Skip to main content
sharethis

'ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-อนาคตใหม่ เสนอนโยบาย ‘สังคมสูงวัย’ ภาคีเครือข่ายพร้อมตั้งทีมมอร์นิเตอร์หลังเลือกตั้ง

                      

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ มีการจัด เวทีนำเสนอนโยบายพรรคการเมืองหัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับการรับมือสังคมสูงวัย ภาระที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ” จัดโดย สำนักงานประสานนโยบายรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถานีวิทยุจุฬาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม 4 พรรค ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล จากพรรคพลังประชารัฐ, นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ จากพรรคเพื่อไทย, นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ จากพรรคอนาคตใหม่ รูปแบบของเวทีเป็นการระดมคำถามจากผู้เข้าร่วมงานรวมทั้งคำถามที่ผู้จัดงานได้เตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ตัวแทนแต่ละพรรคตอบในเวลาเท่ากัน โดยแบ่งคำถามเป็น 4 ด้านหลักคือ เศรษฐกิจ สุขภาพ สภาพแวดล้อม และชุมชนสังคม

ต่อคำถามด้านเศรษฐกิจ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล จากพรรคพลังประชารัฐ สรุปว่า ต้องเปลี่ยนผู้สูงอายุจากภาระเป็นพลัง โดยจะปรับอายุเกษียณจาก 60 ปีเป็น 63 ปีเพราะคนสุขภาพดีขึ้น ส่งเสริมอุตสาหกรรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุ สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อผู้สูงอายุ สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่งให้ผู้สูงอายุโดยสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างๆ จ้างงาน นอกจากนี้ผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 3 ไม่มีคนดูแล จึงจะปรับเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทเท่ากันทุกคน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า การขยายอายุเกษียณเป็นทิศทางที่ถูกต้อง แต่ต้องชัดเจนว่างานลักษณะไหนเหมาะสม ต้องจูงใจให้ภาคเอกชนจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้นผ่านการลดดหย่อนภาษี แต่ทั้งหมดอยู่บนฐานว่าผู้สูงอายุต้องมีทักษะ จึงเตรียมจะมีคูปอง 3,500 บาท ปีละ 1 ล้านใบสำหรับคนที่อยากจะเรียนรู้ด้านต่างๆ เช่น ภาษา เทคโนโลยี การบริหารธุรกิจ รวมถึงเสนอแนวคิด “เกษียณเงินล้าน” โดยยกระดับกองทุนการออมแห่งชาติขึ้นไปอีก ระบบสำรองเลี้ยงชีพต้องมีการสมทบให้มากขึ้น เบี้ยยังชีพเพิ่มเป็น 1,000 บาทซึ่งต้องอยู่บนฐานของการจัดการภาษีแบบใหม่ ไม่จำเป็นต้องลดภาษีให้บริษัทใหญ่หรือคนรายได้สูง และควรใช้กลไกภาษีเป็นการบังคับออม

นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ จากพรรคเพื่อไทย เน้นการตอบคำถามสำคัญคือจะเติมรายได้รัฐเพื่อจัดสวัสดิการได้อย่างไร เพราะคำถามแรกที่คนถามคือจะหาเงินจากที่ไหน หากต้องการภาษีจากคนทำงาน เราต้องสร้างเถ้าแก่ใหม่โดยลดภาษีสำหรับสตาร์ทอัพ เมื่อเขายืนด้วยขาของตัวเองได้แล้วค่อยเก็บภาษี นอกจากนี้ยังต้องกองทุนคนเปลี่ยนงาน เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ต้องทำให้คนเรียนรู้เทคโนโลยีมากขึ้น ในส่วนของกองทุนที่มีอยู่หลายกองทุนคงต้องพิจารณาบริหารจัดการไม่ให้ซ้ำซ้อน

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ จากพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า คนรุ่นใหม่ก็ต้องแบกรับเรื่องนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องเปิดเศรษฐกิจดิจิตอลและเน้นการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) หรือ เอไอ ทุกวันนี้สังคมโลกก้าวไปสู่สังคม 5.0 เราจะไปถึงจุดนั้นไม่ได้ถ้าทุกวันนี้ยังคุยเรื่องความมั่นคงไซเบอร์ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเอไอต้องมีข้อมูลก้อนใหญ่เพียงพอ แต่ปัจจุบันการวิจัยของเรามีน้อย ข้อมูลไม่ใหญ่พอ นอกจากนี้ยังจะผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการให้เป็นสิทธิทุกคนซึ่งต้องได้รับเท่าเทียมกัน ผู้สูงอายุต้องมีบำนาญ

ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งโจทย์ให้ตัวแทนพรรคการเมืองตอบเพิ่มเติมว่า คิดอย่างไรกับข้อเสนอให้เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 7% เป็น 10% โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นจะกันไว้ให้เป็นการออมเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ตัวแทนพรรคประชาธิปปัตย์ตอบว่า เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว โดยภาษีที่เพิ่มขึ้นจะนำไปใส่ในบัญชีออมทรัพย์ของผู้เสียภาษี เป็นเหมือนการบังคับออม แต่คงต้องมีเพดานว่าคนที่มีฐานะแล้วไม่ควรได้รับสิทธินี้ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือจะปรับขึ้นภาษีในช่วงเวลาไหน คิดว่ายังไม่ใช่เวลานี้ที่เศรษฐกิจยังไม่ดี ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้แสดงความไม่เห็นด้วย โดยระบุว่า นโยบายดังกล่าวจะทำให้ผู้สูงวัยพึ่งพารัฐมากขึ้น โจทย์ตั้งต้นควรเป็นว่าทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพดูแลตัวเองได้ เช่น เปิดโอกาสให้พวกเขาทำธนาคารต้นไม้ ธนาคารชุมชน ส่งเสริมสวัสดิการชุมชน ฯลฯ และรัฐควรช่วยเฉพาะส่วนที่จำเป็น

ด้านพรรคเพื่อไทยเห็นว่า การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะยิ่งทำให้ผู้จ่ายภาษีรู้สึกว่าผู้สูงอายุเป็นภาระของสังคม และควรตั้งคำถามว่ามีแนวทางอื่นที่ดีกว่าไหมในการหางบประมาณมาจัดสวัสดิการนี้ เช่น สามารถใช้ภาษีสรรพสามิตแทนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ไหม อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญยังคงเป็นเรื่องความสามารถในการสร้างรายได้ของประชาชนเป็นหลัก ขณะที่พรรคอนาคตใหม่เห็นว่า ควรบริหารภาษีที่จัดเก็บได้ใหม่โดยแบ่งให้ท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาของตนเอง และไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในตอนนี้

ต่อคำถามด้านสุขภาพ พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า จะเน้นใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ เช่น การใช้เอไอวิเคราะห์โรคเบื้องต้นหรือโรคประจำตัว เมื่อพบว่าไม่ต้องปรับยาก็อาจจะส่งยาไปทางไปรษณีย์ทำให้ลดภาระการเดินทางของคนไข้และลดจำนวนคนมาโรงพยาบาล ส่วนพรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบาย 30 บาทยุคใหม่ “ทุกคนสุขภาพดีก่อนแก่” ไม่ใช่แก่ก่อนแล้วมารักษาทีหลัง เน้นใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาเช่น ใช้แอพลิเคชันให้คนป่วยคุยกับหมอก่อนไปโรงพยาบาลเพื่อเป็นการสกรีนและลดคิว ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง พรรคพลังประชารัฐระบุจะดำเนินการหลายเรื่อง เช่น กลุ่มคนทำงานได้จะเน้นให้ความรู้เรื่องสุขภาพและการป้องกัน กลุ่มคนติดบ้านจะเน้นใช้กลไกอาสาสมัครสาธารณสุขหรือ อสม. และจะดูแลสวัสดิการของ อสม. ให้ดีกว่านี้ กลุ่มคนป่วยติดเตียงมีคลินิกหมอครอบครัวเพื่อไม่ต้องไปรอคิวที่โรงพยาบาล และจะตั้งโรงพยาบาลสูงวัยประชารัฐ ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการเทคโนโลยีสุขภาพจำนวนมากแต่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ จึงจะตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับคนที่อยากจะทำบริการสาธารณะด้านสุขภาพให้เข้ามาทำงานให้ภาครัฐได้โดยไม่ติดกฎระเบียบมากมาย นอกจากนี้จะให้ความสำคัญในประเด็นที่ สสส. และ สช. นำเสนอมากกว่านี้ เพราะเป็นการทำงานป้องกัน

