Skip to main content
sharethis

เสวนา "อ่านการเมืองไทย บทว่าด้วยการเลือกตั้ง" ที่เชียงใหม่ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: มองมุมใหม่ภาพใหญ่การเมือง - ไชยันต์ รัชชกูล: ความขัดแย้งและการเมืองที่ทุกหย่อมหญ้ามีส่วนร่วม - ธเนศวร์ เจริญเมือง: สังคมไทยยังอยู่ในภาวะต่อสู้ไม่สิ้นสุด - อานันท์ กาญจนพันธุ์: สังคม Law of rule และการเมืองนอกระบบ

วันที่ 6 มีนาคม 2562 ในงานเสวนาวิชาการเรื่อง “อ่านการเมืองไทย บทว่าด้วยการเลือกตั้ง” ณ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม We Watch Thailand และชมรมประชาธิปไตย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำการเสวนาโดย ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง, รศ. ดร.ไชยันต์ รัชชกูล และ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ดำเนินรายการโดย อ.ดร.พิสิษฏ์ นาสี

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: มองมุมใหม่ภาพใหญ่การเมือง

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เปิดด้วยคำถามที่คนอยากรู้คือ ผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร เขาตอบว่า ตัวเขาเองก็ไม่รู้ ตอบไม่ได้ ปัจจัยการเมืองเรื่องการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก การเลือกตั้งครั้งนี้มีการควบคุม เกิดปรากฏการณ์ที่ประหลาด

ด้วยเหตุนี้ธเนศจึงใช้มุมมองทางประวัติศาสตร์เพื่อไล่เรียงประเด็นการเมืองที่ผ่านมาที่ทำให้สังคมอยู่ในจุดนี้ คือ ประเทศไทยรัฐประหารมากที่สุดในโลก เป็นโมเดลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คสช. ไม่ใช่เรื่องใหม่

ที่ผ่านมาจากปี 2475 -2590 ระบบประชาธิปไตยดำเนินมาค่อนข้างดี หน้าที่ของสภา 15 ปีแรก ทำหน้าที่ได้ดี การอภิปรายก็ไม่สาดเสียเทเสีย หลังปี 2590 ทหารบกยึดอำนาจซึ่งเป็นบรรพบุรุษของคนยึดอำนาจในทุกวันนี้ ซึ่งธเนศเองระบุว่าไม่เข้าใจว่าทหารยึดอำนาจไปทำไม เพื่อใคร ไม่ชัดเจน ไม่สมเหตุสมผลที่จะทำในตอนนั้น

นักการเมืองในเวลานั้นถูกตัดตอนทำให้ตายหมดเกลี้ยงโดยเฉพาะกลุ่ม ส.ส.อีสาน การเมืองไทยมีวิธีการทำให้นักการเมืองน้ำดีแยกออกจากประชาชน หลังปี 2490 มีการควบคุมนักการเมืองมากขึ้น นักการเมืองอยู่ภายใต้การควบคุมรัฐบาล ฉะนั้นที่ปัญญาชนลุกขึ้นสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เขาเชื่อว่าทำมาแล้วและถูกทำลายไปแล้ว หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 ก็พังไม่เป็นท่า การเมืองประชาธิปไตยยังเป็นการแบ่งสันปันส่วนของคนมีอำนาจ ของกองทัพ นายทุน ผู้มีผลประโยชน์ ขณะที่ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วม

ถ้านักการเมืองลงไปสู่ฐานมวลชนได้และดำเนินต่อไปได้ วัดด้วยการบริหารกิจการที่กระจายอำนาจ ต้องไม่ใช่การบริหารด้วยการสั่งของ พ.ร.บ.กฎหมายห้าร้อยฉบับที่ออกมาไม่มีประโยชน์ ประเด็นคือต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการมองการเมืองไทยใหม่ ต้องศึกษาค้นคว้าข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน ภูมิทัศน์การเมืองในสังคมไทยไม่เอื้อให้รวมศูนย์อำนาจวันหนึ่งอำนาจก็ต้องปล่อย เราต้องมองภาพใหญ่ของการเมืองเสียใหม่

 

ไชยันต์ รัชชกูล: ความขัดแย้งและการเมืองที่ทุกหย่อมหญ้ามีส่วนร่วม

ส่วนไชยันต์ รัชชกูล เสนอว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องการเข้าใจการเมืองระดับกว้าง การอ่านการเมืองไทยเหมือนกำลังอ่านหนังสือที่เป็นเล่ม

