Skip to main content
sharethis

We Watch ชี้ประเด็นสังเกตการณ์การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนมาใช้สิทธิ 2.6 ล้านคน พบบางหน่วยมีผู้ไปใช้สิทธิหลายหมื่น หากบริหารจัดการไม่ดีจะกระทบสิทธิในการเลือกตั้ง ห่วงการจัดเก็บบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า และการจัดส่งไปยังเขตต่างๆ ทั่วประเทศ

ที่มาภาพจาก pixabay.com

เหลือเวลาเพียง 2 วันเท่านั้นที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศไทย ซึ่งลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจะได้ออกไปใช้สิทธิ โดยในครั้งนี้มีจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิทั้งสิ้น 2,632,935 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มาก และส่งผลต่อทิศทางการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญ

บางหน่วยเลือกตั้งมีผู้ลงทะเบียนหลายหมื่นคนหากจัดการไม่ดีจะกระทบสิทธิผู้ไปออกเสียง

ประเด็นซึ่งน่าเป็นห่วงสำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้ามีหลายกรณี ผู้แทนเครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง (We Watch) เปิดเผยกับประชาไทว่า ในการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้พบว่า มีเขตเลือกตั้งหลายเขตที่มีผู้ลงทะเบียนไปใช้สิทธิเกินหนึ่งหมื่นคนหลายจุด ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่ยังกังวลว่า อาจจะไม่สามารถรองรับจำนวนผู้มาใช้สิทธิจำนวนมาก ได้โดยสะดวก เช่น เขตเลือกตั้งสำนักงานเขตห้วยขวาง มีจำนวนผู้ลงทะเบียน 40,816 คน , อาคารลานจอดรถสำนักงานเขตราชเทวี 33,957 คน, สำนักงานเขตบางซื่อ 22,358 คน และสำนักงานเขตลาดพร้าว 23,293 เป็นต้น

“เรายังมีความกังวัลว่า กกต. จะสามารถอำนวยความสะดวกให้ผู้มาใช้สิทธิได้ทั้งหมดหรือไม่ จะมีการแบ่งหน่วยเลือกตั้งย่อยๆ กี่หน่วยในเขตนั้นๆ จะสามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางการอย่างไร ทั้งเรื่องการจอดรถ และการเข้าถึงหน่วยเลือกตั้ง” ตัวแทน We Watch กล่าว

10 หน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีผู้ลงทะเบียนมาใช้สิทธิมากที่สุด

ร.ร.บ้านบางกะปิ กทม. มีผู้ลงทะเบียน 61,401 คน

สนามกีฬา ร.ร.เมืองพัทยา 2 อ.บางละมุง ชลบุรี 52,162 คน

ลานจอดรถ ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ 51,392 คน

ห้างสรรพสินค้เชียร์ รังสิต ปทุมธานี 47,171 คน

อาคารเอสเอ็มอี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าฯ เชียงใหม่ 47,147 คน

ร.ร.บางพลีราษฎร์บำรุง สมุทรปราการ 43,081 คน

อาคารเอนกประสงค์ เทศบาลเมืองท่าโขลง ปทุมธานี 42, 608 คน

สวนพักผ่อนเซ็นทรัลพาร์ค พระราม 2 กทม. 42,508 คน

ร.ร.เทศบาลศรีมหาราชา ชลบุรี 41, 963 คน

ศาลากลางนนทบุรี 41,765 คน

เช็คจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตทั่วประเทศที่นี่

เมื่อถามว่า หากเกิดกรณีที่มีการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ และทำให้จำนวนผู้ไปใช้สิทธิเหลือจำนวนมาก ขณะที่ใกล้ถึงเวลาปิดหน่วยเลือกตั้งแล้ว จะทำให้เสียสิทธิไปโดยปริยายหรือไม่ ตัวแทน We Watch ระบุว่า ตามกฎหมายการเลือกตั้ง ระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป(วันธรรมดา) คือวันที่ 24 มี.ค. หากมีผู้มาถึงหน่วยเลือกตั้งก่อน 17.00 น. และกำลังรอคิวอยู่เนื่องจากคิวยาว ตรงกฎหมายกำหนดว่า กกต. จะต้องอำนวยให้ทุกคนที่รอคิวอยู่นั้น และมารอคิวก่อน 17.00 น. ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งครบทุกคน จึงจะปิดหน่วยเลือกตั้งได้ แต่ยังแน่ชัดว่าในวันเลือกตั้งล่วงหน้า กกต. จะดำเนินการอย่างไร แต่ในทางหลักการควรเปิดให้ผู้มีสิทธิที่มารอก่อน 17.00 น. ได้ใช้สิทธิครบทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันดู

ข้อมูลผิดพลาดอาจจะกระทบต่อการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ

ตัวแทน We Watch กล่าวด้วยว่า ปัญหาที่พบอีกประการคือ ประชาชนหลายคนยังคงสับสนเกี่ยวกับการเลือกตั้งล่วงหน้าอยู่ เช่น บางคนยังเข้าใจว่า การลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นการลงคะแนนเลือกผู้สมัครในพื้นที่ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นการลงคะแนนให้ผู้สมัครในเขตที่เขามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อย่างไรก็ตาม กกต. จะจัดข้อมูลผู้สมัครในเขตนั้นๆ เตรียมไว้ให้ แต่อาจจะจำเป็นต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักผู้สมัคร และตัดสินใจเลือก ซึ่งอาจจะกระทบต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้อย่างมีคุณภาพเพียงพอ

“ส่วนเอกสารที่ กกต. ได้แจกให้แต่ละครัวเรือนไป ก็พบว่ามีข้อมูลที่ผิดพลาดหลายจุด ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าหน้าหน่วยเลือกตั้ง กกต. จะแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาดเหล่านั้นได้ทันหรือไม่ เช่น ชื่อพรรคสลับกับคนชื่อคน หมายเลขผู้สมัครไม่ตรง มีหมายเลขซ้ำกันสองคน หรือระบุการศึกษาผิด” ตัวแทน We Watch กล่าว

มหาวิทยาลัยบางแห่งจัดสอบกลางภาคทับซ้อนวันเลือกตั้งล่วงหน้า

นอกจากนี้ ตัวแทน We Watch ระบุว่า มีมหาวิทยาลัยบางแห่งยังมีการจัดสอบกลางภาคทับซ้อนกับว่าเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า และเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกจะต้องเลือกระหว่างไปสอบ หรือไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเองก็ยังไม่มีมาตรการที่จะแก้ไขปัญหานี้

“เรื่องนี้เราคิดว่า มันควรกำหนดให้วันที่ 17 มี.ค. เป็นวันที่ไม่มีการเรียนการสอน หรือการสอบไปเลย เพราะแม้ทางมหาวิทยาลัยจะอ้างว่านักศึกษาไม่ได้สอบทั้งวัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่นักศึกษาบางคนจะต้องสอบทั้งช่วงเช้า และช่วงบ่าย อีกทั้งจำนวนคนในกรุงเทพที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในหน่วยที่อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยมีจำหนวนหลักหมื่น มันก็จะกลายเป็นว่า พวกเขาอาจจะเสียสิทธิ” ตัวแทน We Watch กล่าว

อำนวยความสะดวกผู้พิการมีแค่วันเลือกตั้งล่วงหน้า วันเลือกตั้งจริงผู้พิการอาจมีปัญหาในการใช้สิทธิ

ตัวแทน We Watch ระบุด้วยว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. ไม่สามารถจัดให้ทุกหน่วยเลือกตั้งสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ และผู้สูงอายุได้ทั้งหมด จึงได้จัดให้มีทั้งหมด 9 หน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ สำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้า ที่เปิดมาเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้พิการ และผู้สูงอายุ ซึ่งในทางปฏิบัติพบว่ามีผู้ไปลงทะเบียนของใช้สิทธิจำนวนน้อยมาก เหตุผลเพราะ ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุจำนวนมาก ถ้าต้องการได้รับการอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะต้องเดินทางไกลเพื่อไปลงคะแนน เพราะมีหน่วยเลือกตั้งที่เปิดไว้รับรองเพียง 9 หน่วยทั่วประเทศนั้น  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าในวันเลือกตั้งจริง ผู้พิการ และผู้สูงอายุจะประสบปัญหาต่างๆ ในการเข้าไปใช้สิทธิ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ควรเป็นเรื่องที่ กกต. ควรออกแบบการเลือกตั้งมาเพื่อรับรองสำหรับคนทุกคน

ลงคะแนนเสร็จแล้วบัตรเลือกตั้งจะถูกจัดเก็บไว้ในสถานที่ซึ่งปลอดภัย?

