Skip to main content
sharethis

เวทีดีเบตแนวคิดพรรคการเมืองกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ตัวแทนพรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-มหาชน-สามัญชน-อนาคตใหม่ ร่วมวงถก ตอนที่หนึ่งจะนำเสนอประเด็นนโยบายที่แต่ละพรรคโดดเด่น เสรีภาพการแสดงออก เสรีภาพการชุมนุม และปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้จัดระบุ เชิญพลังประชารัฐแล้วแต่ไม่ส่งตัวแทนมา

ซ้ายไปขวา: ณัฏฐา โกมลวาทิน วัฒนา เมืองสุข อลงกรณ์ พลบุตร พาลินี งามพริ้ง เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร พรรณิการ์ วานิช

7 มี.ค.  มีเวทีดีเบต "เปิดแนวคิดพรรคการเมืองกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองที่ร่วมดีเบตได้แก่ วัฒนา เมืองสุข จากพรรคเพื่อไทย อลงกรณ์ พลบุตร จากพรรคประชาธิปัตย์ พาลินี งามพริ้ง จากพรรคมหาชน เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากพรรคสามัญชน และพรรณิการ์ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่ ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา โกมลวาทิน

กิจกรรมจัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ได้มีการเชิญพรรคพลังประชารัฐเข้าร่วมดีเบต แต่ไม่การส่งตัวแทนมา

นโยบายสิทธิมนุษยชนที่แต่ละพรรคโดดเด่น จะทำอะไรก่อนถ้าได้รับเลือกตั้ง

วัฒนา: พรรคเพื่อไทยเสนอสามเรื่อง คือ 3 R หนึ่ง ฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Restore economy) คืนอำนาจให้ประชาชน (Reture power to people) และปฏิรูปหน่วยงานรัฐที่เห็นว่าเป็นปัญหา (Reform authority)

นโยบายสำคัญของพรรคคือการเคารพการแสดงออก เพราะว่าพรรคเพื่อไทยตกเป็นฝ่ายถูกกระทำมา แม้แต่ตอนที่แถลงข่าวครบรอบสี่ปีการยึดอำนาจก็โดนตั้งข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง  ดังนั้นอะไรก็แล้วแต่ที่ไปกระทบสิทธิพื้นฐานความเป็นคนนั้นต้องยกเลิก การฟื้นฟูเศรษฐกิจจะทำไม่ได้ถ้าไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่พรรคจะต้องทำคู่ไปคือจะต้องปฏิรูปองค์กรที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สด เช่น กระบวนการยุติธรรม กองทัพ และต้องยกเลิกการเกณฑ์ทหารด้วย เนื่องจากการบังคับเกณฑ์ทหารนั้นไม่สอดค้ลองกับบริบทภัยคุกคามในรูปแบบใหม่แล้ว ส่วนกฎหมายอะไรที่ออกมาขัดกับหลักนิติธรรมก็จะต้องยกเลิกหรือปรับให้สอดคล้องกับบริบทโลก กฎหมายที่ออกมาจะต้องเป็นไปตามบริบทสิทธิมนุษชนของโลก ต้องเป็นไปตาม ICCPR (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง) หรือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

อลงกรณ์: สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเหมือนสองด้านของเหรียญที่ขาดกันและกันไม่ได้ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด ได้เห็นถึงความก้าวหน้า และความถดถอยของสถานการณ์ด้านสิทธิ จนถึงการใช้อำนาจรัฐ กฎหมายพิเศษ ในภาวะปกติของการเลือกตั้ง ก็เคยมีออกกฎหมายพิเศษ เช่น เรื่องการใช้กฎหมายพิเศษในสาม จ. ชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ประชาธิปัตย์จะทำสามเรื่อง หนึ่งจะจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อจัดทำกรอบสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เป็นกรอบระดับชาติ ให้เกิดความชัดเจน โดยครอบคลุมในประเด็นสำคัญ 21 สิทธิ ตามแนวทางและกรอบของ UPR (รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ) สอง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ และสาม ปฏิรูปกฎหมาย จะมีการปฏิรูปใหญ่ตำรวจ จะเหลือแต่ตำรวจส่วนกลาง นอกจากนั้นเป็นตำรวจจังหวัด ถ้าทำให้กระบวนการต้นน้ำอยู่ในการตรวจสอบของประชาชนได้เช่นนั้นก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

