Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ http://protectdhamma.blogspot.com/2016/02/blog-post_15.html    

โดยทั่วไปเราคิดว่าศาสนาเป็นสิ่งดีงามและควรปกป้อง ก็คงจะจริง หากเราคิดว่าศาสนาคือคำสอนให้เรารักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง ให้อภัยศัตรู หรือคำสอนที่ชวนให้เราใช้ปัญญาเข้าใจชีวิตและโลก อยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ด้วยความเข้าใจและความรัก ศาสนาในความหมายนี้อาจตีความเชื่อมโยงสนับสนุนจิตสำนึกเคารพสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพได้อย่างมีเหตุผล

แต่สารัตถะของคำสอนดังกล่าวก็ไม่ได้มีความหมายในเชิง “ศักดิ์สิทธิ์” เป็นเพียงแง่คิด คำแนะนำธรรมดาๆ หรือพูดให้เป็นศัพท์เป็นแสงหน่อยก็อาจจะบอกว่าเป็น “ปรัชญาชีวิต” หรือโลกทัศน์ ชีวทัศน์แบบหนึ่งๆ ที่ใครจะเลือกเชื่อ ไม่เชื่อ ทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ เพราะคนทั่วๆ ไปก็อาจคิดเองได้ว่าควรจะใช้ชีวิตที่ดีส่วนตัวแบบไหน หรืออยู่กับเพื่อนร่วมโลกให้มีความสุขได้อย่างไร และอันที่จริงแล้วนักปรัชญาหลายคนอาจคิดอะไรได้ลึกซึ้งกว่าคำสอนศาสนา หรือคนธรรมดาสามัญก็อาจมีความคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่ดีได้พอๆ กับคำสอนศาสนา เพียงแต่เขาไม่ได้เป็นพระศาสดา ความคิดเขาไม่ได้ถูกบันทึก

ศาสนาคืออะไร?

แล้วทำไมคำสอนที่มีความหมายเป็นเพียงปรัชญาดำเนินชีวิตจึงกลายเป็น “ศาสนา” ได้ หากมองจากการกำเนิดและพัฒนาการทางศาสนาในประวัติศาสตร์ อาจเป็นเพราะคำสอนนั้นเชื่อมโยงกับ “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” บางอย่างเสมอ เช่น อำนาจของพระศาสดาสัพพัญญูที่เกิดมาเดินได้ 7 ก้าว และมีวิถีชีวิตบริสุทธิ์สูงส่งกว่าปุถุชนทั่วไป หรือพระศาสดาที่เกิดในครรภ์ของหญิงสาวพรหมจรรย์ เป็นบุตรของพระเจ้า หรือคำสอนที่เป็นศาสนานั้นๆ มาจาก “เสียง” ของพระเจ้าที่กระซิบข้างหูของศาสนทูตที่ถูกเลือก เป็นต้น

ดังนั้น คำสอนที่เป็นศาสนาได้จึงเชื่อมโยงกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์บางอย่างเสมอ ยิ่งกว่านั้นผลของการปฏิบัติตามคำสอนและไม่ปฏิบัติตามคำสอน ก็เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราไม่อาจรู้ได้ที่มีอำนาจกำหนดชะตากรรมของเรา เช่น คำพิพากษาของพระเจ้า ที่อาจทำให้ชีวิตหลังความตายของเราขึ้นสวรรค์หรือไม่ก็ตกนรกชั่วนิรันดร์ หรืออาจถูกตัดสินตามกฎแห่งกรรมว่า จิตวิญญาณของเราจะเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิที่ดีหรือร้าย เป็นต้น

ถามว่าความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาถ่ายเทมาสู่มวลมนุษย์อย่างไร 

ดูเหมือนว่าความศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาจะถ่ายเทสู่มวลมนุษย์อย่างไม่เท่าเทียมนัก เพราะพระเจ้าประทาน “อำนาจศักดิ์สิทธิ์” ในการปกครองอาณาจักรทางจิตวิญญาแก่พระสันตปาปา นักบวช หรือผู้นำทางศาสนาเท่านั้น และประทานอำนาจศักดิ์สิทธิ์ในการปกครองอาณาจักรทางโลกแก่กษัตริย์เท่านั้น หรือชนชั้นปกครองเท่านั้นที่สามารถจะเป็น “หน่อพระพุทธเจ้า” หรือเป็นพระโพธิสัตว์โดยกำเนิดได้ อีกนัยหนึ่ง อำนาจศักดิ์สิทธิ์ของศาสนากำหนดไว้แล้วว่าชนชั้นไหนควรเป็นผู้ปกครอง ชนชั้นไหนควรเป็นผู้ถูกปกครอง หรือเป็นทาส

แน่นอนว่า สำหรับคนธรรมดาสามัญนั้น อำนาจศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาจะคอยเตือนพวกเขาว่า จงเชื่อฟังผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองใช้อำนาจในนามพระเจ้า หรือในนามพระโพธิสัตว์ ธรรม เทพอวตาร หากถูกกดขี่ขูดรีดก็จงถือเสียว่าเป็นบททดสอบจากพระเจ้า หรือเป็นกรรมเก่า ชีวิตในชาตินี้เป็นเพียงสิ่งชั่วคราว เป็นการเตรียมตัวสู่โลกหน้าที่ดีกว่า ซึ่งเป็นไปได้ด้วยการทำตามคำสอนของศาสนาเท่านั้น และโดยคำสอนศาสนาแล้วผู้ใต้ปกครองก็ไม่พึงที่จะตั้งคำถามหรือท้าทายอำนาจในนามพระเจ้า และอำนาจในนามแห่งธรรมของผู้ปกครอง 

