Skip to main content
sharethis

ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2562 เริ่มจากการทบทวนข้อมูลพื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จนไปถึงการคัดเลือกคำถามจากทางบ้านมาตอบให้หายสงสัย อยากรู้อะไร ส่งคำถามมาที่เพจเฟสบุ๊คของประชาไท เราจะคัดเลือกคำถามมาตอบบนเว็บไซต์ และถ้าคำถามไหนโดนใจ รับไปเลย เสื้อยืดประชาไท แจกจำนวน 2 รางวัล

การเลือกตั้ง 2562 คืออะไร

การเลือกตั้ง 2562 คือการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากระบอบทหารนำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปกครองมากกว่า 4 ปี หลังจากเลื่อนเลือกตั้งมากว่า 6 ครั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มีนาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ถึง 17.00 น. การเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (แม้สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งจะมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ด้วยก็ตาม)

ฉันมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. มีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปีเมื่อถึงวันเลือกตั้ง ต้องเกิดก่อนวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2544
  3. ไม่เป็นพระ นักบวช นักโทษ หรือผู้ป่วยทางจิต หรือถูกตัดสิทธิ์การเลือกตั้ง
หากไม่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า และไม่ว่างในวันที่ 24 มีนาคม 2561 ด้วยต้องทำอย่างไร

ท่านต้องแจ้งเหตุในการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้ กกต. ทราบ อย่างน้อย 7 วันก่อนเลือกตั้งหรือภายใน 7 วันหลังเลือกตั้ง โดยกรอกแบบ ฟอร์ม สส.28 พร้อมแนบหลักฐาน จากนั้น ส่งเอกสารดังกล่าวด้วยตัวเอง หรือส่งทางจดหมายก็ได้ไปที่นายทะเบียนอำเภอ ณ ที่ทำการอำเภอในเขตที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของท่าน หากไม่แจ้งเหตุในการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ท่านอาจเสียสิทธิต่าง ๆ ดังนี้

(1) ยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(2) สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา

(3) สมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

(4) ดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และ ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา

(5) ดํารงตําแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผู้สมัครแต่ละพรรคจะจับฉลากได้เบอร์ต่างกันไปในแต่ละเขต ฉันจะรู้ข้อมูลและเบอร์ของผู้สมัครได้อย่างไร

ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อและเบอร์ของผู้สมัครได้ง่าย ๆ เพียงแค่กรอกรหัสไปรษณีย์ตามที่อยู่ทะเบียนบ้านของท่านที่ elect.in.th  นอกจากนี้เว็บไซต์นี้ยังมีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งอีกมากมาย

ฉันจะรู้ตำแหน่งคูหาของฉันได้อย่างไร

กกต. จะส่งจดหมายเกี่ยวกับข้อมูลตำแหน่งคูหาไปยังภูมิลำเนาตามทะเบียนของท่านภายใน 20 วันก่อนการเลือกตั้ง คุณสามารถตรวจสอบชื่อและตำแหน่งคูหาของท่านล่วงหน้าได้ที่เว็บไซต์ www.khonthai.com

ฉันจะรู้ผลการเลือกตั้งเมื่อไหร่

เราจะรู้ผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เพื่อป้องกันปัญหาทางกฎหมายที่อาจตามมา เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่า กกต. จะต้องประกาศผลการเลือกตั้ง 95% ภายใน 150 วันหลังจาก พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2561

ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวคืออะไร

การเลือกตั้งทุกครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ประชาชนไทยจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบด้วยกัน ใบหนึ่งมีไว้เลือกผู้แทนระบบบัญชีรายชื่อ (หรือที่เรียกว่าปาร์ตี้ลิสต์) อีกใบหนึ่งมีไว้เลือกผู้แทนระบบแบ่งเขต อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้มีความแตกต่างออกไป

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ร่างโดยคณะกรรมการธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และได้รับการเห็นชอบในการลงคะแนนเสียงประชามติ ระบุไว้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าให้ใช้การเลือกตั้งระบบบัตรใบเดียว โดยคะแนนเสียงหนึ่งเสียงจะเอาไว้ใช้เพื่อเลือก ส.ส. ทั้งระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งแบ่งเขต ผู้ชนะคือผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในเขตนั้นไม่ต่างจากครั้งก่อน ๆ แต่การเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อต้องใช้การคำนวนที่มีความสลับซับซ้อนขึ้น เนื่องจากผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนไม่มีช่องทางในการเลือกผู้แทนระบบบัญชีรายชื่อโดยตรง

