Skip to main content
sharethis

อ่านกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่พบมาตราใดระบุความผิดเรื่องการรณรงค์โหวตโนเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ และการประกาศเทคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองอื่น 

สืบเนื่องกรณีที่ อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เปิดเผยวานนี้ (13 มี.ค. 2562) ว่า กรณีที่อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติที่รวมตัวกันในนามกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย และอดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ เริ่มเคลื่อนไหวเดินสายจัดเวทีปราศรัยใน 4 ภูมิภาค โดยจะนำเสนอให้ประชาชนตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หรือออกเสียงไม่ประสงค์ลงคะแนนในบางเขตนั้น กกต.ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าเข้าลักษณะความปรากฏต่อ กกต. จึงให้เลขาธิการ กกต. หรือ สำนักงาน กกต. ตั้งคณะสืบสวนไต่สวน ซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย เพราะการรณรงค์โหวตโน ขอคะแนน เทคะแนน ไม่สามารถทำได้ กฎหมายห้ามไว้ชัดว่าจะต้องให้ผู้ใช้สิทธิตัดสินใจเลือกเอง ห้ามชักจูง หรือชี้นำ 

“การกระทำใดครอบงำ ชี้นำ ชักจูง จูงใจ สิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายมีอยู่แน่ๆ ถือเป็นความผิด การกระทำใดที่อาจเป็นความผิด เราต้องตรวจสอบและหากเข้าข่ายก็ต้องดำเนินการ ส่วนจะเป็นความผิดของใคร ระหว่างผู้ขอและผู้สมัครที่ได้คะแนน ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน” อิทธิพร กล่าว

ภาพจากเฟสบุ๊คแฟนเพจ:ไทยรักษาชาติคลับ

ต้นสายปลายเหตุของเรื่องมาจากการเปลี่ยนเกมใหม่ของบรรดาอดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ หลังจากที่พรรคถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี เมื่อวันที่ 7 มี.ค.  ถัดมาได้ 2 วัน 9 อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติซึ่งไม่ได้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเปิดเผยว่า แม้พรรคการเมืองที่สังกัดจะถูกยุบไปแล้ว ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาคือ ผู้สมัครทั้งหมดของพรรคจะถูกตัดออกจากสนามเลือกตั้งครั้งนี้ในทันที แต่อย่างไรก็ตาม ภารกิจหลักที่เป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันในนามพรรคไทยรักษาชาติยังคงเดินหน้าต่อไป นั่นคือ การสกัดกั้นต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. และส่งเสริมให้ประเทศมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้พี่น้องประชาชน โดยกิจกรรมที่จะทำต่อไปหลังจากนี้ จะเป็นการกระทำในนามกลุ่ม ก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย จะเป็นการเดินสายพบปะประชาชนใน 4 ภูมิภาค เพื่อสื่อสารว่ามีพรรคการเมืองใดบ้างที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับไว้พิจารณา ส่วนอดีตผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละเขตก็จะรณรงค์ประชาชนต่อไปตามสภาพของพื้นที่

เลือกตั้ง 62: 9 อดีตสมาชิก ทษช. ยันแม้พรรคโดนยุบ แต่การต่อต้าน คสช. ยังเดินต่อ

เลือกตั้ง 62: รถหาเสียงน้องจาตุรนต์ ขึ้นป้ายรถหาเสียง เทคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่

เลือกตั้ง 62: คนแพร่ร่วมพันรวมตัวหน้าบ้านอดีตผู้สมัคร ทษช. ยันโหวตโนเพื่อเลือกตั้งใหม่

