Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

(1) หนึ่งนารีผู้หลงขี่ม้าไม้เมืองทรอย? 
-ลำดับเหตุการณ์จาก 8 กุมภาพันธ์สู่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562-

ยามวิกาลของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 หลังจากเวลาล่วงผ่านมาหลายชั่วโมงนับแต่ที่ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติยื่นแจ้งชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดลต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะบุคคลซึ่งพรรคไทยรักษาชาติมีมติว่าจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ได้ทรงมีพระราชโองการประกาศเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” อันมีใจความสำคัญอยู่ตอนท้ายของย่อหน้าที่สามและย่อหน้าสุดท้ายว่า “การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” และ “พระราชินีพระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามลำดับ

วันถัดมาได้ปรากฏแถลงการณ์ของพรรคไทยรักษาชาติสู่สาธารณะ “น้อมรับพระราชโองการข้างต้นไว้ด้วยความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์” และ “จะขอทำหน้าที่ตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ด้วยความเคารพในขนบธรรมเนียมราชประเพณี” ก่อนที่ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี “โดยไม่รวมถึงพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยพรรคไทยรักษาชาติ เพราะ พระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงอยู่ ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ ตามพระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2562 ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560”

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง “ได้พิจารณากรณีพรรคไทยรักษาชาติมีหนังสือแจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 1 รายชื่อ และเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92” โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ไปยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์จึงได้มีคำสั่งรับคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติเอาไว้พิจารณา โดยต่อมาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาวินิจฉัยว่าคดีตามคำร้องนี้ “มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง” และนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติ และอ่านคำวินิจฉัยให้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2562

การเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดลของพรรคไทยรักษาชาติที่สื่อมวลชนบางสำนักเปรียบเทียบว่าจะเป็นนารีขี่ม้าขาวจึงกลับมาย้อนทำลายพรรคไทยรักษาชาติเอง จากม้าขาวที่เคยหวังว่านารีจะขี่ไปถึงดวงดาวนั้นดูเหมือนว่าจะกลายเป็นช่องทางดั่งม้าไม้เมืองทรอยให้กลไกของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หยิบใช้เพื่อนำมาวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติลงในที่สุด
 

(2) ระบอบเหนือระบบ?
 -จาก “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ”
สู่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นอก/เหนือรัฐธรรมนูญ?

มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กล่าวถึงเหตุซึ่งอาจนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้หากพบว่าพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เมื่อลองย้อนกลับไปอ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และ 2541 ก็จะพบว่ามีบทบัญญัติในทำนองเช่นเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ในมาตรา 94 (3) และมาตรา 66 (2) ตามลำดับ อย่างไรก็ตามถ้อยความที่ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับที่สิ้นผลไปแล้วนั้นก็หาได้เหมือนกันกับกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่ไปเสียทีเดียวทั้งหมด กล่าวคือ ในกฎหมายเก่าทั้งสองฉบับนั้นกำหนดเหตุกรณีซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองได้ถ้าพรรคการเมือง “กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ”

ถ้อยคำว่า “ตามรัฐธรรมนูญ” ในฐานะองค์ประกอบทางกฎหมายของเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองที่หายไป อาจสะท้อนความหมายให้เห็นถึงระบอบการปกครองของประเทศไทยที่เป็นอยู่จริงซึ่งค่อยๆ แสดงตัวออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในห้วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยในการพิจารณาหรือหาคำอธิบายให้กับ “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้นลำพังแต่การศึกษาหรืออรรถาธิบายจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรดูจะไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจหรือทำให้มองเห็นภาพรวมทั้งหมดของระบอบรัฐธรรมนูญไทย จนยากที่จะกล่าวได้ว่าการปกครองของประเทศไทยนั้นเป็นหรือเคยเป็นการปกครองที่เป็นไปโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

แม้ประเทศไทยเคยได้ประกาศใช้และยกเลิกรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรมาแล้วหลายต่อหลายฉบับ อย่างไรก็ตามเมื่อมองย้อนกลับไปแล้วเราก็จะพบว่าการถือกำเนิดขึ้นและสิ้นสุดลงของ “ระบบรัฐธรรมนูญ” แต่ละฉบับนั้นดำรงอยู่เป็นเพียงแค่ส่วนย่อยของ “ระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่วางตัวอยู่เบื้องหลัง อาจมีบ้างบางครั้งที่ระบบตามรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรพยายามจะทาบไปให้ครอบคลุมพื้นที่แห่งอำนาจตามระบอบรัฐธรรมนูญทั้งหมด แต่ก็มักจะจบลงด้วยความล้มเหลวและถูกล้มกระดานลงด้วยระบบกลไกอื่นๆ ที่ดำรงอยู่คู่ขนานกันภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญที่มีชื่อเรียกว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

เราจึงพบเห็นปรากฏการณ์ที่มีการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญในนามของ “การปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เราจึงได้เห็นเหตุผลในการเข้ายึดและควบคุมอำนาจปกครองประเทศเพื่อธำรงไว้ซึ่ง “ความมั่นคงของชาติและความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และเราจึงได้เห็นคำปรารภรัฐธรรมนูญที่ประกาศอย่างชัดแจ้งว่า “การปกครองของประเทศไทยได้ดำรงเจตนารมณ์ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต่อเนื่องมาโดยตลอด” นับแต่ พ.ศ. 2475

ระบอบการปกครองของประเทศไทยจึงหาได้เป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเป็นกลไกกติกาสูงสุดอันคอยวางกรอบให้และจำกัดอำนาจของบรรดาองค์กรทางรัฐธรรมนูญทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนถึงพระมหากษัตริย์ ดังเช่นที่เป็นกันอยู่ในบรรดาราชอาณาจักรซึ่งเป็นประชาธิปไตยทั้งหลาย แต่เป็นระบอบซึ่งมีอำนาจทางรัฐธรรมนูญบางประการที่ปรากฏตัวอยู่นอก/เหนือรัฐธรรมนูญโดยดำรงอยู่ไม่ว่าจะเป็นในนามของ “ประเพณีการปกครอง” หรือในชื่อเรียกอย่างอื่นได้แม้จะไม่มีฐานทางรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรรองรับหรือแม้จะขัดหรือแย้งกับคุณค่าความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและคุณค่าความเป็นประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญแสร้งเสมือนจะได้ยอมรับเอาไว้ก็ตาม จนราวกับว่าตำราหรือคำสอนที่พูดพร่ำกันในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญว่าประเทศไทยปกครองตามแนวความคิดรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดนั้นแท้จริงแล้วไม่ต่างอะไรไปจากอุดมคติ หรือเพียงแรงบันดาลใจ หรือไม่ก็แค่จินตนาการเพ้อฝันอันห่างไกลจากสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ตลอดมาโดยสิ้นเชิง

ในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบของ Karl Loewenstein เรื่อง “อำนาจทางการเมืองและกลไกการปกครอง” (Political power and the governmental process) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในค.ศ. 1957 เขาได้จัดกลุ่มรัฐธรรมนูญที่ปรากฏขึ้นอยู่ในรัฐต่างๆ ทั้งหลายออกเป็นสามประเภทบนความเป็นบรรทัดฐาน (norms) ของรัฐธรรมนูญกับความเป็นจริงทางการเมืองที่ดำรงอยู่ โดยแบ่งเป็น รัฐธรรมนูญเชิงบรรทัดฐาน (Normative constitution) รัฐธรรมนูญแต่เพียงในนาม (Nominal constitution) และรัฐธรรมนูญจอมปลอม (Semantic constitution หรือ Pseudo-constitution)

รัฐธรรมนูญในรัฐใดรัฐหนึ่งจะได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญเชิงบรรทัดฐานถ้าหากว่ากฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำหน้าที่ควบคุมองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐและปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการใช้อำนาจปกครองตามอำเภอใจได้อย่างมีประสิทธิผล โดยเป็นรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับการปกครองในสังคมประชาธิปไตยที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายต่างก็พร้อมน้อมรับและยอมปฏิบัติตามในฐานะกฎเกณฑ์ที่มีผลผูกพันใช้บังคับได้ในทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ แต่หากรัฐธรรมนูญในรัฐใดรัฐหนึ่งยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จริงในทางปฏิบัติ อาจเพราะด้วยเหตุสภาพทางเศรษฐกิจสังคม รัฐธรรมนูญของรัฐนั้นก็เป็นแค่รัฐธรรมนูญแต่เพียงในนามเท่านั้น อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญแต่เพียงในนามนี้ก็ยังเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายไปสู่การเป็นรัฐธรรมนูญเชิงบรรทัดฐานให้ได้ในสักวันหนึ่งโดยการรับรองศักยภาพของผู้อยู่ใต้บังคับที่จะเรียกร้องให้กฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งหลายนั้นสามารถใช้บังคับได้จริงโดยสมบูรณ์ในที่สุด อันแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญจอมปลอมที่แม้จะมีการบัญญัติกฎเกณฑ์ทั้งหลายว่าด้วยระบบกฎหมายและระบบการเมืองเอาไว้ แต่ก็เป็นเพียงการจัดระเบียบระบบการเมืองเพื่อสนองต่อประโยชน์ของผู้ถืออำนาจในปัจจุบันที่เป็นเผด็จการเท่านั้น แม้รัฐธรรมนูญเหล่านั้นอาจจะประกาศตนว่าเป็นรัฐธรรมนูญแบบเสรีประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามเนื้อแท้แล้วกลับเป็นเพียงกลไกการรักษาสืบทอดอำนาจให้แก่บุคคลบางกลุ่มบางพวกโดยไม่ใยดีว่าพวกเขาเหล่านั้นจะมีอำนาจมาด้วยวิถีทางใด และไม่ได้เป็นไปเพื่อมุ่งหมายจำกัดอำนาจของพวกเขาเลย ทั้งนี้ Loewenstein ได้อุปมารัฐธรรมนูญทั้งสามประเภทเป็นเสื้อผ้าสามลักษณะ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเชิงบรรทัดฐานนั้นเปรียบได้กับชุดสูทที่ตัดเย็บได้อย่างพอเหมาะและสวมใส่ใช้ประโยชน์ได้จริง ส่วนรัฐธรรมนูญแต่เพียงในนามนั้นเป็นชุดสูทที่อาจตัดเย็บมาอย่างไม่พิถีพิถันมากนักจึงยังไม่พอดีกับผู้สวมใส่สักเท่าไร อย่างไรก็ตามชุดสูทดังกล่าวก็ยังถูกแขวนเก็บรักษาไว้ในตู้เสื้อผ้าอย่างดีเพื่อรอวันที่ผู้สวมใส่เติบใหญ่พอจนสามารถสวมใส่ชุดนั้นได้อย่างลงตัว แต่สำหรับรัฐธรรมนูญจอมปลอมนั้นหาใช่ชุดสูทแต่อย่างใด แต่เป็นแค่ชุดแฟนซีหรือไม่ก็เพียงผ้าคลุมเท่านั้น

รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของไทยในปัจจุบันจึงไม่ต่างอะไรจากผ้าคลุมที่กำลังลวงตาว่าเรามีการปกครองไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามภายใต้ผ้าคลุมผืนนั้นแท้จริงแล้วกลับมี “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นอก/เหนือรัฐธรรมนูญดำรงอยู่ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นดินแดนแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงาม สะท้อนประวัติศาสตร์ และสืบสานวัฒนธรรมการเมืองการปกครองไทยที่ใครๆ ต่างก็ชื่นชมกันเป็นเสียงเดียว

แต่ก็จะเป็นเช่นนั้นไปจนกระทั่งเด็กน้อยคนหนึ่งตะโกนขึ้นมาว่า “พระราชาไม่ได้นุ่งผ้า!” ดังนิทานเรื่องฉลองพระองค์ใหม่ของพระราชาของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซนเท่านั้น

(3) สถานะของสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจใน “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

คำถามสำคัญที่สุดก็คือ แล้วแท้จริงนั้น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และอะไรบ้างที่เป็น “ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่ดูเหมือนจะถูกพูดถึงบ่อยครั้งในฐานะกฎเกณฑ์การปกครองซึ่งดำรงอยู่คู่ขนานไปกับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร และในบ้างครั้งก็ถูกยกอ้างขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายความหรือยกเว้นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

ดูเหมือนว่าสาระสำคัญของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้นจะอยู่ที่สถานะของสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจเพราะไม่ว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการหยิบยกกล่าวอ้าง “ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ขึ้นมามักจะเป็นเรื่องที่เวียนวนรอบล้อมประเด็นสถานะของสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจทั้งสิ้น

ในกรณีที่เคยมีข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องบุคคลผู้มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ศาลรัฐธรรมนูญ (ณ ขณะนั้น) ได้ยก “คติการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ขึ้นมาเพื่อยกเว้นไม่ใช้บทบัญญัติเรื่องหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์

หลายครั้งในความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดเรามักจะได้ยินเสียงเรียกร้องให้พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาพระราชทานนายกรัฐมนตรีโดยที่เหล่าผู้เรียกร้องทั้งหลายเห็นว่าเป็น “ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แม้ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงตรัสไว้ในพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 ว่า “นายกฯพระราชทาน ไม่ใช่เป็นเรื่องการปกครองแบบประชาธิปไตย” ก็ตาม แต่เสียงเรียกร้องในเรื่องดังกล่าวก็ยังคงดังขึ้นอยู่เรื่อยๆ แม้เวลาจะล่วงมากว่าทศวรรษแล้ว

เมื่อมีกรณีซึ่งคำปรารภร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติไม่สะท้อนกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นด้วยเหตุการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยอนุญาตให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปรับปรุงคำปรารภได้ โดยให้เหตุผลว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้วนั้นยังคงเป็นร่างรัฐธรรมนูญอยู่ เพราะเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่าการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกครั้ง “นับแต่ที่ประเทศไทยได้สถาปนาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขขึ้นในปีพุทธศักราช 2475 ... ไม่ปรากฏว่ามีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยครั้งใดที่สำเร็จสมบูรณ์ได้โดยปราศจากความยินยอมของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศ”

หรือบางครั้งก็มีการอธิบายประเพณีการปกครองฯ โดยใช้ชื่อเรียกว่า “ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ” เช่นกรณีว่าด้วยพระราชอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติที่มักจะอ้างต่อๆ กันมาในคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญกระแสหลักว่ารัฐสภาจะไม่ลงมติยืนยันร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ทรงยับยั้ง โดยในตำรากฎหมายมหาชน เล่ม 3 ที่มาและนิติวิธีของบวรศักดิ์ อุวรรณโณกล่าวถึงธรรมเนียมปฏิบัตินี้ไว้ว่า “อาจเปลี่ยนอีกได้ตามพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์”

เหตุใด “ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จึงวนเวียนอยู่เฉพาะเรื่องสถานะของสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจ? คำตอบก็คือเพราะในการจัดทำยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างน้อยก็ช่วงหลายสิบปีหลังนั้นแทบจะไม่มีการอภิปรายหรือถกเถียงถึงสถานะของสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจอย่างจริงจังกันอีกเลย แม้แต่ในการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าวก็เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่ไม่เปิดโอกาสให้องค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญหรือสาธารณชนได้อภิปรายหรือถกเถียง ซึ่งแตกต่างไปจากบทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปมาจนราวกับจะเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นตามแรงปรารถนาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ บทบัญญัติรัฐธรรมนูญหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นเพียงแค่บล็อกมาตรฐานที่คัดลอกต่อๆ กันมาโดยไม่มีการอภิปรายตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นภายใต้บริบทแห่งยุคสมัยอันเดินหน้าไปตามกาลเวลาและไม่มีความพยายามที่จะตอบคำถามในหลายๆ เรื่องที่ยังไม่แน่นอนชัดเจนเพื่อจะทำให้กลายเป็นระบบกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญที่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้าปรากฏขึ้น จนดูเหมือนว่าสถาบันทางการเมืองที่แวดล้อมข้องเกี่ยวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์และพระราชอำนาจทั้งหลายจะพึงใจและอาศัยประโยชน์กับความไม่ชัดเจนและการที่ไม่อาจคาดหมายล่วงหน้าอย่างแน่นอนได้นี้ เพราะจะทำให้อำนาจสุดท้ายในการกล่าวว่าอะไรบ้างที่เป็นประเพณีและจะสามารถนำไปใช้กับแต่ละเรื่องแต่ละกรณีได้เพียงใดนั้นยังคงผูกขาดกับองค์กรที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการตีความให้ความหมายอย่างศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรที่ทรงอำนาจตามความเป็นจริงอย่างพระมหากษัตริย์อยู่ตลอดไป โดยไม่เปิดโอกาสให้สาธารณชนและองค์กรอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการใช้รัฐธรรมนูญรับรู้เข้าใจก่อนล่วงหน้าหรือร่วมมีบทบาทในการกำหนดความหมายได้ การผูกขาดอำนาจวินิจฉัยเช่นนี้หลายครั้งจึงนำไปสู่การที่ “ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างที่เป็นหลักการหรือบรรทัดฐานทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ถูกอ้างถึงหรือนำมาใช้ในลักษณะที่เป็นการอธิบายความจริงสัมบูรณ์ที่ห้ามโต้แย้งตรวจสอบเท่านั้น