พาลินี: พรรคมหาชนเน้นเรื่องของความเท่าเทียมกันในทุกมิติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่เท่าเทียม และความเป็นพลเมือง วัฒนธรรม ซึ่งครอบคลุมสิทธิมนุษยชนครบถ้วน

พรรคมหาชนยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มุ่งเน้นทำการเมืองแบบไม่แบ่งฝ่าย ไม่เลือกข้างและเคารพสิทธิการลงคะแนนของประชาชนเป็นสำคัญ ถ้าพรรคใดได้คะแนนลำดับสูงสุดก็จะสนับสนุนให้ก่อตั้งรัฐบาลโดยไม่คิดถึงแนวคิดทางการเมืองที่ต่างกัน ใครก็ตามที่ผ่านระบบการเลือกตั้งมาก็สนับสนุน แล้วมาสู้กันในสภา

พรรคมหาชนมีนโยบายปลดล็อค พ.ร.บ. ปราบปรามการค้าประเวณี ที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนของคนทำงานในภาคการค้าบริการ นโยบายเรื่องความหลากหลายทางเพศก็จะยึดมั่นแน่นอน และยังมีนโยบายเศรษฐกิจออนไลน์ให้ทุกคน รวมทั้งเกษตรกร ชาวบ้านแต่ละองค์กรให้เข้าถึงตลาดออนไลน์ได้ โดยใช้เว็บท่าของประเทศไทยเอง

เกรียงศักดิ์: อุดมการณ์สามข้อของพรรคสามัญชนคือประชาธิปไตยฐานราก สิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมเป็นธรรม พรรคสามัญชนพูดได้เต็มปากว่านโยบายเกือบทุกข้อเป็นนโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษชน พรรคถูกบังคับให้ต้องนำสิ่งที่เป็นความต้องการของสมาชิกเป็นนโยบายทุกข้อ หลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าสิทธิเสรีภาพถูกลิดรอน ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของพรรคไม่สามารถพูดความจริงเรื่องผลกระทบจากการลิดรอนสิทธิได้

พรรคสามัญชนจะสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ ป้องกันซ้อมทรมานและบังคับให้บุคคลสูญหาย เนื่องจากชุมชนสมาชิกและสมาชิกจำนวนมากเป็นนักปกป้องสิทธิ ในประเด็นผู้หญิง จะผลักดันความเสมอภาคและเป็นธรรมทางเพศเป็นวาระแห่งชาติ ตามแนวคิดพรรคที่ผู้หญิงต้องมีสิทธิตัดสินใจเหนือร่างกายตนเอง เช่น การทำแท้ง นอกจากนั้นจะทบทวนกฎหมายอาญาที่กีดกันสิทธิแรงงานข้ามชาติ ผู้ขายบริการทางเพศถึงสวสัดิการด้านสุขภาพ มีนโยบายสิทธิผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ คนไทยพลัดถิ่น

หากได้เป็นรัฐบาล สิ่งที่จะทำอย่างแรกคือแก้ไขกฎหมายที่ควบคุมสิทธิ เสรีภาพ สิทธิมุนษยชนทั้งหมด ยกเลิกคำสั่ง ประกาศ คสช. ทั้งหมด 35 ฉบับ ยกเลิกการดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิ สื่อมวลชน นักศึกษา หรือใครที่ออกมาพูดความจริงเพื่อสังคม รวมถึงยกเลิกคดีความ ข้อกล่าวหาของนักกิจกรรมหรือคนไทยที่ลี้ภัยอยู่ที่ต่างประเทศ

