แรงงานร้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ เลี้ยงคนได้ 3 คน ด้าน 'บอร์ดค่าจ้าง' ยืดเวลาปรับ

2 องค์กรแรงงาน ร้อง รมว.แรงงานเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ ตามมาตราฐานสากลเลี้ยงครอบครัวได้ 3 คน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมต้องคุมราคาสินค้า ย้ำต้องเร่งปรับขึ้นค่าจ้างยิ่งเลื่อนทำให้การปรับค่าจ้างตามไม่ทันค่าครองชีพ ด้านบอร์ดค่าจ้าง ยืดเวลาปรับค่าแรงขั้นต่ำปี 62 คาดถกใหม่ปลาย เม.ย.

ที่มาภาพ เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน

14 มี.ค.2562 วันนี้ที่กระทรวงแรงงาน เวลา 10.00 น. วิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้แทนกระทรวงแรงงานหารือและรับข้อเสนอจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เรื่อง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นธรรม ต้องเลี้ยงคนในครอบครัวได้ตามหลักการสากล และต้องเท่ากันทั้งประเทศ ณ ห้องประชุม ชั้น 8 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อาคารกระทรวงแรงงาน

วอยซ์เลเบอร์ รายงานว่า นอกจากนี้ยังมีและสหภาพแรงงานมอลเท็นเอเชียโพลิเมอร์โปรดักส์ กว่า 100 คน มาร่วมเรียกร้องด้วย โดย สมพร ขวัญเนตร ประธาน คสรท. กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่อไม่ควรมีการปรับให้แตกต่างกัน ควรปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ ด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างยังมีประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีด้วย เพราะค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นค่าจ้างสำหรับแรงงานแรกเข้าเท่านั้น ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำต้องเป็นไปตามหลักสากลคือ เลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างน้อย 3 คน ทุกวันนี้ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่สามารถที่จะเลี้ยงดูคนทำงานคนเดียวได้เลย เพราะยังต้องทำงานล่วงเวลากัน

“รัฐบาลกล่าวถึงยุค 4.0 ที่จะมีการนำเครื่องจักรกลใหม่ๆเข้ามาทดแทนแรงงานอีก ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างต้องมีการทำเป็นโครงสร้างเพื่อให้มีการปรับฐานค่าจ้างทุกปี เพราะนายจ้างปัจจุบันจำนวนมากยึดอยู่กับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น เมื่อมีการจ้างงานคนใหม่เข้ามาทำงานค่าจ้างก็เท่ากันกับคนที่ทำงานมานานอีกเป็นต้น การปรับค่าจ้างประจำปี ก็ต้องดูค่าครองชีพประจำปีด้วยว่ามีการปรับขึ้นเท่าไร ค่าจ้างที่ปรับขึ้นต้องเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานทุกคน หากไม่ชัดเจนคสรท.ก็จะต้องขับเคลื่อนต่อไป” สมพร กล่าว

สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. กล่าวว่า  การที่ว่าปรับขึ้น 2-10 บาท จังหวัดระยอง หรือชลบุรี ก็คิดว่า ค่างคอรงชีพคงไม่ต่างกับที่จังหวัดภูเก็ต หรือกรุงเทพฯเลย การที่มาประกาศปรับขึ้นค่าจ้างที่ต่างกันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น เพราะว่าชีวิตผู้ใช้แรงงานผูกติดอยู่กับร้านสะดวกซื้อ ราคาอาหารการกินมีราคาเท่ากันไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหนในประเทศไทย การที่อนุกรรมการค่าจ้างขึ้นต่ำ 46 จังหวัดไม่ได้เสนอตัวเลขมา เป็นไปได้ว่า ไม่มีตัวแทนของแรงงานที่แท้จริง หากมีผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน จะเอาข้อมูลไปเจรจากับผู้แทนหอการค้า หรือผู้ว่าราชการ เพื่อเสนอปรับขึ้นค่าจ้างอย่างไร เมื่อแค่ก้าวขึ้นบันไดศาลากลางจังหวัดก็ขาสั่นแล้ว จะกล้าพอที่จะบอกให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และจริงแล้วอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดเองก็ไม่ได้มีอำนาจใดในการเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะในที่สุดต้องตัดสินที่ส่วนกลางอย่างเช่น วันนี้ที่มีการนำเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง 2 บาทใน 46 จังหวัดเป็นต้น

ที่ผ่านมาคสรท. และสรส.ได้เคยมีข้อเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 360 บาท 421 บาทและ 700 บาท ต้องปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึง 2560 ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการสำรวจค่าใช้จ่ายจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่างๆ วันนี้ยังคงเป็นจุดยืนเดิมโดยขอประกาศว่า 

รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงาน และครอบครัวได้ 3 คน ตามหลักของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

  1. รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ
  2. รัฐบาลต้องกำหนดโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างประจำปี
  3. รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง
  4. รัฐบาลต้องยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด
  5. รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทีมวิชาการที่เป็นอิสระ และมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี

ทั้งนี้ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ที่เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมารับหนังสือแทนกล่าวว่า วันนี้ได้รับฟังขอเสนอทางฝ่ายของผู้แทนผู้ใช้แรงงาน เรายังไม่ได้รับฟังทางฝ่ายนายจ้าง และยังมีข้อมูลจาก 46 จังหวัดที่ต้องพิจารณา และส่งเข้ามาใหม่ และยังห่วงธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ หอการค้า การที่ค้าเงินบาทแข็ง ผลทางการค้า จึงยังไม่ได้มีการเคาะตัวเลขในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งคิดว่าคงเป็นเดือนเมษายน 2562  โดยรับไว้พิจารณาตามข้อเสนอ 3 ข้อคือ

  1. ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขึ้น โดยจะปรับอัตราเท่าไรให้อยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำพิจารณา โดยขอให้ขึ้นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งตนก็เห็นด้วยกับผู้ใช้แรงงานว่า ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ได้ปรับขึ้นแต่ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นไปแล้ว
  2. เรื่องอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด 46 จังหวัดที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างมาเลย ซึ่งตรงนี้ทางปลัดกระทรวงแรงงานก็ได้สั่งให้มีการตรวจสอบ เนื่องเห็นเหมือนกันว่าไม่น่าจะใช่ที่จะไม่มีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้างเลย จึงต้องตรวจสอบว่ามีเหตุอะไรจึงไม่มีการนำเสนอปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งตอนนี้ค่าเงินบาทสูงหากค่าจ้างสูงไปก็จะเกิดปัญหากับผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่าต้องปรับขึ้นค่าจ้าง
  3. กรณีคนงานมอลเท็นฯ ไม่มีอะไรเนื่องจากมีการนัดเจรจากันวันนี้ที่จังหวัดระยอง ตอนเวลา 14.00 น. อยู่แล้ว

บอร์ดค่าจ้าง ยืดเวลาปรับค่าแรงขั้นต่ำปี 62 คาดถกใหม่ปลาย เม.ย.

ขณะที่เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า จรินทร์ จักกะพาก ประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ว่าบอร์ดยังไม่มีการสรุปปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยพิจารณาข้อมูลตัวเลขอัตราค่าจ้างจังหวัดต่างๆ ที่เสนอเข้ามายังคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองที่จังหวัดต่างๆเสนอปรับเข้ามา แต่มี 46 จังหวัดที่ไม่เสนอขอปรับขึ้น คิดเป็นครึ่งหนึ่งของประเทศ ที่ประชุมโดยเป็นมติเห็นพ้องตรงกันว่าจะยังไม่มีสรุป  เคาะตัวเลขค่าจ้าง โดยจะนำข้อมูลมาพิจารณาใหม่อีกครั้งให้รอบด้าน ทั้งค่าครองชีพ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด ทั้งนี้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจไม่นิ่ง ค่าเงินบาทสูง การแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศมีสูง การส่งออกตึงตัว ค่าเงินบาทแข็งตัว ดังนั้นการตัดสินใจจึงต้องรอบคอบให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย

ประธานบอร์ดค่าจ้าง กล่าวอีกว่าการที่อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ไม่เสนอให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างถึง 46 จังหวัด แม้จะมีแนวคิดให้ปรับขึ้น 2 บาท โดยให้ 46 จังหวัดได้รับการปรับขึ้น 2 บาทนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยอมรับในที่ประชุม โดยต้องการให้กลับไปดูถึงจังหวัดที่ไม่เสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพราะอะไร ทั้งนี้ไม่อยากให้เกิดภาพเหมารวม จังหวัดที่ไม่เสนอปรับทั้ง 46 แห่ง จะต้องเสนอข้อมูลเรื่องดังกล่าวนี้กลับมาใหม่ ทั้งนี้ไม่มีการล็อบบี้ ให้เลื่อนการพิจารณาปรับค่าจ้างออกไป และไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะมีในเร็ววันนี้แต่อย่างใด

รายงานข่าวแจ้งว่าอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด มีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราวันละ 2-10 บาท โดยจังหวัดที่ปรับขึ้นสูงสุด 10 บาท มี 4 จังหวัด ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ ภูเก็ต และชลบุรี ทั้งนี้การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เดิมคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเม.ย. 62 แต่ไม่สามารถมีมติได้จึงต้องเลื่อนออกไป ทั้งๆที่การประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ตามพรบ.คุ้มครองแรงงานบังคับใช้ 1 มค.ของปี จึงต้องประกาศล่วงหน้าอย่างช้าในพย.เพื่อให้ผู้ประกอบการ นายจ้างรับทราบเตรียมตัว เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างพื้นฐานที่นายจ้างจ่ายต่ำกว่านี้ไม่ได้ แต่ในปี 2561 การประกาศล่าช้าเลื่อนออกไปจนท้ายสุดประกาศปรับขึ้นโดยให้มีผลบังคับใน 1 เม.ย. 2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท