Skip to main content
sharethis

ก.แรงงานไฟเขียวตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูล อำนวยความสะดวกแรงงานพม่าต่อเอกสารทำงานในประเทศ

กระทรวงแรงงาน จัดตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานพม่าชั่วคราวบริเวณตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร ช่วยอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้แก่แรงงานพม่า พร้อมขอให้นายจ้างตรวจสอบใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยถึงการจัดตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานพม่าชั่วคราว บริเวณตลาดทะเลไทย ที่จังหวัดสมุทรสาคร ว่าศูนย์ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อเพื่อความสัมพันธ์ด้านแรงงานระหว่างไทยกับพม่า และเป็นประโยชน์ต่อนายจ้าง สถานประกอบการ แรงงานต่างด้าว ในการให้บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้กับนายจ้าง สถานประกอบการ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยศูนย์ดังกล่าวจะให้บริการแรงงาน 2 กลุ่ม คือแรงงานพม่าที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติหรือจัดทำทะเบียนประวัติในประเทศไทยที่ถือหนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ต หนังสือเดินทางชั่วคราว รวมถึงเอกสารรับรองบุคคล โดยทางการพม่าใช้คำว่า กลุ่มคน Function A ที่ได้รับการผ่อนผันจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2563 มีประมาณ 660,000 คน ที่ต้องการเปลี่ยนเอกสารประจำตัวเป็นหนังสือเดินทาง และกลุ่มที่ 2 แรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานตามความตกลง หรือ MOU ที่วาระการจ้างงานใกล้ครบกำหนด 4 ปีที่ต้องการจัดทำเป็นหนังสือเดินทางฉบับใหม่ และมีความประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานตาม MOU เมื่อวาระการจ้างงานครบ 4 ปี แล้ว โดยทางการพม่าใช้คำว่า กลุ่มคน Function B ที่มีประมาณ 140,000 คน ซึ่งรวมทั้ง 2 กลุ่ม มีแรงงานพม่าประมาณ 800,0000 คน เนื่องจากทางการพม่าสามารถจัดเก็บข้อมูลของแรงงานพม่าที่ประสงค์จะขอมีหนังสือเดินทางได้ในเบื้องต้นก่อนที่หน่วยงานที่อำนาจหน้าที่จะพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้แก่แรงงานโดยที่แรงงานยังไม่ต้องเดินทางกลับไปประเทศต้นทาง นอกจากนี้ ยังช่วยอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้แก่แรงงานพม่า พร้อมขอให้นายจ้างตรวจสอบใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กรมการจัดหางานจะจัดทำหนังสือแจ้งเตือนการต่ออายุใบอนุญาตจ้างงานไปยังนายจ้างตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 2562 นี้ เป็นต้นไป

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 9/3/2562

คุณภาพชีวิตแรงงานต่างชาติในไทย 'ดีกว่า' มาเลเซีย

นักสิทธิแรงงานเผย คุณภาพชีวิตแรงงานต่างชาติในไทยดีขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สวนทางกับแรงงานต่างชาติในมาเลเซียที่เจอกับความยากลำบากยิ่งกว่า และมีปัญหาแรงงานฆ่าตัวตายสูง

'อานดี้ ฮอลล์' นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษซึ่งศึกษาข้อมูลด้านแรงงานในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์ 'Free Malaysia Today' หรือ FMT สื่อของมาเลเซีย ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คุณภาพชีวิตแรงงานต่างชาติในไทยได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงกดดันจากนานาชาติที่มีต่อภาครัฐและเอกชนของไทย และกล่าวได้ว่าแรงงานต่างชาติในไทยได้รับการปฏิบัติที่ 'ดีกว่า' แรงงานต่างชาติในมาเลเซีย

ฮอลล์ระบุว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยศึกษาวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานในประเทศไทย และคิดว่าคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างชาติในไทยนั้นเข้าขั้น 'ย่ำแย่' แต่เมื่อเทียบกับกรณีของมาเลเซีย พบว่าแรงงานต่างชาติในไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าแรงงานต่างชาติในมาเลเซียอยู่มาก

