Skip to main content
sharethis

ตอนสองของดีเบตนโยบายพรรคการเมืองกับสิทธิมนุษยชน ยกประเด็นสิทธิผู้ลี้ภัย แรงงานข้ามชาติ ความเสมอภาคทางเพศ การซ้อมทรมาน-อุ้มหาย และการไต่เส้นระหว่างความมั่นคงไซเบอร์กับเสรีภาพของประชาชน 

ซ้ายไปขวา: ณัฏฐา โกมลวาทิน วัฒนา เมืองสุข อลงกรณ์ พลบุตร พาลินี งามพริ้ง เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร พรรณิการ์ วานิช

12 มี.ค. 2562  ที่เวทีดีเบต "เปิดแนวคิดพรรคการเมืองกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองที่ร่วมดีเบตได้แก่ วัฒนา เมืองสุข จากพรรคเพื่อไทย อลงกรณ์ พลบุตร จากพรรคประชาธิปัตย์ พาลินี งามพริ้ง จากพรรคมหาชน เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากพรรคสามัญชน และพรรณิการ์ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่ ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา โกมลวาทิน

กิจกรรมจัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในตอนที่สองนี้จะเป็นประเด็นเรื่องสิทธิผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ ความเสมอภาคทางเพศ การซ้อมทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย (อุ้มหาย) และเรื่องกฎหมายไซเบอร์อย่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

สิทธิผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติ

อลงกรณ์:  ประเด็นผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก เพราะมีบริบทแวดล้อมทั้งระดับภูมิภาคอาเซียนและโลก พรรคประชาธิปัตย์จะเร่งรัดการทำงานของคณะกรรมการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัยที่เพิ่งมี โดยจะเร่งรัดกระบวนการคัดกรองผู้เข้ามือง ผู้ลี้ภัย ให้สามารถแยกผู้อพยพทางเศรษฐกิจและผู้ลี้ภัยให้ได้ชัดมากขึ้น และทำให้กรอบการทำงานของเจ้าหน้าที่อยู่บนฐานสิทธิมนุษยชน พิจารณานโยบายเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 อย่างจริงจัง  ตรากฎหมายผู้ลี้ภัยให้พวกเขาเข้าถึงการศึกษาและบริการด้านสุขภาพ พิจารณาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 97  ว่าด้วยการอพยพเพื่อการมีงานทำ และฉบับที่ 143 ว่าด้วยการอพยพด้วยสภาพการถูกกดขี่ และการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

ข้อมูลจาก UNHCR ระบุว่ามีผู้ลี้ภัยทั้งหมดมากกว่า 22 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งทำให้ภูมิทัศน์ของโลกเปลี่ยนไป จะต้องเร่งยกระดับจิตสำนึกทางมนุษยธรรมของรัฐบาลและประเทศไทย เมื่อเข้าสู่รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ไทยต้องกลับมายืนแถวหน้าในหมู่ประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชน และปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ ตามมาตรฐานสากลและสนับสนุนการทำงานตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยได้ประกาศไว้

พาลินี: ประชาชนไทยต้องดึงตัวเองออกมาจากการเป็นคนไทย แล้วทำตัวเป็นคนของประชาคมโลก จะเห็นตัวเรามากขึ้น ชัดขึ้นว่าเราอยู่ตรงไหน เวลาแตะเรื่องแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย เราไม่สามารถคิดในบริบทความเป็นชาติ ความรักชาติเพียงอย่างเดียวได้ เส้นแบ่งเขตปะรเทศเป็นสิ่งสมมติเท่านั้น คนทุกคนควรมีสิทธิใช้ทรัพยากรในแต่ละพื้นที่ตามความเหมาะสมของตนเอง ตนเคยเป็นผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ในมุมนี้ก็ควรได้รับสิทธิเหมือนกับที่ผู้ลี้ภัยทางสังคม การเมืองพึงได้รับเช่นกัน ต้องแก้ไขที่สามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์