พรรณิการ์: พรรคอนาคตใหม่มีจุดมุ่งหมายสร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน เรื่องสิทธิมนุษชนเป็นกระดูกสันหลังของนโยบายและเป้าหมายของพรรค พื้นที่ที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษชนด่วนที่สุดได้แก่พื้นที่สาม จ.ชายแดนใต้ ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษ ที่ใช้มา 14 ปี งบประมาณสามแสนล้านบาท และความเสียหายต่างๆ ที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ไม่มีสถานการฉุกเฉินใดๆ ดำเนินมา 14 ปี โดยจะใช้กฎหมายปกติ ไม่ให้กฎหมายเป็นเครื่องมือให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบัติ และเติมเชื้อไฟในพื้นที่

อนาคตใหม่จะกำจัดกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิมนุษธชน รัฐมีหน้าที่ปกป้องประชาชน ไม่ใช่ออกกฎหมาย อำนาจเป็นผู้ละเมิดประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ที่บัญญัติให้คำสั่งต่างๆ ของ คสช. ถูกต้อง ชอบธรรมตลอดไป จะต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณาคำสั่ง คสช. ทั้งหมด ถ้าคำสั่งใดที่ประชาชนได้ประโยชน์โดยสุจริต ก็เปลี่ยนเป็นกฎหมายตามลำดับศักดิ์ คำสั่งใดที่ละเมิดสิทธิต้องยกเลิกและเยียวยาผู้เสียหาย

นอกจากนั้นจะยังทำเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional justice) ทั่วประเทศ ที่ผ่านมาประชาชนถูก ประเทศนี้เรียกร้องการปรองดอง แต่ถ้าการปรองดองเป็นการลืมทุกอย่างแล้วหันมาจับมือกัน สิ่งนั้นเรียกว่าการหมกเม็ด ซุกขยะเข้าใต้พรม ดังนั้นจึงต้องทำความจริง ความยุติธรรมให้ปรากฎ แล้วความปรองดองที่แท้จริงจะเกิดขึ้น

เสรีภาพการแสดงออก

พรรณิการ์: คณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่สี่คนถูกแจ้งความว่าทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมฯ) จากการไลฟ์เฟสบุ๊ควิจารณ์การดูดผู้สมัคร ส.ส. ของพลังประชารัฐ ในประเด็นนี้เราพูดมาตลอดว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ปัญหาคือการใช้ พ.ร.บ. คอมฯ ไม่ได้ใช้ในทางเทคนิคอย่างเดียว แต่กลับใช้ในการควบคุมเนื้อหาและการแสดงออกของประชาชน ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่มีเป้าหมายจะแก้ไข พ.ร.บ. คอมฯ แน่นอน การปล่อยข่าวเท็จ ข่าวลวงสามารถฟ้องในคดีหมิ่นประมาทได้ และควรเป็นคดีแพ่งด้วยเพราะเป็นการเสียหายที่ไม่มีใครควรติดคุก

เธอยังกล่าวว่า กฎหมายจำนวนมากที่ออกในรัฐบาล คสช. รวมถึงประกาศ คำสั่ง คสช. ทั้ง 35 ฉบับจำเป็นต้องถูกนำมารื้อ พิจารณาใหม่ทั้งหมด นอกจากนั้น กฎหมายมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็ต้องได้รับการแก้ไขด้วย

วัฒนา: รัฐต้องไม่เป็นคู่กรณีกับประชาชนตัวเองจากการใช้สิทธิพื้นฐานของเขา เพราะอำนาจรัฐมาจากประชาชน แต่รัฐบาลนี้เอาคนไปฟ้องประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ เป็นหน้าที่อะไรของทหารที่จะมาสังเกตการเลือกตั้ง เขาตะเพิดกลับไปก็ถูกแล้ว ตรงนี้ต้องมีการทำความเข้าใจ ให้การศึกษาให้มากกว่านั้น

ผู้คนในกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถดำรงความซื่อสัตย์ในวิชาชีพ ตำรวจถูกสั่งให้ดำเนินคดีทั้งที่รู้แล้วว่าเป็นการกลั่นแกล้ง อัยการก็แกล้งโง่ส่งฟ้อง ศาลก็แกล้งโง่สั่งฟ้อง คดีที่แสดงความเห็นทางวิชาการอย่างเรื่องหมุดคณะราษฎรก็ยังถูกฟ้อง แม้ยกฟ้องแต่ก็เสียเวลา ตัวกฎหมายไม่มีปัญหา ปัญหาคือผู้บังคับใช้กฎหมาย ตำรวจกลัวถูกย้าย อัยการกลัวถูกเด้ง ต้องมีการทบทวนเรื่องกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

อลงกรณ์: กฎหมายใดก็ดี ทั้งฉบับเก่าหรือไม่ที่ไปจำกัด ลิดรอนสิทธิเสรีภาพแสดงออก ความเห็น จะแก้ไขให้หมด การหมิ่นประมาท การตีความกฎหมายใดๆ ในเรื่องการหมิ่นประมาท โดยเฉพาะชุดกฎหมายไซเบอร์ ต้องได้รับการปรับปรุงโดยเฉพาะนิยาม เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจรัฐไปกลั่นแกล้ง นิยามความมั่นคงต้องถูกจำกัดให้แคบที่สุด

เรื่องฟ้องหมิ่นประมาท ตนอาจเป็นนักการเมืองที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาทในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาเพราะเป็นกรรมการตรวจสอบทุจริต จนมี รมว. กระทรวงการเกษตร ไม่ระบุรัฐบาลพรรคอะไร ต้องเข้าคุกไปแล้ว ต้องปรับปรุงกฎหมายให้จรรโลงเรื่องสิทธิ เสรีภาพ

ส่วน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เป็นชุดกฎหมายใหม่ๆ ของโลก ถือว่าใหม่มากในยุคศตวรรษที่ 21 ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งทางการเมืองอีกต่อไป การตรวจสอบและถ่วงดุลมีส่วนสำคัญ ทั้งนี้ ประชาธิปัตย์จะทำงานร่วมกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญโดยไม่แทรกแซง

พาลินี: เสรีภาพการแสดงความเห็นควรอยู่ในทุกอณูของสังคม การพิจารณาเซ็นเซอร์ของ กบว เป็นการทำลายคุณค่าทางวัฒนธรรม เป็นการทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็น และยังตัดโอกาสทางเศรษฐกิจที่ไทยจะเผยแพร่วัฒนธรรมสู่สังคมโลก มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่ถูกห้ามฉาย พรรคมหาชนมองว่าความเท่าเทียมกันต้องอยู่ในทุกอณู ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดคนอื่น

เกรียงศักดิ์: ขอแสดงความคารวะสมาชิกพรรคที่ต่างมีประสบการณ์ถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพการแสดงออก และขอคารวะพริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดินที่ถูกจำคุกเพราะแชร์ข่าวบีบีซี ที่มาในวันนี้

ตัวแทนพรรคสามัญชนกล่าวว่า มีผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากถูกฟ้องร้องโดยบริษัทเอกชน เพราะไปต่อสู้เรื่องเกี่ยวกับบ้านตัวเอง เราเรียกการฟ้องร้องเหล่านี้ว่า SLAPP หรือการฟ้องปิดปาก ซึ่งมีเกิดขึ้นจำนวนมากในไทยและทั่วโลก นักปกป้องสิทธิในพรรคเราก็ถูกละเมิดสิทธิด้วยวิธีการเหล่านี้

