4 พรรคคุยนโยบายสื่อ วอนรัฐบาล-ฝ่ายค้านเร่งเดินหน้า หวั่นอยู่ไม่ถึงปีครึ่ง

ดูมุมมองพรรคการเมืองสี่พรรคต่อสื่อ ค่อนข้างเห็นตรงกันควรแก้ไขคำสั่ง กฎหมายลิดรอนสิทธิ เสรีภาพสื่อ แก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ความมั่นคงไซเบอร์ ไม่ให้เป็นเครื่องมือการเมือง ประเมิน รัฐบาลหน้าอยู่ไม่เกินปีครึ่ง ฝ่ายค้าน รัฐบาลต้องร่วมมือกันแก้ไขกฎหมายคุมสื่อ ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ สื่อก็ต้องช่วยผลักดัน คุยกันให้มากเรื่องการควบคุมกันเอง

ซ้ายไปขวา: ณรรธราวุธ เมืองสุข จิรายุ ห่วงทรัพย์ บุญยอด สุขถิ่นไทย สัมพันธ์ แป้นพัฒน์ พรรณิการ์ วานิช

14 มี.ค. มีงาน เวทีเสวนา “รับฟังนโยบายพรรคการเมืองทีเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน” ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีตัวแทนพรรคร่วมเสวนาได้แก่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ พรรคเพื่อไทย บุญยอด สุขถิ่นไทย พรรคประชาธิปัตย์ สัมพันธ์ แป้นพัฒน์ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่ ส่วน พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ พรรคพลังประชารัฐ ศุภชัย ใจสมุทร พรรคภูมิใจไทย ได้รับเชิญแล้วแต่ไม่มาร่วมเวที

มุมมองพรรคการเมืองต่อสื่อและปัญหา

จิรายุ: ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการนำเสนอผ่านสื่อสารมวลชนทุกรูปแบบ หลังปี 2550 ขึ้นมาดูจะเชื่อได้บ้างไม่ได้บ้าง บางคนบอกว่าดูข่าวโทรทัศน์หรือโซเชียลมีเดียก็ต้องรอยืนยันจากหนังสือพิมพ์กรอบเช้า แต่หลังเหตุการณ์สีเสื้อ วิกฤติทางการเมืองก็จะเห็นสื่อแสดงตัวตนชัดเจน ถามว่าดีไหม ในสังคมที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดี การแสดงตัวตนชัดเจนทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ทั่วถึง พอมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีโซเชียลมีเดียที่สื่อสารรวดเร็ว ก็สามารถตรวจสอบกันได้ว่าข่าวที่ได้รับเป็นข่าวจริงหรือปลอม ทำให้รู้สึกว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้กระบวนการกลั่นกรองของสื่อสารมวลชนที่ปลายทางถือเป็นเกณฑ์ที่ดี เช่น สามารถสื่อสารถามกันในไลน์กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆ

จิรายุกล่าวว่า แต่ปัญหาอยู่ที่การถูกปิดด้วยคำสั่งคณะปฏิวัติ ทำให้รู้สึกว่าสื่อที่อยากค้นข้อมูลความจริงยังเกรงใจคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่  97/2557 103/2557 ถ้าประชาชนมั่นใจว่าไม่มีกระบวนการตรวจสอบโดย คสช. ก็เชื่อว่ากระบวนการถ่วงดุลระหว่างสื่อมวลชนจะทำหน้าที่การรับข้อมูลข่าวสารของสังคมได้ดีที่สุด

บุญยอด: ยังยืนหยัดว่าสื่อต้องทำหน้าที่เพื่อสังคม สะท้อนข้อเท็จจริง ความจริง นำพาสังคมไทยไปข้างหน้าให้ได้ ปัจจุบันเราปรับสื่อเปลี่ยนแปลงไป การรับรู้ของคนในสังคมก็เปลี่ยนแปลง หลายคนไม่ได้อ่านกระดาษ เปิดวิทยุ ดูทีวีอีกแล้ว กติกาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นก็อาจใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน โครงสร้างต่างๆ ทำให้คนเป็นสื่อได้ง่าย ผู้ส่งสารวันนี้ไม่ใช่ทีมงานข่าวหรือบรรณาธิการ ประชาชนก็ส่งสารได้ การเป็นผู้ควบคุมข้อมูล (Gatekeeper) ของสื่อเปลี่ยนไป ปัจจุบันเราเห็นสื่อที่มีภาพโป๊เปลือยเต็มไปหมด มีคำหยาบคายมากมาย มีข้อคิดเห็นอย่างเดียว หรือไม่ก็บิดเบือนข้อเท็จจริงจนเป็นข้อเท็จด้วยเหตุผลบางอย่าง การให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเช่นว่ามีพอหรือไม่ สื่อมีการถ่วงดุลกันเองหรือไม่