อาจมีบ้างในบางกรณีที่ผลของการตีความหรือวินิจฉัย “ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จะนำไปสู่การสร้าง “กฎเกณฑ์ทางกฎหมาย” ขึ้นมา เช่นกรณีการตีความ “หลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์” โดยศาลรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ 6/ 2543 ที่มีผลเป็นการยกเว้นหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้กำหนดไว้ไม่ให้ใช้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ หรือการตีความหลักการเรื่องเดียวกันโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณในพระราชโองการประกาศเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ที่ทรงวินิจฉัยว่าพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งเท่ากับมีผลเป็นการวินิจฉัยถึงการดำรงอยู่ของ “ลักษณะต้องห้าม” ไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็น “ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แม้จะไม่ได้บัญญัติไว้เป็นกฎเกณฑ์ทางรัฐธรรมนูญอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม ซึ่งต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้อ้างพระราชโองการฉบับนี้เป็นดั่งฐานทางกฎหมายในการปฏิเสธไม่รวมพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีไว้ในรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม แม้ว่า “หลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์” จะเคยถูกนำมาปรับใช้อย่างเป็นทางการอย่างน้อยในกรณีตามที่กล่าวมา แต่สาระสำคัญและความหมายของหลักการดังกล่าวนอกจากที่ปรากฏเป็นรูปธรรมในทั้งสองกรณีนั้นก็ยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจนต่อไปในหลายๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นที่ว่า “อยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมือง” นั้นหมายความจำกัดเฉพาะแต่กรณีการเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น หรือรวมถึงกรณีที่อาจเกี่ยวข้องกับ “การเมือง” ในความหมายที่กว้างกว่าเพียงการมีตำแหน่งทางการเท่านั้นด้วย และสภาพบังคับของเรื่องดังกล่าวนี้จะนำมาสู่ “สภาพบังคับทางกฎหมาย” หรือว่าเป็นเพียงแค่ “สภาพบังคับทางการเมือง” เท่านั้น

หากกล่าวในเชิงหลักการแล้ว แม้อาจจะมีบางเรื่องที่กฎหมายเข้าไปทำหน้าที่วางหลักเกณฑ์เอาไว้เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะอันไม่พึงประสงค์ทางการเมืองได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องที่เป็นประเพณีหรือทางปฏิบัติในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญจะนำมาซึ่งสภาพบังคับทางกฎหมาย โดยพรหมแดนทั้งสองด้านนั้นต้องแยกกันให้ขาดอย่างชัดเจนและไม่เปิดโอกาสให้องค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยสามารถอ้าง “การเมือง” แปลงรูปมาเป็น “กฎเกณฑ์ทางกฎหมาย” ได้ตามอำเภอใจ เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการปกครองตามกฎหมายหรือตามรัฐธรรมนูญอีก แต่เป็นเพียงแค่การปกครองที่ใช้กฎหมายหรือกลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ในทางการเมืองเท่านั้น

ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันกับการตีความ “หลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์” และตลอดถึงการตีความเรื่องอื่นๆ ทั้งหลายภายใต้ “ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 

(4) “ทรงอยู่เหนือการเมือง” ในฐานะประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและบทวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ

ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ศาลรัฐธรรมนูญได้อ้างถึง “หลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์” จากการสืบย้อนกลับไปตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 ที่เคยบัญญัติไว้ให้ “พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป โดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง” โดยตีความประกอบกับพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดทั้ง “หลักการที่ถือว่า พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง อันเป็นหลักการทางรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่นานาอารยประเทศซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ” ก่อนนำไปสู่ข้อสรุปว่า “ถึงแม้จะไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญถึงสถานะที่ต้องทรงอยู่เหนือการเมือง และเป็นกลางทางการเมืองไว้เป็นการเฉพาะก็ต้องนำประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าวมาใช้บังคับด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรคสอง”

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญย้อนกลับไปอ้างอิงถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 และพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ 1/60 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2475 เหมือนกับที่เคยอ้างถึงเมื่อต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิด อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์เช่นนี้เคยมีสถานะเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรก็แต่เพียงในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเท่านั้น เมื่อย้อนกลับไปเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดในอดีตก็ไม่พบว่ามีบทบัญญัติลักษณะนี้ดำรงอยู่อีกเลยแต่อย่างใด แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะยังคงดำรงอยู่เป็น “ลักษณะต้องห้าม” หรือ “เหตุให้ขาดคุณสมบัติรับเลือกตั้ง” ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พุทธศักราช 2475 มาตราเจ็ด วรรคหนึ่ง (3) และพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2479 มาตรา 17 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยังคงมีผลใช้บังคับกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนที่กำหนดเอาไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489, 2490, 2492 ก่อนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเลือกตั้งในปีพุทธศักราช 2494 ยกเลิก “เหตุให้ขาดคุณสมบัติรับเลือกตั้ง” ข้อนี้ออกไปเสีย ข้อกำหนดดังกล่าวก็ไม่เคยมีผลบังคับใช้เลยมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2489 เพราะในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญทั้งสามฉบับที่รับเอาพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พุทธศักราช 2475 มาใช้กับการจัดการเลือกตั้งนั้นล้วนแต่บัญญัติยกเว้นข้อห้ามไม่ให้ “บุคคลที่อยู่ในฐานะเหนือการเมือง (ตามมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475)” เป็นผู้มีคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง จนอาจกล่าวได้ว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักการนี้มีระยะเวลาการบังคับใช้เพียงแค่ 14 ปีเท่านั้น ทั้งนี้ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ในฐานะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้อภิปรายถึงเหตุที่ให้ยกเว้นข้อห้ามดังกล่าวไปเสียว่าเพื่อให้ “เป็นความดำริของเจ้านายแต่ละองค์ที่จะทรงคิดเองว่าจะทรงเล่นการเมืองหรือไม่ เมื่อเล่นแล้วจะมีการกระทบกระเทือนประการใดก็เป็นไปตามวิธีทางการเมือง และเหตุผลประการสำคัญก็คือว่า หลักในเรื่องเสรีภาพในทางการเมือง ซึ่งไม่เป็นการสมควรที่จะเขียนบังคับเอาไว้ เพราะเหตุว่าบรรดาเจ้านายต่างๆ นั้นก็เป็นประชาชนชาวไทยเหมือนกัน” โดยหลังจากนั้นก็ปรากฎว่ามีพระบรมวงศานุวงศ์จำนวนหนึ่งลงเล่นการเมืองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา (หรือพฤตสภา) ตลอดจนดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี

เมื่อเป็นเช่นที่กล่าวมานี้ “ประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ว่าด้วย “หลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์” จึงไม่ได้เป็นสิ่งที่แน่นอนตายตัวและดำรงอยู่สืบเนื่องตลอดมาไม่เปลี่ยนแปลงนับแต่พุทธศักราช 2475 แต่เป็นหลักการที่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญครั้งใหญ่ในปีพุทธศักราช 2489 และกลายเป็นหลักการซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายบังคับหรือกำหนดสภาพบังคับไว้อีกแต่อย่างใด โดยดำรงอยู่ในฐานะหลักการตามวิถีทางทางการเมืองบนความรับผิดชอบทางการเมืองเท่านั้น

นอกจากความเป็นไทยบนฐานของประวัติศาสตร์ (แบบตัดตอน) แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังยกเอา “หลักการทางรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในนานาอารยประเทศซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ” ที่แตกต่างไปจาก “ระบบราชาธิปไตยอำนาจสมบูรณ์” หรือ “การปกครองในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐและควบคุมการใช้อำนาจทางการเมืองโดยผ่านการแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหาร” เพื่อสนับสนุนการดำรงอยู่ของ “หลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์” โดยศาลรัฐธรรมนูญกล่าวต่อไปว่าในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่นานาอารยประเทศซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐนี้ “พระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรมของระบบการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ”

น่าสนใจว่า “นานาอารยะประเทศ” ในที่นี้หมายถึงประเทศอะไรบ้าง? และหลักการที่อธิบายและใช้กันอยู่ในประเทศไทยนั้นแท้จริงแล้วสอดคล้องกับหลักการที่มีอยู่ในประเทศเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด?

ในมุมมองเชิงกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบนั้นแม้หลักการเช่นนี้จะดำรงอยู่จริงในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นประมุข แต่ดูเหมือนว่าในระบอบการปกครองไทยนั้นจะเลือกเอามาแต่เพียงบางเรื่องบางส่วน ทั้งนี้หลักการที่ถือว่า “พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่มิได้ทรงปกครอง” อยู่บนคำอธิบายว่ากษัตริย์ทรงเป็นสัญลักษณ์และเป็นศูนย์รวมของประวัติศาสตร์การดำรงอยู่ของรัฐ สำหรับในเรื่องที่เป็นการใช้อำนาจนั้นกษัตริย์จะทรงใช้ไปตามคำแนะนำของรัฐบาลซึ่งมีฐานที่มาจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งซึ่งเป็นองค์กรผู้กำหนดนโยบายภายในและระหว่างประเทศของรัฐที่แท้จริง โดยเพื่อธำรงไว้ซึ่งสถานะของกษัตริย์ให้ทรงพ้นไปจากความรับผิดชอบทางการเมืองจึงเกิดเป็นกฎเกณฑ์บังคับทางรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการขึ้นมาเพื่อให้มีการปรึกษาหารือและอนุมัติจากรัฐมนตรีซึ่งจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการและจะเป็นผู้รับผิดชอบทางการเมืองในเรื่องดังกล่าวก่อนด้วย โดยในบางประเทศนั้นยังกำหนดหลักการเกี่ยวกับความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ไว้อย่างชัดเจนให้ครอบคลุมรวมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย เพราะเหตุว่าพระบรมวงศานุวงศ์ในฐานะสมาชิกของราชวงศ์นั้นคงย่อมไม่อาจรักษาสถานะความเป็นกลางเอาไว้ได้หากเข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นการเมือง อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อหลักการตรวจสอบและความรับผิดชอบทางการเมือง เพราะโดยปกติแล้วพระบรมวงศานุวงศ์นั้นจะทรงไว้ซึ่งอภิสิทธิ์และความคุ้มกันบางประการอยู่ ตัวอย่างที่ดีของรัฐธรรมนูญที่รับรองหลักการต่างๆ เหล่านี้ไว้อย่างชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรก็คือกรณีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ซึ่งบัญญัติห้ามไม่ให้สมาชิกแห่งราชวงศ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (มาตรา 98) อีกทั้งกำหนดไว้ด้วยว่าหากการกระทำใดๆ ของกษัตริย์ปราศจากการลงนามรับสนองของรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำดังกล่าวแล้ว การกระทำเช่นนั้นย่อมไม่มีผลบังคับ (มาตรา 106) อย่างไรก็ตามในบางประเทศก็อาจปล่อยให้หลักการความเป็นกลางทางการเมืองนี้ในบางประเด็นเป็นเรื่องของแนวปฏิบัติซึ่งไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย แต่ดำรงอยู่บนสภาพบังคับทางศีลธรรมหรือทางการเมือง เว้นเสียแต่ว่าในบางครั้งเมื่อเกิดประเด็นทางการเมืองขึ้นมาแล้วสาธารณชนเห็นว่าสภาพบังคับดังกล่าวนั้นมีปัญหาหรือไม่เพียงพอ ก็อาจนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพบังคับทางการเมืองนั้นให้กลายเป็นสภาพบังคับทางกฎหมายได้ในเวลาต่อมา

ขณะที่เมื่อพิจารณามุมมองเรื่องนี้ในเชิงรัฐศาสตร์ดังเช่นในบทความเรื่อง “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทางประเพณีให้ทันสมัยทางการเมือง” (The Political Modernization of Traditional Monarchies) ของ Samuel P. Huntington นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) ได้มีการกล่าวถึงรูปแบบการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในระบอบการเมืองการปกครองโดยแบ่งออกเป็นสามลักษณะ ได้แก่ กษัตริย์ในระบบรัฐสภา (parliamentary monarchy) กษัตริย์แบบคณาธิปไตย (oligarchical monarchy) และกษัตริย์ผู้ทรงปกครอง (ruling monarchy)

