Skip to main content
sharethis

พูดคุยกับ "พอลลีน" พาลินี งามพริ้ง กับบทบาทในปัจจุบันที่เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคมหาชน สู้ศึกเลือกตั้งทั่วไป 2562 สนทนาทั้งเรื่องการเลือกตั้ง ความท้าทายของการเป็นผู้หญิงข้ามเพศในสนามการเมือง สถานการณ์สิทธิกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย รัฐสวัสดิการ พร้อมชวนมองการเมืองไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน คิดว่าการเมืองไทยจะไปไหนต่อ

คลิปสัมภาษณ์ "พอลลีน" พาลินี งามพริ้ง | จากกระบอกเสียงผู้หญิงข้ามเพศสู่สนามการเมือง (1)

คลิปสัมภาษณ์ "พอลลีน" พาลินี งามพริ้ง | สู่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และการเมืองไทยยุคเปลี่ยนผ่าน (2)

จากผู้ก่อตั้งชมรมเชียร์ไทยพาวเวอร์และผู้ลงสมัครเข้าชิงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในอดีต วันนี้พาลินี หรือ “พอลลีน” งามพริ้ง เดินหน้าเข้าสู่สนามการเมืองในฐานะประธานยุทธศาสตร์ของพรรคมหาชน และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศคนแรกของไทย 

ประชาไทชวนพอลลีนมาสนทนาเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ความท้าทายของการเป็นผู้หญิงข้ามเพศในสนามการเมือง สถานการณ์สิทธิกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย รัฐสวัสดิการ และการเมืองไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน

ทำไมจึงตัดสินใจลงเลือกตั้งในครั้งนี้ 

จริง ๆ มันก็เกิดจากความต้องการของทั้งสองฝ่าย หมายความว่าทางพรรคการเมืองก็ต้องการแนวนโยบายเรื่องของ LGBT แต่ว่าสำหรับตัวพอลลีนเอง มีความสนใจเรื่องการเมือง แล้วก็ที่ผ่านมาติดตามการเมืองด้วยความอึดอัด มีความรู้สึกว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้ ก็เลยคิดว่า พอมีการทาบทาม เชิญชวน คิดว่าเราน่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ให้เป็นประโยชน์กับวงการการเมืองไทย แล้วก็รวมถึงการพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิทางด้านความหลากหลายทางเพศ ก็เลยตัดสินใจเข้าร่วม

คิดว่าพรรคมหาชนในเวอร์ชั่นปี 2019 เป็นพรรคแบบไหน

หลายคนมองภาพพรรคมหาชนจากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง มันก็ทำให้แต่ละพรรคมีวิวัฒนาการ มีการไหลลื่นมาสู่จุดนี้ สำหรับพรรคมหาชน ตอนนี้กลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ในพรรค ทำงานในพรรค เป็นคนรุ่นใหม่เป็นส่วนใหญ่ นโยบายก็จัดทำใหม่หมดเลย ทางด้านจุดยืนหรือแนวทางของพรรค ก็อาจจะคงเดิมไว้นิดหนึ่ง นั่นหมายความว่าเราเป็นพรรคเล็ก การที่จะเลือกฝ่ายเลือกข้างอย่างชัดเจนแล้วก็สร้างศัตรูทางการเมือง มันก็คงจะทำได้ยาก แต่ในแง่ของแนวความคิดทางการเมือง จุดยืนทางการเมืองของพรรคเราก็มาจากความคิดของคนในพรรคที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามา แน่นอนเราก็ต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญก็คือว่าจะต้องทำการเมืองให้ดีเพื่อป้องกันการยึดอำนาจในอนาคต เราชัดเจนว่าเราเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เอาเผด็จการ ไม่เอาการใช้กำลังยึดอำนาจ ตรงนี้ชัดเจน 

ตอนนี้ก็มีภาพลักษณ์เป็นพรรคของความหลากหลายด้วย

ใช่ค่ะ อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นจุดที่เด่นที่สุดแล้ว พรรคอื่นไม่มี คือพรรคเรามีคนที่มีความหลากหลายทางเพศเยอะหน่อย แต่ในความเป็นจริง พรรคการเมืองเราก็ทำหลายเรื่อง ทางด้านนโยบายเราก็มีเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หลายเรื่อง เพียงแต่ว่าเรื่องของความหลากหลายทางเพศเป็นจุดที่คนมองเห็นง่ายและแตกต่างจากพรรคอื่น สำหรับพอลลีน ก็คิดว่ามันก็เป็นเรื่องดี เพราะว่าการที่เราเป็นคนหลากหลายทางเพศแล้วมาทำการเมือง เราพร้อมที่จะก้าวขึ้นไปมากกว่าการเป็นตัวแทนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอย่างเดียว

ในขณะเดียวกัน เรื่องความหลากหลายทางเพศเรามีคุณนาดา ไชยจิตต์ เรามีคุณแอนนา (วรินทร วัตรสังข์) เรามีคุณเฟิร์สตี้ (ชวธิดา คุปตะวาทิน) เรามีคุณน้ำแข็ง (ไอณริณ สิงหนุต) และคุณจิมมี่ (กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล) ที่สามารถพูดเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนพอ ๆ กัน ดังนั้นมันก็มีมิติที่มากกว่าความหลากหลายทางเพศเพียงอย่างเดียว อันนี้คือ คนมองในภาพของเพศสภาพของพวกเราก็คือมองเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ถ้ามองลึกเข้าไปในเรื่องความรู้ประสบการณ์ เราสามารถที่จะทำงานได้อีกระดับหรือเหนือกว่านั้น

