Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ท่านผู้อ่านครับ... ถ้าวันหนึ่ง คุณบังเอิญได้ถูกเด็กตัวเล็กๆคนหนึ่งถามว่า “คุณน้า... เราควรที่จะนับถือศาสนาอะไรดี?” เข้า คุณจะตอบเด็กคนนั้นว่าอย่างไร...

คำถามนี้... ถ้าจะตอบให้ง่าย ก็ดูเหมือนจะง่าย แต่ถ้าคิดในอีกมุมหนึ่ง การจะตอบคำถามดังกล่าวให้ถูกต้องและตรงตามเป้าประสงค์ของคำถามก็ดูเหมือนจะยากแสนยากและอันตรายอย่างถึงที่สุด แต่ไม่ว่าจะอย่างไร จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่าหากวันหนึ่งคุณถูกโยนคำถามนี้ (จากเด็ก) ขึ้นมาจริงๆ คุณจะตอบเด็กคนนั้นว่าอย่างไร “หนูจ๋า... เราควรนับถือศาสนา ‘……’ เพราะ ‘……’!”

นับเป็นเรื่องปกติสามัญ ที่มนุษย์ส่วนมากมักจะเข้าข้างมุมมองทางความคิด (ไม่ว่าจะเรื่องใด) ไปตามครรลองในสังคมที่เขาและเธอสังกัด (หรืออาศัย) อยู่ ซึ่งนี่ก็แน่นอนว่าหมายรวมถึงมุมมองในเชิงศาสนาด้วย แต่แก่นสารสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ‘ศาสนา’ นั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างจากองคาพยพทางความคิดของเรื่องอื่นๆค่อนข้างมาก กล่าวคือศาสนานั้นถูกโยงไว้กับเรื่องราวของ ‘ชีวิต’ ‘โลก’ และ ‘คุณค่าเชิงนามธรรมต่างๆ’ ล้วนๆ ในขณะที่เรื่องราวอื่นๆในสังคมอาจมีเรื่องราวทางรูปธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไข (ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น) อื่นแทรกเข้ามาบ้าง หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือมันคงเป็นเรื่องที่มิได้ผิดอะไร ถ้าเขาและเธอจะไม่สนใจเรื่องบางเรื่องในสังคมแม้ว่าเรื่องราวนั้นๆจะกำลังเป็นที่สนใจอยู่ในสังคมระดับมหภาค (เช่นเรื่องของเทรนด์การปรับเปลี่ยนรูปแบบชีวิต (ซึ่งเป็นเรื่องของ ‘จิตสำนึกรวมหมู่’ ที่เข้าใจกันได้ (จนเป็นเรื่องสากล) ใน Gen แต่ละ Gen) หรือเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆที่กำลังเข้ามามีบทบาทในการจัดการชีวิตและเวลา)

ย้อนกลับมาที่คำถามเดิม “เราควรที่จะนับถือศาสนาอะไร?” ผู้เขียนขออนุมานว่าเกินกว่าร้อยละแปดสิบคงบอกเด็กคนนั้นไปว่าให้เดินตามรอยทางศาสนา (หรือลัทธิ) ที่เขาหรือเธอนับถือ (หรือสังกัด) อยู่ ซึ่งความเป็นไปได้ (อย่างมาก) ตรงนี้เอง ที่ทำให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาอย่างยิ่ง ว่าการกระทำเช่นนี้นับเป็น ‘การให้เหตุผลที่เป็นธรรม’ หรือไม่ หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียง ‘การยัดเยียดศรัทธาและความคิด’ ให้กับเด็กที่อ่อนต่อโลกคนหนึ่งก้มหน้าเดินตามโดยปราศจากข้อสงสัย แน่ล่ะ คงต้องมีคนออกมาป่าวประกาศเป็นแน่ ว่าสิ่งที่เขาหรือเธอบอกเด็กคนนั้นไปเป็นการเล่าเรื่องราวต่างๆโดยมีเหตุและผลที่ถูกต้องมาสนับสนุนชุดความคิด แต่คำถามอื่นๆก็จะตามมาอีกเป็นพรวน เช่นว่าแล้วเขาหรือเธอคนนั้นได้บอกข้อเสียหรือสิ่งที่มิควรยึดถือหรือเดินตามของศาสนาที่เขาหรือเธอนับถืออยู่บ้างหรือไม่ หรือมันไม่เป็นการแสดงถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ความอยุติธรรมเชิงความคิด’ ดอกหรือ กับการที่คนๆหนึ่งเอาแต่แสดงทัศนะถึงสิ่งๆหนึ่งโดยที่ ‘ละเว้น’ การพูดถึงอีกสิ่งหนึ่ง (ศาสนาอื่นๆ) ไปเสียโดยสิ้นเชิง

