Skip to main content
sharethis

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง เครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนตีแผ่นโยบายพรรคการเมืองยังวนเวียนกับการแจกเงิน เน้นการศึกษาระบบแข่งขัน ขยายความไม่เท่าเทียม ไร้แนวคิดแก้ปัญหา พัฒนาศักยภาพสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชน ผนึกกำลัง 30 องค์กรจี้พรรคการเมือง “อย่าทิ้งเด็กเยาวชนไว้ข้างหลัง” ชูประกาศนโยบายปกป้องเด็กจากปัจจัยเสี่ยง หนุนตั้งกองทุนเพื่ออิสระเด็กและเยาวชน  

 

14 มี.ค.2562 วันนี้ ที่เดอะฮอล์บางกอก วิภาวดี เครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน 30 องค์กร อาทิ เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เครือข่ายปกป้องสิทธิ ฯลฯ เปิดเวทีวิพากษ์นโยบายพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน พร้อมทั้งออกแถลงการณ์ และเครือข่ายฯได้แสดงละครล้อเลียน ชุด”หยุดลอยแพปัญหาเด็กและเยาวชน”

วันชัย พูลช่วย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน  กล่าวว่า การเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ในช่วงเวลานี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งของทุกพรรคการเมือง แต่ละพรรคมีนโยบายหลักที่ใช้รณรงค์การหาเสียงแตกต่างกันไปตามจุดยืนทางการเมือง แต่จากการเฝ้าติดตามของเครือข่ายฯ พบว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนของแต่ละพรรคปรากฏอยู่ระดับหนึ่ง ยังคงมุ่งเน้นการสร้างสวัสดิการ ให้เงิน สารพัดรูปแบบ ชูการศึกษาที่เน้นแข่งขันสู่ความเป็นเลิศ สร้างความไม่เท่าเทียมในเด็กและเยาวชน ทุกอย่างยังมุ่งสู่สถานศึกษา ความทันสมัย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีแต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการรับมือกับปัญหาที่ถาโถมรายล้อมตัวเด็กและเยาวชน มีการพูดถึงแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเด็กและเยาวชนที่เป็นปัญหาจริงๆ น้อยมาก รวมไปถึงการพัฒนาเสริมสร้างทักษะชีวิตสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่ง ณ ปัจจุบันสำคัญไม่น้อยไปกว่าวิชาการในระบบการศึกษา   

“เราแทบไม่เห็นพรรคการเมืองใดมีนโยบายที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน อันเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น แทบไม่เห็นการสนับสนุนการรวมกลุ่ม กิจกรรมพัฒนาศักยภาพและสร้างภูมิคุ้มที่ดีให้เด็กและเยาวชนได้เติบโตอย่างมีคุณภาพซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจยิ่ง” วันชัย กล่าว 

สุรนาถ แป้นประเสริฐ แกนนำคนทำงานด้านเด็กและเยาวชน 30 องค์กร กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ ซึ่งเด็กและเยาวชนต้องเผชิญมีหลายด้านด้วยกัน และนี่คือข้อมูลที่เราอยากเห็นว่าแต่ละพรรคการเมืองจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร 1.เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ก่อคดีเข้าสู่สถานพินิจฯ มากกว่า 30,000 คนต่อปี  เกือบครึ่งเป็นคดียาเสพติด รวมถึงเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันอีกเกือบหมื่นคนต่อปี 2. เด็กและเยาวชนติดยาเสพติด 300,000 คนต่อปี  มีนักดื่มหน้าใหม่250,000 คนต่อปี 3.เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุปีละ 2,510 ราย ช่วงอายุ 15-19 ปีเสียชีวิตสูงสุด บาดเจ็บและพิการนับไม่ถ้วน 4. เด็กและเยาวชนเล่นพนัน 3.6 ล้านคนต่อปีในจำนวนนี้ยอมรับว่าติดพนัน 400,000 คน

5. ในรอบปีมีข่าวความรุนแรงทางเพศในเด็กและเยาวชน กว่า 317 ข่าว ผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุดเป็นเด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน ผู้ก่อเหตุกว่าครึ่งเป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัวกว่า 53% รองลงมาเป็นคนแปลกหน้า และคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียล ปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นถี่มากในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนสถิติการท้องก่อนวัยอันควรที่สูงเป็นอันดับสองของอาเซียน 6. เด็กและเยาวชนต้องเติบโตในพื้นที่เสี่ยง ไม่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิต ขาดพื้นที่สร้างสรรค์ ขาดการสนับสนุนการรวมกลุ่ม 7. เด็กไทยใช้เวลากับหน้าจอ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต้องเผชิญกับปัญหา การถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ด่าทอด้วยข้อความหยาบคาย ตัดต่อภาพสร้างข้อมูลเท็จ การเข้าถึงสื่อลามกและพูดคุยเรื่องเพศกับคนแปลกหน้า ติดเกม ถูกล่อลวง มีปัญหาสัมพันธภาพระหว่างคนในครอบครัว

สุรนาถ กล่าวต่อว่า เครือข่าย 30 องค์กร ขอแสดงจุดยืนต่อพรรคการเมืองดังนี้ 1. ขอแสดงความเสียใจต่อนโยบายของพรรคการเมือง ณ ปัจจุบันที่ยังไม่สะท้อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริงจนทำให้เราเป็นห่วงว่า “เด็กและเยาวชนไทยจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” 2. ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองมีนโยบายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม ทั้งประเด็นยาเสพติด การพนัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ท้องก่อนวัยอันควร การถูกออกจากโรงเรียนกลางคัน และปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 3. มีนโยบายการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ ลดพื้นที่เสี่ยงในชุมชน มีความปลอดภัยและ 4. ขอให้พรรคการเมืองมีนโยบาย จัดตั้ง “กองทุนเพื่อเด็กและเยาวชน” เพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มในทางสร้างสรรค์พัฒนาเด็กและเยาวชนให้เห็นศักยภาพ สร้างความเข้มแข็ง ทักษะชีวิตและส่งเสริมพลังเยาวชนเพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมที่มีคุณภาพด้วยตัวเด็กและเยาวชนเองเป็นกองทุนที่เป็นอิสระเข้าถึงง่าย ไม่อยู่ภายใต้ระบบราชการ

รายชื่อ 30 องค์กรด้านเด็กและเยาวชน

1. เครือข่าย Youth Active 

2. เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม

3. เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน

4. เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน  

5. เครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง  

6. เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่

7. เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง

8. เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต  

9. เครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ

10. ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก

11. กลุ่มอดีตเยาวชนที่เคยหลงผิดก้าวพลาด

12. มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา  

13. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  

14. มูลนิธิแพททูเฮลท์

15. กลุ่มไม้ขีดไฟ

16. เครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสุ

17. กลุ่มมีเดียมูฟ

18. มูลนิธิเยาวชนพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

19. เครือข่ายเยาวชนปกป้องสิทธิ

20. สมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน

21. สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา

22. สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ

23. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก

24. เครือข่ายละครเฉพาะกิจเธียร์เตอร์

25. สำนักข่าวเด็กและเยาวชนจังหวัดพะเยา

26. มูลนิธิวิถีสุข

27. มูลนิธิพลังสังคม

28. มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.)

29. มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน

30. มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net