อ่านการเมือง ‘ว่าด้วยการเลือกตั้งและจัดตั้ง : อนาคตใหม่และเพื่อไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1. การเมืองของฐานเสียง

จากเวทีปราศรัยของพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ที่จัดในเชียงใหม่ พบว่าฐานเสียงของ 2 พรรคนี้มีความเหมือนและความต่างอย่างมีนัยสำคัญหลายประการ

ประการแรก ทั้ง 2 พรรคจะชูนโยบาย หรือทิศทางในการต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งทำให้ฐานเสียงของสองกลุ่มนี้คือคนไม่เอาประยุทธ์ คสช. และเครือข่าย แต่ก็ต่างกันแง่ที่คนไม่เอารัฐประหารแบบเพื่อไทยคือกลุ่มคนเสื้อแดงที่ต่อสู้กับพรรคหรือเคลื่อนไหวร่วมกับ นปช. มาอย่างยาวนาน ร่วมทุกข์ร่วมสุขจนพรรคและ "อุดมการณ์ของพรรค" กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา คนกลุ่มนี้นับตัวเองว่าเป็นผู้ถูกกระทำมาอย่างต่อเนื่อง 

ส่วนฐานเสียงของพรรคอนาคตใหม่ เป็นกลุ่มที่อาจเรียกว่าอยู่นอกประเด็นความขัดแย้งในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา แต่มีจุดร่วมที่สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน อนาคตใหม่ชูธงเรื่องรัฐประหาร หรือการต่อต้านอำนาจชนชั้นนำที่เป็นแอกของของรุ่นใหม่ ฐานเสียงกลุ่มนี้จึงกลายเป็นคนหน้าใหม่ทางการเมืองที่พร้อมเทคะแนนให้

ประการที่สอง ฐานคะแนนของทั้งสองพรรคเสมือนว่ามีส่วนทับซ้อนกัน แต่ถ้ามองในบริบทของแต่ละกลุ่มจะพบว่ามีความแตกต่าง กันพอสมควร โดยฐานของพรรคเพื่อไทย อาจใช้คำว่า "คนชั้นกลางระดับล่าง หรือคนชั้นกลางในชนบท" ที่ต่างเดินห่างมาจากพื้นที่รอบตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจากความซอกแซกของผมที่ถามนั้นนี้พบว่ามาจากทั้งฝาง แม่อาย ฯลฯ ซึ่งเป็นอำเภอที่ห่างไกลตัวเมืองนับร้อยกิโล ซึ่งมีทั้งจัดตั้งมาและมาด้วยความสมัครใจ ผ่านประสบการณ์การต่อสู้ใน (ดูจากประการแรก)

ส่วนคนกลุ่มคนที่เข้าไปฟังและจะกลายเป็นฐานเสียงของอนาคตใหม่ ส่วนใหญ่คือกลุ่ม "คนชั้นกลางเมือง" นักศึกษา หรือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวังวนของความขัดแย้งทางการเมืองในรอบทศวรรษที่ผ่านมา จะบอกว่าเป็นเสียงที่ตื่นตัวทางการเมืองที่เบื่อหน่ายต่อความขัดแย้ง แยกขั้วก็อาจจะได้ แต่บางส่วนก็มีลักษณะร่วมกับเพื่อไทยที่ไม่เอาเผด็จการ แต่อาจไม่ใช่คนเสื้อแดงส่วนใหญ่


ภาพ: ปลายฟ้า นามไพร

ประการที่สาม ถึงแม้ว่าจะมีการยุบไทยรักษาชาติ แน่นอนว่าทุกพรรคต้องเกลี่ยคะแนนในส่วนนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องเทให้เพื่อไทย หรือพรรค "เพื่อ" ทั้งหลาย แต่ถามว่าอนาคตใหม่จะได้ในส่วนนี้มากน้อยแค่ไหน กลับไปอ่านข้อ (2) ที่อธิบายฐานเสียงอนาคตใหม่ และเพื่อไทย เพราะฐานเสียงไทยรักษาชาติมีความร่วมกันกับเพื่อไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ประการสุดท้าย แม้หลายพรรคปฏิเสธการจัดตั้ง ชูความเป็นพรรคประชาธิปไตยมวลชน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองคือการจัดตั้ง อาทิ การเลือกตั้งครั้งหนึ่งในเขตแม่อาย ฝาง ไชยปราการ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย "อ่อน" มาก มีคะแนนตามหลังผู้สมัครพรรคคู่แข่ง แต่ด้วยการจัดตั้งของคนเสื้อแดงที่รณรงค์ต่อสู้ จนทำให้ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยชนะอย่างคาดไม่ถึง นั้นหมายความว่าการจัดตั้ง อาจมีนัยของประชาชนจัดตั้งกันเอง หรือพรรคจัดตั้ง ก็เป็นเรื่องต้องทำในการทำพรรคระยะยาว 