การคำนวณใช้วิธีดังต่อไปนี้

  1. นำจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดหารด้วยจำนวน ส.ส. ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ทั้งหมด 500 คน) ผลที่ได้ออกมาคือตัวเลขจำนวนคะแนนเสียงต่อ ส.ส. 1 คน เท่าที่คาดคะเนได้ในปัจจุบัน อัตราส่วนคือ 60,000-70,000 คะแนนเสียงต่อ ส.ส. 1 คน
  2. นำคะแนนเสียงทั้งหมดที่พรรคได้มาหารด้วยเลขอัตราคะแนนเสียงต่อ สส. 1 คน (60,000-70,000 คน) ผลที่ได้ออกมาคือตัวเลข “ส.ส. ที่พรรคพึงได้” ตัวอย่างเช่น หาก พรรค ก. ได้รับคะแนนเสียง 2 ล้านเสียง พรรค ก. ก็จะได้ “สส. ที่พรรคพึงได้” ในสภาจำนวนทั้งหมด (2,000,000 ÷ 70,000 =) 28 คน
  3. ตัวเลข “ส.ส. ที่พรรคพึงได้” นั้นรวมจำนวนของ ส.ส. ระบบแบ่งเขตแล้ว ดังนั้น พรรคการเมืองจึงต้องนำตัวเลข ส.ส.ที่พึงได้มานำลบด้วยจำนวน ส.ส. เพื่อหาจำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ตัวอย่างเช่น พรรค ก. มีจำนวนตัวเลข ส.ส. พึงได้ทั้งสิ้น 28 คน แต่พรรคมี ส.ส. แบ่งเขตชนะแล้วทั้งหมด 20 คน พรรคจึงได้ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด (28 – 20 = ) 8 คน 

ระบบการเลือกตั้งเช่นนี้เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองขนาดกลาง ซึ่งมีทรัพยากรมากพอที่จะส่งผู้สมัครลงในหลายพื้นที่ได้ แต่ไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะชนะในหลาย ๆ เขตได้ เมื่อนำเสียงคะแนนที่แพ้ในเขตส่วนใหญ่มารวมกันทั้งประเทศ พรรคขนาดกลางก็จะได้รับจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อจำนวนมากเป็นการทดแทน (เนื่องจากจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อไม่ถูกหักด้วยจำนวน ส.ส. แบ่งเขตที่พรรคได้) พรรคขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะชนะการเลือกตั้งได้ในเขตจำนวนมาก จะได้จำนวน สส. บัญชีรายชื่อน้อยกว่า เนื่องจากต้องนำจำนวน ส.ส. แบ่งเขตที่พรรคตนชนะมาหักลบ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่พ่ายแพ้ที่สุดจากระบบการเลือกตั้งเช่นนี้คือพรรคการเมืองขนาดเล็ก เนื่องจากพรรคขนาดเล็กต่าง ๆ ไม่มีทรัพยากรเพื่อนำผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในเขตต่าง ๆ มากนัก พรรคการเมืองขนาดเล็กจึงมีโอกาสได้ชนะน้อยทั้งในระบบ ส.ส. แบ่งเขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

หากดูระบบการเลือกตั้งรูปแบบต่าง ๆ ทั่วโลก จะพบว่าระบบการเลือกตั้งของไทยมีลักษณะพิสดารมาก อาจเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เวลารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจะตั้งพรรคการเมืองทีไร พรรคการเมืองดังกล่าวก็ดูเหมือนจะเป็นพรรคขนาดกลางเกือบทุกครั้งจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

นายกคนนอกคืออะไร

นายกคนนอกคือนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น ส.ส. รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่าพรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ 3 คนก่อนการเลือกตั้ง จริงอยู่ที่ประชาชนได้ทราบชื่อผู้สมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเหล่านี้ก่อนเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญก็อนุญาติให้ สส. 250 คน ก็ยังสามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อดังกล่าวได้ โดยได้รับการเห็นชอบจาก 2 ใน 3 ของรัฐสภาทั้งหมด (500 เสียง จาก 750 เสียงของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งประกอบกัน)