ถ้าเราบอกว่าเราสู้เพื่อความหลากหลาย เราสู้เพื่อความเท่าเทียม มันไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง เราก็ต้องสู้เพื่อความเท่าเทียมจริงๆ ไม่ใช่ไปเหยียดผู้ชาย ไม่ใช่ไปเหยียดผู้หญิง เพราะไม่งั้นเราก็จะโดนเหยียดอยู่ดี เพราะฉะนั้นเราทำงานเพื่อความเท่าเทียม เราก็ต้องทำงานให้ทุกคนได้ เราต้องเป็นตัวแทนทุกคน

 

คิดอย่างไรกับสถานการณ์สิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศในประเทศไทยในขณะนี้

เราจะเห็นข่าวประหลาด ๆ ข่าวซึ่งแสดงถึงความไม่เคารพสิทธิขึ้นมาทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานศึกษาไม่ยินยอมให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพ บางสถานศึกษาถึงขั้นบังคับให้ผู้ชายข้ามเพศใส่วิกมาเรียน เป็นต้น หรืออย่างการล่วงละเมิดทางเพศในโรงพยาบาล เพราะว่าผู้หญิงข้ามเพศถูกจับไปนอนรวมกับผู้ชายทั่วไป มันก็ยังมีให้เห็นอยู่ เพราะฉะนั้นสถานการณ์มันก็ยังมีอยู่ ถึงแม้ว่าเราจะทำงานเรื่องนี้อย่างหนักมากเท่าไหร่ เราก็ต้องทำหนักขึ้น เพราะว่าสังคมเป็นสังคมที่ใหญ่และมีการขาดความรู้ความเข้าใจมาเป็นเวลานาน คนไทยอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญในรายละเอียดในการศึกษาข้อมูลของคนอื่นหรือข้อมูลบริบทของสังคมมากนัก มันจึงเกิดสภาพที่ว่า คนเราไม่รู้ คนเราไม่เข้าใจ ก็เหมือนเวลาที่เราสอนลูกสอนหลาน เราก็ต้องปากเปียกปากแฉะคอยอธิบาย จะโกรธเขาก็ไม่ได้ จะตีเขาแรง ๆ ก็ไม่ได้ สังคมไทยมันก็เป็นแบบนี้ มันยังมีความอ่อนด้อยในเรื่องความรู้ความเข้าใจอยู่ ถามว่าทำไมต้องรู้และเข้าใจเรา เราก็จำเป็นต้องรู้และเข้าใจคนอื่น มากกว่าที่จะมองเขาแบบไม่มีความสำคัญ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่คนหลากหลายทางเพศถูกมอง มันทำให้เราดำเนินชีวิตลำบาก ในขณะเดียวกัน เราศึกษาเรื่องของเรา เราก็ศึกษาเรื่องคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นสังคมมันควรจะมีการศึกษาซึ่งกันและกัน ความหลากหลายว่า เขาไม่เหมือนเราเพราะเหตุใดและเขาต้องการอะไร สิ่งเหล่านี้เป็นต้นที่สำคัญ ที่จะต้องค่อย ๆ หรือมีทั้งทำแบบเข้มข้น และทำแบบเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน แต่ก็ต้องทำไปเรื่อย ๆ

ยังมีงานต้องทำอยู่ใช่ไหม

ยังมีงานต้องทำ นอกเหนือจากเรื่องกฎหมายนะ ถ้าเรื่องกฎหมายมันก็ชัดเจน เรื่องสิทธิในการมีครอบครัว จะใช้พ.ร.บ. คู่ชีวิตหรือว่าจะไปเปลี่ยนกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม สองอันนี้ก็ต้องทำ แล้วก็เรื่องของการรับรองเพศสภาพหรือการเปลี่ยนคำนำหน้านามให้ตรงกับเพศสภาพ ไม่งั้นมันก็จะเกิดปัญหาอย่างที่บอกว่าไปนอนรวมกันแล้วก็ถูกล่วงละเมิด มันก็จะมีอยู่อย่างนี้ คือนอกจากเรื่องกฎหมายแล้วเราก็ต้องทำเรื่องของการให้ความรู้ การช่วยเหลือ ให้ความรู้คนทั่วไป ให้ความรู้ครอบครัว ให้ความรู้เพื่อนร่วมงาน ให้ความรู้คนในสังคม ในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยเหลือเหยื่อ คนที่ถูกเลือกปฏิบัติหรือคนที่ถูกกีดกันออกจากการศึกษา กีดกันออกจากการทำงาน เป็นต้นเราต้องมีสามอย่างควบคู่กันไป เรื่องกฎหมายก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องของการให้ความรู้และส่งเสริมและปกป้อง ก็ยังต้องมี

ตั้งแต่คุณพอลลีนกลับมาเมืองไทยแล้วออกสื่อเยอะๆ คิดว่าสิ่งนี้ช่วยเรื่องการทำความเข้าใจของสังคมด้วยไหม

ก็ทีละนิด อย่างน้อยก็เป็นการจุดประกายให้กับคนที่ยังหลบซ่อนความคิดตัวเองอยู่หรือไม่ยอมรับตัวเอง ตรงนั้นเป็นจุดที่เห็นได้ชัดว่ามีการจุดประกายและมีคนที่กล้าที่จะยอมรับตัวเองมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันคนที่ปิดก็ปิด คนที่ดูถูกเหยียดหยามก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ แต่คนส่วนนี้มักจะไม่ค่อยเปิดเผยตัวเองว่าเป็นใคร ก็เหมือนวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นไปวันๆ ในเรื่องอื่นด้วย แต่ว่ามันก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ แต่ว่าดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมั้ย เพิ่งเป็นเวลาหนึ่งปีเองที่พอลลีนได้เปิดเผยตัวตนออกมา