เมื่อถามว่า ระหว่างการเลือกตั้ง หรือหลังจากที่มีการปิดหน่วยเลือกตั้งไปแล้ว มีอะไรที่ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจะต้องจับตาเป็นพิเศษหรือไม่ ตัวแทน We Watch ชี้ว่า ในช่วงที่มีการเลือกตั้งอยู่สิ่งที่ต้องสังเกตคือ การจัดการเอกสารของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งจะแตกต่างจากวันเลือกตั้งจริง คือ ในวันเลือกตั้งจริงนั้นในเขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งจะใช้บัตรเลือกตั้งแบบเดียวกันทั้งหมด ซึ่งเป็นบัตรเลือกตั้งที่จะใช้ในเขตเลือกตั้งนั้น แต่ในวันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ผู้ลงทะเบียนมาใช้สิทธิเลือกตั้งจะมาจากหลายเขตมาเลือกรวมกันที่เดียว ก็จำเป็นต้องดูว่าจะมีการจัดการเอกสาร หรือคัดแยกบัตรเลือกตั้งอย่างไร ทั้งการส่งบัตรเลือกตั้งที่ตรงเขตให้กับผู้มาใช้สิทธิ การเตรียมจัดส่งไปยังเขตเลือกตั้งที่ผู้มาใช้สิทธิสังกัดอยู่

“ส่วนเรื่องการจัดเก็บบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ลงคะแนนแล้ว และรอการส่งไปยังเขตเลือกตั้งเพื่อที่จะนับคะแนนพร้อมกันในวันที่ 24 มี.ค. ทางพวกเราพยายามถามไปที่ กกต. แต่เขาก็ไม่ได้อธิบายรายละเอียดจัดเก็บบัตรเลือกตั้ง และจัดส่งไปยังเขตในวันนับคะแนนอย่างไร บอกเพียงแค่จะเก็บไว้ในสถานที่ที่ปลอดภัย ในด้านหนึ่งเราเข้าใจได้ กกต. อาจต้องการให้การจัดเก็บเป็นความลับ เพื่อไม่ต้องการให้ใครมาแทรกแซง ซึ่งเรื่องจะเป็นผลดีในแง่ที่ประชาชนมีความไว้วางใจการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระแต่ถ้าประชาชนไม่ได้ไว้วางใจในการทำหน้าที่ เรื่องนี้ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนไม่สบาย และก็ต้องอยู่กับอะไรที่มันดูคลุมเครือ” ตัวแทน We Watch

ขณะที่ ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ วันนี้ (15 มี.ค.) โดยระบุว่า บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าทั้ง 350 เขต จะถูกรวบรวมมาไว้ที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด โดยนำไปเก็บไว้ที่โรงพัก ก่อนจะคัดแยกภายใน 48 ชั่วโมง แล้วส่งไปยังเขตเลือกตั้งตามที่อยู่บนหน้าซอง โดยรถไปรษณีย์กว่า 300 คัน ที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด ส่งสัญญาณดาวเทียมมาที่ศูนย์ กกต. และมีรถตำรวจนำขบวน โดยบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งหมดจะต้องไปถึงเขตไม่เกินวันที่ 22 มี.ค. เพื่อรวมนับคะแนนในวันที่ 24 มี.ค. หลังเวลา 17.00 น.

“ยืนยันว่าการขนส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า 2 ล้านใบ มีขั้นตอนที่รัดกุมและโปร่งใส มีเอกสารกำกับ มีสายรัดถุงบัตร หากพบร่องรอยการชำรุดเสียหาย หรือสายรัดหายไป จะถูกแทงเป็นบัตรเสียทั้งหมด” ณัฏฐ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net