ทำไม ส.ว. ถึงมาจากการแต่งตั้ง

คำอธิบายหนึ่งคือการกำหนดให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งช่วยให้คณะรัฐประหารเป็นฝ่ายได้เปรียบ รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่าวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คนด้วยกัน โดยได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของรัฐบาล คสช. ซึ่งนำโดย พ.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในช่วง 5 ปีแรกของการใช้รัฐธรรมนูญนี้ ส.ว. จะมีสิทธิ์เข้ามาลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ได้รับคะแนนสนับสนุนจาก สว. 250 คนอยู่แล้ว ดังนั้น จึงต้องการ ส.ส. อีกเพียง 126 คนก็จะเป็นเสียงข้างมากในสภา และได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับทักษิณ ชินวัตร (พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน) ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2554 แต่ครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและแนวร่วมจะต้องเผชิญกับศึกหนัก เนื่องจากต้องได้ ส.ส. 376 ที่นั่งเท่านั้น จึงจะสามารถตั้งรัฐบาลเป็นฝ่ายเสียงข้างมากได้

ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ชายกี่คน เป็นผู้หญิงกี่คน และเป็น LGBT กี่คน

จากจำนวนผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทั้งหมด 69 คน เป็นผู้ชาย 61 คน ผู้หญิง 7 คน และเป็นบุคคลข้ามเพศ 1 คน ได้แก่ คุณพอลลีน งามพริ้ง หากชนะเลือกตั้ง คุณพอลลีน งามพริ้ง จะได้เป็นบุคคลข้ามเพศคนแรกของโลกที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การล้มเลือกตั้งเป็นไปได้หรือไม่

เป็นไปได้ แต่โอกาสเกิดน้อยมาก ประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยชี้ให้เห็นว่ามีการล้มหรือเลื่อนเลือกตั้งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น การสั่งยุบพรรคพลังประชาชนโดยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2551 เหตุการณ์ขัดขวางการเลือกตั้งก่อนรัฐประหาร พ.ศ. 2557 การรัฐประหารและการเลื่อนการเลือกตั้งกว่า 6 ครั้งของรัฐบาล คสช. นอกจากนี้แล้ว เหตุการณ์ความรุนแรง และสภาวะทางตันทางการเมืองก็อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์รัฐประหารซ้อนขึ้นอีกได้ ปัจจุบัน คสช. ยังคงมีอำนาจตามมาตรา 44 อยูในมือ หมายความว่ารัฐบาลทหารก็ยังมีอำนาจเต็มในการทำอะไรก็ได้ในทางกฎหมาย แม้ว่าจะต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านอื่น ๆ ก็ตาม

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญยังมีส่วนเนื้อความที่ไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญอีกด้วย เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวระบุว่าต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับจากที่มีผลบังคับใช้ (วันที่ 11 ธันวาคม 2561) แต่รัฐธรรมนูญกลับระบุว่าต้องประกาศผลคะแนนให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หากผลการเลือกตั้งไม่สามารถประกาศอย่างเป็นทางการได้ก่อนวันที่ 9 พ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถเข้ามาแทรกแซงเพื่อวินิจฉัยได้ว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ และอาจเป็นไปได้ว่าอภินิหารทางกฎหมายโดยตุลาการภิวัตน์อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองหลายแห่งได้เริ่มรณรงค์หาเสียงไปแล้ว โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐซึ่งเสนอชื่อนายประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากมีการล้มเลือกตั้งเกิดขึ้น ต้นทุนที่ลงไปกับการหาเสียงจะเสียเปล่าโดยทันที นอกจากนี้ พิธีบรมราชาภิเษกก็กำหนดจัดในระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคมนี้แล้วด้วย การเลื่อนเลือกตั้งหรือล้มเลือกตั้งอาจก่อให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีในช่วงพิธีบรมราชาภิเษกได้ ดังนั้น การเลือกตั้งคงสำเร็จไปได้ด้วยดีอย่างที่ กกต. วางแผนไว้ (โปรดดูภาพประกอบด้านล่าง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net