Skip to main content
sharethis

เทียบนโยบายรัฐสวัสดิการ 11 พรรค ตั้งแต่บำนาญแห่งชาติ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ค่าแรงขั้นต่ำ เงินอุดหนุนเด็กเล็ก การศึกษา และปฏิรูปภาษี

 

 

‘รัฐสวัสดิการ’ กลายเป็นสิ่งที่หลายพรรคให้ความสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ ภาคประชาชนเองก็มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้พรรคการเมืองเห็นถึงความสำคัญของรัฐสวัสดิการ

หัวใจสำคัญของรัฐสวัสดิการคือการทำให้รัฐสวัสดิการกลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ เป็นสิทธิถ้วนหน้าที่ไม่ใช่เพียงสงเคราะห์ให้แก่คนมีรายได้น้อย นั่นเพราะการสงเคราะห์หมายถึงการต้องผ่านกระบวนการ ‘พิสูจน์ความจน’ และมีโอกาสที่จะมีคนตกหล่นจากการพิสูจน์ นอกจากจะเสียงบประมาณในกระบวนการ ยังอาจเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนที่ถูกระบุว่าเป็นผู้มีรายได้น้อยด้วย และให้ความรู้สึกว่าต้องคอยรับการช่วยเหลือจากรัฐ

ประชาไทรวบรวมนโยบายที่เกี่ยวข้องกับรัฐสวัสดิการของ 11 พรรคการเมืองมาเปรียบเทียบ ดังนี้

 

‘บำนาญแห่งชาติ’ มีเกือบทุกพรรค สูงสุด 3,000 บาท/เดือน ต่ำสุด 1,000 บาท/เดือน

 

จะเห็นได้ว่านโยบาย ‘บำนาญแห่งชาติ’ เป็นสิ่งที่แทบทุกพรรคให้ความสำคัญ แต่จำนวนเงินจะแตกต่างกันไป พรรคที่ให้มากที่สุดคือ 3,000 บาทต่อเดือน ได้แก่พรรคสามัญชน พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติ ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคเพื่อชาติ ให้ที่ 2,000 บาทต่อเดือน ส่วนพรรคอนาคตใหม่รับประกันว่าจำนวน 1,800 บาทต่อเดือนเป็นงบประมาณที่สามารถทำได้ทันที และน้อยที่สุดคือ 1,000 บาทต่อเดือน ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ

 

หลายแนวทางกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

ขณะที่เรื่อง ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ แต่ละพรรคนั้นมีนโยบายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พรรคที่พูดชัดเจนถึงแนวทางการรวม 3 กองทุน คือ ระบบข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้าด้วยกัน คือพรรคอนาคตใหม่ และพรรคสามัญชน โดยทั้งสองพรรคยังมีนโยบายเพิ่มงบรายหัวเป็น 4,000 บาทต่อปี และ 8,500 บาทต่อปีตามลำดับ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐไม่เห็นด้วยกับการรวม 3 กองทุน แต่กล่าวว่าทั้ง 3 กองทุนต้องมีความเท่าเทียม

ด้านพรรคเพื่อไทยเดินหน้าโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเฟส 2 เน้นเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยที่งบประมาณส่วนกลางถูกส่งตรงไปที่โรงพยาบาลโดยไม่ผ่านกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้นแบบจากโรงพยาบาลบ้านแพ้วที่ได้จัดตั้งเป็นองค์การมหาชน  

พรรคภูมิใจไทย เสนอใช้ระบบโทรเวชกรรม Telemedicine หรือ เทเลเมด รักษาคนป่วย แก้ปัญหาตายก่อนถึงโรงพยาบาล ยกสถานะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นทีมหมอครอบครัว เพิ่มเงินเดือนเป็น 2,500-10,000 บาท พรรครวมพลังประชาชาติไทย เน้นป้องกันเป็นหลัก รักษาเป็นรอง- ยกระดับศักยภาพในการรักษาของโรงพยาบาลระดับชุมชน เพื่อลดแออัดโรงพยาบาลศูนย์ / จังหวัด และพรรคเพื่อชาติมีนโยบาย 1 ตำบล 1 นักศึกษาแพทย์

 

ค่าแรงขั้นต่ำ ‘สามัญชน’ ‘อนาคตใหม่’ เห็นตรงกันเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อ

 

นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ พรรคอนาคตใหม่และพรรคสามัญชนเห็นไปในแนวทางเดียวกันคือเพิ่มให้ตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ขณะที่พรรคอนาคตใหม่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเพิ่มสูงมากหากมีการสร้างสมดุลสวัสดิการที่รัฐมอบให้ประชาชนเป็นอย่างดี ส่วนพรรคสามัญชนคิดว่าควรเพิ่มเป็น 500 บาทต่อวัน

พรรคเพื่อไทยพูดถึงการขึ้นค่าแรงว่าต้องฟังเสียงนายจ้างด้วย พรรคพลังประชารัฐเห็นว่าควรเพิ่มเป็น 400-425 บาทต่อวัน พรรคประชาธิปัตย์ชูนโยบายประกันรายได้ หากรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์รัฐจะจ่ายสมทบ พรรครวมพลังประชาชาติไทยกล่าวว่าจะช่วยเหลือให้มีรายได้ถึงเส้นมาตรฐานความพอเพียง ส่วนพรรคชาติพัฒนาพูดถึงกองทุนสวัสดิการเพื่อการเกษตร

พรรคที่ไม่มีการพูดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ได้แก่ พรรคประชาชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อชาติ

 

5 พรรคที่มีนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็ก

 

พรรคที่ชูเรื่อง ‘เงินอุดหนุนเด็กเล็ก’ ได้แก่ อนาคตใหม่ สามัญชน เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ โดยมีเกณฑ์การให้แตกต่างกันไป อนาคตใหม่ให้เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี 1,200 บาทต่อเดือน สามัญชนไม่ได้ให้รายละเอียด เพื่อไทยให้เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 8 ปี 1,200 บาทต่อเดือน ประชาธิปัตย์ให้เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 8 ปี 1,000 บาทต่อเดือน เดือนแรกให้ 5,000 บาท และพลังประชารัฐชูนโยบายมารดาประชารัฐ จ่ายเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 9 เดือน รวมสูงสุด 27,000 บาท ค่าคลอดจำนวน 10,000 บาท หลังจากนั้นจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กอีกเดือนละ 2,000 บาท ตั้งแต่เกิดจนมีอายุครบ 6 ปี

 

‘การศึกษา’ หลากนโยบาย เงินอุดหนุน เรียนฟรี แก้ปัญหาหนี้ กยศ.

 

นโยบายการศึกษา โดยส่วนนี้จะเน้นในเรื่องของเงินอุดหนุนและค่าเรียนฟรี ซึ่งแทบทุกพรรคมีนโยบายในส่วนนี้ โดยพรรคอนาคตใหม่มีนโยบายจ่ายเงินอุดหนุนเยาวชน18-22 ปี 2,000 บาทต่อเดือน พรรคที่ชูนโยบายเรียนฟรีได้แก่ พรรคสามัญชนที่กล่าวว่าเรียนฟรีและเด็กทุกเชื้อชาติเข้าถึง พรรคเพื่อไทยเรียนฟรี 15 ปี และมีกองทุนกู้ยืม พรรคประชาธิปัตย์และพรรครวมพลังประชาชาติไทยเรียนฟรึถึง ปวส. พรรคชาติไทยพัฒนาเรียนฟรีถึงภาคบังคับ พรรคภูมิใจไทยเรียนฟรีออนไลน์ตลอดชีวิต ส่วนพรรคประชาชาติให้ยกเลิกดอกเบี้ยและค่าปรับ กยศ. พรรคพลังประชารัฐก็บอกว่าจะแก้ปัญหาให้กับนักเรียนที่เป็นหนี้ กยศ. และพรรคชาติพัฒนาเสนอทุนสำหรับครู

 

‘ปฏิรูปภาษี’ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 

ท้ายสุดเรื่องปฏิรูปภาษี พรรคที่มีนโยบายเรื่องนี้ได้แก่ พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ โดยพรรคอนาคตใหม่เสนอจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดกอย่างจริงจัง ลดสิทธิประโยชน์บีโอไอ พรรคสามัญชนเสนอ1) ผลักดันระบบภาษีที่เป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ธนาคารที่ดิน รวมถึงกระจายอํานาจบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชน ปรับอัตราภาษีก้าวหน้าสําหรับผู้มีรายได้สูง 2) สนับสนุนการคืนภาษีสําหรับผู้มีรายได้น้อย และยกเลิกการลดหย่อนภาษีในบริษัทเอกชน ยกเลิกการลดหย่อนภาษี BOI และการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงค่าเช่าที่ดิน และผลกําไรทางธุรกิจ กําหนดเก็บภาษีรายได้จากตลาดหุ้น

ส่วนพรรคเพื่อไทยกล่าวสั้นๆเพียงว่าจะขยายฐานภาษี เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐที่เสนอเพียงว่าจะลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดา 10% ส่วนพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่าจะปฏิรูประบบภาษีให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยผู้มีรายได้สูงและมีที่ดิน ต้องเสียภาษีที่ดินหรือทรัพย์สินที่ดินตามการประเมินราคาตลาดที่แท้จริง รวมถึงจะเก็บภาษีจากธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ ด้านภาษีเงินได้ บุคคลที่มีเงินต่ำกว่า 2 ล้านบาทต่อปี จะเสีย 20 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งจะส่งเสริมด้านการออม ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง พรรคจะขยายฐานภาษีเพื่อให้ธุรกิจเติบโต และจะลดการเก็บภาษีให้เหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มธุรกิจข้ามชาติที่ได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยีในธุรกิจประเภทใหม่ ต้องเสียภาษีการค้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

‘รัฐสวัสดิการ’ ที่ต้องมีเรื่อง ‘ปฏิรูปภาษี’ และ 7 ข้อเรียกร้องของ ‘WE FAIR’

 

ทั้งนี้ "รัฐสวัสดิการ" จึงไม่ใช่การให้เปล่า แต่เป็นการลงทุนกับทรัพยากรที่มีค่ายิ่งนั่นคือมนุษย์ ดังนั้นรัฐสวัสดิการไม่ได้ทำให้คนขี้เกียจ แต่จะยิ่งกระตุ้นให้คนพร้อมทำงานยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องพื้นฐานในการใช้ชีวิต เพราะชีวิตของทุกคนตั้งแต่เกิดจนตายจะถูกรับประกันโดยรัฐบาล ตั้งแต่เงินอุดหนุนเด็กเล็ก ค่าการศึกษา ประกันสังคม ประกันการว่างงาน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บำนาญผู้สูงอายุ ฯลฯ เมื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้น เราก็พร้อมจะสร้างสรรค์พัฒนาทักษะความรู้และผลักดันให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตต่อไปได้

แต่จะเกิดรัฐสวัสดิการได้ต้องมีงบประมาณ ดังนั้นการปฏิรูปภาษีและโครงสร้างงบประมาณจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีไว้ว่า ไม่จำเป็นต้องเพิ่มอัตราภาษีแต่อุดช่องโหว่ระบบภาษีในปัจจุบัน ลดคนที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษี เช่น เก็บภาษีที่ดิน เก็บอัตราต่ำ แต่กระจายทั่ว และมีอัตราก้าวหน้า และหากปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% รัฐบาลจะได้รายได้จากภาษีนี้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.2 % ของจีดีพี

เครือข่าย WE FAIR เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมได้เคยเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการไว้ 7 ข้อได้แก่

1.ด้านการศึกษา เงินสนับสนุนแต่ละช่วงวัยตามเส้นความยากจน 2.ด้านสุขภาพ เสนอให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียว 8,000-8,500 บาท/คน/ปี 3.การเข้าถึงงที่อยู่อาศัยและที่ดิน 4.เรื่องงาน, รายได้, ประกันสังคม โดยเสนอให้ค่าแรงขั้นต่ำตามดัชนีผู้บริโภคเป็น 500 บาท/วัน 5.บำนาญแห่งชาติ 3,000 บาท/เดือน 6.สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม และประชากรกลุ่มเฉพาะ 7.การปฏิรูปภาษีและจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงการลดความเหลื่อมล้ำ

 

*แก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 18 มี.ค. 2562 เวลา 14.50 น.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net