เด็กคนนั้นยังคงรอคำตอบ...

อย่างไรก็ดี มันก็อาจเป็นไปได้เช่นเดียวกันที่คนบางคน (ในส่วนน้อยของน้อย) คงจะตอบเด็กว่า “ก็แล้วแต่หนูสิ... แล้วหนูชอบศาสนาอะไรล่ะ?” หรือถ้าไปไกลกว่านั้น ก็คงอาจมีเสียงที่สุดแสนแผ่วเบาท่ามกลางฝูงชนที่เปล่งออกมากลางวงว่า “หนูไม่ต้องชอบศาสนาอะไรเลยก็ได้นะ” หรือ “หนูยังไม่ต้องเลือกก็ได้ หนูค่อยๆศึกษาค้นคว้าไปก่อน... แล้วหลังจากนั้นค่อยว่ากัน!”

โดยหลักการพื้นฐานแล้วสิ่งที่เรียกว่า ‘ศาสนา’ นั้นมีความแตกต่างจากสิ่งที่เรียกว่า ‘ปรัชญา’ อย่างมีนัยยะสำคัญ ‘ปรัชญา’ โดยตัวมันเองนั้นสื่อถึงหลักการหรือเหตุและผลซึ่งขึ้นตรงต่ออุดมคติบางอย่าง ซึ่งสิ่งดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาก็ได้ เนื่องจากในทางโลกและสังคมมิได้ ‘ประทับตรา’ สิ่งนี้ว่าเป็นสิ่งที่ ‘ต้องห้าม’ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘มิอาจเปลี่ยนแปลงได้’ ซึ่งตรงนี้เอง ที่ทำให้คุณลักษณะของ ‘ปรัชญา’ มีความแตกต่างจาก ‘ศาสนา’ ค่อนข้างมาก เนื่องจากองค์ประกอบย่อยๆ (ในเชิงสังคมวิทยา) ของศาสนานั้นดูจะครอบคลุมสิ่งที่กล่าวมาเมื่อสักครู่ไปเสียทั้งหมด

มี ‘ปรัชญา’ แต่ไม่ต้องมี ‘ศาสนา’ ได้หรือไม่? ตรงนี้ผู้เขียนมองว่าขึ้นอยู่กับทัศนะของแต่ละคน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนมองว่า ‘ได้’ ทั้งนี้เนื่องจากว่าปรัชญาโดยตัวมันเองก็คือหลักการแห่งชีวิตของคนแต่ละคนอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ก็อาจรวมไปถึงเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ของคนแต่ละคนด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ว่ามิใช่เนื้อหาสาระต่างๆของศาสนาจะถูกจำกัดวงไว้มิให้ต้องพูดถึง หากทว่าให้เนื้อหารวมถึงความรู้ต่างๆของศาสนาได้ดำรงตนอยู่อย่างเป็นอิสระในมิติของหลักปรัชญา กล่าวอีกอย่างก็คือให้เนื้อหาต่างๆของศาสนา (ไม่ว่าจะในด้านใด) เป็น ‘นามธรรมที่อยู่ภายใน’ โดยที่มิต้องแสดงออกในเชิง ‘รูปลักษณ์ภายนอก’ ผ่านทางการมองเห็น ตีความ และความเข้าใจของสังคม (ซึ่งรังแต่จะทำให้เกิดการชิงดีชิงเด่นว่าศาสนาฉันนั้นดีกว่าศาสนาของเธอ แต่ศาสนาของเธอก็ยังดีกว่าศาสนาของเขาอย่างนั้นอย่างนี้ ฯลฯ)

เด็กคนนั้นถามย้ำเป็นครั้งสุดท้าย... “แล้วสรุปหนูควรนับถือศาสนาอะไรดี?”

