Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เปิดทีวีเจอหนัง “สุริโยไท” โดยบังเอิญ เห็นฉากสำคัญพอดี เลยหยุดดูครู่หนึ่ง สิ่งที่เห็นคือ “การฆ่าศัตรูทางการเมือง” อย่างโหดเหี้ยมเป็น “วิธีการบริหารอำนาจ” ของชนชั้นนำสยามมายาวนาน วัดคือสถานที่หลบ “ราชภัย” ของฝ่ายที่มีกองกำลังน้อยกว่า ขณะเดียวกันวัดก็กลายเป็นสถานที่วางแผนฆ่าฝ่ายตรงข้ามเพื่อยึดอำนาจคืนมาด้วย 

ประวัติศาสตร์ที่รัฐไทยสอนพลเมือง คือ “ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำ” ในด้านหนึ่งรัฐต้องการสร้างสำนึกเชิดชู “วีรกรรม” ของชนชั้นนำที่เป็นนักรบเสียสละปกป้องแผ่นดิน สร้างความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองและอุปถัภม์พุทธศาสนาให้มั่นคงสืบมาถึงปัจจุบัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่) ประวัติศาสตร์ชนชั้นนำก็เผยให้เห็นวิธีการบริหารอำนาจของชนชั้นนำด้วยการใช้เล่ห์เพทุบายสารพัดและฆ่ากันเองเพื่อแย่งอำนาจ ซึ่งเกิด “ซ้ำรอย” มายาวนาน

ที่น่าสังเกตคือ การสร้าง “ความเป็นอื่น” (otherness) ในประวัติศาสตร์ชนชั้นนำนั้น “คนอื่น” มีทั้ง “คนนอก” และ “คนใน” บางทีคนนอกก็ไม่ใช่คนอื่นเสมอไป คนนอกที่เป็นคนอื่นคืออริราชศัตรูที่ยกทัพมารุกราน แต่คนนอกที่เป็นพันธมิตรของชนชั้นนำก็ไม่ใช่คนอื่น ดังที่มีการนำชาวต่างชาติมาเป็นข้าราชการหรือเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศตะวันตกก็มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

สมัยรัตนโกสินทร์ยุคเผชิญการล่าอาณานิยม ชนชั้นนำสยามตระหนักดีว่าภัยคุกคามของประเทศเจ้าอาณานิคมคือการล้มระบบกษัตริย์ เพื่อที่ประเทศเจ้าอาณานิคมจะมีอำนาจแสวงหาผลประโยชน์ ดังหลังจากเจ้าอาณานิคมตะวันตกคืนอิสรภาพ ดินแดนของประเทศต่างๆ ก็ยังคงอยู่ แต่ที่เปลี่ยนไปแล้วคือไม่มีระบบกษัตริย์แบบเดิม 

ชนชั้นนำสยามเข้าใจประเด็นนี้ดี จึงยอมเสีย “เมืองขึ้น” บางส่วน ยอมเซ็นต์สัญญาทางการค้าที่สยามเสียเปรียบ ยอมสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้ปะเทศเจ้าอาณานิคม และเพื่อที่จะปกป้องระบบกษัตริย์ให้คงอยู่จึงต้องเปลี่ยนให้ประเทศเจ้าอาณานิคมที่เป็นอื่นกลายมาเป็นมิตร ดังมีการตั้งชาวต่างชาติเป็นข้าราชการ เป็นทีปรึกษากิจการบ้านเมือง และยอมให้สิทธิพิเศษต่างๆ แก่พวกเขา

ขณะเดียวกันหัวเมืองต่างๆ ที่เป็นเมืองขึ้นที่เคยสวามิภักดิ์เป็นพวกเดียวกันก็ถูกทำให้กลายเป็นอื่น ด้วยการยกกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปยึดอำนาจเจ้าเมืองนั้นๆ ให้เข้าสู่ระบบราชการสมัยใหม่ที่รวบอำนาจการปกครองรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ ไม่ปล่อยให้หัวเมืองต่างๆ มีอิสระปกครองตนเองอีกต่อไป นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นการ “ล่าอาณานิคมภายใน” ด้วยการทำให้เมืองขึ้นต่างๆ กลายเป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นหากเจ้าเมืองต่างๆ แข็งข้อ หรือหันไปสวามิภักดิ์ต่อประเทศเจ้าอาณานิคมที่ไม่ใช่มิตรก็จะกลายเป็นปัญ “หอก” กลับมาทิ่มแทงอำนาจส่วนกลางในภายหลัง

แม้แต่คนในแวดวงชนชั้นนำด้วยกันเองก็ถูกทำให้กลายเป็นคนอื่นหากมีอุดมการณ์ที่แตกต่าง เช่น “พระองค์เจ้าปฤษางค์” ที่เป็นต้นคิดเสนอให้สยามมีรัฐธรรมนูญปกครองอย่างอารยประเทศ ก็มีความผิดถูกเนรเทศออกนอกราชอาณาจักร และสามัญชนอย่าง “เทียนวรรณ” ที่เสนอความเห็นทำนองเดียวกันก็ติดคุก 17 ปี แต่ “คนใน” ประเทศ ที่ต้องการสร้างการปกครองที่ก้าวหน้าและยุติธรรมก็เกิดตามมาไม่สิ้นสุด เช่นเกิดกบฏ ร.ศ.130 และตามมาด้วยการปฏิวัติสยาม 2475 

หลัง 2475 ก็เข้าสู่ยุคแห่งการต่อรองประนีประนอมระหว่างชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้าหรือ “คณะราษฎร” ทำให้ปรีดี พนมยงค์กลายเป็น “ปีศาจ” ครั้งแรก เมื่อเขาเสนอ “เค้าโครงเศรษฐกิจ” หรือสมุดปกเหลืองที่มีเนื้อหาขัดแย้งเชิงความคิดฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างถึงราก โดยถูกกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ต้องหนีออกนอกประเทศไป 

หากอ่านนวนิยาย “ปีศาจ” ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เราย่อมเข้าใจความหมายของปีศาจ ผ่านคำนิยามของ “สาย สีมา” ตัวละครเอกที่ว่า

 “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”

แม้ปรีดีจะกลับประเทศเพราะพ้นข้อกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์ได้ แต่ก็กลายเป็น “ปีศาจ” ครั้งที่สองด้วยข้อกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการสวรรคตของ ร.8  จากนั้นก็มีปีศาจตัวอื่นๆ ตามมา เช่น “นายผี” หรืออัศนีย์ พลจันทร, กุหลาบ สายประดิษฐ์, จิตร ภูมิศักดิ์ และมิตรสหายอีกหลายคน เรื่อยมาถึงขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา, 6 ตุลา, พฤษภา 35 กระทั่งคนเสื้อแดง ปีศาจเหล่านั้นล้วนแต่ถูกขจัดทิ้งหรือไม่ก็ถูกทำให้กลับใจ

กว่าทศวรรษมานี้ “ทักษิณ” กลายเป็นปีศาจที่ฆ่าไม่ตาย ไม่ใช่เพราะว่าทักษิณเป็นผู้นำที่ชู “อุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย” อย่างชัดเจน ตรงกันข้ามเส้นทางความสำเร็จของทักษิณคือเส้นทางประนีประนอมกับอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาตลอด ทว่าที่ต่างจากนักการเมืองคนอื่นๆ คือทักษิณเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับความนิยมของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศได้ด้วยการสร้างนโยบายเป็นที่นิยมจนได้ชัยชนะในการเลือกตั้งต่อเนื่อง 

แน่นอนว่า ข้อกล่าวหาต่างๆ ในเรื่องทุจริตและการใช้อำนาจเกินเลยของทักษิณนั้นย่อมจะต้องได้รับการพิสูจน์ตัดสินผ่านกระบวนการยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตย แต่กระบวนการขจัดทักษิณก็เกินเลยไปจากกระบวนการที่ชอบธรรมดังกล่าว เพราะมีการใช้วิธีสร้างให้เขา “กลายเป็นอื่น” หรือกลายเป็น “ปีศาจ” ด้วยข้อกล่าวหาล้มล้างสถาบันกษัตริย์เพื่อทำรัฐประหาร 2549 

แต่ผลที่ตามมาคือ ทักษิณกลายเป็นปีศาจสำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยมและประชาชนฟากหนึ่งที่ยอมรับและสนับสนุนรัฐประหาร ทว่ากลับเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของประชาชนอีกฝ่าย ซึ่งน่าจะเป็นประชาชนส่วนใหญ่ เพราะถึงทักษิณจะถูกขจัดออกไปจากประเทศนี้แล้ว และพรรคการเมืองฝ่ายเขาถูกยุบซ้ำๆ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังเลือกพรรคการเมืองเก่าในชื่อใหม่อยู่ดี แม้แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ทักษิณก็ยังคงเป็นปีศาจที่น่ากลัวของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ยิ่งกว่านั้น “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” แห่งพรรคอนาคตใหม่ ได้กลายเป็น “ปีศาจ” ตัวใหม่ และเป็นปีศาจที่ละม้าย “สาย สีมา” มากเสียด้วย เนื่องจากธนาธรเลือกสร้างพรรคการเมืองที่ประกาศสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจส่วนบนให้อยู่ภายใต้ระบอบเสรีประชาธิปไตย การท้าทายของเขาจึง “ถึงราก” มากกว่า จึงไม่แปลกที่กระแสโจมตีและการร้องยุบพรรคอนาคตใหม่จึงเกิดขึ้นถี่ยิบ ล่าสุดมีการประโคมว่า ธนาธรจะ “พาทักษิณกลับบ้าน” โดยอ้างคลิปธนาธรให้สัมภาษสื่อต่างชาติ

แต่หากใครได้ดูคลิปนั้นแล้ว จะเห็นว่า คำตอบของธนาธรไม่เกี่ยวอะไรกับการเชียร์,ปกป้อง หรือจะช่วยเหลือทักษิณให้กลับบ้านแต่อย่างใด เขาเพียงตอบคำถามสื่อใน “ทางหลักการ” เท่านั้นว่า เมื่อทักษิณถูกทำรัฐประหารและถูกดำเนินคดีผ่านกระบวนการที่อำนาจจากรัฐประหารตั้งขึ้นโดยมี “ธง” ตามข้ออ้างในการทำรัฐประหารอยู่แล้ว กระบวนการเช่นนี้ย่อมไม่ชอบธรรม ดังนั้นไม่ว่าธนาธรหรือใครก็ตามที่ยืนยัน “หลักการประชาธิปไตย” ก็ย่อมจะยืนยันว่าทักษิณ (หรือผู้มีอำนาจรัฐคนใดก็ตามที่ถูกกล่าวหาทำนองเดียวกัน) ควรได้รับสิทธิที่จะต่อสู้ผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระและเป็นกลางในระบอบประชาธิปไตย 

ทว่าการเชื่อมโยงธนาธรกับการ “พาทักษิณกลับบ้าน” ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ย่อมสะท้อนให้เห็น “ความกลัว” จะแพ้เลือกตั้งของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเอง ทางเดียวที่จะรักษาคะแนนเสียงจากฝ่าย พธม.และ กปปส.หรือคนที่เคยไม่เอาทักษิณเอาไว้ได้ก็คือการเน้นภาพ “ปีศาจ” ทักษิณและธนาธร 

แต่ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า พธม.ที่ระดมมวลชนได้มากบนท้องถนนเมื่อมาตั้งพรรคการเมืองก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า คราวนี้ กปปส.ที่นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณมาตั้งพรรคการเมืองอีก ก็ไม่มีวี่แววว่าจะได้รับความนิยมเหนือฝ่ายตรงข้าม 

อย่างไรก็ตาม ปีศาจทักษิณและปีศาจธนาธรที่สร้างขึ้นในช่วงใกล้เลือกตั้ง อาจไม่ใช่แค่หวังทำลายคะแนนนิยมฝ่ายตรงข้าม หรือเรียกคะแนนนิยมเพิ่มให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเท่านั้น แต่อาจมุ่งสร้างกระแสปูทางไปสู่ “การยุบ” และการยัดข้อหาสารพัดที่อาจตามมาอีกไม่รู้เท่าไร 

การบริหารอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมยุคนี้ที่ใช้ทุกวิธีการ ทั้งเล่ห์กล มนตร์มายา อภินิหารกฎหมาย จึง “สุ่มเสี่ยง” ต่อการขยายความขัดแย้งและอาจเกิดความรุนแรงซ้ำรอยประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆ มา เพราะเป็นการบริหารอำนาจด้วยวิธีการที่ทำให้คนไทยด้วยกันเองที่คิดต่าง กลายเป็น “คนอื่น” และเป็นยุคที่บุคคลผู้ซึ่งถูกทำให้กลายเป็น “ปีศาจ” มีประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศสนับสนุนผ่านการเลือกตั้ง 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net