ทั้งนี้ แรงงานต่างชาติที่อพยพไปทำงานในมาเลเซียส่วนใหญ่มาจากประเทศเนปาล เมียนมา และบังกลาเทศ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าแรงงานเหล่านี้ 'ฆ่าตัวตาย' เพิ่มขึ้น ทั้งยังพบปัญหาแรงงานถูกเรียกเก็บค่านายหน้าและต้องจ่ายเงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ ทำให้แรงงานต่างชาติเหล่านี้เริ่มต้นทำงานในสภาพที่เป็นหนี้ ซ้ำเติมกับสภาพความเป็นอยู่ดั้งเดิมที่ยากจนและต้องดิ้นรนอยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังพบปัญหานายจ้างไม่จ่ายหรือค้างจ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) แก่แรงงานต่างชาติจำนวนมาก โดยหลายคนเปิดเผยกับฮอลล์ว่าพวกเขาต้องทำงานถึงวันละ 12 ชั่วโมงติดต่อกันโดยแทบจะไม่มีวันหยุด บางรายต้องทำงานล่วงเวลาถึง 160 ชั่วโมงต่อเดือน ขณะที่สภาพที่พักอาศัยก็เข้าข่ายแออัดยัดเยียดและไม่มีสาธารณูปโภครองรับเพียงพอ ทำให้แรงงานหลายรายประสบภาวะกดดันและตึงเครียด นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

ข้อมูลของฮอลล์สอดคล้องกับรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อปี 2559 ที่ระบุว่า แรงงานต่างชาติในมาเลเซียเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และสาเหตุหลักมาจากการฆ่าตัวตาย ฮอลล์จึงระบุว่า รัฐบาลมาเลเซียควรเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินสินบนแลกเปลี่ยนกับการอำนวยความสะดวกเรื่องการว่าจ้างแรงงาน และปัญหานายหน้าขูดรีดเงินค่าดำเนินการจากแรงงานต่างชาติ รวมถึงจะต้องผลักดันการแก้ไขเงื่อนไขของสัญญาจ้าง เพื่อให้แรงงานต่างชาติสามารถยุติสัญญาได้ในกรณีที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือถูกนายจ้างละเมิดสิทธิ

ก่อนหน้านี้ ฮอลล์เคยทำงานวิจัยและศึกษารวบรวมข้อมูลด้านสิทธิแรงงานในไทยอยู่นาน 12 ปี จนกระทั่งเขาถูกบริษัทผลไม้กระป๋องในไทยฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท สืบเนื่องจากการแถลงรายงานคุณภาพชีวิตแรงงานต่างชาติซึ่งทำงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตรของไทย รวมถึงโรงงานสับปะรดกระป๋องแห่งหนึ่ง ทำให้ฮอลล์ตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยในปี 2560

เมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว ศาลไทยได้ตัดสินว่าฮอลล์มีความผิดและต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทเอกชนที่เป็นผู้ฟ้องคดี แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรด้านสิทธิแรงงานจากฟินแลนด์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้ฮอลล์ทำรายงานดังกล่าว ต่างยืนยันว่าการฟ้องร้องคดีเพื่อปิดปากนักสิทธิแรงงานอย่างฮอลล์เป็นเรื่องที่ 'ไม่ถูกต้อง' เพราะบริษัทดังกล่าวฟ้องร้องฮอลล์ แต่ไม่ได้ฟ้องร้ององค์กรด้านสิทธิฯ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างฮอลล์อีกต่อหนึ่ง

นอกจากนี้ สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาด้วยว่า ปัจจุบัน แรงงานเมียนมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในแถบเอเชีย โดยแรงงานเมียนมากว่า 5 ล้านคนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และ 'ไทย' เป็นประเทศที่พึ่งพิงแรงงานจากเมียนมามากที่สุด คิดเป็นจำนวนกว่า 3 ล้านคน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมประมง และประชากรเมียนมาที่ทำงานด้านนี้ในไทยมักจะอพยพไปจากรัฐมอญหรือรัฐกะเหรี่ยง

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่แรงงานเมียนมานิยมไปทำงานมากเป็นอันดับ 2-5 รองจากไทย ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

ที่มา: VoiceTV, 8/3/2562

เตรียมส่งรายงานการค้ามนุษย์ (Progress Report) ให้สหรัฐอเมริกาเดือน เม.ย.นี้

รัฐบาลไทยจะจัดทำรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (Progress Report) ส่งให้สหรัฐฯ ภายในเดือน เม.ย. 2562 นี้

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจกำกับและติดตามการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 8/2561-2562 ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และผู้ทรงคุณวุฒิฯลฯ จำนวนกว่า 60 คน

พลเอก อนันตพร กล่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้กำหนดรอบระยะเวลาในการขอรับข้อมูลจากประเทศต่างๆ เพื่อประกอบการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ คือเดือน เม.ย. ของปีก่อนการประเมิน จนถึงเดือน มี.ค. ของปีที่จะประเมิน โดยในทางปฏิบัติที่ผ่านมารัฐบาลจะจัดทำรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ Progress Report ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานสำคัญ 3 เดือน ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ของแต่ละปี ส่งให้สหรัฐฯ เพิ่มเติมจากรายงาน TIP Report โดยการประชุมฯ ในครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่าง Progress Report (1 ม.ค.-31 มี.ค. 2562) ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลความคืบหน้าการดำเนินงาน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) ด้านการดำเนินคดี 2) ด้านการคุ้มครอง และ 3) ด้านการป้องกัน โดยเฉพาะสถิติการจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดค้ามนุษย์ ความคืบหน้าการดำเนินคดีสำคัญ จำนวนผู้เสียหายที่ได้รับการช่วยเหลือคุ้มครอง รวมทั้ง ผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว และการตรวจแรงงาน

พลเอก อนันตพร กล่าวว่กระทรวง พม. จะนำ Progress Report เสนอคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาในการประชุมฯ ครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 18 มีนาคม 2562 ณ ทำเนียบรัฐบาล และเสนอนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนส่งให้สหรัฐอเมริกาภายในต้นเดือน เม.ย. 2562

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 8/3/2562

กระทรวงแรงงานปั้นเด็กช่างสู่ตลาดงาน หวังไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์เอเชีย

กระทรวงแรงงานร่วมกับคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและภาคเอกชน เปิดโครงการฝึกทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้นสาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับนักศึกษา ปวส. 2 จากวิทยาลัยเทคนิค 14 แห่ง หวังไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์เอเชีย

จากการที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน 3A ของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะด้านการผลิตกำลังแรงงาน เพื่อมุ่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในตลาด และยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) มีมาตรฐานฝีมือแรงงานรองรับการเติบโต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และทั่วประเทศ

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ มีความต้องการแรงงานระดับปฏิบัติการเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับการผลิต คาดว่าความต้องการยิ่งจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเมื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นในฐานะ10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC

ด้วยเหตุนี้เอง กพร. จึงดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน 3A ของกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) ร่วมกับคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ) กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินโครงการฝึกทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้นฐานสมรรถนะ สาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับนักศึกษา ปวส.ปีที่ 2

ทั้งนี้ มีนักศึกษาให้ความสนใจเข้ารับฝึกอบรมจำนวน 185 คน จากวิทยาลัยเทคนิค 14 แห่ง อาทิ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก, วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี, วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา, วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เป็นต้น โดยใช้ระยะเวลาฝึกอบรมกับสถาบัน AHRDA เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.- 5 เม.ย. 2562 (150 ชั่วโมง)

โดยนักศึกษาจะได้ฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติใน 5 รายวิชา ได้แก่ การควบคุมไฟฟ้าด้วยรีเลย์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์, นิสัยอุตสาหกรรม, ทักษะงานช่างอุตสาหกรรมสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิต (เครื่องกลึง, เครื่องกัด) และการเชื่อม MAG สำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

หลังจากนั้นฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบกิจการในกลุ่มสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเป็นเวลาอีก 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 2562-28 ก.พ. 2563 นักศึกษาผ่านการฝึกอบรมจะได้รับโอกาสเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการ ซึ่งที่ผ่านมามีนักศึกษาจบการฝึกอบรมทั้งสิ้น 168 คน

“ความร่วมมือในครั้งนี้ ได้สร้างประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยยกระดับนักศึกษาให้มีความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกทำงาน สถานประกอบกิจการได้พนักงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการ ลดระยะเวลาค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมพนักงานใหม่ พร้อมแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือได้อย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ หนุนไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคเอเชีย”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 8/3/2562

กสร.ประกาศขอความร่วมมือนายจ้างหยุดงาน 6 พ.ค. ให้ลูกจ้างร่วมงานพระราชพิธี

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขอความร่วมมือนายจ้างสถานประกอบกิจการกำหนดให้วันจันทร์ที่ 6 พ.ค. 2562 เป็นวันหยุด เพื่อให้ลูกจ้างได้มีโอกาสเข้าร่วมงานพระราชพิธีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปวงชนชาวไทย โดยการรวมใจกันถวายความจงรักภักดีและถวายพระพรชัยมงคล

นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องขอควมร่วมมือนายจ้างสถานประกอบกิจการประกาศวันหยุดในการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ระบุว่าสำนักพระราชวังเผยแพร่ประกาศสำนักพระราชวัง เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นโอกาสอันควรที่จะได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามราชประเพณี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลของประเทศชาติ และราชอาณาจักรให้เป็นที่ชื่นชมยินดีของประชาชนผู้มีความหวังตั้งใจอยู่ทั่วกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น และในวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงขอความร่วมมือนายจ้างสถานประกอบกิจการกำหนดให้วันจันทร์ที่ 6 พ.ค. 2562 เป็นวันหยุด เพื่อให้ลูกจ้างได้มีโอกาสเข้าร่วมงานพระราชพิธีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปวงชนชาวไทย โดยการรวมใจกันถวายความจงรักภักดีและถวายพระพรชัยมงคล จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน ณ วันที่ 28 ก.พ. 2562

ที่มา: ข่าวสด, 6/3/2562

เผย 5 ประเทศที่ต้องการแรงงานไทย งานช่าง วิศวกรรม ไอที ยังรุ่ง

เว็บไซต์ JobThai วิเคราะห์ฐานข้อมูลงานช่วงเดือน ก.พ. 2562 พบมี 5 ประเทศ ที่มีความต้องการแรงงานไทยไปทำงานด้วยมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน และจีน ซึ่งความต้องการส่วนใหญ่อยู่ในภาค งานช่าง วิศวกรรม ไอที

นางสาวแสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย (JobThai) กล่าวว่า จ๊อบไทยได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลงานที่อยู่ในช่วงเดือน ก.พ. 2562 พบว่ามีหลายประเทศทั่วโลกที่มีความต้องการแรงงานไทย โดยมี 5 ประเทศที่มีความต้องการแรงงานไทยไปทำงานด้วยมากที่สุด ดังนี้

1.สหรัฐอเมริกา (USA) จำนวน 626 อัตรา สำหรับตำแหน่งงานที่เปิดรับมากที่สุด ได้แก่ Construction Carpenter และ Steel Worker ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร โดยตำแหน่งที่เปิดรับดังกล่าวต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ในสายงานอย่างน้อย 1 ปี และสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้

2.ญี่ปุ่น (Japan) จำนวน 240 อัตรา สำหรับตำแหน่งงานที่เปิดรับมากที่สุด ได้แก่ 1) Mechanical Design Engineer / Electronic Design Engineer โดยตำแหน่งที่เปิดรับต้องการผู้สมัครที่มีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นระดับ N2 ขึ้นไป และมีประสบการณ์ในการออกแบบเครื่องกล เครื่องจักร 2) IT System Engineer โดยตำแหน่งที่เปิดรับต้องการผู้สมัครที่มีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นระดับ N2 ขึ้นไป และมีประสบการณ์ด้านวิเคราะห์ ออกแบบ ระบบไอทีหรือเครือข่าย สามารถติดตั้งและดูแลระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น Oracle, MySQL, PostgreSQL เป็นต้น นอกจากนี้ในประเทศญี่ปุ่นยังมีตำแหน่งงานที่น่าสนใจอีกหนึ่งตำแหน่ง คือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุจำนวนมาก ซึ่งผู้สมัครต้องมีความรู้ด้านภาษาญี่ปุ่นระดับ N4 ขึ้นไป หรือต้องมีใบ JLPT/JTEST/NATTEST อย่างใดอย่างหนึ่ง และที่สำคัญคือต้องไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศแบบผิดกฎหมาย

3. ฟิลิปปินส์ (Philippines) จำนวน 77 อัตรา สำหรับตำแหน่งงานที่เปิดรับมากที่สุด ได้แก่ Sales and Marketing Officer โดยตำแหน่งที่เปิดรับต้องการผู้สมัครที่สามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาไทย-อังกฤษ รวมทั้งมีประสบการณ์ด้าน Online Marketing และ Online Products Sales

4.ไต้หวัน (Taiwan) จำนวน 40 อัตรา สำหรับตำแหน่งงานที่เปิดรับมากที่สุด ได้แก่ พนักงานฝ่ายผลิต-ควบคุมเครื่องจักรกลและอิเล็กทรอนิกส์ในโรงงาน โดยตำแหน่งที่เปิดรับต้องการผู้สมัครที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีอายุระหว่าง 20-45 ปี ผู้หญิงต้องมีส่วนสูง 155 ซม. ขึ้นไป และผู้ชายต้องมีส่วนสูง 160 ซม.ขึ้นไป