โดยไชยันต์ เห็นสอดคล้องกับธเนศว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องเข้าใจการเมืองไทยโดยรวม ตอนนี้ พรรคการเมืองเป็นแบบ 2 ข้างคือ ประชาธิปไตยกับเผด็จการ ซึ่งในอดีตก็เคยมีมาแล้ว ปี 2535 การเลือกตั้งพูดกันว่าจะเลือกพรรคเทพหรือพรรคมาร

ส่วนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น 2 ครั้งนี้คือรัฐประหารอันเดียวกัน แต่ทำให้เข้มข้นขึ้น ทั้ง 2 ครั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเป็นกลุ่มเดียวกัน รัฐธรรมนูญของปี 2540 ปี 2550 และปี 2560 มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทางเผด็จการมากขึ้น ความขัดแย้งในสังคมนั้นเพิ่มมากขึ้น แต่ทำให้เห็นประเด็นต่างๆ มากยิ่งขึ้นเช่นกัน

ในทางภูมิศาสตร์ เมื่อ 27 ปีที่แล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองมันเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ทุกวันนี้ความขัดแย้งมันขยายวงกว้าง มีทุกหย่อมหญ้า ทั้งประชากรทุกส่วนอาชีพ ทุกส่วนอายุ มีพรรคการเมืองเฉพาะกลุ่ม เช่น พรรคครู พรรคกลุ่มยางพารา พรรคทวงผืนป่า มันแสดงถึงความขัดแย้งในสังคมไทย ประเด็นความขัดแย้งมันขยายไปทั่วในสังคมไทย ความขัดแย้งที่นอกจากประชาธิปไตยกับเผด็จการ ยังมีการกล่าวหาว่ามีฝ่ายที่ไม่จงรักภักดี โดยฝ่ายที่ระบุว่าตัวเองสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะที่พรรคการเมืองในสมัยนี้ก็มีความก้าวหน้ามาก พรรคเก่าๆ ชูนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งอยู่ในโหมดการกระจายทรัพยากร แต่พรรคใหม่ๆ เสนอนโยบายใหม่ เช่น ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและตำรวจ เอาทหารไปอยู่ชายแดน ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ลดงบกองทัพ นี่คือการตีหัวใจทศกัณฐ์ แสดงว่า 27 ปีที่ผ่านมามันเปลี่ยนไปมาก และเป็นไปในทางที่ดีและยังฝากคำๆ หนึ่งไว้ว่า อย่าดูถูกสติปัญญาของมวลราษฎร์

ธเนศวร์ เจริญเมือง: สังคมไทยยังอยู่ในภาวะต่อสู้ไม่สิ้นสุด

ธเนศวร์ เจริญเมือง เริ่มที่เห็นด้วยกับการมองการเมืองในระยะยาว และอยากให้ปัญญาชนได้มีโอกาสเรียนสังคมการเมืองไทยในมิติประวัติศาสตร์ สถาบันอุดมศึกษาควรใส่ใจในเรื่องนี้ ไม่แน่ใจว่าคนรุ่นปัจจุบันจะเข้าใจสาระสำคัญของการเมืองไทยมากแค่ไหน

ประเด็นแรก การเมืองในทุกวันนี้เราก็ยังอยู่บนเส้นทางของการไปบรรลุสังคมประชาธิปไตยปี 2475 ตามแนวคิดในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ ประเทศใดก็ตาม การเมืองเป็นการต่อสู้ที่ดุเดือด โหดร้าย ไม่มีความปราณีใดๆ ยังเป็นการต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุด สังคมไทยเองที่การปฏิวัติยังไม่สิ้นสุด สังคมจึงยังวุ่นวาย

ประเด็นที่สอง สังคมไทยไม่สามารถบรรลุความเป็นเลิศทางวิชาการได้ เพราะไม่สามารถพูดความจริงได้หมด สังคมไทยเป็นสังคม unspeakable แต่เป็น gossipable