กรณีที่เป็นข่าวชัดเจนแล้วสำหรับตัวผู้สมัครที่ประกาศหนุนพรรคการเมืองอื่นคือ กรณีของฐิติมา ฉายแสง อดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ประกาศเทคะแนนเสียงให้ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ ส่วนฐานเสียงพรรคไทยรักษาชาติในจังหวัดแพร่ ก็ได้รวมตัวกันที่บ้านอดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ ประกาศให้กำลังใจ และยืนยันชัดเจนว่า ต้องการที่จะรณรงค์กาบัตรในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ผู้ใด ซึ่งหากผลการโหวตโนชนะจะทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในเขตนั้น และผู้สมัครทั้งหมดของพรรคอื่นจะหมดสิทธิกลับเข้ามาลงสมัครรับเลือกตั้งอีก

พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

มาตรา 126 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น ให้คณะกรรมการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ และมิให้นําคะแนนของผู้สมัครแต่ละคนที่ได้รับจากการเลือกตั้งครั้งก่อนไปใช้ในการคํานวณหาจํานวนสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในกรณีเช่นนี้ ให้คณะกรรมการดําเนินการให้มีการรับสมัครผู้สมัครใหม่ โดยผู้สมัครเดิมทุกรายไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่นั้น

ทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่ปรากฎชัดต่อ กกต. แล้ว จนทำให้ต้องเร่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนและเร่งเรีบเช่นเดียวกันกับศรีสุวรรณ จรรยา ที่ประกาศว่าจะเดินทางไปยื่นเรื่องร้องเรียนให้ กกต. ยุบพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 15 มี.ค. หลังพบว่า โฆษกพรรคอนาคตใหม่ได้ให้สัมภาษณ์กล่าวขอบคุณที่มีการเชิญชวนประชาชนให้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ โดยชี้ว่ากรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 28 (คนนอกครอบงำพรรคการเมือง) ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 92 (3) คือการยุบพรรค

คำถามคือเราจะอธิบายเรื่องราวเหล่านี้ในทางกฎหมายอย่างไร ประการแรกจำเป็นต้องดูที่มาตรา 73 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งระบุว่า

พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

มาตรา 73 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนน ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

บทบัญญัตินี้กล่าวถึง การกระทำที่เป็นการจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ไปลงคะแนนให้ผู้สมัคร หรือไม่ไปลงคะแนน(โนโหวต) และรวมถึงออกเสียงไม่ประสงค์ลงคะแนน(โหวตโน) ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้าม

โดยในมาตรานี้ได้ระบุลักษณะต้องห้ามไว้ทั้งหมด 5 กรณีคือ

(1) จัดทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด (2) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์หรือสถาบันอื่นใด (3) ทําการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ (4) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด (5) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

นั้นหมายความว่า การรณรงค์โหวตโน หรือการประกาศเทคะแนนให้พรรคอื่นสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตราบเท่าที่ไม่เป็นการกระทำตาม (1) – (5)

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมภา เลขาธิการ กกต. ได้เปิดเผยผลการไต่สวนเบื้องต้นวันนี้ (14 มี.ค.) ว่า กรณีการรณรงค์โหวตโนนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องพิจารณาการกระทำว่ามีจุดมุ่งหมายให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ เช่น รณรงค์โหวตโนเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่เรื่องการประกาศเทคะแนนเสียงยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าเป็นฐานความผิดใดตามมาตรา 73

กระนั้นก็ตามเมื่อพิจารณาจากตัวบทกฎหมาย ไม่พบว่ามีมาตราใดใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่ระบุว่า การรณรงค์โหวตโนเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกระทำที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและไม่เที่ยงธรรม และไม่มีมาตราใดที่กำหนดบทโทษไว้

ประการต่อมา หากพิจารณาจาก มาตรา 28 ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํากิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

เมื่อพิจารณาดูจากการกระทำของ ฐิติมา ฉายแสง อดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งประกาศเทคะแนนเสียงให้กับพรรคอนาคตใหม่อาจไม่เป็นการกระทำที่เข้าข่ายหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว อีกทั้ง ฐิติมา ยังเปิดเผยว่า เธอได้สมัครเป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคอนาคตใหม่อย่างถูกต้อง ตามที่กฎหมายกำหนด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net