ถ้าสามัญชนได้รับโอกาสเข้าสภา จะยกเลิกคำสั่ง คสช. ทั้งหมดที่จำกัด ลิดรอนสิทธิ เสรีภาพเกินขอบเขตทั้ง 35 ฉบับ ยุติการดำเนินคดี คืนสิทธิให้กับผู้ต้องขัง ผู้ต้องหา ทั้งอดีตและปัจจุบันทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกรียงศักดิ์พูดถึงพริ้ม ที่มาร่วมรับฟังดีเบต ก็ได้มีเสียงปรบมือกึกก้องให้กับเธอ

ปัญหา 3 จ.ชายแดนใต้

วัฒนา: ต้องเปลี่ยนแนวคิดมาใช้การเมืองนำการทหาร ถ้าทหารบริหารสถานการณ์เองจะเป็นแบบที่เป็นอยู่นี้ ส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาสาม จ.ชายแดนใต้เป็นปัญหาการเมือง มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะฝ่ายปกครองและความมั่นคงที่ถูกทำร้าย แต่ผู้แทนราษฎรก็ยังไปไหนมาไหนได้

ที่ผ่านมามีการทำให้ปัญหาภาคใต้ลุกลาม มีการใช้เงินลงไปเยอะ มีการผสมโรงทั้งฝ่ายเราและเขาที่ไม่อยากให้เรื่องจบ มีอาชญากรรมปกติที่ผสมโรงกับสถานการณ์เหล่านั้น สิ่งเหล่านี้สามารถแยกแยะและแก้ปัญหาได้ถ้ายอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม เราส่งลูกไปเรียนภาษาสเปน ฝรั่งเศสได้ แต่เราไม่ยอมรับภาษายาวีที่คนในพื้นที่ใช้ เราพยายามกีดกันไม่ให้ใช้ภาษาเหล่านี้ คงต้องพูดเรื่องนี้กันในระดับชาติ

สิ่งแรกที่ต้องทำคือยอมรับว่า 3 จ.ชายแดนใต้มีปัญหา เปรียบเหมือนลูกคนเล็กของเรากำลังมีปัญหา คนในสังคมต้องช่วยกันดูแลปัญหานี้อย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ คนในประเทศยังไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงมากไปกว่าความรุนแรงหรือระเบิด เราไม่เคยนำปัญหามาให้คนส่วนใหญ่วิพากษ์และรับรู้ ช่วยกันคิดและแก้ไข หาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ พรรคเพื่อไทยจะทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติให้ทุกฝ่ายหาทางแก้ไขร่วมกัน

อลงกรณ์:  ก่อนปี 2547 แทบไม่มีความรุนแรงใดๆ เกิดขึ้นเลย ไม่เคยมีระเบิด แม้แต่การยิงกัน สถานการณ์เกือบเงียบสงบแล้ว โดยเฉพาะสมัยที่ชวน หลีกภัยเป็นนายกฯ แต่เหตุการณ์มาปะทุอีกครั้งหลัง 2547 สิ่งที่สะท้อนคือ ทำไมสมัยก่อนถึงสงบได้ อย่างหนึ่งก็เป็นเพราะบารมีของ ร.9 ที่มีกุศโลบายยอมรับความแตกต่าง

ที่ต้องทำคือไปศึกษาประวัติศาสตร์ บริบท เครื่องมือแก้ไขปัญหา สิ่งสำคัญคือหลักความยุติธรรม ความแตกต่างนั้นมีอยู่แล้ว ถ้าพรรคประชาธิปัตย์มีอำนาจจัดการ ก็จะบริหารและทำให้ภาคใต้กลับไปสู่ความสงบเร็วที่สุด การยกเลิกกฎหมายพิเศษ ไม่ว่าพระราชกำหนด (พรก.) ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร

พาลินี: เห็นด้วยว่าปัญหา 3 จ.ชายแดนใต้ ไม่ใช่ปัญหาทางการทหาร แต่เป็นปัญหาทางการเมือง และมันเป็นปัญหาที่จริงๆ แล้วน่าจะแก้ได้หากหน่วยงานรัฐไม่ทำตัวเป็นคนที่กร่างแล้วก็ไปจัดการทุกเรื่อง เธอเคยทำงานในวงการฟุตบอลมานาน เคยมีคนในวงการฟุตบอลไปสอนฟุตบอลที่ 3 จ. ชายแดนใต้แล้วมีทหารเดินตามอารักขา เขาก็บอกว่า เพราะคุณเดินตามผมนั่นแหละผมจะซวย