เพราะฉะนั้นก็ยังมีหนทางอีกยาวไกล แน่นอนสุดท้ายมันไม่ใช่ว่าสังคมจะต้องยอมรับหรือเข้าใจหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ มันไม่ใช่ แต่อย่างน้อยทำให้มันดีขึ้นทุก ๆ วันก็น่าจะเป็นเรื่องดี ถึงแม้ว่าจะเหนื่อยก็ต้องค่อย ๆ ทำ คือทำจริง ๆ แต่สุดท้ายมันก็ต้องค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง เหมือนเราฟังเพลงเพื่อชีวิต เรื่องอะไรต่าง ๆ มาตั้งเยอะแยะตอนเราเป็นเด็ก ทุกวันนี้สังคมก็ยังเหมือนเดิม คำว่าเมดอินไทยแลนด์ มันก็ยังไม่เกิดขึ้น คนที่นิยมคุณค่าของความเป็นไทย มันก็ยังไม่ได้เห็นชัด แม้ว่าเราจะมีการสื่อสารเรื่องความคิดแบบนี้มาเป็นเวลานาน มันก็ต้องคอยตอกย้ำอยู่เรื่อย ๆ 

ตอนที่อยู่ที่อเมริกากับตอนที่กลับมาเมืองไทยแล้ว ความท้าทายที่เราเจอมันต่างกันไหม คือการเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่อเมริกากับที่เมืองไทยมันต่างกันอย่างไร

สำหรับตัวเอง ที่อเมริกามันไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน เราก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ทำงาน แล้วก็ใช้ชีวิตปกติ วันหยุดเราก็ไปเที่ยว ทุกคนก็ไม่ได้มาให้ความสนใจอะไรเรามากนัก เข้าไปซื้อของ เขาก็เรียกว่าคุณผู้หญิง เขาก็เรียกว่าเธอ เขาก็เคารพ ให้เกียรติเรา ปฏิบัติเหมือนเราเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง

แต่มาเมืองไทย บทบาทมันต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะว่าเรามีคนรู้จักเยอะ และคนก็รู้ว่าเราคือผู้หญิงข้ามเพศ การปฏิบัติ เราจะไปคาดหวังว่าเขาจะคิดว่าเราเป็นผู้หญิงก็คงไม่ใช่ เขาก็คิดว่าเราเป็นผู้หญิงข้ามเพศ แต่เราจะเอาการเปิดเผยตัวตนของเราเป็นประโยชน์กับคนอื่นยังไง นั่นคือสิ่งที่พอลลีนคิด 

เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเสียสละบางอย่าง เพราะว่าอยู่ที่อเมริกาจะสบายใจตรงที่ว่าไปไหนก็จะมีแต่คนที่ปฏิบัติเหมือนเราเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ไม่ได้มาจับผิดอะไรมากนัก แต่ว่าสำหรับเมืองไทยมันต่างกัน เราเปิดเผยแบบนี้ ทุกคนก็รู้ว่าเราเป็นผู้หญิงข้ามเพศ มันก็มีจุดที่เราต้องเสียสละ ในเมืองไทยทุกคนรู้จักพอลลีนว่าเป็นผู้หญิงข้ามเพศ แต่จะทำยังไงให้การเสียสละตรงนั้นมันเกิดประโยชน์กับคนอื่น

การเป็นผู้หญิงข้ามเพศในสนามการเมือง ต้องพบเจอกับความท้าทายอะไรที่ไม่เหมือนนักการเมืองผู้ชายหรือนักการเมืองผู้หญิงบ้างไหม

ถ้าเข้าไปทำงานจริง ๆ สำหรับตัวเองไม่ได้มองว่าอะไรเป็นปัญหาเลย เราทำงานกับผู้ชายมาก่อนและทำงานในฐานะผู้ชายมาก่อน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะกลับไปเป็นผู้ชายแล้วก็ทำงานในสภา เราก็เป็นผู้หญิงข้ามเพศเหมือนเดิม เพียงแต่ว่ามุมมองหรือทักษะในการพูดคุยกับคน มันก็ใกล้เคียงกับที่เคยเป็น แต่ว่าข้อดีคือเรามีมุมมองเป็นสองฝั่งสองด้านมากขึ้น

อุปสรรคไม่ได้เกิดจากตัวเรา อุปสรรคอาจจะเกิดจากความคิดของคนอื่น จากนักการเมืองท่านอื่น อะไรแบบนี้เป็นต้น หรือแม้แต่ตอนนี้กำลังจะเลือกตั้ง อุปสรรคอาจจะเกิดจากคนลงคะแนนที่มองแล้วยังไม่ยอมรับผู้หญิงข้ามเพศแบบเรา แต่ถ้าเขาไปศึกษาประวัติหรือเขาไปย้อนดูว่าเราเคยทำอะไรมาบ้าง เขาอาจจะเปลี่ยนใจ เพียงแต่ตอนนี้อยู่ในช่วงที่ต้องทำความเข้าใจและให้เขาได้รู้จักตัวตนของเราให้มากที่สุด ว่าเราเป็นผู้หญิงข้ามเพศแบบไหนและทำอะไรมาก่อน ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้มันต้องใช้เวลาในการสื่อสาร ก็หวังว่าจะเข้าไปในสภา แล้วก็จะไปสื่อสารในสภาให้ชัดเจนมากขึ้นว่า LGBT หรือคนข้ามเพศ หรือคนหลากหลายทางเพศ เขาก็ทำงานกับคนปกติทั่วไปได้ เพราะว่าเราก็เป็นคนปกติทั่วไป