พรรคมหาชนจะส่งเสริมให้มีการให้สัญชาติกับกลุ่มชนเผ่า ความหลากลายทางชาติพันธุ์ที่อยู่ในไทยมาแต่เดิมโดยไม่มีเงื่อนไขที่สลับซับซ้อน ส่วนคนที่ย้ายเข้ามานั้นรัฐบาลจะต้องคิดและแก้ไข ทั้งนี้ จะไม่ส่งคนไปเผชิญกับชะตากรรมที่เล้วร้าย ทั้งๆ ที่เขาอยู่ในอ้อมกอดของไทยแล้ว

เกรียงศักดิ์: มีหลักกว้างๆ ว่าจะต้องนำคนสองกลุ่มนี้ออกจากการจัดการของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะต้องนำออกจากแนวคิดเรื่องความมั่นคงให้ได้ การอพยพย้ายถิ่นมาเจอกับวัฒนธรรมและสังคมใหม่ๆ ทำให้พวกเขาลำบากอยู่แล้ว แถมรัฐยังไปละเมิด ลิดรอนสิทธิของพวกเขาให้เจอปัญหามากขึ้นอีก พรรคสามัญชนมีแนวนโยบายกว้างๆ ว่า ระยะกลางจะผลักดันให้เปิดสำรวจและผ่อนผันสถานะอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดให้มีกระบวนการพิสูจน์ คัดกรอง นำไปสู่การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน บริการสาธารณะ จะตั้งกองกิจการคนเข้าเมือง แทนที่การจัดการของ สมช. และเป็นคณะกรรมการที่จะทำให้เกิดกระบวนการรับรองสิทธิของคนกลุ่มนี้ มีนโยบายจัดการประชากรในระยะยาวต่อไป

การไม่ผลักดันกับไปเผชิญอันตราย ในหลายปีที่ผ่านมาเรามีหลายกรณีมาก จำเป็นต้องมีการกำหนดแนวนโยบายของรัฐ รวมถึงกฎหมายที่ชัดเจน เพราะว่ารัฐบาลได้มีการลงนามใน UNCAT แต่ยังไม่มีการกำหนดเป็นแนวนโยบายและกฎหมายที่ชัดเจน

พรรณิการ์: ปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับโลก อาเซียนและไทย ไทยเคยเป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยจำนวนนับล้าน คนจากพม่า กัมพูชา ลาว แต่ปัจจุบันไทยยังไม่มีการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยในกฎหมาย อย่างแรกที่ต้องทำคือทำให้มีสถานะผู้ลี้ภัยในระบบกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับหลักการสากล สอง สร้างความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ไม่สนใจเอกสารรับรองสถานะ UNHCR ยังไปจับคนที่มีสถานะเหล่านั้นไปขังในสถานกักกัน ปีนี้ไทยเป็นประธานอาเซียน แต่ยังไม่มีธงที่ชัดเจนเลยว่าจะทำอย่างไรกับอาเซียน อย่าลืมว่านอกจากเสาหลักด้านเศรษฐกิจแล้ว อาเซียนยังมีเสาหลักด้านความมั่นคงและสังคมวัฒนธรรมด้วย สิทธิมนุษยชนต้องเป็นประเด็นหลักของอาเซียน ปัญหาโรฮิงญา ไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องผลักดันให้เป็นประเด็นระดับภูมิภาคแล้วแก้ไขปัญหาร่วมกัน การผลักดันประเด็นเหล่านี้จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีวุฒิภาวะ (mature)

ปัจจุบันหลายภาคอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับแรงงานข้ามชาติ พวกเขาเข้ามาเติมเต็มสังคมสูงวัยของไทย ดังนั้นอย่าชาตินิยม อย่าปฏิเสธความจริง ต้องทำให้การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และถูก ทั้งเพื่อลดต้นทุนนายจ้างและทำให้พวกเขาได้รับการปกป้องสิทธิแรงงานไปในคราวเดียวกัน ไม่ต้องไปหลบๆ ซ่อนๆ จนเป็นปัญหาตามมาอย่างปัญหาประมง IUU

วัฒนา: ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงห้าปีที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศ เหมือนรัฐบาลทหารไม่เข้าใจสิทธิความเป็นคน แต่รัฐบาลเลือกตั้งจะเข้าใจสิทธิความเป็นคน สิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน ถ้าประเทศเป็นอารยะ อย่างน้อยที่ดีขึ้นคือการท่องเที่ยวและการลงทุน ที่พวกเขาจะมาไทยได้อย่างสบายใจว่าจะไม่ถูกละเมิด เพื่อไทยจะทำกฎหมายให้มีความเท่าเทียมสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนโลก

ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือการบังคับใช้กฎหมาย ถ้าระบบยุติธรรมยังเกื้อกูล กฎหมายดีเท่าไหร่ก็ไม่เป็นผล ช่วยเหลือกันได้เช่น ตำรวจพาอัยการไปดูแล ถึงเวลาตำรวจมีเรื่องอัยการก็ช่วยตำรวจ จะต้องเอาอำนาจรัฐกลับไปที่ประชาชน คดีใดก็ตามที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกกล่าวหาว่าเป็นจำเลยให้เป็นการพิจารณาคดีบนศาลพลเรือนจากคณะลูกขุนที่มาจากประชาชน กระบวนการยุติธรรมต้องถูกทบทวน ถ้าทำอำนาจในการให้คุณให้โทษอยู่ที่ประชาชนก็ไม่เชื่อว่าจะมีใครแตกแถว

ความเสมอภาคทางเพศ

พาลินี: หนังสือเดินทางของไทยมีคำนำหน้านามว่า Mr. (นาย) เวลาเธอเดินทางไปต่างประเทศจะประสบปัญหามาก โดนตรวจอวัยวะเพศบ้าง โดนตรวจหน้าอกบ้าง ถูกทำให้อับอายตลอดเวลาทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้รู้สึกว่า ทำไมเขาต้องมองเราแบบนี้ สิ่งที่พรรคมหาชนจะทำเป็นเรื่องแรกๆ คือเป็นตัวแทนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเพื่อไปแก้ไข จะผลักดันกฎหมายรับรองสิทธิต่างๆ เช่น พ.ร.บ. คู่ชีวิต ขณะนี้ยังไม่ได้สิทธิในการสมรสเท่ากับชายและหญิง ถ้าจะผลักดัน พ.ร.บ. คู่ชีวิตจะต้องมีการแก้ไขให้มีสิทธิเท่ากันทุกคน และสิ่งที่ทำควบคู่กันไปได้เลยก็คือการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ที่ระบุว่าการสมรสเป็นเฉพาะของชายและหญิง ซึ่งแค่แก้ไขเนื้อความให้การสมรสเป็นเรื่องระหว่างบุคคล แค่นั้นก็จบแล้ว

การรับรองเพศสภาพ การระบุตัวเองให้ตรงกับหลักฐานทางกฎหมายกับเพศสภาพ หรือการแก้คำนำหน้านามจะต้องเกิดขึ้น ทั้งนี้ต้องมีการให้ความรู้ สื่อสารทางความคิด สังคม เพราะยังมีกลุ่มคนที่ยอมรับการมีอยู่ของความหลากหลายทางเพศ แต่พอมีพวกเขาในบ้านกลับไล่เขาออกจากบ้านหรือตัดโอกาสทางหน้าที่การงาน

เกรียงศักดิ์: พรรคสามัญชนเชื่อว่าจะต้องพูดถึงชนชั้นและความเท่าเทียมทางเพศ ต้องพูดถึงนโยบายอย่างค่าแรงเท่าเทียมระหว่างเพศสภาพ และมิติอื่นๆ เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้มีสวัสดิการกับคนที่ต้องการข้ามเพศ ให้เข้าถึงสวัสดิการทางสังคม นอกจากนั้นยังมีนโยบายอื่นๆ เรื่องของการส่งเสริมการแก้ไขกฎหมายสมรส เพื่อให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถจัดตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียม รวมถึงให้การสนับสนุนอื่นๆ อย่างการทำแท้ง เรื่องความรุนแรงในครอบครัวที่ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ได้รับความรุนแรงเป็นที่ตั้ง และเพิ่มระยะเวลาการแจ้งความข้อหาล่วงละเมิดทางเพศให้นานยิ่งขึ้นเป็นสามปี

พรรณิการ์: พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ. คู่ชีวิต เพราะคำว่าคู่ชีวิตกับคู่สมรสนั้นไม่เหมือนกันและจะไม่มีวันเท่าเทียมกัน การแก้ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 เรื่องการสมรสให้เป็นคำว่าระหว่างบุคคล