สำหรับการขับเคลื่อนประเด็นสังคมสูงวัยหลังจากนี้ ทาง สป.สว. จะร่วมกับสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งทีมมอนิเตอร์นโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้นำเสนอไว้เพื่อติดตามดูความคืบหน้าว่าดำเนินการได้จริงเพียงใด ที่สำคัญ สช. และภาคีเครือข่ายจะร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมด้วยกระบวนการสมัชชาสุขภาพประเด็นการรองรับสังคมสูงวัยในวันที่ 22 พ.ค. 2562 นี้อีกด้วย  

ข้อมูลจาก สำนักงานประสานนโยบายรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) ระบุว่า ตัวเลขจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม เป็นคนวัย 18-23 ปีที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกมีจำนวน 5.9 ล้านคน (10.9%) ขณะที่คนวัย 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 10.3 ล้านคน (20.1%) หรือเป็น 2 เท่าของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก

ในภาพรวม ประเทศไทยประสบความสำเร็จในนโยบายคุมกำเนิด ประกอบกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรสูงขึ้น เพศชายอายุเฉลี่ย 72 ปี เพศหญิงอายุเฉลี่ย 79 ปี ในอดีตโครงสร้างประชากรมีผู้สูงอายุจำนวนน้อย ขณะที่เด็กเกิดใหม่มีจำนวนมากกว่าประชากรทุกช่วงวัย หากในปัจจุบัน วัยกลางคนและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาก และคาดการณ์ว่า ปี 2579 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ  1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

ขณะที่ครอบครัวไทยเคยมีลูกเฉลี่ย 5 คนแต่ปัจจุบันมีลูกน้อยกว่า 2 คน นั่นแปลว่าคนวัยทำงานมีน้อยต้องดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น ประกอบกับสภาวะ “คนท้องไม่พร้อม คนพร้อมไม่ท้อง” หรือปัญหาคุณแม่วัยใส ทำให้มีข้อห่วงกังวลในคุณภาพคนวัยทำงานในอนาคตอีกด้วย

หากพิจารณาสวัสดิการที่รองรับผู้สูงวัย พบว่า มีคนวัยทำงานราว 20 ล้านคนที่มีอาชีพอิสระหรือเป็นลูกจ้างนอกระบบ ทำให้ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ไม่มีการออม ไม่มีบำนาญ รัฐบาลจึงตั้งกองทุนการออมแห่งชาติเสริมในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับหลายประเทศทั่วโลกแล้ว พบว่าประเทศเหล่านั้นมีระบบรองรับดีกว่าโดยเป็นประเทศ “รวยก่อนแก่” แต่สำหรับไทยเป็นประเทศ “แก่ก่อนรวย” และเมื่อหันมองประเทศเพื่อนบ้านก็พบว่ากำลังจะเป็นสังคมสูงวัยเช่นกัน ทำให้เรามีเวลาพึ่งพิงแรงงานเพื่อนบ้านได้น้อยลง

ในขณะที่แรงงานไทยเองกลับมีแนวโน้มพัฒนาทักษะการทำงานไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลง ในด้านสุขภาพก็น่าห่วงใยยิ่ง เพราะมีผู้สูงอายุเพียง 5% เท่านั้นที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net