5.จีน (China) จำนวน 20 อัตรา สำหรับตำแหน่งงานที่เปิดรับมากที่สุด ได้แก่ หัวหน้าขนมไทยและเบเกอรี่ โดยตำแหน่งที่เปิดรับต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ด้านการทำขนมอย่างน้อย 6 ปี สามารถดัดแปลงรสชาติ สูตร และวัตถุดิบได้

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสามารถสะท้อนให้เห็นได้ส่วนหนึ่งว่าภาษาต่างประเทศนั้นมีความสำคัญต่อโลกการทำงานเป็นอย่างมาก หากผู้สมัครมีทักษะด้านภาษาต่างประเทศก็จะทำให้ได้รับโอกาสในการทำงานด้านต่าง ๆ ที่หลากหลายขึ้น สุดท้ายนี้ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ หรือคนทำงานเอง ต้องรู้จักเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และประสบการณ์ ตลอดจนมองการณ์ไกลถึงสิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการอยู่เสมอ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานทำมากยิ่งขึ้น

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 6/3/2562

กนร.เห็นชอบเว้นค่าธรรมเนียมเข้า-ออก แรงงานเพื่อนบ้านกลับบ้านสงกรานต์ 5-30 เม.ย.

คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) เห็นชอบยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้า-ออก ประเทศแก่แรงงานเพื่อนบ้าน (กัมพูชา ลาว และพม่า) ที่กลับบ้านช่วงสงกรานต์ 5-30 เม.ย. 2562 นี้

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และพม่า ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตำแหน่งกรรมกร รับใช้ในบ้าน ผู้ประสานงานด้านภาษา กัมพูชา ลาว พม่า และช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล ซึ่งถือหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือเอกสารรับรองบุคคลที่ได้รับการตรวจลงตราวีซ่า ประเภทคนอยู่ชั่วคราว รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี ที่ได้รับการตรวจลงตราวีซ่าประเภทผู้ติดตาม ซึ่งระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังมีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าวันที่ 30 เม.ย. 2562 สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางของตนเพื่อร่วมประเพณีสงกรานต์ได้ตั้งแต่วันที่ 5-30 เม.ย. 2562 นี้ โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าออก

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่าหลังจากนี้จะนำมติดังกล่าวเสนอเข้า ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็จะไปออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองในกรณีเดินทางออกจากราชอาณาจักรเพื่อไปร่วมงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2562 และเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งออกประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อรองรับการยกเว้น ไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตเพื่อกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีก

"เรายกเว้นค่าธรรมเนียมให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่เดินทางไปฉลองสงกรานต์ที่ประเทศตัวเองตั้งแต่วันที่ 5 - 30 เม.ย.เท่านั้น หากเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยหลังจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค.2562 จะต้องเสียค่าธรรมเนียมตรวจลงตราวีซ่า 2,000 บาท แต่ถ้าหลังจากวันที่ 31 พ.ค.ไป จะไม่อนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทย หากต้องการกลับเข้ามาต้องทำเรื่องขออนุญาตใหม่ตั้งแต่กระบวนการแรก" พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวและว่า เทศกาลสงกรานต์ 2562 คาดว่าตัวเลขแรงงานต่างด้าวกลับประเทศน่าจะใกล้เคียงกับปี 2561 ซึ่งเดินทางกลับประมาณ 2.4 แสนคน

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่าสำหรับความคืบหน้าของการจัดทำหนังสือคนประจำเรือ ตามมาตรา 83 ที่ศูนย์ OSS ซึ่งเปิดให้ดำเนินการถึง 31 มี.ค. 2562 ขณะนี้มีนายจ้าง 2,175 ราย มาแจ้งความต้องการแรงงานต่างด้าว ทั้งสิ้น 27,381 คน แรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนคนประจำเรือตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2561 - 1 มี.ค. 2562 ทั้งสิ้น 4,549 คน เป็นพม่า 2,668 คน คิดเป็นร้อยละ 58.65 ลาว 130 คน คิดเป็นร้อยละ 2.86 และกัมพูชา 1,751 คน คิดเป็นร้อยละ 38.49 ส่วนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำงานในประเทศไทยโดยไม่มีใบอนุญาตนั้นล่าสุดมีการดำเนินคดีกับนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตแล้วกว่า 900 ราย ดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตกว่า 5 พันราย

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/3/2562

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net