Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหตุการณ์ “ยุบพรรคพรรคไทยรักษาชาติ” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2562 กำลังเป็นกระแสอย่างมากในโลกออนไลน์ จะเห็นได้จากการเกิด Hashtag ต่าง ๆ ใน Twitter เช่น #ยุบให้ตายก็ไม่เลือกลุง #ยุบให้ตายก็ไม่เลือกมึง อีกทั้งยังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องดังกล่าวใน Facebook ซึ่งเรื่องนี้มีข้อควรสังเกตทางกฎหมายบางประการทั้งในส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและการทำหน้าที่ขององค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ดังต่อไปนี้

ในส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อลองอ่านดูจะพบถึงจุดที่น่าสงสัยในการตีความและการใช้หลักกฎหมายอยู่หลายประการ เช่น

“คำว่า "ปฏิปักษ์" แม้กฎหมายจะไม่ได้บัญญัตินิยามศัพท์ไว้ แต่ก็เป็นคำในภาษาไทยธรรมดาที่มีความหมายตามที่ใช้และรู้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งศาลย่อมรู้ได้เองว่า "ปฏิปักษ์" นั้นไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายจนเกิดความชํารุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลงก็เข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว”

---> การวินิจฉัยเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหา เพราะแม้ว่าศาลจะอ้างว่า ไม่มีนิยามทางกฎหมายสำหรับศัพท์ดังกล่าว จึงต้องใช้นิยามตามธรรมดาทั่วไปที่ศาลย่อมรู้เอง แต่นิยามธรรมดาแท้จริงของคำว่า “ปฏิปักษ์” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554 นั้นมีความหมายว่า ฝ่ายตรงกันข้าม, ข้าศึก, ศัตรู เท่านั้น ดังนั้นการกระทำเช่นนี้ อาจถือได้ว่า ศาลกำลังใช้ดุลยพินิจส่วนตนในการ “ตีความขยายขอบเขตนิยามคำศัพท์อย่างธรรมดา” นี้ ให้กว้างไปมาก เพื่อเป็นการหลบเลี่ยงนิยามโดยแท้จริง และใช้นิยามตามที่ศาลกล่าวอ้างว่ารู้เอง เพื่อการวินิจฉัยให้เข้าเงื่อนไขการยุบพรรคไทยรักษาชาติ

อีกทั้งด้วยหลักการทางกฎหมายทั่วไปที่ว่า “บทบัญญัติกฎหมายต้องตีความอย่างกว้างหากมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และต้องตีความอย่างแคบหากมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงโทษหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพ” จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า “การตีความขยายนิยามความหมายของคำธรรมดา” คำนี้ อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการขัดต่อหลักการดังกล่าว  

ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากหากกรณีปรากฏว่า ไม่เข้าความหมายอย่างธรรมดาจริง ๆ ของคำว่า “ปฏิปักษ์” เสียแล้ว ก็จะไม่สามารถใช้มาตรา 92 วรรค 1 (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เพื่อการยุบพรรคไทยรักษาชาติได้เลย อีกทั้งหากศาลประสงค์จะใช้การตีความคำว่า “ปฏิปักษ์” ในทางกฎหมายแท้จริง ศาลจะต้องไม่กล่าวอ้างประโยคที่ว่า “เป็นคำในภาษาไทยธรรมดาที่มีความหมายตามที่ใช้และรู้กันอยู่ทั่วไป”

เราน่าจะเคยได้เห็นปัญหาของการที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ “การตีความความหมายของคำศัพท์” เพื่อเป็นเหตุในการวินิจฉัยกันมาแล้ว อย่างเช่น กรณีของคุณสมัคร สุนทรเวช ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ให้ขาดจากสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากไปเป็น “ลูกจ้าง” ของบริษัทแห่งหนึ่ง โดยที่ศาลเลือกใช้ความหมายของคำว่าลูกจ้าง ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฯ “ทั้ง ๆ ที่มีนิยามของคำว่าลูกจ้างชัดเจนเพียงพออยู่ในกฎหมายต่าง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ป.พ.พ. หรือกฎหมายแรงงาน ฯลฯ” แต่ศาลกลับนำความหมายในพจนานุกรม “ที่กว้างไปมาก” มาใช้ในการตีความเพื่อวินิจฉัย ซึ่งขัดต่อหลัก “บทบัญญัติกฎหมายต้องตีความอย่างแคบหากมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงโทษหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพ”

“สำหรับประเด็นเรื่องเจตนานั้น เมื่อมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติชัดเจน เพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องห้ามแล้ว หาจำต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือต้องรอให้ผลเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้นจริงเสียก่อนไม่”

“บทบัญญัติในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) ที่ว่าอาจเป็นปฏิปักษ์นั้น ในทางกฎหมายเป็นเงื่อนไขทางภาวะวิสัย กล่าวคือ ไม่ขึ้นกับเจตนาหรือความรู้สึกส่วนตัวของผู้กระทำว่าจะเกิดผลเป็นปฏิปักษ์จริงหรือไม่ หากแต่ต้องดูตามพฤติการณ์และการกระทำนั้น ๆ ว่าในความคิดของวิญญูชนหรือคนทั่ว ๆ ไป จะเห็นว่าการกระทำดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ เทียบได้กับกรณีหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ที่ว่า "น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง" นั้น ศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานมั่นคงไว้ว่า การพิจารณาว่าถ้อยคำหรือข้อความใดจะเป็นการใส่ความผู้อื่น จนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความนั้นของวิญญูชนโดยทั่วไปเป็นเกณฑ์ คำพิพากษาฎีกาที่ 3167/2545”

---> การวินิจฉัยเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากโดยหลักแล้ว ความผิดทางอาญาจะต้องพิจารณาที่ “เจตนา” อันเป็นองค์ประกอบความผิดภายในของผู้กระทำผิดเป็นสำคัญ อีกทั้งหลัก “มาตรฐานวิญญูชน” ดังกล่าว จะไม่ใช้กับกรณีบทบัญญัติซึ่ง “มีผลกระทบทางสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง” ซึ่งบทบัญญัติตาม มาตรา 236 ประมวลกฎหมายอาญาที่ศาลรัฐธรรมนูญยกมานั้น มีบทบัญญัติที่มีลักษณะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน “คนละระดับ” กับบทบัญญัติในมาตรา 92 วรรค 1 (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กล่าวคือ มาตรา 326 เป็นความผิดที่มีทั้งเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ และสามารถยอมความได้ แต่มาตรา 92 วรรค 1 (2) เป็นความผิดที่ไม่มีอะไรมาลดหย่อนหรือยกเว้นได้เลย ดังนั้นจึงไม่ควรเอามาใช้เทียบเคียงกัน เพื่อวินิจฉัยตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ

อีกทั้งก่อนที่จะมีการอ่านคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญ “ไม่อนุญาตให้มีการสืบพยาน” โดยอ้างเหตุผลว่า ทุกอย่างชัดเจนเพียงพออยู่แล้ว การกระทำเช่นว่านี้เป็นการขัดต่อหลักสิทธิขั้นพื้นฐานในเรื่องการต่อสู้ในระบบกระบวนการยุติธรรมของประชาชน ที่ประชาชนควรมีสิทธิการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ และการวินิจฉัยดังกล่าว ก็เป็นการบอกเป็นนัยว่า ผู้ถูกร้องกระทำความผิดจริง ซึ่งขัดต่อหลักการดำเนินคดีทางอาญาพื้นฐานที่ว่า “ให้สันนิษฐานไว้เสมอว่า ผู้ต้องหายังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาตัดสินถึงที่สุดจากศาล”


ในส่วนของการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ มีข้อที่น่าสังเกตคือ ในตอนแรก กกต. “ยืนยันชัดเจน” ว่า ทูลกระหม่อมหญิงฯ สามารถที่จะเป็น Candidate ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ และไม่ถือว่ามีความบกพร่องทางคุณสมบัติ แต่ภายหลังกลับส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติที่เสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงฯ เป็น Candidate ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เข้าลักษณะความผิดตามมาตรา 92 วรรค 1 (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 อันเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคตามมาตรา 92 วรรค 2 หรือไม่ ซึ่งการกระทำเช่นว่านี้ถือได้ว่าเป็นการที่ กกต. ซึ่งเป็น “องค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ” (อยู่ในข้อยกเว้นที่ไม่ต้องใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการปกครอง พ.ศ.2539 ตามมาตรา 4 วรรค 1 (2)) “บกพร่องในหน้าที่ของตนเอง” กล่าวคือมีหน้าที่ต้องตรวจสอบและยืนยันคุณสมบัติของผู้เป็น Candidate ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเป็นเหตุให้ประชาชนต้องได้รับความเสียหาย ทั้งยังเป็นที่น่ากังวลใจว่า ในอนาคตต่อไป องค์กรนี้จะสามารถเป็นผู้คุมกฎเกณฑ์การเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือ?


สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ผมขอเสนอให้ กกต. จัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรขึ้นใหม่ ในพื้นที่ที่ได้มีการลงคะแนนเสียงไปแล้ว เนื่องจากผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำให้บัตรเลือกตั้งที่กาพรรคไทยรักษาชาติจะกลายเป็น “บัตรเสีย” ในทันที เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน และสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้อย่างชัดเจนและเที่ยงตรงที่สุด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

ประชาไท: คำต่อคำ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ https://prachatai.com/journal/2019/03/81384 (สำหรับส่วนคำวินิจฉัย กรณีพรรคไทยรักษาชาติ)

iLaw: สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ https://ilaw.or.th/node/5195


หมายเหตุผู้เขียน: ข้อสังเกตนี้เป็นข้อสังเกตส่วนตัวที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางกฎหมายและการวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net