Skip to main content
sharethis

ปัจจุบัน ‘การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงที่มีลูกในตลาดแรงงาน’ หรือศัพท์ที่ทาง ILO เรียกว่า 'การลงโทษผู้ที่เป็นแม่ในตลาดแรงงาน' ยังคงเห็นได้เด่นชัด นอกจากที่จะหางานได้ยากกว่าคนไม่มีลูกแล้ว พบผู้เป็นแม่ที่ดูแลลูกเล็กเพียง 25% เท่านั้นที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ในขณะที่ผู้หญิงที่ไม่มีลูกก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนี้ถึง 31% ที่มาภาพประกอบ: Ran Zwigenberg (CC BY 2.0)

ข้อมูลจากรายงาน A quantum leap for gender equality: For a better future of work for all ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือน มี.ค. 2562 พบว่าแม้ในช่วง 27 ปี ที่ผ่านมาช่องว่างความแตกต่างอัตราการจ้างงานระหว่างชายกับหญิงจะหดแคบลงร้อยละ 2 แต่กระนั้นในปี 2561 ในตลาดแรงงานก็ยังมีการจ้างงานผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชาย โดยทั่วโลกมีผู้หญิงประมาณ 1.3 พันล้านคนถูกจ้างงาน เมื่อเทียบกับผู้ชายมีถึงประมาณ 2 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายถึงร้อยละ 26 นอกจากนี้ยังพบว่า ‘ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ’ (gender wage gap) ก็ยังคงอยู่มีอยู่เฉลี่ยที่ร้อยละ 20 ทั่วโลก

ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะถูกว่าจ้างในอาชีพที่ถือว่ามีทักษะต่ำ รวมทั้งเผชิญกับสภาพการทำงานที่เลวร้ายกว่าผู้ชาย ผู้หญิงอยู่ในตลาดแรงงานนอกระบบ (ไม่ได้รับความคุ้มครอง) ถึงร้อยละ 90 และตามธรรมเนียมของสังคมชายเป็นใหญ่ในเกือบทุกวัฒนธรรมทั่วโลก พบว่าผู้หญิงยังเป็นเพศที่ต้อง ‘ทำงานฟรีที่บ้าน’ -- ซึ่งความเป็นจริงนี้สวนทางกับ 'ความคิดเห็น' ของชายและหญิงในยุคปัจจุบันอยู่ จากแบบสำรวจความคิดเห็น ILO-Gallup 2017 global report (ปี พ.ศ. 2560) ที่มีการตั้งคำถามทั้งชายและหญิงถึงการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในงานที่ได้รับค่าจ้าง พบว่าผู้หญิงร้อยละ 70 ต้องการทำงานนอกบ้านมากกว่าการอยู่บ้านและผู้ชายก็เห็นด้วย

สัดส่วน ‘ทำงานได้ค่าจ้าง’ น้อยกว่าชาย แต่ ‘ทำงานฟรี’ มากกว่าชาย

ในรอบ 20 ปี เวลาทำงานบ้านของผู้ชายเพิ่มขึ้นเพียง 8 นาทีต่อวันเท่านั้น ส่วนเวลาทำงานบ้านของผู้หญิงลดลงมาแค่ 15 นาที ที่มาภาพประกอบ: express.co.uk

ในปี 2561 ทั่วโลกมีผู้หญิงวัยทำงานประมาณ 606 ล้านคน (ประมาณร้อยละ 21.7) ต้องทำงานดูแลคนในบ้านและงานบ้านแบบไม่จ่ายค่าจ้างเต็มเวลา เทียบกับผู้ชายวัยทำงานมีประมาณ 41 ล้านคน (ประมาณร้อยละ 1.5) เท่านั้น ระหว่างปี 2540-2555 พบว่าเวลาที่ผู้หญิงใช้ทำงานบ้านลดลงเพียง 15 นาทีต่อวัน ในขณะที่เวลาทำงานบ้านของผู้ชายเพิ่มขึ้นเพียง 8 นาทีต่อวันเท่านั้น ซึ่งหากตัวเลขยังเป็นเช่นนี้ คาดว่าการปิดช่องว่างระหว่างเพศในการทำงานบ้าน ให้เท่าเทียมกันนั้นอาจต้องใช้เวลาอีก 209 ปี เลยทีเดียว

“หลายปัจจัยขัดขวางความเท่าเทียมกันในการจ้างงาน (ในตลาดแรงงาน) ปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางความเท่าเทียมนี้คือการที่ผู้หญิงต้องดูแลครอบครัว (โดยไม่ได้รับค่าจ้าง)” Manuela Tomei ผู้อำนวยการฝ่าย Conditions of Work and Equality ของ ILO ระบุ