ก่อนที่ผู้เขียนจะเฉลยว่า ‘คำตอบสุดท้าย’ ที่จะยื่นให้เด็กคนนั้น ‘ควร’ เป็นอย่างไรและเป็นไปในทางใด (ย้ำว่าตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน) ในส่วนนี้ผู้เขียนจะขออธิบาย (โดยย่อ) ถึงจุดที่ผิดพลาดซึ่งร้ายแรงที่สุดในสังคม (ไม่เพียงเฉพาะไทย) ที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับเรื่องของความคิด ความเชื่อ และหลักการนับถือศาสนา ซึ่งก็คือ ‘การประทับตราศาสนา’ ให้อย่างเบ็ดเสร็จกับผู้ถูกให้กำเนิดใหม่ (ซึ่งแน่นอนว่าโดยที่เขาหรือเธอคนนั้นยังไม่มีความคิดหรือมุมมองต่อโลกและชีวิตแต่อย่างใด)

ท่านเคยคิดไหม... ว่าเหตุใดเราจึงต้องกากบาท (ความหมายคือ ‘เลือก’ ให้) ศาสนา ก ศาสนา ข ศาสนา ค ฯลฯ ให้กับผู้ถูกให้กำเนิด? เป็นเพราะเราอยากให้เขาศรัทธาศาสนาเดียวกันกับเราใช่หรือไม่? หรือว่าศาสนาใดในสังคมเป็นใหญ่... ก็ตัดสินใจเลือกศาสนานั้นเพื่อที่จะป้องกันมิให้ลูกเป็นคนส่วนน้อย? หรือถ้าร้ายแรงที่สุด ก็คือท่านไม่คิดอะไรเลยใช่หรือไม่? หรือท่านจะหาข้ออ้างว่าเพราะมันจำเป็นต้องเลือก (เหตุกฎหมายระบุไว้?) จึงเลือกๆมันไปก่อน? เป็นอย่างใดกัน?

ถ้าคิดดูในแง่หนึ่งมันก็มิใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่ทายาทนั้นจะถูกบังคับให้ต้องนับถือศาสนา (และอาจรวมไปถึงนิกาย) เดียวกันกับบรรพบุรษหรือวงศ์วานว่านเครือ (ซึ่งเหตุผลเบื้องต้น (ในเชิงสังคมและประเพณี) ก็คงเป็นเพราะต้องการให้ความคิดและธรรมเนียมปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน) แต่ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง เรื่องนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องวิปริตพิสดารในเชิงอภิปรัชญาอย่างถึงที่สุด เนื่องจาก สภาวะอัตตา วิถีชีวิต รวมถึงมิติภายในต่อการมองโลกของคนๆหนึ่งจะต้องถูกวางแบบแผนและร่างกฎเกณฑ์และเนื้อหาไว้อย่างครบถ้วนเสียสิ้นตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว ซึ่งประเด็นสำคัญตรงนี้ก็คือเขาหรือเธอคนนั้นจะไม่มีวันออกไปจากกรงขัง (ที่สร้างไว้อย่างศักดิ์สิทธิ์) นี้ได้เลย ถ้าวันหนึ่งเขาหรือเธออาจมีความรู้สึกฉงนฉงายหรือสะกิดใจอะไรบางอย่างในบางเรื่องราวที่เขาหรือเธอมิได้สร้างขึ้นมา