ถ้าได้เข้าไปเป็นส.ส. จริง ๆ อย่างแรกที่อยากจะทำคืออะไร 

มันคงมีหลายอย่างค่ะ มันไม่ใช่อย่างแรก อย่างแรกก็อาจจะต้องเข้าประชุม (หัวเราะ) แต่ว่ามันคงมีหลายอย่างมากในระดับต่าง ๆ กัน หนึ่ง ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ สอง พิสูจน์ตัวเอง ในแง่ที่ไม่ได้ไปเบียดเบียนใครนะ พิสูจน์ตัวเองในงานต่าง ๆ แต่ถามว่าในแง่กฎหมาย มันขึ้นอยู่กับว่าเราได้คะแนนเข้าไปผลักดันเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน แต่เท่าที่สอบถามและเท่าที่สัมผัสดู ส่วนใหญ่พรรคการเมืองไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวกับบุคคลหลากหลายทางเพศ นักการเมืองส่วนใหญ่ ถ้าเขาจริงใจในการสื่อสาร เท่าที่พูดคุยมา ทุกพรรคไม่มีปัญหา แต่มันอาจจะเป็นเพราะว่าเวทีที่จัดเป็นเวทีเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ นักการเมืองก็พยายามจะพูดเอาใจกลุ่มผู้ชมหรือสื่อมวลชน แต่ก็ต้องไปดูกันจริง ๆ ว่าแต่ละพรรคมีความจริงใจในเรื่องนี้แค่ไหน แต่ถ้าเป็นอย่างที่พอลลีนคิดและได้สัมผัสมา เรื่องกฎหมายความหลากหลายทางเพศน่าจะเป็นจุดที่ทำให้สภาหลอมรวมเป็นความคิดเดียวกันมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ไม่น่าจะมีปัญหาในการที่จะพิจารณากฎหมายมากนัก ยกเว้นในเรื่องรายละเอียด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด สิ่งแรกที่ควรจะทำก็คือ ถ้าเป็นส.ส. ผู้หญิงข้ามเพศเข้าไป สิ่งแรกที่จะทำก็คือต้องอธิบายหรือให้ความเข้าใจกับคนในสภาก่อนว่าสิ่งใดเหมาะสม สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ ไม่ใช่ว่าเคารพเราคนเดียว แต่ว่าต้องเคารพประชาชนทุกคนที่มีความหลากหลายด้วย จะต้องพูดคุยกับสมาชิกพอสมควร

สมมติว่าผลักดันไม่ว่าจะเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรือการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในระดับสภา คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาใช่ไหม

มันก็มีกระบวนการของเวลาในการยกร่าง ในการแก้ไข แต่ในเรื่องของแนวคิดหรือการยอมรับกฎหมายลักษณะนี้ ไม่น่าจะมีปัญหามาก ปัญหาอยู่ในรายละเอียดปลีกย่อย ว่าคนจะเข้าใจและคนจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ยกตัวอย่างเรื่องของการรับรองเพศสภาพ คนก็จะกังวลในเรื่องของประวัติอาชญากรรม ว่าอยู่ ๆ คนจะมาเปลี่ยนชายเป็นหญิง เปลี่ยนหญิงเป็นชายง่าย ๆ แต่จริง ๆ มันไม่มีอะไรเลยถ้าระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบฐานข้อมูลของรัฐบาลเป็นอย่างที่ควรจะเป็น ใช้เลขที่บัตรประชาชนตามได้ทุกอย่างสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย แต่ว่าเอาตั้งขึ้นมาว่ามันมีปัญหาเพื่อจะมองว่าสิ่งนี้ไม่จำเป็นแล้วก็ตัดออกไปเพราะว่าจะเกิดปัญหา แต่จริง ๆ ปัญหาซ้อนหรือความอ่อนไหวของปัญหามันสามารถแก้ได้หมด ต้องเอาความสำคัญก่อนว่าสิทธิมนุษยชน สิทธิในการระบุเพศสภาพมันสำคัญและจำเป็นอย่างไร ต้องเริ่มต้นจากการอธิบายเรื่องพวกนี้ให้เข้าใจในสภาก่อน

คิดว่าถ้าเราจะผลักเรื่องการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะเจอแรงต้านมากกว่าการเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตหรือเปล่า

มีการถกเถียงกันค่อนข้างเยอะใช่ไหม 

ใช่ค่ะ

การแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 จะมีการถกเถียงกันเพราะมันจะไปกระทบกับมาตราอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้แนวความคิดการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถูกนำมาใช้ในการหาเสียงค่อนข้างเยอะ แต่ว่าในรายละเอียดมันจะมีปัญหา มีความอ่อนไหวอยู่ ความอ่อนไหวของปัญหาคือไปเกิดปัญหาใหม่ พอแก้ปัญหานี้แล้วเกิดปัญหาซ้อนขึ้นมาใหม่ ตรงนี้เราไม่รู้ว่ามันมากน้อยแค่ไหน แต่พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่มีการยกร่างและผ่านครม.มา มันก็ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งตรงนี้ถ้านำกลับมาเริ่มใหม่แล้วทำให้สมบูรณ์ตั้งแต่ต้น ทั้งสองอย่างสามารถทำไปด้วยกันได้

สมมติว่าเรามีเครื่องมือสองเครื่องมือ มันก็ดีกว่ามีเครื่องมือเดียว แล้วแต่ว่าเราจะหยิบค้อนมาตอกตะปูหรือว่าเราจะเอาประแจมาตอกตะปู ถึงมันจะไม่ตรงมากนักแต่ว่ามันก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรตอกตะปู การมีอุปกรณ์ในการช่วยไปสู่เป้าหมายมากขึ้น มันก็ไม่เสียหลายอะไร ถ้าไม่ได้ใช้ความพยายามมากนัก พ.ร.บ.คู่ชีวิต เราได้ใช้ความพยายามมาแล้ว จะให้ทิ้งไปเลยมันก็เสียเวลา อาจไม่ใช่เวลาของเราแต่ก็เป็นเวลาของคนในเครือข่ายที่เขาทำงาน ซึ่งมันก็ควรจะเอามาพิจารณาแล้วก็ทำควบคู่กันไป มันไม่ได้เสียหายอะไร