บุญยอดกล่าวว่า หากพูดเรื่องกติกาจาก คสช. แน่นอนว่า เมื่อมีรัฐบาลหน้าเราจะพูดเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ประชาธิปัตย์ยืนยันว่าจะไม่ลิดรอน ไม่แทรกแซงสื่อมวลชน หนึ่งในนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ที่ส่งให้กับ กต. มีเก้าข้อที่ส่งเสริมสื่อ เช่น เสริมสิทธิเสรีภาพสื่อตามรัฐธรรนูญภายใต้กรอบการรับผิดชอบต่อสังคม สนับสนุนบทบาทผู้นำด้านความรู้ ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ไม่แทรกแซง แก้กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์  ปกป้องสิทธิผู้ประกอบวิชาชีพ สนับสนุนการกำหนดจริยธรรมวิชาชีพให้ทันสมัย สนับสนุนให้ผู้ใช้สื่อสมัยใหม่พัฒนาสื่อสร้างสรรค์ ให้มีการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม ผู้บริโภคสื่อ ถ้าประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล รัฐบาลจะไม่ใช่คนกำกับ จับผิด สร้างเงื่อนไขต่างๆ แต่จะเป็นผู้ให้การสนับสนุน ผู้ช่วยให้วิชาชีพต่างๆ ประชาชนโตด้วยตัวเอง ตรวจสอบตัวเอง รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน

พรรณิการ์: เชื่อว่าตนโชคดีที่สุดที่เป็นสื่อและนักการเมืองในวันที่ทั้งสองวงการเจอปัญหาเยอะ เป็นประสบการณ์ที่มีค่าและมีความท้าทาย สื่อต้องเผชิญสี่ประเด็น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เศรษฐกิจ การเมือง การถกเถียงระหว่างจรรยาบรรณกับจริยธรรมสื่อ

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน เปลี่ยนสามประการ รูปแบบสื่อที่เราเสพกัน เมื่อเจ็ดปีที่แล้วเริ่มทำงานสื่อ ตอนนั้นสื่อไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ทั้งทีวีและโซเชียลมีเดียเริ่มเบ่งบาน คนเริ่มดูข่าวจากหน้าฟีดเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยูทูป เพจต่างๆ โดยเฉพาะไลฟ์เฟสบุ๊คที่มองว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าวงการสื่อที่คนไม่ต้องรอดูทีวีหรือยูทูป แต่สามารถเปิดดูไลฟ์ได้เลย และมันทำให้ทุกคนกลายเป็นสื่อ ใช้มือถือถ่ายวิดีโอ หากมีอินเทอร์เน็ตมากพอก็ถ่ายทอดสดได้ รายงานสดได้ทันที แล้วยังให้คนเข้ามาคอมเมนท์ เป็นการสื่อสารสองทางได้ด้วย ถือเป็นเรื่องดีสำหรับประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพของคนในการแสดงความเห็น แลกเปลี่ยนกัน สร้างสรรค์บ้างไม่สร้างสรรค์บ้างแต่ก็ดีกับประชาชน การบริโภคข่าวสารของคนไทยมีทางเลือก มีสีสันมากขึ้น แต่ก็แลกกับการดูคุณภาพ ความน่าเชื่อถือของสื่อ แต่ก็ดีกว่าการปิดพื้นที่สื่อเหล่านั้น