แน่ล่ะว่าบางครอบครัว (และในบางสังคม) อาจใจกว้างพอที่จะเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวเปลี่ยนศาสนาได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนน้อยของน้อยที่สุด (เพราะโดยมากถ้าไม่เกิดปัญหาใดที่กระทบ (อย่างรุนแรง) ขึ้นทั้งในทางสภาพร่างกายและจิตใจ กรณีการเปลี่ยนจากศาสนาหนึ่งไปสู่อีกศาสนาหนึ่งนั้นก็คงไม่เกิดขึ้น) ซึ่งตรงนี้เอง สิ่งที่กลับเกิดขึ้นโดยมาก (หากกรณีนี้มิได้เกี่ยวข้องกับแก่นสารความเข้าใจชีวิตและโลกหรืออะไร) ก็คือกรณีของผู้หญิงที่ต้องเปลี่ยนศาสนาไปตามครอบครัวของสามี  หรือแม้แต่ประเด็นของคนที่มาเปลี่ยนลัทธิหรือศาสนาเอาตอนช่วงครึ่งชีวิตหรือไม้ใกล้ฝั่ง ผู้เขียนก็มองว่ากรณีนี้โดยมากมักเป็นไปในสองรูปการณ์ คือ หนึ่ง brainwashing หรือโดนล้างสมอง และ สอง ทนต่อความเคร่งของศาสนานิกายเดิมไม่ไหว จริงอยู่ ที่ก็คงมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความ ‘กล้าหาญ’ พอในการเปลี่ยนศาสนาหลังจากเขาหรือเธออาจพิจารณาศาสนาอีกศาสนาหนึ่งดูแล้วเห็นว่า ‘ดีกว่าหรือเข้าใจได้มากกว่า’ ศาสนาเดิมที่เขาหรือเธอนับถืออยู่ แต่ผู้เขียนกลับมองว่าประเด็นดังกล่าวถือเป็นสิทธิและเสรีภาพในการเลือก ‘ทางเดิน (รวมถึงแนวทางความเข้าใจ) ชีวิต’ ตามปกติโลกียชนอยู่แล้ว แก่นสารของเรื่องจึงน่าจะอยู่ที่ว่าเมื่อศาสนาเป็นชุดความคิด (ซึ่งแม้ว่าจะใหญ่มาก [ภาษาทางวัฒนธรรมศึกษาเรียกว่า Grand-narrative]) ชุดหนึ่ง แต่เหตุใดเราจึงต้องยัดเยียดหรือสมาทานความคิดชุดนั้นชุดนี้ให้แก่คนอื่นทั้งๆที่ตัวเขาเองก็สามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง? คำถามตรงนี้จึงมีขึ้นว่าทั้งหมดทั้งมวลมาจาก ‘ความไม่รู้’ หรือ ‘อวิชชา’ เกี่ยวกับศาสนาใช่หรือไม่? ทั้งหมดทั้งมวลมาจากความเข้าใจผิดว่า ‘ศาสนาคืออะไร’ ใช่หรือไม่? ทั้งหมดทั้งมวลมาจากความคิดที่ว่า ‘ศาสนาเป็นสภาวะศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญญาในปรัชญา’ ใช่หรือไม่? หรือทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจาก ‘ความหวาดกลัว (ในระดับจิตใต้สำนึก) ต่อสิ่งที่เรียกว่าศาสนา’ ซึ่งสั่งสมกันมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษใช่หรือไม่?

จุดที่วิปริตที่สุดอีกจุดหนึ่งในเชิงอภิปรัชญาคือคนเรามักคิดว่า ‘ความหมายของชีวิต’ ของคนนั้นเป็นของเล่น ศาสนา (ที่เลือกไม่ได้) จึงอาจเป็นสิ่งปลอบประโลมให้เราไม่ต้องคิดหรือตั้งคำถามใดๆเกี่ยวกับความหมายของชีวิตหรือเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นภายในชีวิต สิ่งที่เรามักจะเห็น (กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน) ก็คือคนมักเอาแต่พูดหรือท่องกันเกี่ยวกับศาสนาเรื่องนั้นเรื่องนี้เจื้อยแจ้วเป็นนกแก้วนกขุนทอง หากผลลัพธ์ที่ได้มากลับเป็นความว่างเปล่า หาสาระอะไรไม่ได้ ในทางปรัชญา คุณจะพูดอะไรก็ได้ตามที่คุณอยากจะพูด แต่นั่นมิได้หมายความ (แต่อย่างใดเลย) ว่า ‘คำพูดนั้นๆ’ จะมีความหมายหรือเข้าใจได้ในระดับตรรกะหรือปัญญาบนความเป็นสากล

เด็กคนนั้นเดินจากไปแล้ว... เขาไม่รอคำตอบอีกแล้ว...