ก็คือยังไงจุดหมายก็เป็นจุดหมายเดียวกัน ทำทั้งสองอย่างพร้อมกันไปเลย

ใช่ มีแมวสองตัวจับหนูมันก็ดีกว่ามีแมวตัวเดียว มันก็จับง่ายมากขึ้น 

มันก็ไม่ได้ซ้ำซ้อนกันนะ ถึงเวลาแมวตัวหนึ่งอยู่อีกที่หนึ่งอาจจะจับหนูไม่ได้ แมวที่อยู่ใกล้หนูที่สุดก็จับให้ หรือใครก็เลือกใช้แมวตัวไหนก็แล้วแต่

สมมติว่าคุณได้เป็นนายกรัฐมนตรี คิดว่าจะเป็นอย่างไร

สำหรับเรื่องนี้ คงจะเป็นเรื่องที่พูดให้เป็นการเหมาะสมได้ค่อนข้างยาก เพราะความคิดของคนส่วนใหญ่มองคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจากบารมี จากเกียรติยศชื่อเสียง มองจากมาด มันมีปัจจัยเยอะแยะที่ทำให้คนคนหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่สำหรับพอลลีน พอลลีนมีความมั่นใจว่าทำได้ เพราะเราเห็นนายกฯที่ผ่านมาแล้วรู้สึกว่าเราก็ทำได้ เพียงแต่ว่าเราจะต้องหล่อหลอมปัจจัยต่าง ๆ ยังไง วันนี้มันไม่ใช่หรอก วันนี้เราเข้าใจตัวเราเองดีว่าเรามาเพื่ออะไร เรามาเพื่ออย่างน้อยแค่เพื่อเข้าสภา เพื่อพิสูจน์ว่าเราทำงานได้ แต่มันต้องใช้เวลาในการหล่อหลอมคน หล่อหลอมความคิด การสนับสนุนของคน เพื่อที่จะเข้าไปสู่จุดนั้น มันไม่ใช่เรื่องเงิน เพราะถ้านายกรัฐมนตรีทุกคนต้องรวยหมด ปัญหาจริง ๆ มันก็ไม่ได้รับการแก้ไข แต่ที่บอกว่ามั่นใจเพราะว่าเรามีความคิดในมุมมองที่เป็นสำหรับทุกคน สำหรับชาย สำหรับหญิง สำหรับบุคคลหลากหลายทางเพศ มันจบในจุดเดียว สมมติว่ามีนายกฯเหยียดเพศ มันก็มีปัญหากับคนในประเทศ มีนายกฯเหยียดคนจน มีนายกฯหมั่นไส้คนรวย มันก็มีปัญหาตามมา เพราะว่าเขาเป็นตัวแทนความคิดของคนแค่ไม่กี่กลุ่ม เป็นตัวแทนของคนแค่ไม่กี่กลุ่มแล้วไปบริหารประเทศโดยรวม แต่ที่เรามั่นใจเพราะว่าเรารู้ว่าความคิดของเรามันครอบคลุมทุกกลุ่ม พยายามที่จะให้มันครอบคลุมทุกกลุ่มและเข้าใจคนทุกกลุ่ม 

เรามาจากคนระดับกลาง ไม่ได้มาจากคนระดับล่างหรือระดับสูง ทำไมสังคมมันต้องแบ่งเป็นระดับ แต่จริง ๆ แล้วเราก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจริงๆแล้ว เราเข้าไปทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มองคนเท่ากันและเข้าใจความคิดของทุกเพศ ทุกสถานะสังคม มันจะดีกว่าหรือเปล่า เรามองว่า นี่ก็ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศไปหลายครั้งว่า I will make a better Prime Minister ไม่ได้หมายความว่าตัวเองเก่งที่สุดหรืออะไรที่สุด แต่อย่างน้อยเรามีสิ่งที่คนอื่นไม่มี อันนี้คือสิ่งที่มั่นใจ แต่การจะไปอยู่จุดนั้นมันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราก็ไม่ได้อยากเป็น เรารู้ว่าเราเป็นได้ เราทำอะไรได้ แต่เราก็ไม่ได้มองว่าการมีอำนาจหรือการมีตำแหน่งเป็นเป้าหมาย เราแค่บอกว่า ถ้าเรามีโอกาสได้เป็น การเป็นมันแค่เป็นเครื่องมือที่จะไปสู่เป้าหมาย คือการเปลี่ยนแปลงความคิดคน เปลี่ยนแปลงสังคม พัฒนาให้มันดีขึ้น บางเรื่องเป็นแค่เรื่องเปลี่ยนแปลงความคิด เรื่องคนจนคนรวย บางทีมันก็แค่เรื่องเปลี่ยนแปลงความคิด ทำไมต้องมีคนจนมีคนรวย จริง ๆ แล้วคนจนอยากมีโทรศัพท์เหมือนคนรวย มันเลยจนไง แต่ถ้าคนจนคิดว่าตัวเองรวยแล้วเพราะมีข้าวกินทุกมื้อ มีบ้านอยู่และมีพื้นที่ด้วย มีเครื่องนุ่งห่ม มีที่อยู่อาศัย แต่คนจนกลายเป็นคนจนเพราะว่าคนจนไม่มีโทรศัพท์เหมือนที่คนรวยมี ก็เลยมองว่าตัวเองจน ไม่มีเสื้อยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ จึงมองว่าตัวเองจน จริง ๆ ไม่มีใครจนเลยในประเทศนี้ เพราะประเทศเรามีทุกอย่างสมบูรณ์หมด การจะอดตายเป็นเรื่องยากมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราแค่เปลี่ยนความคิดตรงนี้ ประเทศเราก็พัฒนาได้ เราจะมีรถยนต์แบรนด์ของเราก็ได้ จะมีโทรศัพท์มือถือแบรนด์ของเราแล้วใช้กันเอง ช่วย ๆ กันพัฒนาไป ก็ทำได้

พอพูดถึงเรื่องนายกรัฐมนตรี มันมีหลายเรื่องที่เราจะต้องทำ แต่มันไม่ใช่เป้าหมายที่เราจะต้องเป็น แต่ถ้าเราได้เป็น นี่คือเครื่องมือในการไปให้ถึงเป้าหมายในการเปลี่ยนสังคมไปในทางที่ดีขึ้น