พรรคอนาคตใหม่อยากให้รัฐสภาเป็นภาพสะท้อนสังคมได้มากที่สุด ไม่ใช่สภาของผู้ชายสูงอายุแบบที่เป็นทุกวันนี้ อยากให้มีสัดส่วนทางเพศและมีความหลากหลายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ อนาคตใหม่มีสัดส่วน ผู้หญิงและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศทุกส่วน ในกรรมการบริหารพรรค 17 คนมีผู้หญิงห้าคน ในรายชื่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 20 อันดับแรกมีผู้หญิงอยู่ร้อยละ  30 มีสองคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นความพยายามให้เกิดสภามีหน้าตาเหมือนสังคมปกติให้มากที่สุด

กฎหมายอย่าง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศที่ไทยมีนั้นยังไม่ถูกนำมาใช้ได้จริง ทุกวันนี้ยังเจอการเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน สถานศึกษาและสังคม หลายอาชีพไม่รับคนที่เป็นผู้หญิงหรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หน้าที่รัฐคือการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้เป็นจริงให้ได้ ต้องทำงานการเมืองคู่กับการทำงานทางความคิด ซึ่งอย่างหลังอาจสำคัญยิ่งกว่า เพราะเป็นการเปลี่ยนทัศนคติ เจตจำนง มติของประชาชน ทำให้ความเสมอภาค เท่าเทียมเป็นเจตจำนงหลักชองสังคมไทย

วัฒนา: ถ้ากลับมาตั้งหลักในเรื่องนี้อยู่ที่การเคารพสิทธิความเป็นคนของคนอื่นๆ จะพบว่า ใครจะชอบใครก็เป็นเรื่องของเขา การไปออกกฎหมายยอมรับสถานะของเขามันเดือดร้อนอะไร มันไม่ทำให้เสียหาย ไม่ทำให้ประเทศเกิดความไม่มั่นคงใดๆ เลย จึงไม่ควรเป็นประเด็นที่ไปจำกัดสิทธิของเขา

คำนำหน้านามนั้นไม่มีแค่นาย นาง นางสาว เรายังเรียกคนห่วยๆ ด้วยคำนำหน้าว่า บิ๊กนั่นบิ๊กนี่ ไอ้นั่นไอ้นี่ การใช้คำนำหน้าตามความต้องการ ตามเสรีภาพมันไปทำให้เงินในกระเป๋าคุณลดลงหรือ ความหลากหลายที่เรายอมรับจะไม่มีข้อจำกัด ขอให้เป็นเรื่องของพวกเขาเอง

อลงกรณ์: เรื่อง LGBTIQ (ความหลากหลายทางเพศ) เป็นเรื่องที่ไทยล้ำหน้ามาก เป็นประเทศเปิด ถึงกับมีคนท้าทายประเทศไทยว่าจะเป็นประเทศแรกได้ไหมที่จะมีกฎหมายคู่ชีวิตในเอเชีย พรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างเห็นตรงกับพรรคอนาคตใหม่ว่าโครงส้ร้างกรรมการบริหาร ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อล้วนมีการกำหนดสัดส่วนไว้ชัดเจน เราตั้งกลุ่ม New Dem ขึ้นมา และนำเสนอเรื่องเพศทางเลือกมาอย่างชัดเจนและยาวนาน ซึ่งสะท้อนมาจากคนรุ่นใหม่ มีแถลงนโยบาย Dem for Women พรรคประชาธิปัตย์จะยังไม่ปิดช่องของกฎหมายคู่ชีวิต แต่เบื้องต้นจะแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 และจะดูแล คุ้มครอง ประกันสิทธิของคนในกลุ่มเพศทางเลือก

การซ้อมทรมาน บังคับสูญหาย

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และภรรยาของสมชาย นีละไพจิตร ทนายความที่ถูกทำให้สูญหายเมื่อปี 2547 กล่าวว่า ตามหลักการสิทธิมนุษยชน มีหลักการที่ไม่สามารถถูกละเมิดได้คือสิทธิในชีวิตและร่างกาย แต่ที่ผ่านมา การละเมิดสิทธิในไทย การฆาตกรรม การบังคับสูญหาย การซ้อมทรมาน ผู้กระทำผิดไม่เคยได้รับโทษไม่ว่าในรัฐบาลไหนๆ จึงอยากเห็นนโยบายที่ทำได้จริง ไม่ใช่การพูดในหลักการการรับประกันสิทธิ เราเคยเห็นการเยียวยาที่เป็นตัวเงิน แต่ไม่เห็นการเยียวยาในกระบวนการยุติธรรม เหยื่อจะให้อภัยไม่ได้ถ้าไม่รู้ว่าจะให้อภัยใคร จำเป็นต้องเป็นเจตนำจงของพรรคการเมืองที่จะต้องคลี่คลายความจริงและปกป้องคนทุกคนไว้ด้วยกัน จึงอยากถามถึงรูปธรรมเพื่อออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิ

อลงกรณ์: ไทยยังไม่มีกฎหมายป้องกันการทรมานและบังคับสูญหาย แม้เป็นภาคีและให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานฯ (UNCAT) แล้ว ลงนามในเรื่องการต่อต้านการบังคับสูญหาย (ICCPED) แล้ว และกำลังจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ต่อต้านการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย แต่ก็น่าเสียดายที่ สนช. ถอนร่างฯออกไป พรรคประชาธิปัตย์จะผลักดันให้มีกฎหมายดังกล่าว และจะพิจารณาให้สัตยาบรรณ ICCPED ให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ หลักกฎหมายจะไม่เหมือนกับฉบับ สนช. โดยจะวางอยู่บนหลักนิติธรรม นิติรัฐ เชิญเหยื่อความรุนแรงมีส่วนร่วมกับความรุนแรงมาให้ความเห็นตั้งแต่ระดับยกร่างและระดับกรรมาธิการ

พาลินี: กระอักกระอ่วนที่จะพูด ในแง่ตัวกฎหมายก็ชัดเจนที่เห็นว่าต้องให้ความสำคัญ เป็นเรื่องใหญ่มากที่คนๆ หนึ่งถูกละเมิด ทรมาน แบบที่ไม่ใช่มนุษย์ หรือทำให้หายไปแบบไม่มีใครรู้ชะตากรรม คนที่พูดได้ดีที่สุดคือคนที่ได้รับผลกระทบ พรรคมหาชนมีนโยบายให้การพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนเป็นแผนเกรดเอ ควบคู่กันไปกับแผนอื่นอย่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เกรียงศักดิ์: ในวันที่ 12 มี.ค. นี้จะครบ 15 ปีการหายไปของทนายสมชาย นอกจากคดีนี้แล้วจะมีผู้ลี้ภัยทางการเมือง นักปกป้องสิทธิจำนวนมากที่เข้าข่ายนี้ อย่างล่าสุดก็ สุรชัย แซ่ด่าน  พรรคสามัญชนกังวล และห่วงใยในเรื่องนี้มาก แม้ยังไม่มีกระบนการทำนโยบายเรื่องนี้ชัดเจน แต่ก็มีคำมั่นเรื่องหลักการ ด้วยความตระหนักว่าการไม่มีกฎหมายชัดเจนในเรื่องนี้ทำให้ภาระในการหาความจริงตกอยู่กับญาติพี่น้องผู้สูญหาย

พรรณิการ์: การซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย มักเกิดจากบุคคลในเครื่องแบบ ผู้บังคับบัญชาย่อมมีส่วนสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นขึ้น มาตรา 23 ที่ยกเว้นให้ไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลการจำกัดเสรีภาพ หรือเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีอาญา นอกจากนั้น การซ้อมทรมานส่วนใหญ่เกิดในค่ายทหาร กับทหารเกณฑ์ อนาคตใหม่มุ่งยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้เป็นไปโดยสมัครใจ แล้วทำการฝึกฝนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกจากนั้นจะยกเลิกหลักสูตรรักษาดินแดน (รด.) เปลี่ยนให้เป็นการฝึกส่วนกลางทั้งหมดเพื่อให้โปร่งใสและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน แต่เรื่องนี้จะคาดคั้นเอากับพรรคการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ ภาคประชาสังคมจะต้องทำงานทางความคิดร่วมกันไปด้วย

วัฒนา: นักโทษทางการเมืองคือนักโทษทางความคิด เราไม่ควรเอานักโทษการเมืองไปอยู่กับนักโทษคดีอาญา รัฐบาลที่แล้วเราแยกนักโทษการเมืองไปอยู่ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่รัฐบาล คสช. ยึดอำนาจก็เอากลับมาเป็นนักโทษแบบเดียวกันทั้งหมดเหมือนเดิม สะท้อนว่าผู้มีอำนาจไม่พร้อมที่จะปรองดอง อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนต้องหนุนหลังพรรคการเมือง ที่ผ่านมาพรรคการเมืองถือเป็นของต้องห้าม เป็นเรื่องน่ารังเกียจที่จะทำกิจกรรมร่วมกับพรรคการเมือง วันนี้นโยบายสำคัญของประเทศจะต้องขับเคลื่อนผ่านพรรคการเมืองทั้งสิ้น จะผลักดันนโยบายหรือกฎหมายโดยไม่ผ่านพรรคการเมืองนั้นไม่สามารถทำได้ ถ้าประชาชนไม่หนุนหลัง พรรคการเมืองเสนอกฎหมายไปบางครั้งก็ไปไม่รอด ขอให้ภาคประชาชนหนุนหลังและเป็นกำแพงให้กับนักการเมืองในการทำสิ่งที่ถูกต้อง

กฎหมายไซเบอร์ ไต่เส้นความมั่นคงกับเสรีภาพ

ณัชปกร นามเมือง จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ ตั้งคำถามต่อตัวแทนพรรคการเมืองในประเด็น พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ต้องยอมรับว่าหลายประเทศให้ความสำคัญกับความมั่นคงไซเบอร์ แต่ในไทย มีปัญหาว่าบทบัญญัติตีความได้กว้างจนอาจละเมิดสิทธิส่วนบุคคล อาจส่งผลเรื่องความลับของข้อมูล พรรคมีจุดยืนจะเปลี่ยนไหม มีมาตรการกำกับอำนาจรัฐให้ได้สัดส่วนสิทธิส่วนตัวอย่างไร และจะมีมาตรการอื่นๆ นอกจากเรื่องนโยบายรัฐอย่างไร

พาลินี: ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยมีความมั่นคงเป็นข้ออ้าง เป็นอุปสรรคไม่ใช่กับเรื่องของสิทธิ ความเป็นส่วนตัว แต่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ธุรกรรม กิจกรรมทุกอย่าง ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. นี้ต่างก็ออกมาส่ายหัวกับ พ.ร.บ. นี้

พรรคมหาชนจะเข้าไปแก้ไข พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ และกฎหมายต่างๆ ที่กระทบกับสิทธิความเป็นมนุษย์ในการดำเนินกิจกรรมตามวิถีชีวิต

เกรียงศักดิ์: หลักการกว้างๆ ที่สามัญชนคิดว่าเห็นตรงกันคือ ความมั่นคงของข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องอยู่เหนือความมั่นคงของรัฐ ยืนยันว่าจะต้องมีการคุ้มครองสิทธิของบุคคลเหนือข้อมูลนั้น คือสิทธิที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวถูกแชร์ ถูกเอาไปใช้อะไรได้หรือไม่ได้ ต้องมีสิทธิให้ความยินยอมทั้งของข้อมูลภาครัฐและเอกชน ในยุคที่ข้อมูลคืออำนาจ ที่เจ้าของแพลตฟอร์มเป็นเจ้าของข้อมูลจำนวนมาก