โดย Huntington อธิบายต่อไปว่า กษัตริย์ในระบบรัฐสภานั้นเป็นกษัตริย์ผู้ทรงครองราชย์ โดยมีคณะรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองและต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทำหน้าที่ปกครองประเทศ ภายใต้ระบบนี้กษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นสัญลักษณ์ของความสืบเนื่อง ความเป็นเอกภาพ และความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ อย่างไรก็ตามบ่อเกิดความชอบธรรมทางการเมืองสูงสุดนั้นก็คือประชาชน ตัวอย่างของประเทศที่เป็นเช่นนี้ได้แก่ สหราชอาณาจักร เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน และญี่ปุ่น ขณะที่กษัตริย์ผู้ทรงปกครองนั้น เป็นระบบที่กษัตริย์ทรงครองราชย์และทรงปกครอง ทั้งยังทรงเป็นบ่อเกิดของความชอบธรรมสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่กษัตริย์ทรงมีอำนาจเด็ดขาดโดยสมบูรณ์หรืออาจทรงต้องใช้อำนาจร่วมกันสถาบันทางการเมืองอื่นก็ตาม ส่วนกรณีของกษัตริย์แบบคณาธิปไตยนั้นกษัตริย์ทรงครองราชย์ แต่ไม่ทรงปกครอง อย่างไรก็ตามในระบบเช่นนี้กษัตริย์ยังคงดำรงสถานะที่เป็นบ่อเกิดความชอบธรรมทางการเมืองสูงสุดต่อไป อำนาจสูงสุดทางการเมืองไม่ได้เป็นของประชาชน ตลอดจนไม่มีการทำให้การเลือกตั้ง พรรคการเมือง และรัฐสภากลายเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบบ โดยอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงนั้นอยู่ในมือของชนชั้นสูง ข้าราชการ และกองทัพซึ่งปกครองในนามของกษัตริย์ โดยในบทความดังกล่าวได้จัดให้ประเทศไทย ณ ขณะนั้นอยู่ในกลุ่มประเภทนี้ และดูเหมือนว่าถ้าอ่านจากเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติแล้ว เราก็ยังคงอยู่ ณ ที่เดิมไม่ได้เปลี่ยนไปไหนแม้เวลาจะล่วงไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม

เมื่อพิจารณา “หลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์” ไปตามประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยประกอบกับทั้ง “หลักการทางรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในนานาอารยประเทศซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ” แล้ว อาจกล่าวได้ว่ากรณีซึ่งพรรคไทยรักษาชาติยื่นแจ้งชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ มหิดลต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะบุคคลซึ่งพรรคไทยรักษาชาติมีมติว่าจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไปนั้นจึงเป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับ “หลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์” อย่างไรก็ตามความไม่สอดคล้องดังกล่าวนั้นยังคงอยู่ในชั้นของความรับผิดชอบที่ทั้งพรรคไทยรักษาชาติเองรวมถึงทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีจะต้องมีตามวิถีทางการเมือง หรือกล่าวคือเป็นเรื่องที่ว่าการกระทำเช่นนี้ “ควร” หรือ “ไม่ควร” เท่านั้น อย่างไรก็ตามเมื่อมีพระราชโองการประกาศเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ออกมาพระราชโองการฉบับดังกล่าวได้เปลี่ยนให้สภาพบังคับของหลักการความเป็นกลางทางการเมืองนี้ที่เป็นเพียงสภาพบังคับทางการเมืองมาตั้งแต่พ.ศ. 2489 กลับไปเป็นสภาพบังคับทางกฎหมายในฐานะเหตุที่ทำให้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีขาดคุณสมบัติ ประเด็นการวินิจฉัยเรื่องการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีจึงกลายเป็นเรื่องว่า “ทำได้” หรือ “ทำไม่ได้” ไป จนนำไปสู่เหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธไม่รวมพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีไว้ในรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี - อนึ่ง สมควรบันทึกไว้เป็นข้อสังเกตว่า แม้ประกาศพระราชโองการนี้จะไม่ใช่ “กฎหมาย” ที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการนิติบัญญัติ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะสร้าง “กฎเกณฑ์ทางกฎหมาย” หรือ “สภาพบังคับทางกฎหมาย” ขึ้นมาได้ หากถามว่าเพราะเหตุใดและทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คงไม่มีคำตอบใดที่จะอธิบายได้อย่างเหมาะสมไปกว่าการบอกว่าเพราะนี่เป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้พรรคไทยรักษาชาติจะไม่ควรหรือไม่อาจเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ได้ก็ตาม ก็ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอที่จะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองในฐานะองค์กรที่เป็นสถาบันทางการเมืองอันมีบทบาทสำคัญในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของประชาชนผู้ใช้เสรีภาพทางการเมืองเข้ามารวมตัวกันเพื่อเป็นสื่อกลางเชื่อมระหว่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับอำนาจรัฐได้ โดยเหตุผลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญใช้อธิบายเพื่อเป็นเหตุให้ยุบพรรคไทยรักษาชาตินั้นนอกจากจะไม่สอดคล้องกับหลักการยุบพรรคการเมืองตามแบบ“ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของนานาอารยะประเทศ” ซึ่ง “มีกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอน บ่อนทำลายโดยการใช้สิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคลและพรรคการเมืองไว้ด้วยเสมอ” ที่ศาลรัฐธรรมนูญเองได้อ้างไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว ยังปรากฏการให้เหตุผลทางรัฐธรรมนูญที่บกพร่องอันเกิดจากความไม่เข้าใจนิติวิธีทางรัฐธรรมนูญขององค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ทำคำวินิจฉัยนี้ด้วย