2. การจัดตั้งทางการเมืองกับการเลือกตั้ง

ส่วนอีกเรื่องที่มีเรื่องหนึ่งที่คนจำนวนมากเข้าใจผิด คือ "การจัดตั้ง" และพยายามปฏิเสธว่าไม่มีการจัดตั้ง การจัดตั้งทำได้เฉพาะพรรคใหญ่ๆ เท่านั้น นั้นเป็นความเข้าใจผิดใหญ่มาก ทั้งที่การเมืองไม่ว่าในระดับไหนก็มีการจัดตั้งทั้งนั้น 

ถ้าผมจะเดาว่าความเข้าใจผิดนั้นเกิดจากอะไร เดาแบบโง่ๆ ว่า หลายคนคิดว่าการจัดตั้งอยู่ในลักษณะการเมืองแนวดิ่ง มีระบบบังคับบัญชา มีการนำแบบพรรคคอมมิวนิสต์เคยใช้ เลยกลายเป็นมายาคติครอบงำเราไป หรือไม่ก็มีการใช้ระบบอุปถัมภ์ ใช้เงิน อำนาจในการชี้นำบังคับให้มวลชนเข้าร่วม 

นั้นคือปริเฉทหนึ่งของการจัดตั้งมวลชน แต่ว่าการจัดตั้งในแนวทางอื่นๆ ก็มี อาทิ การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน คกน. สกน. ก็ล้วนเกิดจากการจัดตั้ง "มวลชนแนวนอน" เพื่อระดมทรัพยากรในการเคลื่อนไหวต่อรองกับรัฐในทิศทางต่างๆ 

ตัวอย่างพื้นที่ที่ผมศึกษาก็มีการเก็บเงิน รวมกลุ่ม ประชุม แจ้งข่าวสารกันทุกเดือน ถ้ามีการชุมนุมก็ส่งคนหมุ่นเวียนเปลี่ยนกันไปชุมนุม ถ้าไม่มีการจัดตั้งไว้ก่อน ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ การเมืองภาคประชาชนดังตัวอย่างข้างต้นก็มีการจัดตั้งอย่างเข้มข้นเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวในระยะยาวได้

การเมืองมวลชนเหลืองแดงในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการจัดตั้งในหลายมิติทั้งปูฐานทางความคิด ระดมคน จัดตั้งชุมชนทั้งทางกายภาพและบนอากาศ (สื่อ) เพื่อให้สามารถระดมทรัพยากรในการต่อสู้ จนเป็นความยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน

ไม่นับว่าหลายปีที่ผ่านมาเรา "จัดตั้งทางความคิด" ของผู้คนจนนำมาสู่ทุกวันนี้ อาการตาสว่าง การตั้งคำถามต่ออะไรต่ออะไรที่ก่อนหน้านี้ไม่น่าจะเป็นคำถามด้วยซ้ำ เป็นการสร้างฐานความคิดใหม่ของผู้คนทั้งนั้น มันไม่ได้เกิดลอยๆ บนอากาศธาตุ การที่คนที่ "คอเดียวกัน" "ความคิดเดียวกัน" มาเคลื่อนไหว ฟังปราศรัยประหนึ่งว่าไม่มีการจัดตั้ง ก็เกิดจากการจัดตั้ง(ปะทะ)ทางความคิดเปลี่ยนแปลงในทางความคิดของหลายๆ คนในช่วงหลายปีนี้ทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น นิติราษฎร์ ประชาไท ฟ้าเดียวกัน นิธิ สศจ. ธงชัย เกษียร ชาญวิทย์ พิชิต ปิยบุตร ฯลฯ ไม่มากก็น้อย เกิดจากการทำงานเพื่ออธิบายปรากฏการณ์หลายปริเฉทของคนที่เอ่ยชื่อและไม่เอ่ยชื่ออีกมากมาย

3. จะจัดการอย่างไรกับการจัดตั้งทางการเมือง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดตั้งคือกระบวนการหนึ่งทางการเมือง ถ้าเราปฏิเสธก็ไม่มีทางที่จะได้ ส.ส. เขตในอนาคต ถ้าเราจะคืนความเป็นการเมืองให้แก่การเมืองทุกพรรคก็อย่ากลัวการจัดตั้ง ส่วนใครจะเสวยผลแห่งการจัดตั้งนั้นๆ คนที่เขาทำก็อาจไม่ได้คิดหรอก ถึงคิดก็ไม่บอกมาโต้งๆ และการจัดตั้งก็มีหลายระดับ หลายมิติ ไม่ได้หดแคบอย่างที่เราเข้าใจเอาแบบง่ายๆ

ท้ายที่สุด ถ้าเรารังเกียจหรือตีกรอบการจัดตั้งให้แคบจนนำมาสู่มิราจ (mirage) ทางความคิดเป็นภาพลวง ให้เราไม่เข้าใจปรากฏการณ์ ผลักมิตรให้เป็นอื่นไปก็น่าเสียดายไม่น้อย

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความ ผู้เขียนเลียน/ลอก มาจากการจัดสัมมนาที่จัดใน ม.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งชื่อนี้คิดโดย อ.ไชยันต์ รัชชกูล 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท