Skip to main content
sharethis

ธรรมศาสตร์จับมือกกต. ศึกษาวิจัยระบบเลือกตั้งแบบ “ทรีอินวัน” บัตรใบเดียวตัดสินทั้ง ส.ส.เขต ปาร์ตี้ลิสต์ และนายกรัฐมนตรี ผศ.ดร.ปริญญา ห่วงกระทบสิทธิประชาชน คาดยอดลงคะแนนทะลุ 80% กลุ่ม First Time Voter และคนกลางๆ เป็นผู้ชี้ขาด เครือข่ายข้ออมูลการเมืองไทย เว็บไซด์ tpd.in.th พบคนไทยยังสับสนเรื่องการกาบัตร ขณะที่สถาบันพระปกเกล้า แนะเก็บ Big Data พัฒนากระบวนการ และกกต.รอประเมินผลเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนหรือไม่

9 มี.ค. 2562 ในเวทีเสวนาทางวิชาการ “การเลือกตั้งแบบ 3 อิน 1 กับผลทางการเมืองและการใช้สิทธิของประชาชน” เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2562  ณ ห้อง LT.1 (ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร) ชั้น 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงสมมติฐานและงานวิจัยการเลือกตั้ง 2562 ว่า มองปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ครั้งนี้ คือวิธีการนำเฉพาะคะแนนแบบแบ่งเขตมาคำนวณส.ส.ทั้งหมด ต่างจากการเลือกตั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา ที่เป็นแบบ “คู่ขนาน” คือประชาชนลงคะแนนได้ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ 

“ปัญหาคือถ้าผู้ใช้สิทธิชอบทุกอย่างในพรรคเดียวหมดก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าชอบผู้สมัครแบ่งเขต แต่ชอบนโยบายอีกพรรค หรือชอบนายกฯ อีกพรรคหนึ่ง ตรงนี้จะกระทบสิทธิประชาชนหรือไม่ กับระบบ ทรีอินวัน ในบัตรเลือกตั้งใบเดียวกัน”

ทิศทางที่เกิดขึ้นคือจำนวนผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขต เพิ่มมากกว่าปี 2554 ถึง 4 เท่า หรือจาก 2,422 คน เป็น 11,181 คน ขณะที่พรรคการเมืองเพิ่มจาก 40 พรรค เป็น 104 พรรค ส่วนใหญ่ไม่ได้หวังชัยชนะแต่ต้องการคะแนนเพื่อมาคิดที่นั่งแบบบัญชีรายชื่อ

ขณะที่ประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิคาดว่าจะมากกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 75% เพราะผู้สมัครมากขึ้นและจำนวนผู้มีสิทธิครั้งแรกในรอบ 8 ปีหรือ First Time Voter ถึง 6.4 ล้านคน รวมถึงกระแสในโซเชียลมีเดียหรือทีวีดิจิทัล อาจกระตุ้นให้ยอดสูงถึง 80% จากผู้มีสิทธิ 50 ล้านคนหรือออกมาประมาณ 40 ล้านคน

ผศ.ดร.ปริญญา คาดการณ์ผลทางการเมืองที่เกิดจากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมคือไม่มีพรรคใดจะได้ ส.ส.เกินครึ่งหรือ 250 คน และอาจมีปัญหาจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรวมแล้วมากกว่า 150 คน ขณะเดียวกัน จะเกิดการเมืองแบบ 3 ก๊กในการตั้งรัฐบาล ได้แก่ ก๊กที่ 1 คือพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก๊กที่ 2 คือพรรคเพื่อไทยและสาขา ก๊กที่ 3 พรรคประชาธิปัตย์

ขณะที่นายกรัฐมนตรีจะมาจากรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองไม่เกิน 5-6 พรรค และโอกาสของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยพรรคพลังประชารัฐต้องได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง และอาจเผชิญปัญหาคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญในฐานะ “หัวหน้าคสช.” ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ 

“จากผลสำรวจที่มีประชาชนถึง 40% ยังไม่ตัดสินใจ ถือเป็นสวิงโหวตเตอร์ที่จะเทให้พรรคไหนก็ได้ จะอยู่ที่การหาเสียง 18 วันที่เหลือ ทุกพรรคต้องมีการแข่งขันนโยบายมากที่สุด และ First Time Voter จะเลือกพรรคใหม่มากกว่าพรรคเก่า”

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวอีกว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินโครงการวิจัยประเมินผลการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 เพื่อสร้างความเข้าใจในพฤติกรรมผู้เลือกตั้งและนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขระบบการเลือกตั้งส.ส.ของประเทศไทยให้ดีขึ้นต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย www.tpd.in.th คณะรัฐศาสตร์ และสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมกันสำรวจความเห็นเยาวชนอายุ 18-23 ปี ถึงการใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก โดยมีคำถามพื้นฐาน อาทิ จะไปใช้สิทธิหรือไม่และใช้ปัจจัยใดในการตัดสินใจ รวมถึงความเห็นต่อคุณลักษณะของผู้จะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย เช่น ควรมีวิสัยทัศน์ในการบริหาร ต้องสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษในการประชุมระหว่างประเทศ ฯลฯ เพื่อให้ทราบว่ากลุ่มคนแบบไหนมีทิศทางการเลือกอย่างไรและสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองที่ถูกต้องด้วย

สำหรับระบบเลือกตั้งโดยใช้บัตรใบเดียว กาช่องเดียว มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกตั้ง เมื่อพบว่าประชาชนยังคิดว่ามีบัตรเลือกตั้งสองใบเหมือนเดิม หรือบัตรใบเดียวกาได้สามอย่าง แสดงว่ายังขาดความเข้าใจเรื่องบัตร จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์กับผู้ใช้สิทธิ

นอกจากนั้น การสำรวจพบพฤติกรรมทางการเมือง First Time Voter 7 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มด้านการศึกษาที่กระตือรือร้นประมาณ 1 ล้านคน แต่อีก 5 ล้านคนยังติดกับการทำงานคิดเรื่องปากท้องมาก่อน และอีกกลุ่มคือผู้ใช้สิทธิที่ดูจากคนรอบข้างและครอบครัว พ่อแม่เลือกอะไรเขาก็เลือกเช่นนั้น

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า มองว่า การวิจัยผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จะส่งผลดีโดยเฉพาะการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ของประชาชน อาทิ คนวัย 18-24 ปี จำนวน 7.3 ล้านคน จะออกมาใช้สิทธิกี่คนกี่เปอร์เซนต์ เพื่อวางกลยุทธ์สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าให้คนกลุ่มนี้ออกมามากขึ้น

นายกฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า กกต. อยากให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิจัยเรื่องการบริหารจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ว่ามีอุปสรรคอย่างไรจากวิธีปฏิบัติที่ต่างไปจากเดิม สองคือความพึงพอใจประชาชนในการลงคะแนนเสียง

“การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้ค่อนข้างท้าทาย เพราะการเลือกตั้ง 27 ครั้งจะไม่เหมือนกันเลย แต่คราวนี้บัตรเดียวสะท้อนทุกอย่าง จึงอยากรู้คำตอบว่าประชาชนจะตัดสินใจลงคะแนนอย่างไร”

ทั้งนี้ เน้นหลักการสำคัญ 4 เรื่อง คือหลักความเป็นอิสระในการลงคะแนนสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ สองระยะเวลา เช่น การเลือกตั้งและประกาศผล ควรเกิดขึ้นภายใน 150 วันหรือไม่ สามหลักความยุติธรรมและความเสมอภาค สุดท้ายคือผู้เล่นในระบบเข้าใจและเคารพในกติกาหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net