Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การเลือกตั้งภายใต้อำนาจรัฐประหาร คือความพยายามที่จะเปลี่ยนฐานความชอบธรรมของอำนาจ จากปลายกระบอกปืนมาเป็นฉันทานุมัติของประชาชน

ฟังดูเหมือนไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เลย แต่น่าประหลาดที่คณะรัฐประหารที่ผ่านมาเกือบทุกคณะทำได้สำเร็จเกือบทั้งสิ้น จนถึงคณะรัฐประหาร คปก.ใน 2549

(หรืออาจย้อนกลับไปถึงคณะรัฐประหาร รสช.ด้วยก็ได้ เพราะก้ำๆ กึ่งๆ อยู่ว่าทำสำเร็จหรือไม่ สำเร็จในแง่ที่การเลือกตั้งทำให้แกนนำของคณะรัฐประหารได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล แต่ล้มเหลวในเวลาเพียงไม่นานหลังจากนั้น เพราะไม่อาจจัดการกับการประท้วงของฝูงชนได้ จนกลายเป็นพฤษภามหาโหด 2535 แสดงว่าความชอบธรรมที่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่แข็งแกร่งพอ)

ความสำเร็จในการเปลี่ยนฐานความชอบธรรมของคณะรัฐประหารต่างๆ เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญสองประการ

1. มีรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้คณะรัฐประหารยังคงรักษาอำนาจต่อไปได้ นั่นคือ ส.ส.ประเภทสอง หรือจำแลงมาเป็นวุฒิสมาชิกในภายหลัง ส.ส.ประเภทสองและวุฒิสมาชิกได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ดังนั้น รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่อาจบริหารบ้านเมืองได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากอำนาจรัฐประหาร ทำให้นักการเมืองยอมรับให้แกนนำของคณะรัฐประหารจัดตั้งรัฐบาล โดยตนได้โอกาสร่วมอยู่ในรัฐบาลผสม

พรรคการเมืองรู้เงื่อนไขนี้ดี เหตุฉะนั้นจึงพร้อมจะร่วมมือกับอำนาจรัฐประหาร อย่างน้อยก็ได้ร่วมรัฐบาล มีอำนาจถ่ายโอนทรัพยากรของรัฐไปยังเขตเลือกตั้งของตนเอง เท่ากับประกันว่ามีเลือกตั้งเมื่อไร ตัวและสมุนก็จะได้รับเลือกตั้งแน่

กลไกประกันการสืบทอดอำนาจเช่นนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ลอกมาไว้พร้อมมูลอยู่แล้ว

2. ในช่วงนั้น ประชาชนเลือก ส.ส.จากตัวบุคคลมากกว่าพรรคหรือนโยบาย เพราะประชาชนส่วนใหญ่สัมพันธ์กับรัฐผ่านความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์กับ “ผู้แทนของผู้แทน” หรือหัวคะแนน แกนนำคณะรัฐประหารรู้ว่าใครและพรรคใดที่จะได้คะแนนเสียงมากในการเลือกตั้ง จึงรวบรวมนักการเมือง (โดยการซื้อหรือขู่ก็ตาม) เพื่อมาฟอร์มรัฐบาลได้ง่าย เพราะรู้อยู่แล้วว่าใครจะได้เป็น ส.ส.

ดังนั้น อำนาจรัฐประหารจึงไม่เคยพลาดสักที ตั้งพรรคการเมืองเพื่อมาหนุนตนในการเลือกตั้ง พรรคนั้นก็ได้ ส.ส.สูงสุดทุกทีไป และหัวหน้ารัฐประหารก็ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามวิถีทางรัฐธรรมนูญโปเกได้เป๊ะ

อย่างไรก็ตาม อำนาจรัฐประหารตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมาไม่เคยประสบความสำเร็จในการสืบทอดอำนาจตามรัฐธรรมนูญเลย แม้ว่าพวกเขาเป็นผู้ “สั่ง” รัฐธรรมนูญไว้เองแท้ๆ แม้คณะรัฐประหาร 2557 ก็น่าจะประสบชะตากรรมเดียวกัน

น่าสังเกตว่า พรรคการเมืองที่คณะรัฐประหารชุดล่าสุดสร้างขึ้นเพื่อรองรับอำนาจของตนหลังเลือกตั้ง ไม่ได้มีแกนกลางอยู่ที่นักการเมือง แต่กลับไปอยู่กับเทคโนแครตที่ได้เข้าร่วมรัฐบาลรัฐประหาร

ที่น่าสังเวชขึ้นไปอีกก็คือ เทคโนแครตกลุ่มนี้ไม่ได้มีชื่อเสียงทางด้านความรู้ความสามารถชนิดที่เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้าง แท้จริงแล้วแทบไม่มีใครรู้จักคนเหล่านี้ด้วยซ้ำ (ลองนึกเปรียบเทียบกับเทคโนแครตตั้งแต่รุ่นสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สืบมาจนถึง “ป๋าเปรม” ดู ก็จะเห็นสถานะอันต่ำต้อยของเทคโนแครตรุ่นนี้อย่างไร)

นักการเมืองที่เข้าร่วมกับเทคโนแครตกลุ่มนี้ในภายหลัง (ด้วยเหตุและวิธีใดก็ตาม) ไม่ใช่นักการเมือง “ขาใหญ่” ชนิดที่เป็นศูนย์กลางของเครือข่ายการเมืองขนาดใหญ่พอจะเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลได้ ลองนึกอย่างนี้ดูก็ได้ คนอย่างคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน, คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, หรือแรมโบ้อีสาน ถึงจะจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเอง ก็ไม่สามารถประกาศตนเป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ผิดจากคนอย่างคุณบรรหาร ศิลปอาชา, คุณชวลิต ยงใจยุทธ, คุณชวน หลีกภัย, คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือแม้แต่คุณณรงค์ วงศ์วรรณ และคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ

ทั้งนี้ ไม่เกี่ยวว่าคนเหล่านี้ดีหรือไม่ดี เก่งหรือไม่เก่ง แต่เป็น “บารมี” ทางการเมืองซึ่งผิดชั้นกันอย่างเห็นได้ชัด

ฉะนั้นโอกาสที่พรรคซึ่งเกิดขึ้นเพื่อรองรับหัวหน้าคณะรัฐประหารจะกวาดที่นั่งในสภาเป็นอันดับหนึ่ง จึงไม่น่าเป็นไปได้ ถึงแม้ตั้งนายกฯได้ เพราะมีเสียง ส.ว.อีก 250 เสียง ก็ไม่อาจตั้งรัฐบาลได้อยู่นั่นเอง

ซ้ำร้ายผลงานของรัฐบาลรัฐประหารก็ไม่ได้สร้างความพึงพอใจเป็นพิเศษแก่คนกลุ่มใด พรรคที่หนุนคณะรัฐประหารกลับประกาศจะดำเนินนโยบายของรัฐบาลรัฐประหารต่อไป ทำให้แม้แต่คนที่ชิงชังทักษิณเข้ากระดูกดำก็ไม่เหลือทางเลือกอะไรเลย นอกจากไปลงคะแนนแบบไม่ใช้สิทธิ, เลือกพรรคที่ไม่ใช่ทักษิณและไม่ใช่ คสช., หรือไม่ไปเลือกตั้งเลย

แต่เหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความล้มเหลวที่จะเปลี่ยนฐานความชอบธรรมจากปากกระบอกปืนไปสู่การเลือกตั้ง ก็คือความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งเกิดในบ้านเรามาหลายทศวรรษแล้ว ผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ไม่ได้จำกัดแวดวงอยู่เฉพาะในท้องถิ่น แต่สัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างยิ่งกับนโยบายรัฐ โดยเฉพาะนโยบาย “อุ้ม” ทั้งหลาย “อุ้ม” ให้รายได้จากภาคเกษตรโตขึ้น หรือ “อุ้ม” ให้เกิดรายได้นอกภาคเกษตรมากขึ้น

ประจวบกับความแพร่หลายของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงข่าวสารข้อมูลจำนวนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ผู้คนตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ส.ส.จากข้อมูลข่าวสารที่มาจากทางอื่นมากกว่าหัวคะแนน

ฉากจบของการรัฐประหารที่จะทำให้ผู้ก่อรัฐประหารนอนตาหลับที่สุด คือเปลี่ยนฐานความชอบธรรมจากปากกระบอกปืนมาเป็นฉันทานุมัติของประชาชน หากทำไม่สำเร็จก็ต้องทำรัฐประหารซ้ำ ดังเช่นถนอม กิตติขจร ต้องทำใน พ.ศ.2514 และต้องลั่นไกปืนใน 2516 เช่นเดียวกับ รสช.ต้องลั่นไกปืนใน 2535

หากมีการเลือกตั้งจริงในวันที่ 24 มี.ค.2562 คสช.จะจบฉากลงอย่างไร

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/article/news_1398467

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net