พรรณิการ์: พรรคอนาคตใหม่จะแก้ไข พรบ.คอมพิวเตอร์ ละ พรบ มั่นคงซเบอร์เป็นกฎหมายแรกๆ เพราะละเมิดสิทธิ เสรีภาพชัดเจน และส่งผลต่อการแข่งขันของธุรกิจไทยในต่างประเทศ ทุนระดับใหญ่ๆ เขาสนใจความมั่นคงทางระบบไซเบอร์ สาธารณูปโภคและโครงสร้างที่ปลอดภัยพอหรือเปล่า การแก้กฎหมายจะแก้อย่างไรให้สอดคล้องกับโลกและความมีเสรีภาพของคนไทยด้วย พรรคอนาคตใหม่จะแก้สามอย่าง หนึ่ง นิยามภัยความมั่นคงไซเบอร์ให้เป็นเรื่องของความมั่นคงของระบบ ไม่ใช่เนื้อหา ไม่ทำให้กลายเป็นการละเมิดเสรีภาพการแสดงออก เอาให้ชัดว่าเป็นเรื่องการให้ความปลอดภัยของระบบ โดยเฉพาะระบบหลักของประเทศอย่างโรงพยาบาล หรือธนาคาร สอง จำกัดขอบเขตการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งฉบับปัจจุบันแทบไม่จำกัด หลายอย่างทำได้โดยไม่ขอหมายศาล และไม่สามารถอุทธรณ์การยึด ค้น เจาะข้อมูลได้ รวมถึงการสอดแนมแบบเรียลไทม์ในกรณีที่รัฐเห็นว่าจำเป็น เรื่องเหล่านี้อย่างน้อยต้องให้ศาลเป็นคนพิจารณา สาม อย่าให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง ยึดโยงกับ สมช. และรัฐมนตรีด้านความมั่นคงที่มีแนวคิดความมั่นคงแบบเดิมๆ ความมั่นคงทุกวันนี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องความมั่นคงขอมนุษย์ ต้องเปลี่ยนกรอบคิดว่าความมั่นคงไซเบอร์ไม่ใช่เรื่องของทหาร เรื่องของสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพราะผิดฐานคิด ทำให้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ

วัฒนา: มีหลักคิดว่า ความเป็นส่วนตัวของคน แม้แต่บุคคลในครอบครัว คู่สมรสยังต้องมีระยะห่าง ต้องมีคามลับที่เราไปก้าวล่วงไม่ได้ แล้วรัฐมีสิทธิอะไรไปยุ่งเกี่ยวกับเราได้ทุกเรื่อง รู้เรื่องของเราถึงในห้องนอนก็ได้ สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม การเกิดขึ้นของกฎหมายนี้ทำให้นึกถึงสมัยตำรวจลับเกสตาโป กฎหมายลักษณะนี้เกิดในสมัยที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศที่กลัวถึงขนาดว่าจะมีคนมายึดบ้านเมือง กวาดคนไปเป็นเชลย

พรรคเพื่อไทยจะออกกฎหมายที่เรียกว่ากิโยตินลอว์ คือกฎหมายที่มาฆ่ากฎหมายที่เป็นปัญหา จะรวบรวมกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมแล้วยกเลิกทีเดียวเพื่อเริ่มใหม่ แต่ที่สำคัญคือต้องมีประชาชนหนุนหลัง ขนาดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ที่ห้ามแก้ก็ยังสามารถแก้ได้ในสามวาระรวด ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ห่วยฉบับนี้ก็ขออย่าได้ท้อ ถ้าหลังเลือกตั้งมีประชาชนหนุนหลังก็มั่นใจว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้

อลงกรณ์: กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ออกมาล่าสุดนั้น พรรคประชาธิปัตย์ตั้งคำถามว่า ประเทศมีความต้องการที่จะก้าวสู่ยุคดิจิทัลหรือไม่ คำตอบก็คือใช่ และไทยก็มาเร็วมาแรงมาก เพราะไทยตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประเทศแรกๆ ของโลก ชาวไทยท่องอินเทอร์เน็ตเกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน นับเป็นอันดับหนึ่งของโลก ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปแล้วในยุคดิจิทัล พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนและดำเนินการออกกฎหมายที่จำเป็นต่อการก้าวสู่ยุคดิจิทัล พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ ให้ความสำคัญกับโครงสร้างสารสนเทศหลักของประเทศ เช่น เกิดวิกฤติฉับพลัน ล้มระบบของประเทศ เช่ง ธนาคารพัง โรงพยาบาลล่ม ซึ่งเป็นความมั่นของประเทศไทย ส่วนข้อมูลที่ไม่เป็นภัยร้ายแรงนั้นเข้าถึงได้ต่อเมื่อใช้หมายศาลทั้งหมด ส่วนกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้นจำเป็นต้องมี เราโดนโซเชียลมีเดียใช้ประโยชน์ข้อมูลโดยไม่ได้ค่าตอบแทนอะไรเลย แถมบางครั้งก็เป็นอันตรายต่อเรา ทั้งนี้ จะให้มีการทบทวนกฎหมายโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทันทีถ้าเห็นว่ากฎหมายที่มีเป็นการคุกคามสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคลและไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net