูหนังฟังเพลงต่อไป และให้เกียรติมาเป็นวิทยากรหรือมาร่วมฟังงานเสวนาที่นักเรียนจัดกันอยู่เป็นเนือง ๆ

ครูยุพดี สุดถนอม เป็นครูสูงวัยที่มีเมตตา กรุณา และมีความคิดแตกต่างไปจากคนในวัยเดียวกันของท่านหลายคน และแม้ท่านจะไม่ออกหน้าท้าทายระบบการศึกษาโดยตรง แต่ก็เอื้อเจือจุนให้นักเรียนของท่านได้ใช้ความคิดความอ่าน แม้ความคิดนั้นอาจจะผิดแผกไปจากที่ท่านเชื่ออย่างยิ่งยวดก็ตาม เช่น หากเมื่อมีนักเรียนเห็นแตกต่างออกไปและมีสื่อนำไปโจมตี ท่านจะเรียกนักเรียนไปคุยเพื่อสอบถามว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

จากการที่ครูยุพดีส่งเสริมนักเรียนที่กล้าคิดกล้าแตกต่าง ส่งเสริมให้มีพื้นที่ความคิดสร้างสรรค์แม้บริบทแวดล้อมจะไม่เอื้อ ปกป้องและรับฟังนักเรียนทั้งที่กระแสสังคมต่อต้านและท่านเองก็อาจไม่ได้มีความเห็นด้วยกับความคิดเห็นของนักเรียน ทำให้เราสามารถพิจารณาได้ว่าท่านเป็นครูนักประชาธิปไตย และเห็นศักยภาพของนักเรียนที่จะเติบโตได้ในการศึกษาที่อาจไม่ได้อนุญาตให้นักเรียนมีเสรีภาพทางความคิด”


(ภาพ: ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา กำลังกล่าวในโอกาสได้รับรางวัล)

รางวัลกล้าที่จะแตกต่าง ประเภทนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ประจำปี 2562 

ผู้ได้รับรางวัลนี้เป็นคนแรกของประเทศไทยคือ คุณปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา นักเรียนผู้อุทิศตนเพื่อผลักดันประเด็นด้านการเข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทย

คุณปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ชื่อเล่น ญา อายุ 14 ปี ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น คุณญาเป็นผู้ผลักดันความคิดการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการการให้คำปรึกษาและการรักษาโรคซึมเศร้าของเด็กและเยาวชนไทย เป็นผู้เคลื่อนไหวและยื่นจดหมายต่ออธิบดีกรมสุขภาพจิตเพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยที่อายุต่ำกว่า 18 ปีสามารถเข้ารับบริการในการปรึกษาและรักษาทางด้านสุขภาพจิตโดยไม่ต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ปกครอง รวมถึงเป็นผู้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโรคซึมเศร้า

  
(ภาพ: ครูอรรถพล ประภาสโนบล  กำลังกล่าวในโอกาสได้รับรางวัล)

รางวัลกล้าที่จะแตกต่าง ประเภทครู และบุคลากรทางการศึกษา ประจำปี 2562

 
ผู้ได้รับรางวัลนี้เป็นคนแรกของประเทศไทยคือ คุณอรรถพล ประภาสโนบล ครูผู้อุทิศตนเพื่อสร้างห้องเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้  และเปิดพื้นที่ถกเถียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และประชาธิปไตยภายในห้องเรียน
 
คุณอรรถพล ประภาสโนบล ชื่อเล่น พล เป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิชาเอกสังคมศึกษา ปัจจุบันประกอบอาชีพรับราชการครู ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปทุมธานี และเป็นผู้ดูแลเพจเฟสบุ๊ค “พลเรียน”

นอกจากจะประกอบอาชีพรับราชการครูแล้วนั้น ครูพลก็ทำงานขับเคลื่อนประเด็นการศึกษากับครูรุ่นใหม่ของกลุ่มพลเรียนด้วย โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนและคุณครูได้ศึกษาเรียนรู้บนพื้นฐานวิถีระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เช่น เป็นผู้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “ออกแบบการเรียนรู้สิทธิมนุษยชน” ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้จัดเสวนาเกี่ยวกับการศึกษาเชิงวิพากษ์ 17 ประเด็น และเป็นผู้เขียนหนังสือ “ครูผู้สร้างพลเมือง” ร่วมกับครูในเครือข่าย Thai Civic Education เป็นต้น

ครูพลยึดมั่นในอุดมการณ์การขับเคลื่อนและพัฒนาระบบการศึกษา เป็นผู้จุดประกายทางความคิดแก่นักเรียน ปัจจุบันครูพลออกแบบห้องเรียนตามอุดมการณ์ที่เขายึดมั่นโดยไม่ย่อท้อเพื่อสร้างความคิดเชิงวิพากษ์ให้กับนักเรียนไทย


(ภาพ: อาจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล กล่าวแสดงความยินดีต่อผู้ได้รับรางวัล)
การกล่าวแสดงความยินดีต่อผู้ได้รับรางวัล

ผู้กล่าวแสดงความยินดี ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล และคุณนุชนลิน ลีระสันธนะ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์และนักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแสดงความยินดีต่อผู้ได้รับรางวัลในหัวข้อบทบาทของบุคลากรทางการศึกษาในระบอบประชาธิปไตยไทย ส่วนคุณนุชนลิน ลีระสันธนะ ผู้ประสานงานฝ่ายนักกิจกรรมและสิทธิมนุษยชนศึกษา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดีต่อผู้ได้รับรางวัลในหัวข้อสิทธิมนุษยชนกับการศึกษาไทย


(ภาพ: คุณนุชนลิน ลีระสันธนะ กล่าวแสดงความยินดีต่อผู้ได้รับรางวัล)

มอบ “ต้นไม้เล็ก ๆ” เพื่อทำสวนของตนเองต่อไป

ในช่วงท้ายของงานมอบรางวัล ตัวแทนประธานกองทุนสดุดีการศึกษามอบ “ต้นไม้เล็ก ๆ” เพื่อรำลึกถึงครูยุพดี สุดถนอม และเป็นมุทิตาจิตแด่ผู้ได้รับรางวัลทั้งสองท่าน

โดยการมอบต้นไม้เล็ก ๆ นี้ถือเป็นอุปมาอย่างหนึ่ง ดังภาษิตของ “วอลแตร์” นักเขียนและนักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งกล่าวไว้ว่า “จงทำสวนของเรา” คือ จงทำงานของท่านด้วยความอุตสาหะต่อไป แม้ดูเล็กไม่ใหญ่นัก แต่ท่านทั้งหลายกำลังได้ทำการบ่มเพาะสิ่งที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้คนมหาศาลยิ่งนัก


 


 

  


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net