การใช้อำนาจของรัฐมันไปกระตุ้นให้เกิดปัญหา การประกาศกฎอัยการศึกเฉพาะพื้นที่ทำให้มีเงื่อนไขของปัญหา แล้วทำให้มีคนใช้ประโยชน์จากเรื่องนั้น มีไหมที่ปัตตานี FC แข่งแล้ววางระเบิด ไม่มี คนที่สาม จ. ชอบฟุตบอลมาก ถ้าเธอเป็นนายกฯ จะจัดทีมชาติไทยไปแข่งที่ปัตตานี รับรองสงบ หากเรามองปัญหานี้ตามหลักสิทธิมนุษยชน เขามีภาษาและวัฒนธรรมพื้นถิ่นของเขาก็ไม่ได้หมายความว่าเราแตกต่างกัน

เกรียงศักดิ์: พรรคสามัญชนมีปรัชญาว่าจะทำนโยบายจากล่างขึ้นบน เรื่องไหนไม่มีกระบวนการเสร็จสิ้นก็จะไม่มีนโยบายชัดเจน แต่ตามหลักการพรรค เรายืนยันเรื่องหลักการกำหนดอนาคตของตัวเองในแต่ละกลุ่ม และเราจะใช้หลักนี้กับเรื่องภาคใต้ ต้องกำจัดบรรยากาศความกลัวออกไปก่อน นโยบายกว้างๆ ที่เขียนไว้ที่สอดคล้องคือการทบทวน ยกเลิกกฎอัยการศึก พรก. ฉุกเฉิน พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในประเทศ แล้วหันมาใช้ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีความอาญาตามปกติ

นอกจากนั้นจะสนับสนุนให้มีกระบวนการไต่สวนที่เป็นธรรมและให้มีการเยียวยา พรรคสามัญชนเข้าใจว่าประเด็นความกลัวและความปลอดภัยที่จะพูดนั้นสำคัญมาก ต้องมีการสร้างกลไกให้คนในพื้นที่รู้สึกปลอดภัยที่จะพูดในเรื่องนี้ และอำนวยให้เกิดการเยียวยากับผู้ถูกละเมิดสิทธิในช่วงเวลาที่ผ่านมา

พรรณิการ์: พรรคอนาคตใหม่จะยกเลิกกกฎอัยการศึกที่ทำให้มีการเลือกปฏิบัติและความคับแค้น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีอยู่ได้แต่ทำให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น รัฐบาลสามารถประกาศภาวะฉุกเฉินได้เจ็ดวัน แต่ถ้าจะขยายจะต้องส่งเรื่องมายังรัฐสภา และ ถ้าเกิน 30 วัน กสม. (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) สามารถฟ้องศาลปกครองให้พิจารณาว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินนั้นควรแก่เหตุหรือไม่

นอกจากนั้นยังต้องการให้มีกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่นเพื่อเยียวยาผู้สูญเสียจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น พื้นที่ 3 จ. ชายแดนใต้ไม่ต่างกับความขัดแย้ง การสูญเสียจากการชุมนุมทางการเมือง ถ้าไม่มีความยุติธรรม ความปรองดองก็ไม่เกิดขึ้น ต้องคืนความเป็นธรรมและความจริงให้เขาก่อน วันนี้ดีใจที่ทุกพรรคเห็นตรงกันว่าความขัดแย้งใน 3 จ.ชายแดนใต้เป็นเรื่องการเมือง อย่าเขินอายที่จะบอกว่าเราเห็นตรงกันในเรื่องนี้ นโยบายที่เห็นตรงกันก็เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ในประเด็นการเจรจาสันติภาพ ถ้ารัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลพลเรือนที่มีความชอบธรรมก็จะสามารถเดินหน้าเจรจาสันติภาพได้เพราะจะเกิดการไว้เนื้อเชื่อใจจากฝ่ายผู้ก่อการ