ประเด็นที่สาม ทำไมการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจึงเข้มข้นมากขึ้นตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมา เพราะการขยายตัวการมีบทบาทของทั้งภายในภายนอกและการฟื้นคืนของรัฐเก่าที่เข้มข้นขึ้น ภายใต้การทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก มันมีการพัฒนากลไกลการสืบทอดอำนาจที่ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้นแม้จะทำรัฐประหารยากขึ้น ถึงจะผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว ผู้ชนะก็ยังไม่มีความแน่นอน มันยังต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองหรือกลไกลทางการเมืองของอำนาจรัฐเก่า นี่คือความไม่แน่นอนของการเมืองไทย

แต่ที่แน่นอนคือความพยายามในการรักษาระบอบเก่าให้อยู่ต่อ 20 ปี ทำไมพม่ากับอินโดนีเซียเหมือนจะผ่านยุคนั้นไปแล้วก็เนื่องจากปัจจัยที่ต่างกันคือ 1.ปัจจุบันอำนาจเข้มแข็ง 2.การอยู่ในภาวะเมืองขึ้น มันได้ปลุกระดมการศึกษาทางการเมืองในการต่อสู้เพื่อเอกราช ที่สำคัญคือไทยขาดการจัดตั้งของขบวนการประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการ

ประเด็นสุดท้าย เนื่องจากการวางกติกาเสียง 250 เสียงไว้แล้ว แต่ถ้าเราจัดการกันได้ดี กระจายอำนาจกันมากขึ้น มีการตรวจสอบ ศึกษาร่วมมือกัน แม้จะมีการสืบทอดอำนาจรัฐเก่า อย่างมากที่สุดคือการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ วนอยู่เช่นนี้มันก็จะเป็นการเดินทางสู่สันติวิธีได้ และขอเชิญให้คนไปร่วมกันเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย

อานันท์ กาญจนพันธุ์: สังคม Law of rule และการเมืองนอกระบบ

ส่วนอานันท์ กาญจนพันธุ์ กล่าวว่า ตอนที่เขาเรียนจบปริญญาตรี รู้สึกตื่นเต้นเพราะคิดว่าประชาธิปไตยจะก้าวไปอย่างดี พอปีต่อมาจอมพลถนอมปฏิวัติอีก หลัง 14 ตุลา 16 เริ่มมีหวัง แล้วมันก็หายไปอีก

พอมาตอนนี้ เขาจึงศึกษาประเด็นภาคประชาชนมากขึ้น สงสัยว่าทำไมการเมืองไทยลุ่มๆดอนๆ ตอนเรียนนรัฐศาสตร์อาจารย์สอนว่าสังคมนี้คือ Rule of law ตอนนี้มันเป็น Law of rule ใช้กฎหมายทุกอย่างขจัดคู่ต่อสู้ทางการเมือง และทำให้ทางเดินประชาธิปไตยมันแคบลง แต่ก่อนการเมืองมันใช้อำนาจเถื่อน อำนาจปืน อำนาจเงิน ตอนนี้ใช้อำนาจทางกฎหมาย ซึ่งเป็นพัฒนาการทางอำนาจ เขาใช้กฎหมายเพื่อสร้างความชอบธรรม การเลือกตั้งเป็นละครฉากหนึ่งเพื่อทำให้เขานั้นดูดีขึ้น หลักการเลือกตั้งมันต้องเปิดเสรีเพื่อให้เราได้สิ่งใหม่ๆ พอเปิดช่องทางแคบนี้ การเลือกตั้งก็จะได้ของเก่า คนเหล่านั้น (เผด็จการ) ทำงานได้เนียนมาก การเมืองไทยคือการเล่นนอกระบบ

ประเด็นสำคัญคือการวิเคราะห์การเมืองนอกระบบคือ 1. เมืองไทยมีวาทกรรมเยอะมากในการที่จะควบคุมฝ่ายตรงข้าม 2. ความคิดชาตินิยมไทย ทำงานได้ผลมาก การใช้ความคิดเรื่องชาตินิยมปลูกฝังกันมานานจนกลายมาเป็นมิติที่แฝงอยู่เบื้องหลังการเมืองไทย ทั้งที่สังคมไทยนั้นหลากหลายมานาน แต่ชาตินิยมยังคงฝังอยู่ อ้างความเป็นไทยแต่ความจริงคนไทยนั้นต่างผสมปนเป

การเมืองไทยจึงยังคงขัดแย้งจากความเป็นจริง นี่คือการเมืองไทยแบบเล่นนอกระบบ ถ้าเราจะฝากความฝันความหวังต้องอยู่ในสภาพความเป็นจริงของสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net