เจ้าหนู... แต่นั่นแหละคือคำตอบที่แท้จริงที่ฉันจะให้ ‘ความเงียบ’ หรือ ‘การไร้ซึ่งคำตอบ’ เท่านั้นที่จะทำให้การ ‘ชี้นำ’ ตัวตนและจิตวิญญาณที่แท้จริงของเจ้าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ปราชญ์อินเดียท่านหนึ่งนาม กฤษณมูรติ บอกว่าเพราะเราโดนชี้นำ เราจึงเป็น ‘มนุษย์มือสอง’ เราควรแสวงหาความหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโลกและชีวิตด้วยปัญญาของเราเอง สิ่งอื่นๆรอบกายเราถือเป็นเพียงเครื่องมือที่จะใช้ช่วยในการแสวงหาหนทางที่แท้ (ซึ่งเราจะสามารถตระหนักรู้ได้ด้วยใจตนเอง) เท่านั้น คำถามตรงนี้จึงมีอยู่ว่า แล้วเหตุใดจึงไม่มีใครในสังคมรู้สึกเอะใจกับเรื่องนี้บ้าง? เพราะอะไรผู้คนจึงรู้สึกว่าการถูกสมาทานความคิดใดความคิดหนึ่ง (ซึ่งมีผลทั้งในระดับปัจเจกและสังคม) ให้โดยไม่มีสิทธิ์เลือกเป็นเรื่องปกติ?

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้ไปรับประทานอาหารที่โรงแรมแห่งหนึ่งย่านรัชดา ผู้เขียนสังเกตเห็นสตรีมีอายุนางหนึ่งกำลังพูดถึงเรื่องราวและหลักการชีวิตต่างๆเกี่ยวกับศาสนาๆหนึ่งให้เพื่อนร่วมโต๊ะฟัง ในมุมมองผู้เขียน ‘ความสูญเสียตัวตนในเชิงสภาวะมนุษย์’ ได้เกิดขึ้นอีกครั้งอย่างยิ่งยวดในเวลานั้น (แม้แน่นอนว่า ‘การสูญเสียตัวตนฯ’ จะเกิดมีขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่ถูกประทับตีตราแล้ว) แก่นสารในเชิงปรัชญาสามารถอธิบายได้ดังนี้ ในจักรวาลผืนนี้ ไม่มีเรื่องราวใดที่เป็นเรื่องราวเชิงเดี่ยวซึ่งแยกตัวออกมาจากเรื่องราวเล็กๆโดยรวมทั้งหมด การที่คนๆหนึ่งสมาทานความคิดชุดหนึ่งราวกับเป็นคุณค่าสูงสุดในชีวิตและคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดจึงกลับกลายเป็นว่าเขาหรือเธอกำลังพูดถึงแต่สิ่งอื่นๆโดยที่มิได้พูดถึงเรื่องราวและความหมายแห่งชีวิตของเขาหรือเธอเองเลย มันจึงเป็นเรื่องที่ดูกลวงเปล่าแลไร้ความหมายอย่างยิ่ง ที่สตรีนางนั้นเลือกที่จะใช้ (หรือหยิบยืม) สายตาและลมหายใจของผู้อื่นมาตัดสินเรื่องราวของโลกและชีวิต และที่สำคัญ คิดว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นแก่นสารเดียวที่ถูกต้อง เป็นสัจจะ และเป็นที่สุดของจักรวาล ขอสารภาพว่า ณ ตอนนั้นผู้เขียนมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งที่อยากจะถามเธอคนนั้นจริงๆ (เผื่อว่าซาโตริเล็กๆจะบังเกิดในใจเธอขึ้นมาบ้าง) ผู้เขียนเพียงอยากจะถามเธอผู้นั้นว่า “แล้วคุณเอาศาสนาอื่นๆไปทิ้งไว้ที่ไหนหมดล่ะครับ?”  