เสรีภาพในการชุมนุม

เกรียงศักดิ์กล่าวว่า หลายพรรคการเมืองอยากสนับสนุนให้มี พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก และป้องกันเรื่องการกีดขวางการจราจร แต่พรรคสามัญชนมีสมาชิกพรรคที่เป็นชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบกับนโยบายการพัฒนาที่เป็นปัญหา ชาวบ้านมักเป็นคู่กรณีโดยตรงกับเจ้าหน้าที่รัฐ มักถูกเจ้าหน้าที่รัฐเลือกปฏิบติ ลิดรอนสิทธิอยู่แล้ว จึงไม่เชื่อใจให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้อนุญาตการชุมนุม และเชื่อว่าวิถีหรือวัฒนธรรมการชุมนุมของชาวบ้านนั้นแตกต่างจากการชุมนุมของพรรคการเมืองในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ พรรคสามัญชนไม่เอา พ.ร.บ. การชุมนุมฯ เลย จะขอให้ยกเลิกกฎหมายที่ควบคุมการชุมนุม เพราะเราเชื่อว่าชาวบ้านมีความรู้เรื่องการชุมนุมอย่างสงบ ถ้ามีปัญหาก็ขอให้ใช้กฎหมายที่มีอยู่จัดการกับผู้ละเมิดกฎหมาย

พรรณิการ์: เราไม่ได้คาดหวังว่าจะมีเสรีภาพการชุมนุมเต็มที่อยู่แล้วภายใต้รัฐบาลเผด็จการ แต่ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะเป็นปัญหาเชิงหลักการจริงๆ ตัว พ.ร.บ. นั้นควรมีเพื่อประกันสิทธิการชุมนุมและรักษาระเบียบสาธารณะ แต่ตัว พ.ร.บ. กลับถูกเขียนไว้กว้างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้ขัดขวางการชุมนุมได้

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีคนถูกดำเนินคดีจาก พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะแล้วอย่างน้อย 218 คน โดยมี 99 คนโดนดำเนินคดีฐานไม่แจ้งการชุมนุมก่อน และมี 52 คนโดนข้อหาชุมนุมในระยะไม่เกิน 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน การดำเนินคดี สุดท้ายไม่มีใครติดคุก ถ้าไม่เป็นรอลงอาญาหรือยกฟ้องไป แต่เป็นภาระในการขึ้นศาล การสู้คดี พ.ร.บ. ชุมนุมถูกใช้เป็นการสร้างภาระต่อผู้ต้องการแสดงเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย พรบ ชุมนุมนี้ขัดต่อหลักการพื้นฐาน จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ประเทศนี้เป็นประเทศที่เกิดการปราบปรามการชุมนุมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เกิดการสังหารหมู่ในเมืองหลวงครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่เคยมีใครสังหารประชาชน ผู้ที่ชุมนุมโดยสงบแล้วต้องรับผิดชอบตามกระบวนการยุติธรรม แม้ศาลยอมรับแล้วว่าการกระทำนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นเหตุการณ์ในเดือน เม.ย. - พ.ค. 2553 รัฐบาลพรรคอนาคตใหม่ ต้องการที่จะให้สัตยาบรรณในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ต้องไม่ให้มีการพ้นผิดลอยนวลต่อไป แม้กระบวนการยุติธรรมในประเทศเอาผิดไม่ได้ ก็จะให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นผู้พิจารณาและคุ้มครองประชาชนแทน