“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เวลาที่ผู้หญิงใช้ในการดูแลคนในบ้านและทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้างแทบจะไม่ลดลงเลย ส่วนเวลาที่ผู้ชายทำงานบ้านก็เพิ่มขึ้นเพียง 8 นาทีต่อวันเท่านั้น ถ้าหากใช้อัตราการเปลี่ยนแปลงนี้ก็เท่ากับว่าต้องใช้เวลานานกว่า 200 ปี เพื่อให้เกิดความเสมอภาคด้านเวลาสำหรับงานการดูแลบ้านที่ไม่ได้รับค่าจ้าง” Tomei กล่าว

ทั้งนี้พบว่าผู้ชายที่ทำงานดูแลคนในบ้านและทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง มักจะพบอยู่ตำแหน่งบริหารสัดส่วนสูงกว่าคนทำงานประเภทอื่นๆ

การลงโทษผู้ที่เป็นแม่ในตลาดแรงงาน

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา สถานการณ์ ‘การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงที่มีลูกและเลี้ยงลูกในตลาดแรงงาน’ หรือศัพท์ที่ทาง ILO เรียกว่า 'การลงโทษผู้ที่เป็นแม่ในตลาดแรงงาน' (motherhood employment penalty) ยังคงเห็นได้เด่นชัด โดยเฉพาะผู้เป็นแม่ที่ต้องดูแลลูกวัยแบเบาะไปจนถึง 6 ปี ที่มีโอกาสได้งานน้อยกว่า (ผู้หญิงที่ไม่มีลูก..ที่มีโอกาสได้งานน้อยกว่าผู้ชายอยู่แล้ว) ซึ่งระหว่างปี 2548-2558 ข้อเสียเปรียบของผู้เป็นแม่ในตลาดแรงงานนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38 นอกจากนี้ผู้เป็นแม่ที่ดูแลลูกเล็กเพียงร้อยละ 25 ที่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในขณะที่ผู้หญิงที่ไม่มีลูกก้าวเข้าสู่ตำแหน่งฝ่ายบริหารร้อยละ 31 ในช่วงเวลาเดียวกัน

Soft Skills สูงแต่กลับไม่ถูกนำมาพิจารณาในรายได้

Shauna Olney หัวหน้าส่วน Gender, Equality and Diversity Branch ของ ILO ที่มาภาพ: Public Services International

รายงานที่ ILO เปิดเผยเมื่อต้นเดือน มี.ค. 2562 ยังรวมถึงการค้นพบจากข้อมูล 'เรียลไทม์' ซึ่งรวบรวมโดยเว็บไซต์เครือข่ายมืออาชีพอย่าง LinkedIn จาก 5 ประเทศ ใน 3 ภูมิภาคที่แตกต่างกัน ซึ่งครอบคลุมคนร้อยละ 22 ของทำงานทั่วโลก โดยการสำรวจร่วมกันของ ILO-LinkedIn นี้พบว่า ‘ทักษะด้านดิจิทัล’ ในปัจจุบันถือว่าเป็นข้อกำหนดสำหรับผู้หญิงที่จะได้งานที่มีค่าตอบแทนสูง โดยเฉพาะงานในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (STEM) โดยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่ใช้ LinkedIn ที่มีทักษะเช่นนี้

แต่ทักษะหนึ่งที่โดดเด่นของผู้หญิงดูเหมือนว่ากำลังถูกมองข้าม ..

Shauna Olney หัวหน้าส่วน Gender, Equality and Diversity Branch ของ ILO ที่ทำงานด้านความเสมอภาคทางเพศ ระบุว่าตัวเลขเหล่านี้สะท้อนว่ามีหลายอย่างที่ไม่ถูกต้องและการแก้ไขกำลังดำเนินไปผิดทาง รวมทั้งการที่องค์กรมีอคติและประเมินค่าการทำงานของผู้หญิงเกี่ยวกับการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Soft Skills) ต่ำกว่าความเป็นจริง

“การให้น้ำหนักไปที่บทบาทของผู้หญิงในตำแหน่งการบริหารได้รับการประเมินค่าที่ต่ำเกินไป เมื่อกล่าวถึงการประเมินศักยภาพในการทำงาน ผู้หญิงมักจะได้รับการยกย่องจาก Soft Skills แต่กลับไม่ถูกนำมาพิจารณาในรายได้ของพวกเธอ” Olney ระบุ

ทั้งนี้ ILO เสนอให้ทั่วโลกเร่งผลักดันนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด เพื่อแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติในตลาดแรงงาน ลดช่องว่างด้านรายได้ และสร้างโอกาสในการทำงานของผู้หญิง รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้หญิงทั่วโลกมีสิทธิ์มีเสียงและเป็นตัวแทนเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมในด้านแรงงาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้

 

ที่มาข้อมูล
ILO: Female Job-Seekers Get Penalized for Being Mothers (VOA, 6/3/2019)
Work-related gender gaps persist but solutions are clear – new ILO report (ILO, 7/3/2019)
A quantum leap for gender equality: For a better future of work for all (ILO, 7/3/2019)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net