ด้านเศรษฐกิจ การประมูลทีวีดิจิทัลเกิดในช่วงเวลากับการรัฐประหาร 2557 การประมูลทีวีดิจิทัลทำให้ไทยมีทีวีเกือบ 30 ช่อง แต่มาเกิดในช่วงรัฐประหารทำให้การเปลี่ยนครั้งใหญ่ของทีวีไทยส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาล ไม่มีช่องไหนเลยที่ได้กำไร ช่องที่ยังอยูได้เพราะเจ้าของมีทุนค่อนข้างหนา และส่วนใหญ่เป็นทุนขนาดใหญ่ที่รู้สึกว่าอย่างไรก็ต้องมีสื่อในมือ จะเห็นการเลย์ออฟ โยกย้ายงานของสื่อ และคนทำข่าวต้องทำงานหนักมากเพื่อแข่งขันกันด้านเรตติ้ง การมีทีวี 20-30 ช่องไม่พอ ยังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การวิ่งหมายข่าวด้วยคนที่น้อยลงก็ต้องทำกัน แข่งเรตติ้งก็ทำให้นักข่าวท้อแท้ เพราะไม่สามารถทำข่าวที่อยากทำได้ลึก ในเวลาที่จำกัด นักข่าวที่ตั้งใจทำงานจริงๆ ไม่มีเวลาและโอกาสพอจะทำงานที่ดีมาสู่ประชาชน ด้วยข้ออ้างว่าคนไม่อยากดูข่าวเชิงลึก ข่าวงสังคมหนักๆ อยากได้ดราม่า หวือหวา ซึ่งตรงนี้ก็ต้องพิสูจน์กัน และหลายครั้งก็พบว่าคนอยากดูข่าวเช่นนั้นแต่ไม่มีโอกาสได้ดู

ด้านการเมือง สถิติ กสทช. ตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 ถึง 22 ก.พ. 2562 มีการลงดาบสื่อไปแล้ว 59 ครั้ง ตอนนี้เกินแล้ว 59 ครั้งอาศัยหลักเกนตามคำสั่ง คสช. บันทึกเอ็มโอยูระหว่างสื่อกับ กสทช. และด้วยมาตรา 37 ใน พ.ร.บ. กสทช. ที่น่าตกใจมากคือมีสถานีเดียวที่โดนลงโทษถึง 24 ครั้งก็คือวอยซ์ทีวี รองลงมาคือพีซทีวี 14 ครั้ง วอยซ์โดนปิดทั้งสถานีไปหนึ่งครั้ง ระงับออกอากาศรายงาน 15 ครั้ง อย่างอื่นอีกประปราย รวมแล้ว 24 ครั้ง ส่วนพีซทีวีก็คล้ายๆ กัน แต่ไม่ใช่แค่ฝั่งประชาธิปไตย แต่สถานีทีวีอนุรักษ์นิยมอย่างเนชั่น สปริงนิวส์ ทีนิวส์ก็โดนกันอย่างละครั้ง แม้แต่ไทยพีบีเอสก็โดนไปหนึ่งครั้ง หมายความว่าสื่อทุกสื่อเดือดร้อนอย่างถ้วนทั่วกันจากประกาศ คำสั่ง คสช. และเอ็มโอยูกับ กสทช. แต่ปัญหาก็ไม่ร้ายแรงเท่ากับไม่มีเส้นแบ่งชัดเจนว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ เนื้อหาอะไรก็ตามที่ไปกระทบกับ คสช. สามารถกลายเป็นเรื่องยุยงปลุกปั่น เป็นภัยต่อสาธารณะ สามารถเข้าข่ายกฎหมายอาญา ม.116 หรือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่มีโทษถึงจำคุก นี่คือสิ่งที่สื่อต้องเผชิญทุกวัน ทำให้เกิดสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือการเซ็นเซอร์ตัวเอง เพราะแทนที่จะถูกเสี่ยงปิดช่อง ถูกพาเข้าค่ายทหาร สื่อก็ต้องยอมละจรรยาบรรณและหน้าที่ตัวเอง ยอมพูดได้ไม่หมดดีกว่าไม่ได้พูดเลย ดีกว่าถูกปิดช่องแล้วทำให้สูญเงินไปมหาศาลซึ่งเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ

การถามว่าตกลงจรรยาบรรณสื่อ จริยธรรมสื่ออยู่ตรงไหนอย่างไร ส่วนตัวไม่อยากใช้คำว่าจริยธรรมสื่อ เพราะทำให้เราโน้มเอี้ยงไปในทางที่จะตัดสินสื่อแบบจริง-ปลอม แดง-เหลือง น้ำดี-น้ำแย่ แต่สิ่งที่ควรใช้คือจรรยาบรรณทางวิชาชีพของสื่อตามกรอบหน้าที่สื่อมวลชนที่เป็นผู้ทำหน้าที่สื่อสารเพื่อมวลชน ยกตัวอย่างเช่นสื่อต่างชาติที่เลือกสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งบนบทบรรณาธิการในช่วงเลือกตั้งเสมอว่าเลือกพรรคไหน เพราะเหตุใดเพื่อให้คนทราบจุดยืนของสื่อและให้คนอ่านมีวิจารณญาณ นั่นเป็นหลักการสากลว่าแม้สื่อมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไรแต่สื่อจะนำเสนอข่าวอย่างเที่ยงตรง ไม่บิดเบือนและเป็นกลางในความหมายที่ว่าจะนำเสนอข่าวจากฐานอุดมการณ์อื่นๆ อย่างเท่าเทียมกัน  

ในประเด็นการควบคุม ตรวจสอบกันเองนั้น ถ้าไม่อยากให้ใครมาควบคุมก็ต้องตอบคำถามว่า สื่อตรวจสอบกันเองได้เต็มที่หรือยัง เพียงพอหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าไม่เพียงพอ ทั้งนี้ สื่อไม่จำเป็นต้องตรวจสอบกันเอง คนตรวจสอบคือประชาชนที่จะตัดสินว่าสื่อนำเสนอข่าวปลอมหรือข่าวจริง ดังนั้นต้องสร้างเสรีภาพให้คนตัดสินได้ นำเสนอข่าวเองได้ ปล่อยให้กระบวนการเป็นไปตามธรรมชาติภายใต้บริบทที่สื่อไว้ใจประชาชน และอยู่ในจรรยาบรรณเดียวกันคือหน้าที่ของผู้สื่อสารเพื่อมวลชน

สัมพันธ์: สิ่งที่ทุกคนเห็นด้วยหมดก็คือสื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการทำงานโดยสุจริต ในประวัติศาสตร์สื่อมวลชน เราต่อสู้มานานมากแล้ว ก็อยู่ในเหตุการณ์ที่สู้มาตั้งแต่เราอยากมีสภาการหนังสือพิมพ์และส่งกฎหมายในสภา ตอนนั้นจำได้ว่าตนเป็นกรรมาธิการด้วย ตอนนั้นรัฐยังต้องการควบคุมสื่ออยู่ ก็สู้กันจนหมดรัฐบาล พล.อ.เปรม ตินณสูลานนท์ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะนายกฯ ยุบสภา กฎหมายก็ตกไป ต่อมายุค พล.อ. ชาติชาย ชุนหะวัณ สื่อก็เสนอกฎหมายและผ่าน แต่เสรีภาพสื่อก็ยังคงเปลี่ยนตามระบอบการปกครอง เมื่อมีการได้มาซึ่งอำนาจด้วยวิธีทางทหาร สื่อก็ไม่มีเสรีภาพ

ในเรื่องคำสั่งทั้งหลายที่เป็นอุปสรรคนั้น ถ้าสมัยที่ คสช. มีอำนาจคงแก้ไม่ได้ แต่หลังเลือกตั้งนั้นจะทำได้แค่ไหน มั่นใจว่าพรรคการเมืองรวมตัวกันแน่ๆ แต่จะปลดคำสั่งที่มีอยู่ได้หรือไม่ ทำได้แค่ไหน มีเวลาแค่ไหนในการออกกฎหมายมายกเลิก ทุกท่านก็เห็นตรงกันหมดว่ารัฐบาลใหม่จะอยู่ได้ไม่นาน สื่อก็ต้องช่วยนักการเมืองด้วย ต้องรีบกระตุ้นให้นักการเมืองตื่นตัว