วัฒนา: หากพูดถึงการชุมนุม จะต้องกล่าวถึงสามประเด็น หนึ่ง ทัศนคติคนในสังคมและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ต้องมีทัศนคติเคารพสิทธิในการรวมตัวว่าเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ สอง กฎหมายการชุมนุมต้องมีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการชุมนุม การรักษาความปลอดภัย การปกป้องสิทธิสาธารณะ ไม่ใช่เป็นข้อจำกัดการชุมนุม สาม การบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะในรัฐบาลที่กลัวการชุมนุม จึงต้องคืนอำนาจสู่ประชาชน สำหรับเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเมื่อมีการเสียชีวิตในการชุมนุมนั้น สมัยพรรคเพื่อไทยให้เงินเยียวยาศพละ 7.5 ล้านบาท ก็มีการนำไปเปรียบเทียบเจ้าหน้าที่เสียชีวิตที่ภาคใต้ที่ได้ศพละ 2-3 ล้านบาท ซึ่งมันเป็นคนละบริบท การให้รัฐบาลเยียวยาศพละ 7.5 ล้านบาทนั้น นัยหนึ่งเป็นการลงโทษรัฐบาลว่า ต่อไปอย่าทำกับประชาชนอีก การตายของประชาชนต่างกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เขาอาสาเข้ามาตาย เขาต้องพร้อมที่จะตายเพราะเขามีเงินเดือน แต่ประชาชนไม่มีเงินเดือน ประชาชนไม่มีหน้าที่เอาชีวิตตัวเองมาเสี่ยงเพื่อเรียกร้องสิทธิพื้นฐานที่เมืองหลวง แล้วเขาต้องมาบาดเจ็บ สูญเสีย ทุกประเทศในโลกต่างก็ล้วนมีการเยียวยาตรงนี้ถึงขนาดว่าให้เป็นที่พอใจ

อลงกรณ์: ถ้าได้เป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์จะยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ นั้นเกิดขึ้นหลังภาวะความขัดแย้งในประเทศที่ยาวนานถึงสิบปี การแก้ไขนั้นจะทำให้สอดคล้องหลักสี่ประการ ได้แก่ หลักสิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญ นิติรัฐ และความโปร่งใส จะมีการเตรียมการยกร่างเพื่อเตรียมการแก้ไข โดยหลักสำคัญนอกเหนือจากการคุ้มครองเรื่องสิทธิ เสรีภาพ การชุมนุมต้องมีเงื่อนไข การแก้ไขต้องมีเงื่อนไขว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธซึ่งเป็นหลักสากล ต้องไม่เป็นภัยต่อสาธารณะ ความมั่นคง ความสงบ หรือไปละเมิดสิทธิของคนอื่น

พาลินี: เธอได้ติดตามวิกฤติการเมืองไทยในอดีตในฐานะผู้ดู และก็สังเกตว่าการชุมนุมที่เกิดจากความคิดบริสุทธิ์ของประชาชนไม่ได้เกิดขึ้นจริง มันอาจเริ่มจากคนที่มีความคิดบริสุทธิ์อยากแสดงความเห็น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีการชกใต้เข็มขัด เป็นเกมการเมืองที่ไปเล่นกันนอกสภา ทั้งนี้ ไม่นับการชุมนุมในช่วงรัฐบาล คสช. ที่มีการแสดงความเห็นอย่างบริสุทธิ์และจริงใจ แต่ก่อนรัฐประหารนั้นมีเหตุการณ์เยอะไปหมด ทั้งยึดสนามบิน ยึดทำเนียบ มีทั้งอาวุธปืน เธอมองว่าการชุมนุมโดยบริสุทธิ์ สุจริต การแสดงความเห็นของกลุ่มคนนั้นทำได้ จะต้องมีการกำหนดพื้นที่ให้ชัดเจน ไม่ให้ไปละเมิดสิทธิผู้อื่นหรือพื้นที่สาธารณะ การชุมนุมควรเป็นไปเพื่อการโน้มน้าวความคิดของสังคม ไม่ใช่การล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่าพาคนออกมาตะลุมบอนกันเหมือนที่ผ่านมาจนเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหารครั้งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net