Skip to main content
sharethis

คลิปสัมภาษณ์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ

โดยเขาแสดงความเห็นว่าหัวใจของเรื่องนี้เป็นเรื่องของประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะว่าถ้อยคำมาตรา 5 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้แบบนี้ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าประเพณีการปกครองนี้หมายถึงอะไร ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็พยายามอธิบาย กับอีกประเด็นก็คือประเพณีที่ว่ามีอยู่จริงหรือไม่มี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามีอยู่จริงและเอามาใช้อ้างอิง แต่ประเด็นคือเราจะยืนยันตามศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ว่าประเพณีการปกครองดังกล่าวมีอยู่จริง และมีข้อพิสูจน์อะไรว่ามีอยู่จริง

ปัญหาต่อไปคือถึงแม้ว่ามีอยู่จริง เรื่องนี้เป็นการยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิคน ทั้งยังกระทบกระเทือนสิทธิของผู้สมัครรับเลือกตั้ง สิทธิของสมาชิกพรรคการเมือง กระทบกระเทือนถึงการรวมตัวเป็นพรรคการเมือง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย คำถามคือว่าต่อให้ประเพณีนี้มีอยู่จริง แต่สามารถนำมาใช้วินิจฉัยให้เป็นผลร้ายแก่บุคคลได้หรือไม่ มีหลักเกณฑ์การใช้และตีความกฎหมายนี้อย่างไร

"นักศึกษาที่เรียนปีสองวิชากฎหมายอาญาก็รู้ทุกคนว่าเราเอากฎหมายประเพณีมาลงโทษบุคคลไม่ได้ ถ้าอยากลงโทษบุคคลคุณต้องเขียนขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ให้สภาเขียนกฎหมายมาถึงจะลงโทษคนได้ เพราะประเพณีมันเถียงกันได้ มีความไม่แน่นอนสูง เขาจึงเอามาใช้เป็นผลร้ายไม่ได้"

“ก็จะมีคนเถียงว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายอาญา ตรรกะมันก็เหมือนกฎหมายย้อนหลัง ผมถามว่าตัดสิทธิคน 10 ปี กับปรับทางอาญา 2,000 บาทอันไหนมันแรงกว่ากัน เราตอบได้เองว่าโทษทางอาญาบางอย่างมันเบากว่า ก็ในเมื่อคุณปรับ 2,000 บาทยังไม่ได้เลย แล้วคุณจะไปเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี มันเห็นได้ชัดว่ามันแรงกว่า มันยิ่งต้องทำไม่ได้”

ชวน 'วรเจตน์' คุยหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณียุบไทยรักษาชาติ, 13 มี.ค. 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net