Skip to main content
sharethis

ผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปผลวินิจฉัยที่ศรีสุรรณร้องเรียนเรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของหัวหน้า คสช. อาจส่งผลให้ไม่สามารถเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ ระบุ หัวหน้า คสช. คือตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ควบคุมประเทศในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ถือเป็น เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2543

14 มี.ค. 2562 Thai PBS online รายงานว่า รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการวินิจฉัยคำร้องของศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 

โดยคำร้องระบุว่า การเสนอชื่อดังกล่าว มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 88 และ 89 และมาตรา 160 ประกอบมาตรา 98 (15) หรือไม่ เนื่องจากตำแหน่ง หัวหน้าคสช. ซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย จะถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"

ทั้งนี้ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้ว เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2543 และหัวหน้า คสช. เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นความจำเป็นในช่วงต้องเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศไปสู่สถานการณ์ปกติ อันเป็นการเข้าควบคุมประเทศระยะหนึ่ง

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ยุติเรื่องร้องเรียน กรณี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีสิทธิเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร. โดยเห็นว่า หัวหน้า คสช.ไม่เข้าลักษณะ 4 ประการของการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวางแนวทางไว้ในคำวินิจฉัย ของการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวางแนวทางไว้ในคำวินิจฉัย ที่ 5 /2543 ว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ต้องมีลักษณะ 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ 4.มีเงินเดือนค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย

สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า รักษเกชา กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงสถานะของ พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. แล้ว แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ  โดยมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมายก็ตาม แต่ตำแหน่งดังกล่าวได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้า คสช. บริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศแต่งตั้งหัวหน้า คสช.ลงวันที่ 24 พ.ค. 57 ซึ่งมิใช่เป็นการได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย หากแต่เป็นการได้รับแต่งตั้งที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 57 ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ

รักษเกชา กล่าวว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ หากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม  รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นความจำเป็นในช่วงที่จะต้องเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศไปสู่สถานการณ์ปกติ อันเป็นการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป โดยบทเฉพาะกาลมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ก็ยังคงให้การรับรองอำนาจนี้อยู่ โดยบัญญัติให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญจะเข้ารับหน้าที่

"แสดงให้เห็นได้ว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช.มิได้มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และมิได้ลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประการตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น  พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมิได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” รักษเกชา กล่าว 

รักษเกชา ยังกล่าวว่า การที่ กกต.ประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่พรรคพลังประชารัฐ เสนอ จึงเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 และมาตรา 14 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 23 พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ที่คำวินิจฉัยดังกล่าวออกไปแล้วอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ นายรักษเกชา กล่าวว่า ตอนพิจารณาคำร้อง ผู้ตรวจการแผ่นดินก็พยายามมองในหลายๆ มุม  แต่เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 วรรคสี่  ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ยืนยันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาบนพื้นฐานของข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง

'เรืองไกร' งัดคำพิพากษาร้อง กกต.สอบ 'ประยุทธ์' ชี้ชัดเป็น 'เจ้าพนักงาน' ขาดคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ

ประธาน กกต. เตรียมพิจารณาความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ของหัวหน้า คสช. ระบุที่ช้าเพราะหาข้อมูลอยู่

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า การวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันนี้ เรืองไกร ลิกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ ได้ยื่นร้องเรียนต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไปเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2562 และได้เข้าทวงถามความคืบหน้ากับ กกต. เมื่อวันที่ 13 มี.ค. พร้อมนำหลักฐานประกอบการพิจารณายื่นให้ กกต. เพิ่มเติม เป็นคำพิพากษาศาลแขวงดุสิต ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา กรณีพนักงานอัยการสูงสุดสำนักงานอัยการสูงสุดยื่นฟ้อง สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด จากเหตุไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.มามอบให้ กกต.ด้วย เนื่องจากเห็นว่า สมบัติได้ต่อสู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.ไม่ใช่เจ้าพนักงานนั้น แต่ศาลพิพากษาว่าที่จำเลยอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช.ไม่ใช่เจ้าพนักงานนั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช.มีอำนาจดำเนินการต่างๆ ตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลยมารายงานตัว โดยกรณีดังกล่าว อิทธพร บุญประคอง ประธาน กกต. ระบุว่า จะมีการพิจารณาในวันนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net