ตอนนี้คิดว่ามีโอกาสแค่ไหนที่เราจะได้เข้าไปนั่งอยู่ในสภา มั่นใจมากแค่ไหน

เวลาที่เราทำงานโดยมีประชาชนเป็นผู้ตัดสิน มันไม่สามารถพูดได้เลยว่ามั่นใจ เพราะมันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน เราก็มีหน้าที่ทำให้ดีที่สุด ตั้งธงความคิดให้ดีที่สุด แล้วก็มีคำมั่นสัญญาให้ดีที่สุด แต่คงไม่ได้สัญญาว่าเราจะเป็นนักการเมืองที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งอันนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะต้องมีพันธสัญญากับตัวเองอยู่แล้ว พอลลีนชัดเจนในตัวเองว่าเรามาทำเพื่ออะไร มีเป้าหมายอะไร และมีอะไรเป็นวิธีการไปสู่เป้าหมาย อย่างที่บอก เป้าหมายมันคือตัวการเปลี่ยนแปลง เป้าหมายไม่ใช่การมีตำแหน่ง มั่นใจไหม ก็ตอบไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องรอถึงวันที่ 24 มีนาคม 

สมมติว่ามันไม่ได้ ก็ทำต่อไปให้ดีที่สุด วันหนึ่งมันก็อาจจะได้เปลี่ยนแปลงสังคมนี้จริง ๆ ก็ได้ หรือในช่วงที่เราไม่ได้เข้าไป ก็อาจจะช่วยผลักดันอยู่ข้างนอก ก็ทำตัวเป็นประโยชน์กับคนอื่น ในฐานะอะไรก็ยังทำได้อยู่ ที่ผ่านมาก็ทำอยู่ ดังนั้นก็มีความหวังลึก ๆ แต่ว่าไม่มั่นใจ แต่ว่าพยายามทำให้ดีที่สุด 

มองเรื่องรัฐสวัสดิการอย่างไร

มองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศเราควรเดินไปสู่ โดยไม่เอารัฐสวัสดิการมาเป็นเครื่องมือในการหาเสียง พอลลีนว่านโยบายที่บอกว่าเป็นรัฐสวัสดิการ มันกลายเป็นประชานิยมเป็นส่วนใหญ่ รัฐสวัสดิการคือการเติมเต็มต้นทุนมนุษย์ให้เขาสามารถแข่งขันได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเชิงตะกอน การเติมเต็มต้นทุนมนุษย์คือให้เขามีคุณค่าในฐานะมนุษย์ มีความสามารถ มีศักยภาพในการทำงาน ในการแข่งขันกับคนอื่น แข่งขันกับประเทศอื่น รัฐสวัสดิการไม่ควรเป็นแค่การตั้งงบประมาณขึ้นมาแล้วก็ช่วยเหลือคนจน ช่วยเหลือคนยากไร้ ช่วยเหลือเด็ก ช่วยเหลือคนแก่ ไม่ใช่เป็นแค่นั้น รัฐสวัสดิการต้องไปเสริมสร้างศักยภาพตั้งแต่ต้น และให้เขามีการศึกษา ต้องไปดึงความสามารถพิเศษของเขา การศึกษานี่ไม่ได้หมายถึงการศึกษาในระบบที่มุ่งเน้นให้คนไปเป็นลูกจ้างเพียงอย่างเดียว การศึกษานี่หมายถึงให้เขามีความรู้รอบด้าน มีความสามารถในการตัดสินใจ จะเลือกอนาคตของตัวเองได้ เขาควรจะต้องเป็นเลิศในด้านไหน อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐสวัสดิการต้องเข้าไปดูตรงนี้ 

มองว่าการบริหารจัดการที่ดีที่สุดคือในรูปของกองทุน เพราะว่ามันจะเป็นการไหลลื่นในแง่งบประมาณ สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เหมือนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนอะไรต่าง ๆ กองทุนพัฒนาต้นทุนมนุษย์ควรจะต้องมี แล้วถ้าสมมติต้องมีการเพิ่มงบประมาณ ก็ใช้งบประมาณอัดฉีดเข้าไป แต่ถ้ามันดำเนินไปได้และมีกำไรที่พอเหมาะ กองทุนนี้ก็ดำเนินต่อไปโดยที่รัฐไม่ต้องไปจุนเจือตลอดเวลา เพราะฉะนั้น สำหรับรัฐสวัสดิการ มองว่ามันควรจะเป็นในแง่การเสริมสร้างศักยภาพ ไม่ใช่เอาเงินไปให้ 

ยกตัวอย่างเรื่องของเยาวชน การศึกษาให้ระบบ จัดให้มี แล้วก็ศึกษาในระบบอย่างเดียวมันไม่พอ สมมติในชั้นประถมฯ มันจะต้องมีหน่วยงานที่ไปดูในเรื่องของความสามารถพิเศษ ไปส่งเสริมศักยภาพ ไปดูศักยภาพของเขา กีฬา เศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม ในเรื่องที่เขาจะเป็นคนที่มีคุณภาพแข็งแรงในจุดที่เขาถนัดได้ ไม่ใช่แค่ไปเป็นพนักงานบริษัทอย่างเดียว ตรงนี้สำคัญในแง่เยาวชน ปัจจุบันในประเทศไทย เยาวชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุห้าปี มีความสามารถ มีศักยภาพที่จะไปแข่งขันได้แค่หกสิบเปอร์เซ็นต์ ที่เหลือไม่มีความสามารถ ในหกสิบเปอร์เซ็นต์นี้จะมีความสามารถในการแข่งขันต่อเมื่อได้รับการศึกษาที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นปลายทางมันอาจจะไม่เหลือบ่ากว่าแรงเท่าไหร่เลย สำหรับเรื่องเยาวชน พอเขามีความสามารถในการแข่งขัน รัฐสวัสดิการก็ใช้งบประมาณน้อยลง เพราะเขาไม่ได้ตกงาน เขาได้ทำงานในสิ่งที่เขาชอบ เขาแข่งขันได้ เขาเป็นช่างทาสีที่เก่งที่สุดในโลก เขาเป็นคนเก็บขยะรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพที่สุดในเอเชีย อะไรแบบนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ต้องอยู่ในภาวะที่จะต้องมาพึ่งพาเงินสังคมสงเคราะห์จากรัฐบาล อันนี้คือสิ่งสำคัญที่สุด 