 

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ‘ความเป็นศาสนา’ และ ‘ความหมายของศาสนา’ จะยังคงความคลุมเครือและกำกวมในแง่ของมิติการจัดวางพื้นที่ทางสังคมและในจิตใจมนุษย์อยู่ร่ำไป (ส่วนสำหรับคนที่ใช้ ‘ศรัทธา’ และ ‘การท่องจำ’ นำเป็นพื้นฐานคงไม่มีปัญหาต่อสิ่งเหล่านี้) คำถามที่ว่า ‘แท้แล้วศาสนาคืออะไร?’ คงมีคนจำนวนไม่ถึงหยิบมือที่จะรู้สึกสะกิดใจกับแก่นสารที่อยู่เบื้องหลังเรื่องราวที่เราคุ้นชินนี้ สงครามทางกายภาพ สงครามทางความคิด สงครามทางชนชั้น ล้วนยังคงดำเนินต่อไปอย่างมึนงงจากต้นตอของสิ่งที่เรียกว่า ‘ศาสนา’ (ซึ่งเอาเข้าจริงก็เป็นสิ่งที่มนุษย์อย่างเราๆประดิษฐ์หรือคิดค้นมันขึ้นมาเอง) มันกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ครอบงำทั้งความเป็นมนุษย์ อารมณ์ความรู้สึก รวมถึงมิติแห่งจิตวิญญาณ เพื่อให้ยึดติด (หรือยึดเหนี่ยว) อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนลืมความเป็นตนเองและเส้นทางความหมายแห่งชีวิต ทุกวันนี้ ผู้เขียนยังคงมีเพื่อนที่นับถือศาสนาอยู่แทบทุกศาสนา แต่ (เล่าสู่กันฟังนะครับว่า) ไม่มีใครเลยในจำนวนนี้ ที่จะเลือกเจาะจง (หรือกล้าหาญที่จะเปลี่ยนไป) นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง (หรือไม่นับถือ) ด้วยใจ (และสติปัญญา) ของเขาหรือเธอเอง ซี่งตรงนี้เอง สิ่งที่น่าสนใจ (แต่ก็น่าหดหู่ใจไปไม่แพ้กัน) ก็คือพวกเขามิได้รู้สึกเข้าใจในสิ่งที่พวกเขานับถือหรือศรัทธาสักเท่าไหร่ พวกเขายังคงสะกดจิตตัวเองด้วยความเชื่อและคำสอนที่ได้ฟังตามๆกันมาจากรุ่นสู่รุ่น (ซึ่งแน่นอนว่าจะมีเหตุผลหรือไม่มิใช่ประเด็น) และที่สำคัญที่สุด พวกเขาฝากความหมายของตัวเองไว้กับความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาเท่านั้น

ซึ่งก็เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขาไม่รู้ว่าคืออะไร...

 

ป.ล. เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว มีลูกศิษย์คนหนึ่ง (ที่ ม.เกษตรฯ) ถามผม (คล้ายกับอยากรู้อยากเห็น) ว่า “อาจารย์นับถือศาสนาอะไรครับ?”

ผมตอบทันควัน “อะไรก็ได้ครับ แล้วแต่คุณสบายใจเลย”

“แล้วทำไมอาจารย์แขวนพระล่ะครับ?” ศิษย์คนนั้นถามต่อ  

“เพราะพ่อให้ครับ” ผมว่า

“ส่วนในบัตรประชาชนผมก็เป็นพุทธนะครับ” ผมเสริมต่อให้

“งั้นอาจารย์ก็เป็นพุทธ!” ศิษย์คนนั้นกล่าวคล้ายสรุป

ผมยิ้มพลางส่ายหน้า “เอาแล้วแต่คุณสบายใจเลยครับ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net