เมื่อลองพิจารณาจาก “นานาอารยะประเทศ” ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญกล่าวอ้าง อาจกล่าวได้ว่าผลจากความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้ศัตรูของระบอบอาศัยกลไกต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เข้ามาทำลายระบอบประชาธิปไตยลงอย่างราบคาบในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองได้ส่งอิทธิพลให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญยุคหลังจากนั้นจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่อีกครั้งโดยอยู่บนฐานของความคิดประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้ (Militant democracy) ที่สร้างหรือกำหนดกลไกจำกัดเสรีภาพขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่มุ่งหวังจะล้มล้างประชาธิปไตยด้วยกลไกประชาธิปไตยเองทำลายระบอบประชาธิปไตยลงได้อีก โดยมีอำนาจยุบพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองรวมอยู่เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ 

อย่างไรก็ตามโดยตัวของกลไกการยุบพรรคการเมืองเองนั้นก็เคยมี “ชื่อเสีย” จากการถูกบิดเบือนไปใช้เพื่อเป้าหมายทางการเมืองจนนำไปสู่ความล้มเหลวของระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้การนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยจึงจำเป็นต้องพิจารณาอยู่บนความระมัดระวังโดยต้องคำนึงถึงและให้น้ำหนักกับเสรีภาพในการรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมืองของประชาชนบนระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จนอาจกล่าวได้ว่าการจะยุบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งด้วยข้อหาล้มล้างระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องเป็นกรณีที่คอขาดบาดตายและเป็นเพียงกรณียกเว้นอย่างยิ่งเท่านั้น โดยจะต้องได้ความว่าพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญได้ประกันและวางโครงสร้างไว้ทั้งหมด โดยไม่ใช่แค่เพียงการปฏิเสธคุณค่าพื้นฐานบางประการที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ทั้งยังเป็นการดำเนินการโดยใช้วิถีทางแห่งความรุนแรงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ที่ไม่ใช่กรณีการรณรงค์อย่างสันติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกระบวนการประชาธิปไตย ทั้งนี้จะต้องเป็นกรณีที่อันตรายต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นปรากฏขึ้นและดำรงอยู่จริงอย่างเป็นรูปธรรม โดยไม่มีหนทางหรือวิธีการอื่นใดที่จะป้องกันภยันตรายดังกล่าวได้อีกแล้ว ซึ่งกระบวนพิจารณานั้นจะต้องเป็นไปโดยศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรตุลาการอื่นที่เหมาะสมบนกระบวนวิธีพิจารคดีที่เป็นธรรม โปร่งใส และสอดคล้องกับหลักประกันสิทธิเสรีภาพทั้งหลาย

การอ้างถึง “นานาอารยะประเทศ” ของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้จึงเป็นเพียงการ “อ้างอิง” หรือ “แอบอ้าง” บางส่วนบางท่อนของหลักการที่เป็นสากลในนานาอารยะประเทศในระบอบเสรีประชาธิปไตยซึ่งอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนเท่านั้น และเป็นการอิงแอบเพื่อตกแต่งให้ดูเหมือนว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยใช้อำนาจตามปกติธรรมดาไปอย่างที่ใครๆ เขาก็ทำกัน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วหาได้เป็นเช่นนั้นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาพัฒนาการของหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองในนานาอารยะประเทศซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวทางที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปและคณะกรรมการเวนิสได้วางไว้ การยุบพรรคการเมืองนั้นเป็นกลไกที่จะนำมาใช้ได้อย่างชอบธรรมก็ต่อเมื่อเป็นมาตรการในเชิงป้องกันภยันอันตรายอย่างร้ายแรงที่แม้อาจจะยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรมแต่ก็เห็นได้ว่ามีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จเท่านั้น การยุบพรรคการเมืองจึงไม่ใช่เรื่องของ “บทลงโทษ” หรือ “การสั่งสอนให้หลาบจำ” ซึ่งในกรณีนี้หากพิจารณาตามมาตรฐานสากลแล้ว เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธไม่รวมพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีไว้ในรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงไม่มีภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นที่จะกระทบต่อ “หลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์” และ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อยู่อีกแต่อย่างใด การจะอ้างว่าเป็นการวินิจฉัยยุบพรรคเพื่อป้องกันรักษาไว้ซึ่งหลักการเหล่านี้จึงเป็นมาตรการที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของมาตรการยุบพรรคการเมือง ทั้งยังไม่ใช่มาตรการที่ได้สัดส่วนตามหลักความพอสมควรแก่เหตุอีกด้วย
 
แม้ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะอ้างว่าการวินิจฉัยคดียุบพรรคไทยรักษาชาตินี้เป็นไปตามฐานทางกฎหมายที่กำหนดองค์ประกอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่กำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคในกรณี “กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไว้ก็ตาม แต่กระนั้นในการตีความองค์ประกอบส่วนเหตุที่เป็นถ้อยคำอันเป็นหลักการทั่วไปที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงซึ่งปรากฏอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายอันมีลำดับศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญนี้ ก็ต้องใช้และตีความไปให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญโดยอยู่บนฐานของสิทธิเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองที่รัฐธรรมนูญได้รับรองเอาไว้ตลอดจนเสรีภาพทางการเมืองประการอื่นๆ และหลักการที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยด้วย หากเป็นกรณีที่องค์ประกอบส่วนเหตุดังกล่าวอาจตีความให้ความหมายได้หลายแนวทาง ก็จำเป็นต้องเลือกถือเอาตามแนวทางที่เป็นไปโดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าที่จำเป็น โดยไม่กระทบกับแก่นหรือสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพดังกล่าว อย่างไรก็ตามในคำวินิจฉัยคดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกลับค้นหาความหมายของเหตุแห่งการยุบพรรคตามบทบัญญัติดังกล่าว โดยเห็นว่าการตีความเหตุแห่งการยุบพรรคนี้ต้องตีความไปในฐานะ “เงื่อนไขทางภาวะวิสัย” เช่นเดียวกับกรณีหมิ่นประมาทตามกฎหมายอาญาโดย ทั้งยังมีการอ้างถึงบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกาที่เคยได้วินิจฉัยไว้ด้วย

หากมองเผินๆ แล้วดูเหมือนว่าแนวทางการเทียบเคียงดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นการตีความตามกฎหมายไปตามระบบ (systematic interpretation) ซึ่งเรียกร้องให้พิจารณาบทบัญญัติทั้งหลายในฐานะระบบแห่งกฎหมายซึ่งเรียงร้อยเชื่อมโยงกันอยู่ โดยหลักการนี้ถือว่าเป็นหลักการพื้นฐานในการตีความกฎหมายซึ่งดำรงอยู่คู่ขนานไปกับการตีความกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร ตามประวัติศาสตร์ความเป็นมา และตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อย่างไรก็ตามการตีความกฎหมายไปตามระบบนั้นก็ต้องคำนึงถึงบริบทของหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญด้วย โดยภายใต้ระบบแห่งความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญนั้นบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญาก็เป็น “วัตถุแห่งการวินิจฉัย” ในคดีทางรัฐธรรมนูญที่อาจเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ (หรือแม้แต่คำพิพากษาศาลฎีกาเองในบางประเทศก็เป็นวัตถุแห่งการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วยเช่นกัน) เมื่อเป็นเช่นนี้การอ้างสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเองอาจต้องวินิจฉัยว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายในลำดับศักดิ์เดียวกันจึงเป็นการตีความกฎหมายตามระบบอย่างผิดฝาผิดตัวที่ไม่สอดคล้องกับนิติวิธีในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

(5) ที่หน้าประตูกฎหมายมีคนเฝ้าประตูยืนอยู่:
ศาลรัฐธรรมนูญจากผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญสู่ผู้พิทักษ์ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

“มันอาจเป็นประชาธิปไตยอยู่ แต่ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” คือคำกล่าวของฉัตรไชย จันทร์พรายศรี กรรมการการเลือกตั้ง ในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวบีบีซีไทยถึงที่มาของมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการทางกฎหมายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ล้วนเป็นไปตาม “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” แต่อาจไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยก็ได้

ในเรื่องสั้น “หน้าประตูกฎหมาย” ของฟรันซ์ คาฟคา ชายบ้านนอกคนหนึ่งปรารถนาที่จะเข้าถึงกฎหมาย โดยเขานั้นเชื่อว่ากฎหมายควรจะเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเขากลับพบอุปสรรคเป็นคนเฝ้าประตูในชุดเสื้อคลุมขนสัตว์คอยยืนขวางหน้าทางเข้าสู่ประตูกฎหมายเอาไว้และปฏิเสธไม่ให้เขาสามารถเข้าถึงกฎหมายได้ แต่กระนั้นคนเฝ้าประตุก็ยังให้ความหวังว่าสักวันหนึ่งชายบ้านนอกอาจจะได้รับอนุญาตให้ก้าวผ่านประตูกฎหมายเข้าไปก็ได้ ชายบ้านนอกคนนั้นจึงเฝ้ารอที่จะได้รับอนุญาตอยู่หน้าประตูเป็นเวลายาวนานหลายปีจนเกือบถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่จะได้รู้จากคนเฝ้าประตูว่าแท้จริงแล้วนั้นประตูดังกล่าวหาใช่เป็นประตูแห่งกฎหมายซึ่งคนทั้งหลายต่างปรารถนาที่จะเข้าถึง แต่เป็นประตูที่มีไว้สำหรับเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น

ดูเหมือนว่าหากเราต้องการศึกษาวิเคราะห์ถึง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อย่างจริงจัง เราคงจะต้องเผชิญอุปสรรคที่ไม่ต่างไปจากชายบ้านนอกคนดังกล่าวเลย เพราะตรงหน้าประตูของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้น เราก็จะพบผู้เฝ้าประตูที่คอยทำหน้าที่ระวังรักษาเส้นเขตแดนไว้ไม่ให้โดนรุกล้ำเช่นกัน เพียงแต่ว่าในกรณีนี้คนเฝ้าประตูนั้นหาได้ใส่ชุดเสื้อคลุมขนสัตว์ แต่สวมใส่เสื้อครุยตุลาการและนั่งพิจารณาคดีบนบัลลังก์ในนามของ “ศาลรัฐธรรมนูญ”

ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งโดยหลักการแล้วควรเป็น “ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” แต่จากความเป็นจริงที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ภายหลังการรัฐประหารที่ไม่มีรัฐธรรมนูญให้พิทักษ์อีกต่อไปแล้วอาจสะท้อนให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบันนั้นแท้จริงแล้วไม่ได้มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญแต่เป็นองค์กรซึ่งสังกัดเป็นส่วนหนึ่งของ “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และได้ยกระดับตนเองขึ้นไปเป็นผู้พิทักษ์ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อันเป็นคุณค่าทางการเมืองที่เหนือไปจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ดำรงอยู่ เป็นคุณค่าทางการเมืองที่ประกอบไปด้วยโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งล้วนแต่ไม่ใช่การใช้การตีความรัฐธรรมนูญในฐานะกรอบกติกาสูงสุดของการปกครอง

ทุกๆ เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในนามของผู้พิทักษ์ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งรวมถึงคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคไทยรักษาชาตินี้ จึงไม่ได้เป็นการชี้ขาดข้อพิพาททางกฎหมายแต่เป็นคำวินิจฉัยทางการเมือง 

ประตูที่เหล่าคนสวมชุดครุยคอยยืนเฝ้าอยู่จึงไม่ใช่ประตูกฎหมาย แต่เป็นประตูการเมือง และเป็นการเมืองที่สะท้อนอุดมการณ์หรือระบอบที่พวกเขาสังกัดอยู่ที่มีชื่อเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งอาจไม่ได้มีไว้เพื่อใช้บังคับกับทุกคน แต่มีอยู่เพื่อบังคับใช้กับขั้วการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net