พอเขาอายุหกสิบหรือหกสิบห้าที่จะอยู่ในวัยเกษียณ ปัจจุบันวัยเกษียณหกสิบใช่ไหมคะ คิดว่าเราควรจะนำงบประมาณไปให้ผู้สูงอายุ หรือเราควรให้ผู้สูงอายุมีโอกาสทำงานที่เหมาะสม และเขามีคุณค่าในชีวิตขึ้นมา

รัฐสวัสดิการควรจะต้องเข้าไปเติมในเรื่องของการคมนาคมให้ผู้สูงอายุ ให้การเดินทางไปทำงานของผู้สูงอายุ ที่ญี่ปุ่น พอลลีนมีเพื่อนคนหนึ่ง อายุเจ็ดสิบกว่า ตอนนี้ก็ยังทำงานอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาที่ผู้สูงอายุได้ทำงาน มันจะมีพลังงานพิเศษ และอายุก็จะยืน จะไม่ค่อยแก่ แล้วก็มีคุณค่ากับสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเขาไม่อยากทำ เราก็มีสวัสดิการให้เขา พอสมควรในการเดินทาง ในการรักษาพยาบาล ในการดำรงชีวิต สำหรับพอลลีนคิดว่ารัฐสวัสดิการคือการส่งเสริมสวัสดิภาพของคน ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน และผู้สูงอายุ

ถ้าใส่ประเด็นเรื่อง LGBT เข้าไปในหัวข้อเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ คิดว่าจะมีมาตรการอะไรที่ช่วยทำให้รัฐสวัสดิการดีขึ้นและตอบสนองกับกลุ่ม LGBT ได้เพิ่มขึ้นไหม

จริง ๆ LGBT ก็เจอปัญหาเดียวกันกับเรื่องต้นทุนมนุษย์ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ เพราะในเรื่องของโอกาสในการศึกษา ไม่ใช่ว่าเขาไม่รับเข้าเรียนนะ เขารับเข้าเรียน แต่ว่ายังมีการเลือกปฏิบัติอยู่ ในการรับเข้าทำงานก็ยังมีการเลือกปฏิบัติกันอยู่ ถามว่ารัฐสวัสดิการจะต้องเข้าไปดูเรื่องอะไร ก็จะต้องเข้าไปดูในเรื่องการให้ความรู้กับคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ทำยังไงให้ LGBT ไม่ถูกไล่ออกจากบ้านเพียงเพราะว่าไม่เหมือนคนอื่น และเพราะครอบครัวกดดันกลัวชาวบ้านจะติฉินนินทา เป็นต้น 

รัฐสวัสดิการคือควรจะมีหน่วยงานที่เข้ามาดูในเรื่องสุขภาพของกลุ่มหลากหลายทางเพศ เรื่องผู้หญิงข้ามเพศ ผู้ชายข้ามเพศ ในต่างประเทศเขาจะมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสุขภาพ เรียกว่า Gender health center ดูแลในเรื่องของเพศของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และจะต้องมีมากเพียงพอที่จะรับใช้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วย ไม่ใช่มีรวมศูนย์อยู่แค่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ควรจะต้องมีทุกที่ รัฐสวัสดิการต้องเข้าไปดูเรื่องสุขภาพของผู้ด้อยโอกาสทั้งหมดรวมถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องฮอร์โมน การตรวจวัดฮอร์โมน การควบคุมปริมาณฮอร์โมนของผู้หญิงข้ามเพศ ผู้ชายข้ามเพศให้เหมาะสม ที่จะไม่มีปัญหากับสุขภาพ รวมไปถึงสำหรับคนที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศ รัฐสวัสดิการควรจะต้องเข้ามาดูด้วยว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนคนหนึ่งมีความสุขในชีวิต และมีศักยภาพที่จะทำงานให้คนอื่นได้ด้วย แต่เราก็ต้องมาดูว่าสิ่งใดที่เหมาะสม ที่เป็นเรื่องของสุขภาพและจำเป็นจริง ๆ สิ่งใดที่เป็นเรื่องเสริมความงามมันก็คงไม่ได้อยู่ในรัฐสวัสดิการ แต่ถ้าเป็นเรื่องของความจำเป็น เรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศจริง ๆ ที่ต้องการจะเปลี่ยน ในต่างประเทศ ระดับของการให้รัฐสวัสดิการก็ต่างกัน คือถ้าพูดถึงเรื่องการแปลงเพศ ถึงแม้จะมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่ทางด้านประกันสุขภาพเขายอมให้ นั่นคือจุดสำคัญ แต่เขาไม่ได้ให้เกี่ยวกับเรื่องเสริมหน้าอก หรือศัลยกรรมความงาม เพราะนั่นเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากความจำเป็น

คุณพูดคล้าย ๆ กับว่าปัญหาความยากจนคือการที่คนจนอยากได้มือถือเหมือนคนรวย แต่ผมกลับเห็นต่างว่าเรามีความเหลื่อมล้ำอยู่ในสังคมจริง ๆ และคนที่ได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้มากที่สุดกลุ่มนึงก็คือ LGBT เวลาที่เราเข้าไปดูในสถานศึกษาเราก็จะพบว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะผ่าตัดแปลงเพศได้เพราะว่ามีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต้องใช้ คุณมีความเห็นในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจว่ายังไง

เมื่อกี้ที่บอกหมายถึงว่าคุณค่าของสังคมมันถูกแบ่งเป็นจนกับรวย ดังนั้นพอคุณค่าของสังคมมันแบ่งเป็นแบบนั้นแล้ว มันทำให้คนจนมีความต้องการมากขึ้น มันทำให้ความแตกต่างมันยิ่งชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าความจนความรวยไม่มีอยู่จริง มันมีอยู่จริง เพราะว่าโอกาสทางเศรษฐกิจมันไม่เท่ากัน การเข้าถึงการศึกษา เข้าถึงแหล่งความรู้ และการเข้าถึงแหล่งเส้นสาย มันไม่เหมือนกัน มันไม่เท่ากันจริง ๆ เพราะประเทศไทยก็ยังทำธุรกิจบนฐานของเส้นสาย คุณรู้จักใคร ไม่ใช่ว่าคุณรู้อะไร เราจะต้องเปลี่ยนประเทศไทยให้ทำธุรกิจบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถมากกว่าว่ารู้จักใคร อย่างยกตัวอย่างนโยบายหนึ่งของพรรคมหาชนก็คือเรื่องของการเข้าถึงตลาดการค้าออนไลน์ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วย ในเรื่องของการฝึกอบรม รวมถึงทำโครงสร้างการค้าออนไลน์เป็นของตัวเอง เพื่อให้ประชาชนทุกที่ ทั้งในระดับตำบล ระดับหมู่บ้านอยากจะเอาผลิตภัณฑ์โอทอป หรือสินค้าทางการเกษตรมาวางขายบนตลาดออนไลน์ ก็สามารถทำได้ มีโอกาสในการเข้าถึงตลาดเท่า ๆ กัน ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่แค่จุดเดียว อันนี้เรายังไม่พูดถึงการที่จะเปิดให้คนทุกคนมีโอกาสได้ทำธุรกิจที่ปัจจุบันมีการผูกขาดอยู่ค่อนข้างเยอะ ไม่ผูกขาดก็เหมือนผูกขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสุราพื้นบ้าน เรื่องของสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ที่ปัจจุบันมันกระจุกอยู่แค่นายทุนเพียงไม่กี่คน สิ่งเหล่านี้มันต้องทำให้คนในระดับ (จริง ๆ ไม่ได้อยากใช้คำว่าระดับ) ที่เข้าไม่ถึง ต้องให้เข้าถึงโอกาสตรงนี้มากขึ้น 

ในแง่ของ LGBT เองก็ตาม จริง ๆ LGBT มีโอกาสในหลายเรื่อง แต่มันไม่ครอบคลุมหมดทุกเรื่อง คนอยากจะเป็นพนักงานบริษัทธรรมดาก็เข้าไม่ได้ หรือเข้าไปก็ไม่สามารถที่จะเติบโตได้ ทั้ง ๆ ที่มีความรู้ความสามารถ LGBT จึงไปอยู่ในธุรกิจพิเศษ ที่เป็นเจ้าของธุรกิจเอง ขายของออนไลน์ ทำด้านความสวยความงาม ไปอยู่ในวงการบันเทิง แต่ที่น่าเสียดายก็คือคนที่มีศักยภาพที่เป็น LGBT ต้องไปอยู่ในอุตสาหกรรมทางเพศ จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเขาต้องการ แต่เนื่องจากว่าสังคมไม่ได้เปิดโอกาสให้เขา นั่นเป็นวิธีที่เขาจะสามารถเลี้ยงครอบครัวได้เขาก็ต้องทำ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้มันเท่ากันมากที่สุดในด้านการเข้าถึงโอกาส

คุณมองการเมืองไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างไร คิดว่าการเมืองไทยจะไปไหนต่อ

เป็นฟุตบอลที่ไม่รู้ว่าอยู่รอบไหน ฟุตบอลในทัวร์นาเม้นท์หนึ่งก็จะมีรอบชิงชนะเลิศ รอบรองชนะเลิศ ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าเรากำลังแข่งกันอยู่ในช่วงไหนเพราะว่ามันมีอะไรบางอย่างที่พร้อมจะล้มกระดาน พร้อมที่จะเปลี่ยนเกม เปลี่ยนกฎกติกาอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันคาดเดายาก เราก็มีหน้าที่ทำให้ประชาธิปไตยมันหมุนไปก่อน ถ้าไม่หมุนมันก็จะล้ม ประชาธิปไตยมันก็ต้องหมุนไปก่อน พยายามให้มันเดินไปได้ก่อน แล้วใครจะมาถีบวงล้อประชาธิปไตยล้มไปอีกรอบหนึ่งก็ยังไม่รู้ แต่ถามว่า ณ ขณะนี้เราเป็นนักประชาธิปไตย ในเมื่อมันตั้งขึ้นมาได้เราก็พยายามที่จะหมุนไปก่อน แต่มันจะมีแรงผลักดันขับเคลื่อนไปมากแค่ไหนก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครมาถีบให้วงล้อประชาธิปไตยมันล้มอีกหรือเปล่า ถ้าล้มอีกก็ต้องพยายามพยุงขึ้นมาอีก

ตอนนี้มันมีความไม่แน่นอนค่อนข้างเยอะ แต่เรายอมแพ้ไม่ได้หรอก และคนที่ลงเลือกตั้งทุกคนก็น่าจะเข้าใจในเรื่องของประชาธิปไตย ควรจะต้องเข้าใจให้มาก ยังมีนักการเมืองที่มาลงเลือกตั้งโดยที่ยังไม่เข้าใจประชาธิปไตยอีกเยอะ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่วาระของแต่ละคน เพียงแต่ว่าถ้าเราเป็นนักประชาธิปไตย เราก็ต้องพยายามทำไปก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net