Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



เริ่มมีคนสอบถามว่าถ้าจะจัดการปัญหาขยะเราควรทำอะไรเป็นอย่างแรก รัฐควรทำอะไร ประชาชนควรทำอะไร เรื่องนี้ผมสามารถนั่งคุยได้เป็นวันครับ 

แต่ประโยคที่ผมว่ามันสื่อสารได้ดี และแทบทำได้ทันทีครับ

"แยกเศษอาหารออก แล้วของที่เหลือจะมีมูลค่าสูงขึ้น มันจะกลายเป็นวัตถุดิบในทันที"

เป็นความจริงเสี้ยวเล็กๆ ที่โดนใจหลายๆ คนครับ และมากกว่านั้น เรายังสามารถสร้างประโยคคล้ายๆ กันได้อีก

"แยกเศษอาหาร แล้วขยะของท่านจะลดลงครึ่งหนึ่ง" 

ประโยคนี้เป็นจริง ในกรณีครัวเรือน และอาจจะยิ่งกว่านั้นในกรณีร้านอาหาร และสถานบริการอื่นๆ เมื่อขยะลดลงครึ่งหนึ่ง การจัดการจะง่ายขึ้นสองเท่าเป็นอย่างน้อย ถ้ามองกันตามปริมาณ แต่จริงๆ แล้วมากกว่านั้น เพราะการเน่าเสียจะไม่เกิด และอื่นๆ ที่เป็นคำนิยามของขยะจะไม่มาเยือนเรา

ก้าวแรกของการจัดการขยะ ผมจึงเชื่อว่า เศษอาหาร ต้องถูกจัดการก่อน

ประชาชนทุกคนสามารถทำเองได้ ในทางเลือกหลากรูปแบบ ตั้งแต่อุปกรณ์ทำปุ๋ยครัวเรือนหลากรูปแบบ ทั้งที่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า ถังหมักครัวเรือนแบบต่างๆ ทั้งแบบที่เหมาะกับครอบครัวเมือง หรือแบบครอบครัวต่างจังหวัด ที่มีพื้นที่ที่สามารถฝังกลบ ทำปุ๋ยหมัก ทำกรีนโคน ถังปั่นเติมออกซิเจน ถังปั่นอบแห้ง หรือง่ายๆ แบบถังตัดก้นฝังดิน ไปจนถึงทำระบบหมักแก๊ส มากมายหลายแบบให้เลือกใช้ตามบริบทและความต้องการ 

รัฐ และการปกครองฝ่ายท้องถิ่น สามารถทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นได้ ตั้งแต่การทำระบบรับเศษอาหารไปจัดการในระบบท้องถิ่น ด้วยวิธีต่างๆ ให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นหมักปุ๋ย ทำแก๊ส ด้วยการออกแบบระบบให้เหมาะสม กับเมืองต่างๆ อาจจะเก็บอาหารสดทุกวัน หรือ สองวันครั้ง 

รัฐอาจจะให้ incentive ในการจัดการขยะเมือง เช่น การให้เงินในการซื้ออุปกรณ์จัดการขยะสด เหมือนในญี่ปุ่นบางเมือง อาจจะใช้เป็นวิธีออกกฏ ให้ครัวเรือนต้องมีความสามารถในการจัดการขยะสด หรือ บังคับสถานบริการที่มีปริมาณขยะสดจำนวนมาก เช่น ศูนย์อาหาร โรงแรม ร้านค้า เป็นต้น ทั้งหมดมีระเบียบครอบอยู่แล้วประมาณหนึ่ง 

เมื่อขยะเศษอาหารถูกจัดการในสถานประกอบการ สถานะการ น้ำเสีย ทิ้งลงท่อก็ดีขึ้น ปริมาณขยะในแต่ละวันก็ดีขึ้น เราสามารถกำหนดแยกกันในการเก็บขยะสด และขยะอื่นๆ เช่น ขยะอื่นๆ อาจจะมีระยะเวลาในการเก็บยืดออกไป เช่น สัปดาห์ละครั้ง ในขณะที่ขยะสดอาจจะถี่ขึ้น แล้วแต่ incentive ที่จะให้ประชาชนจัดการของเมืองนั้นๆ 

เห็นมั้ยครับ ทั้งประชาชน และรัฐ สามารถจัดการขยะเศษอาหารได้เอง สามารถลดปริมาณขยะลงกึ่งหนึ่งได้ในทันที เพิ่มมูลค่าของขยะอื่นๆ ได้ในทันที ด้วยวิธีนี้อัตราการรีไซเคิลจะเพิ่มขึ้นทันที การจัดการขยะอื่นๆ และประสิทธิภาพในการจัดการขยะจะเพิ่มขึ้น หลายเท่าตัวในทันที 

คีย์เวิร์ด "เศษอาหาร" ต้องถูกจัดการก่อนครับ



ปล. ใครสนใจวิธีจัดการเศษอาหาร ท้ังแบบครัวเรือน ทั้งระบบ หรือ การจัดการโดยรัฐจากเมืองต่างๆ หรือ มีอะไรที่เคยพบเห็นมามาแชร์กันในคอมเมนท์เลยนะครับ ถือว่าเป็นแหล่งรวมไอเดีย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net