ดังนั้น อำนาจศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาจึงลึกซึ้งและซับซ้อน อำนาจภายใน ศาสนาครอบงำหยั่งลึกถึงระดับจิตวิญญาณ ส่วนอำนาจภายนอกก็ไร้ขอบเขตเกินคาดเดา เมื่อเรานึกถึงภาพกองทัพยุคกลางที่ห้ำหั่นกันด้วยสัญลักษณ์ทางศาสนา นึกถึง “เครื่องแยกร่าง” ที่ใช้ลงโทษพวกนอกรีตด้วยการฉีกร่างกายแยกเป็นสองซีก การแขวนคอและเผาทั้งเป็นพวกนอกรีต นึกถึงการนำภาพจิตรกรรฝาผนังเกี่ยวกับนรกขุมต่างๆ มาออกแบบคุกและวิธีลงโทษคน นึกถึงการเฆี่ยนโบยคนรักร่วมเพศต่อหน้าสาธารณ์ในสังคมสมัยใหม่และอื่นๆ

การปกป้องศาสนาที่สวนทางกับคำสอน

แต่แล้วศาสนาก็อยู่กับมนุษย์มายาวนานหลายพันปีเพราะมีการปกป้องที่เข้มแข็ง ไม่ว่าการใช้เครื่องมือแยกร่าง แขวนคอ เผาทั้งเป็น เฆี่ยนต่อหน้าสาธารณะ สงคราม ทั้งหมดนั้นก็เป็นทั้งวิธีการปกป้องและการแผ่ขยายอิทธิพลของศาสนา แต่ว่ามันคือการปกป้องศาสนาจากอะไร ถ้าไม่ใช่จากการทำตามคำสอนเรื่องรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง ให้อภัย ใช้ปัญญาและความรักในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

ถามว่าความหมายที่แท้ของคำสอนเรื่องความรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตัวเอง ให้อภัย ใช้ปัญญาและความรักในการอยู่ร่วมกับคนอื่น จำเป็นต้องถูกปกป้องด้วยอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ไหม ไม่ว่าอำนาจของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ อำนาจศาสนจักร หรืออำนาจรัฐ ความจริงแล้วไม่จำเป็นเลย ยิ่งใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ปกป้องยิ่งดำเนินไปในทิศทางที่ขัดกับความหมายที่แท้ของคำสอน

หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ การปกป้องศาสนาลดความโหดร้ายลงไปได้ เพราะเมื่อแยกศาสนาจากรัฐแล้วเสรีภาพทางศาสนาจึงได้รับการคุ้มครองโดยหลักสิทธิมนุษยชน ในประเทศที่ยังไม่แยกศาสนาจากรัฐเท่านั้นที่การปกป้องศาสนายังดำเนินไปในทิศทางละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน

ความน่ากังวลในบ้านเราปัจจุบันนี้คือ กระแสการปกป้องพุทธศาสนาดำเนินไปด้วยวาทกรรม “ภัยพุทธศาสนา” และ “ความมั่นคงของพุทธศาสนา” ที่ผนึกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับภัยและความมั่นคงของชาติ โดยสร้างความเชื่อว่ามี “ศาสนาอื่น” เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของพุทธศาสนาและชาติ ความคิดเช่นนี้ไม่เพียงเป็นกระแสในโลกโซเชียล บางทีเราอาจตกใจเมื่อได้ยินญาติมิตร คนใกล้ตัวเราเชื่ออย่างฝังหัว หรืออย่างปราศจากหลักฐานและเหตุผลรองรับว่ามีบางศาสนาจะเข้ามากลืนพุทธและยึดประเทศไทย ผมเองได้ยินคนที่พูดทำนองนี้ทั้งคนมีการศึกษาถึงปริญญาเอกยันคนระดับชาวบ้านธรรมดา

สุดท้ายไปๆ มาๆ เราก็ไม่รู้ว่าจะพากันปกป้องศาสนาจากอะไร เหมือนไม่รู้ว่าปกป้องชาติจากอะไร หรือจริงๆ เราไม่รู้ว่าสิ่งที่เราปกป้องคืออะไร เพราะถ้าเป็นศาสนาในความหมายของความรักเพื่อนมนุษย์ หรือใช้ปัญญาและกรุณาในการอยู่ร่วมกัน ศาสนาในความหมายนี้ก็ไม่ต้องการถูกปกป้องด้วยวิธีที่สวนทางกับความหมายของมัน และถ้าเป็นชาติในความหมายที่มีประชาชน ก็ไม่ต้องการถูกปกป้องด้วยวิธีการแบบเผด็จการ

แต่ศาสนาในความหมายที่เป็นปรัชญาชีวิต ต้องการถูกปกป้องด้วยหลักการโลกวิสัยหรือการแยกศาสนาจากรัฐ และชาติที่มีประชาชน ก็ต้องการถูกปกป้องด้วยการสร้างระบบเสรีประชาธิปไตย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net