Skip to main content
sharethis

ความขัดแย้งทางการเมืองในเวเนซุเอลารอบล่าสุดระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีนิโกลาส มาดูโร กับ กลุ่มผู้สนับสนุนคนที่จะมาท้าชิงตำแหน่งมาดูโรคือ ฮวน กวยโด ผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งประกาศตัวเป็นผู้นำประเทศเช่นกัน ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายต่างก็ออกมาชุมนุมในเวเนซุเอลาตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา ผสมโรงไปกับปัญหาไฟดับทั้งประเทศที่กระทบคนจนถึงเสียชีวิต

การประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโรหลังศาลฎีกายีดอำนาจสภานิติบัญญัติที่ฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งเริ่มต้นเมื่อราวเดือน มี.ค. 2560 นำไปสู่การปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและการอพยพลี้ภัยของชาวเวเนซุเอลาจำนวนมาก (ที่มาภาพ: wikipedia)

12 มี.ค. 2562 ความขัดแย้งล่าสุดในประเทศที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดสงครามกลางเมืองอย่างเวเนซุเอลาเกิดขึ้นหลังจากแทบทั้งประเทศเกิดภาวะไฟดับติดต่อกันเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ผู้ชุมนุมหลายพันคนต่างก็ออกมาชุมนุมแสดงการสนับสนุนผู้นำคนที่พวกเขาชื่นชม โดยที่ทั้งคู่ต่างก็อ้างว่าตนเป็นประธานาธิบดีของประเทศ

ฮวน กวยโด สมาชิกพรรคการเมืองโบลุนตัดป็อบปูลาร์เข้าดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อ ม.ค. 2562 ไม่นานหลังจากนั้นเขาได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีเวเนซุเอลาช่วงเวลาที่ที่สภาแห่งชาติของเวเนซุเอลาไม่ยอมรับนิโกลาส มาดูโร ผู้เพิ่งชนะการเลือกตั้งที่มีข่าวเรื่องกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม การขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีของกวยโดได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา บราซิล ชิลี อาร์เจนตินาและโคลอมเบีย แต่ศาลยุติธรรมสูงสุดก็คัดค้านการดำรงตำแหน่งของกวยโด เรื่องนี้คือที่มาของความขัดแย้งเรื่องตำแหน่งประธานาธิบดี

ผู้ชุมนุมแต่ละฝ่ายต่างมีวาทกรรมของตัวเองที่ใช้อธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของเวเนซุเอลา ฝ่ายผู้สนับสนุนมาดูโรบอกว่ามาดูโรเป็น "ประธานาธิบดีที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐโบลิวาร์แห่งเวเนซุเอลาของพวกเรา" ผู้ที่กล่าวไว้เช่นนี้คือมาเรีย เรเยส ผู้ชุมนุมสนับสนุนมาดูโรอายุ 52 ปี เธอบอกว่าที่เธอมาชุมนุมเพระาต้องการปกป้องทายาททางการเมืองของฮูโก ชาเวซ และต่อต้าน "กวยโดจอมต้มตุ๋น" ผู้ที่เธอมองว่าจะมาทำลายสันติภาพเวเนซุเอลา

ในกรณีที่เวเนซุเอลาประสบปัญหาไฟฟ้าดับแทบทั้งประเทศนั้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวหาว่ามาจากเรื่องความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล การตัดงบประมาณพลังงาน การขาดการซ่อมบำรุง และการทุจริตคอร์รัปชัน แต่มาดูโรและผู้สนับสนุนเขาก็อ้างว่ามันเป็นแผนการของสหรัฐฯ ในการ "ทำลายการปฏิวัติโบลิวาร์ฝ่ายซ้าย" ของพวกเขาและบีบให้มาดูโรออกจากตำแหน่ง แม้กระทั่งประธานาธิบดีของโบลิเวีย เอโว โมราเลส ซึ่งเป็นพันธมิตรในภูมิภาคที่เหลืออยู่น้อยคนของมาดูโรก็ระบุว่าการทำให้ไฟฟ้าดับในครั้งนี้เป็น "การก่อการร้ายอย่างขี้ขลาด"

ผู้สนับสนุนรัฐบาลอย่างเรเยสบอกว่าถึงแม้เธอจะเชื่อเรื่องที่สหรัฐฯ อาจจะอยู่เบื้องหลังแต่ก็ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากการขาดการซ่อมบำรุงจริงๆ

การขาดไฟฟ้าส่งผลกระทบถึงชีวิตของผู้คนระดับรากหญ้า ผู้อาศัยในเมืองไม่สามารถประกอบอาหารด้วยเครื่องประกอบอาหารจากพลังงานไฟฟ้าได้ มีคนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลเนื่องจากเครื่องช่วยหายใจไม่ทำงาน เด็กทารกแรกเกิดเองก็เสียชีวิตด้วยเนื่องจากขาดอุปกรณ์ดูแลฉุกเฉินเพราะเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรองไม่ทำงาน

นอกจากเรเยสแล้วผู้สนับสนันมาดูโรรายอื่นๆ ก็พูดถึงกรณีกวยโดว่าเป็นการแทรกแซงจากสหรัฐฯ เช่นกัน ออสการ์ โอรามาส นักศึกษาอายุ 24 ปี ผู้เป็นนักกิจกรรมให้กับพรรคการเมืองของมาดูโร เขาบอกว่าสหรัฐฯ "ยกระดับการกลั่นแกล้ง" มาดูโรมากขึ้น เขามองสหรัฐฯ เป็นศัตรูและมองว่าสิ่งที่สหรัฐฯ ทำกำลังจะทำให้เวเนซุเอลา "กลายเป็นซีเรียออีกประเทศหนึ่ง" ในการประท้วงของพวกเขามีการตะโกนคำขวัญจากรถบรรทุกสีแดงว่า "ที่นี่คุณไม่พูดถึงชาเวซในแง่ร้าย"

ฝ่ายต่อต้านมาดูโรก็ออกมาชุมนุมตามท้องถนนเช่นกัน โดยที่พวกเขาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองถึงแม้จะกลัวว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของมาดูโรจะใช้กำลังปราบปรามพวกเขา เช่น ผู้ชุมนุมคนหนึ่งชื่อ จอร์จ ลูโล กล่าวว่ารัฐบาลได้ทำลายประเทศของพวกเขาลงและพวกเขากำลัง "ต่อสู้เพื่อที่จะหนีให้พ้นจากทรราช"

กวยโดพูดต่อหน้าผู้ชุมนุมที่สนับสนุนเขาว่า "ในตอนนี้พวกเรากำลังประท้วงในเมืองต่างๆ มากกว่า 50 เมืองทั่วประเทศ เพื่อขจัดความมืดมน ความหิวโหย และความทุกข์ยากให้หมดไป" เขายังบอกอีกว่าขอให้ผู้ชุมนุมขับเคลื่อนต่อไปจนกว่าพวกเขาจะ "ทำให้เวเนซุเอลามีเสรีภาพได้" รวมถึงประณามว่าความทุกข์ยากทั้งหลายมากจากฝีมือของมาดูโร

การที่โรงพยาบาลและบ้านเรือนต่างๆ ไม่มีไฟฟ้าใช้อาจจะส่งผลผู้คนรู้สึกต่อต้านมาดูโรมากขึ้น มีข้าราชการรายหนึ่งมองขบวนประท้วงของฝ่ายสนับสนุนมาดูโรแล้วบอกว่ามันเป็นเรื่องน่าตลกที่ผู้คนไม่มีไฟฟ้าใช้แต่กลับมีการใช้เครื่องผลิตไฟฟ้าให้กับเวทีการชุมนุมแทนที่จะส่งไปให้กับโรงพยาบาล

เบนจามิน กีดาน ที่ปรึกษาเกี่ยวกับประเด็นเวเนซุเอลาที่เคยทำงานให้กับสภาความมั่นคงแห่งชาติในสมัยรัฐบาลบารัก โอบามา กล่าวว่าสภาพการเมืองเวเนซุเอลาในตอนนี้เป็นชนวนที่เสี่ยงปะทุ ถึงแม้ว่าการอยู่รอดของรัฐบาลมาดูโรที่ผ่านมาสร้างความรู้สึกว่ามีเสถียรภาพแบบเทียมๆ ได้ แต่ถ้าหากเกิดไฟดับในประเทศยาวนานขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้เกิดการต่อต้านแผ่ออกไปในวงกว้างได้

จอฟฟ์ แรมซีย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเวเนซุเอลาจากองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนละตินอเมริกาที่ชื่อ WOLA กล่าวว่าถึงแม้ทั้งคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะใช้โวหารโต้แย้งกัน แต่เขาเชื่อว่าการจัดเจรจาหารือในช่องทางเบื้องหลังอาจจะช่วยทำให้เกิดการตกลงเชิงสันติภาพระหว่างสองฝ่ายได้

เรียบเรียงจาก

Venezuela power cut: Lootings as desperation grows, BBC, Mar. 11, 2019

Venezuela: Maduro and Guaidó's supporters return to the streets, The Guardian, Mar. 9, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net