วันนี้สื่อเปลี่ยนไวมาก หนังสือพิมพ์สำคัญน้อยลง บางครั้งก็เห็นบางข่าวไม่มีที่มา ไม่ให้เครดิตใครทั้งสิ้น เชื่อว่าในฐานะคนเป็นสื่อทั้งหลายก็อยากดูแลกันเอง ก็ไม่ได้ขัดข้อง พรรคชาติไทยพัฒนามีนโยบายสั้นๆ ว่ากระจายอำนาจให้องค์กรที่ดูแลกันเองได้ให้ดูแลกันเอง เรื่องสำคัญที่เป็นรายละเอียดก็บอกเรา แล้วเราจะช่วยทำ ชาติไทยพัฒนาคงไม่ใช่แกนนำจัดตั้งรัฐบาลแน่นอน แต่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะทำงานในฐานะพรรคระดับกลางค่อนข้างเล็ก ก็ต้องเจียมตัวอย่างนั้น

แต่ละพรรควางกรอบนโยบายทำงานกับสื่อในอนาคตอย่างไร

พรรณิการ์: อนาคตใหม่ยืนยันหลักการว่ากฎหมายเกี่ยวกับสื่อควรมีให้น้อยที่สุด แต่ให้มีกฎหมายทั่วไปที่คุ้มครองทั้งเสรีภาพสื่อและผู้บริโภค เพราะบทเรียนจากห้าปีที่ผ่านมาที่มีการลงดาบสื่อ 59 ครั้ง แสดงให้เห็นว่ากฎหมายนั้นบ่อยครั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือกำจัดสื่อฝ่ายตรงข้าม วอยซ์และพีซทีวีถูกปิดบ่อยที่สุด ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าฝั่งไหนถูกปิดบ่อยที่สุด แล้วเมื่อเทียบมาตรฐานการทำข่าวระหว่างทีนิวส์ที่ถูกลงโทษครั้งเดียว กับวอยซ์ทีวีที่โดน 24 ครั้ง แล้วตกลงกฎหมายนี้มีไว้คุ้มครองประชาชนและสื่อ หรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองกันแน่

มีสื่อที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ทำตัวไม่เหมาะสม แต่ว่าใช้กฎหมายธรรมดาจัดการสื่อได้ กรณีที่พรรคอนาคตใหม่ฟ้องทีนิวส์นั้น ที่เลือกฟ้องเพราะว่ายิ่งใกล้วันเลือกตั้ง การปล่อยข่าวปลอมยิ่งทำกันเป็นระบบจนเริ่มส่งผลเสียต่อบรรยากาศการเมืองโดยรวม ความศรัทธาต่อระบบเลือกตั้งและประชาธิปไตย กังวลว่าคนจะครหาว่าทำไมต้องกลับมาสาดโคลนใส่กันอีกแล้ว  จึงจำเป็นต้องฟ้อง และเลือกฟ้องกระบวนการปล่อยข่าวลวงที่เป็นระบบ ก็คือทีนิวส์ ด้วยกฎหมายหมิ่นประมาทสองกระทง คือหมิ่นประมาทอาญาทั่วไป ทั้งนี้ต้องสงวนว่าโทษหมิ่นประมาทไม่ควรเป็นคดีอาญา แต่ในเมื่อกฎหมายไทยยังเป็นคดีอาญาอยู่ก็จำเป็นต้องใช้แบบนั้น อีกกระทงใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาของ ส.ส. (พ.ร.ป. ส.ส.) ว่าด้วยการใส่ร้ายให้ไม่ไปลงคะแนนให้ผู้สมัครด้วยความเท็จ สองกระทงนี้เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษใดๆ และไม่ใช่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่อนาคตใหม่ยืนยันมาตลอดว่าเป็นปัญหาและเป็นเครื่องมือทางการเมือง

พรรคอนาคตใหม่จะสะสางมรดก คสช. จะตั้งคณะกรรมการพิจารณาประกาศ คำสั่ง คสช.  ทั้งหมด อะไรละเมิดสิทธิ เสรีภาพประชาชนต้องยกเลิก อะไรทำใหเกิดความเสียหายของประชาชนต้องจ่ายเงินเยียวยาประชาชน แต่ถ้าประชาชนได้ประโยชน์โดยสุจริตก็เปลี่ยนคำสั่งตามลำกับ จะยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ใช้ปิดปากสื่อ ได้แก่คำสั่งที่ 12/2557 17/2557 26/2557 97/2557 103/2557 41/2559

พรรณิการ์ยังกล่าวว่า จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สองกฎหมายมีปัญหามากกับสื่อออนไลน์ ทุกวันนี้แยกสื่อกระแสหลักกับออนไลน์ไม่ออกแล้วเพราะสื่อใหญ่ก็มีช่องทางออนไลน์ เท่ากับสื่อทั้งหมดโดนละเมิดด้วยกฎหมายเหล่านี้ ที่ผ่านมาสื่อนำเสนอข่าวนาฬิกาข้อมือของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณก็โดนหาว่าส่งผลต่อความมั่นคง หรือสร้างความตื่นตระหนกกับประชาชน  พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐกว้างขวาง เช่น ยึดอุปกรณ์ ตรวจสอบข้อมูลได้นั้นต้องได้รับการแก้ไข และเพิ่มอำนาจตรวจสอบจากสื่อและประชาชนเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน ทำโอเพ่นดาต้าของรัฐให้โปร่งใส ไม่ใช่เหมือนปัจจุบันที่เว็บไซต์ ปปช. อัพเดทที่สุดคือปี 2557 เป็นอะไร รัฐประหารแล้วไม่ทำงานหรือ จะเอื้อให้สื่อมวลชนทำงานได้ง่ายขึ้นในการตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลอนาคตใหม่อยากให้ถูกตรวจสอบได้ง่าย

จิรายุ: เรื่องแรกที่อยากให้เกิดคือการเรียกร้องให้รัฐบาลประยุทธ์เลิกคำสั่ง ประกาศ คสช.  97/2557 103/2557 3/2558 41/2559 ที่ได้รับการบัญญัติเนื่องจากมาจากการปฏิวัติ คำสั่งเหล่านั้นมีเนื้อหาล้อมาจากปี 2517 เปลี่ยนแค่บางคำ ดังนั้นจึงเป็นวิธีคุมสื่อแบบไดโนเสาร์เต่าล้านปีมาก เชื่อว่าสื่อมวลชนทุกท่านมั่นใจในการทำงาน แต่บางครั้งถูกองค์กรครอบไว้ ก็เป็นเรื่องอึดอัดใจ แต่วันนี้สื่อโทรทัศน์มีตัวเลือกเยอะกว่าในอดีต สิ่งที่อยากเห็นคือดีเบตระหว่าสื่อมวลชนด้วยกันเอง วันนี้จะเห็นว่าพาดหัวข่าวก็ตกใจว่าพาดเช่นนั้นได้อย่างไร ประชาชน ก็เหมือนเส้นทางเดียวที่อ่านเขาแล้วรู้สึกว่า เขียนอย่างนี้ได้อย่างไร แต่ถ้าสื่อดีเบตกันเองก็จะซักถาม ถกเถียงกันได้

พรรคเพื่อไทยไม่ได้เขียนนโยบายชัดเจนที่สื่อโดยเฉพาะ เพราะหากเขียนชัดเมื่อไหร่ก็จะเป็นมุมย้อนกลับว่าพรรคการเมืองงท่ากำหนดทิศทางสื่อสารมวลชน เคยมีการถกเถียงเรื่องนี้ในพรรคเยอะ บางท่านบอกว่าควรเขียนให้ชัดว่าจะช่วยอย่างไร สื่อจะได้รัก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะส่งเสริมสื่อมวลชนด้านไหน แต่ในทางกว้างก็ให้สี่ประเด็น หนึ่ง นโยบายการเมือง ที่ประชุมบอกว่าจะต้องวากรากฐานประชาธิปไตยให้เกิดแก่สังคม เสริมประชาชนให้มีความรู้ เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกเรื่องที่เกี่ยวกับภาครัฐ เช่น พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการที่ขอไปเมื่อไหร่ก็ช้า นี่คือปัญหาการปกปิดข้อมูลข่าวสารของรัฐที่ประชาชนควรรู้ สอง เพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐให้สูงขึ้นในเรื่อกงารตรวจสอบถ่วงดุลกันเอง เดี๋ยวนี้องค์กรอิสระองค์กรหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด ทั้งที่ใส่ข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. ผิดไม่รู้เท่าไหร่ จึงต้องมีการตรวจสอบ สาม ยึดให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ยึดระเบียบราชการที่บิดเบี้ยว เช่น ให้ประชาชนเป็นองค์ประกอบคณะกรรมการต่างๆ มากขึ้น สี่ พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ล้อไปกับสื่อมวลชนหลากหลาย เช่น สร้างโปรแกรมการพัฒนาสังคมที่ดีขึ้น เมื่อใดที่ประชาชนรู้ทันสื่อ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน สื่อที่เอียงซ้ายหรือขวาก็อยู่ไม่ได้ในโลกสมัยใหม่

บุญยอด: เชื่อว่าสังคมไทยต้องการปฏิรูปหลายเรื่อง สื่อก็เป็นอีกเรื่องที่ห้าปีผ่านไปก็ยังไม่ได้เห็นอะไร คนก็รอ อยากเห็นสื่อปฏิรูปตัวเองว่าจะนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างไร ตรวจสอบกันเองอย่างไร ประชาธิปัตย์จะผลักดันอย่างรวดเร็ว หากตนได้เป็น ส.ส. ก็จะช่วยผลักดันด้วย ทั้งนี้ เสรีภาพสื่อได้รับประกันในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่จะต้องกลับไปสู่กระบวนการทางกฎหมายเหมือนเดิม ถ้านำเสนอข่าวหมิ่นประมาทใครก็ต้องสู่กระบวนการฟ้องร้อง

สมาคมสื่อก็ต้องร่างกฎหมายขึ้นมาว่าโครงสร้างสมาคม สภาสื่อจะมีกี่สภาวิชาชีพ ประชาชนร้องเรียนใครได้บ้าง สื่อมวลชนจะอ้างเสรีภาพว่าใครเป็นสื่อก็ได้0ริงหรือ เมื่อมีการปิดสถานีโทรทัศน์ก็ต้องดูว่าแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นนั้นทำผิดจริงหรือไม่ ล้ำเส้นจริงหรือไม่ ในอดีตมีสถานีโทรทัศน์หนึ่งที่ทำสกู๊ปเรื่องนักโทษคนหนึ่งตลอด ทำไมถึงทำเช่นนั้นได้ สื่อเป็นสื่อมวลชนหรือกระบอกเสียงให้ใครคนใดคนหนึ่ง นักโทษหนีคดีหรือคนติดคุกไม่ควรเป็นข่าว สื่อควรเป็นคนคุมการนำเสนอข้อมูล บอกสังคมว่าความจริงเป็นอย่างไร ความเป็นอิสระของสื่อที่เรียกร้องต้องตามมาด้วยความรับผิดชอบและจรรยาบรรณวิชาชีพไม่ใช่หรือ ต้องดูว่าเจ้าของสื่อเป็นใคร มีใครถือหุ้นบ้าง ได้เงินจากไหน โฆษณาหรือท่อน้ำเลี้ยง เรื่องเหล่านี้ต้องมาคุยกัน ในปัจจุบันสื่อยังมีอิทธิพลอยู่มาก สื่อต้องคุยกันว่าจะต้องปฏิรูป พรรคประชาธิปัตย์ทำมาโดยตลอด องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยก็เกิดในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ กองทุนสื่อสร้างสรรค์ที่มาสำเร็จตอนหลังก็ริเริ่มในสมัยประชาธิปัตย์

สัมพันธ์: ในรัฐธรรมนูญเขียนชัดเจนอยู่แล้ว และไม่ควรมีคำสั่ง คสช. มาด้วยซ้ำ มื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 แล้ว ทำไมยังใช้ฉบับชั่วคราวโดยอาศัย ม.44 ออกคำสั่ง ประเด็นสำคัญคือสื่อจำเป็นต้องมีอิสระเสรี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรตัวเอง สื่อก็ต้องมาคุยกันว่าเมื่อมีเสรีภาพเต็มที่แล้วท่านควบคุมกันเองได้ไหม  สิ่งแรกที่ต้องทำคือยกเลิกคำสั่งทั้งหลายที่ทำให้ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราให้สัมภาษณ์สื่อว่ารัฐบาลหน้าอยู่ไม่เกินปีครึ่ง ดังนั้นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องรีบร่วมมือกันเพื่อแก้ไขคำสั่งเหล่านี้ก่อน สื่อต้องช่วยผลักดันการปลดล็อกเสรีภาพสื่อด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท