Skip to main content
sharethis

ประชาไทชวนดูไทม์ไลน์การพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้ยุบพรรคที่ดำเนินการโดย กกต. เทียบ 3 พรรคใหม่ ไทยรักษาชาติ กกต. ปิดเกมเร็วตัดสินใจยื่นศาล รธน. หลังพิจารณาเพียง 1 วัน อนาคตใหม่ถูกร้องสามเรื่อง กกต. ปัดตกไปแล้วหนึ่ง เหลือสองข้อกล่าวหาหนักยังไม่ทราบความคืบหน้า ส่วนพลังประชารัฐมีสี่แผล โต๊ะจีนรอดแล้วใช้เวลา 83 วัน เหลือกรณีสมัครสมาชิกพรรคพร้อมสมัครบัตรคนจน-กรณีความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐของประยุทธ์-กรณีเสนอชื่อหัวหน้าคณะรัฐประหาร รอลุ้นจะรอดด้วยเหตุผลใด

ปรากฎการณ์ในวันที่ 8 ก.พ. 2562 ทั้งช่วงเช้า และช่วงดึก จากการเสนอชื่อ ‘อุบลรัตนฯ’ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ ไปจนถึงการประกาศพระราชโองการของพระมหากษัตริย์ซึ่งระบุว่าการนำสมาชิกราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มาข้องเกี่ยวกับการเมืองเป็นเรื่องที่มิบังควร และไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมืองไทยอีกครั้งนี้ สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ชัดสุดคือ การตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ และตัดสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี ผลกระทบข้างเคียงที่ตามมาอีกประการหนึ่งคือ ผู้สมัครของพรรคไทยรักษาชาติทั้ง 270 คน (150 คนในระบบแบ่งเขต 120 คนในระบบบัญชีรายชื่อ) ถูกกันออกจากสนามเลือกตั้งครั้งนี้ทันที เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ก่อนการเลือกตั้ง 60 วันได้ และการรับ สมัครลงเลือกตั้งได้ยุติลงแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. และหากในวันเลือกตั้งมีการกาลงคะแนนเสียให้กับผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติก็จะกลายเป็นบัตรเสียไปโดยปริยาย

ยิ่งเข้าใกล้การเลือกตั้งมากขึ้นเท่าไหร่จำนวนเรื่องร้องเรียนให้การยุบพรรคการเมืองที่ส่งถูก กกต. ก็เพิ่มปริมาณมาขึ้นไปตามๆ กัน  นอกจากไทยรักษาชาติ ที่ถูกประหารในทางการเมืองไปแล้ว ยังมีอีกหลายพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคการเมือง และล่าสุดมีผู้ยื่นเรื่องขอยุบพรรคเพื่อไทยแล้ว อย่างก็ตามกระบวนการพิจารณาในชั้นแรกอยู่ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณารับเรื่องร้องเรียน พิจารณาสืบสวนรวบรวมข้อเท็จจริง ไต่สวน และลงมติว่าจะยื่นเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประชาไทชวนดูไทม์ไลน์ กระบวนการทำงานของ กกต. ในกรณีมีการร้องเรียนพรรคการเมืองโดยเปรียบเทียบกระบวนการและผลการพิจารณาของ กกต. ต่อพรรคการเมือง 3 พรรคได้แก่ พรรคไทยรักษาชาติ , พรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่

พิจารณายื่นร้องศาลรธน. ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ใช้เวลาเพียง 1 วัน ผิดเพราะอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง

8 ก.พ. 62 09.00 น. คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ เข้ายื่นเสนอชื่อ ‘อุบลรัตนฯ’ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยกกต. ได้รับการเสนอชื่อไว้ โดยไม่มีการทักท้วงแต่อย่างใด ต่อมาในช่วงดึกวันเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงมีพระราชโองการ ชี้ว่าการเสนอชื่อสมาชิกราชวงศ์เป็นการทำที่ไม่เหมาะสม

11 ก.พ. 62 กกต. ไม่รับรองรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยรักษาชาติ พร้อมระบุว่าจะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า การกระของ ทษช. เข้าข่ายยุบพรรค ตามฐานความผิดมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่

12 ก.พ. 62 กกต.ประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก แต่ไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการตามที่ระบุในวันที่ 11 ก.พ.

13 ก.พ. 62 กกต. มีมติยื่นเรื่องให้ ศาล รธน. พิจารณาสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามฐานความผิดมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

14 ก.พ. 62 ศาล รธน. รับเรื่องร้องที่กกต. ยื่นมาไว้พิจารณา

27 ก.พ. ศาล รธน. นัดพิจารณาคดีครั้งแรก ไม่รับไต่สวนเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานเพียงพอแล้ว

7 มี.ค. 62 ศาล รธน. ตัดสินยุบ ทษช. ตัดสิทธิคณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

อนาคตใหม่รอดแล้ว 1 กรณี เหลืออีก 2 ข้อกล่าวหาหนักอยู่ในราง รอมติ กกต. ว่าจะรับพิจารณาหรือไม่

1.กรณีเว็บไซต์พรรคอนาคตใหม่ระบุประวัติธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผิดพลาด

25 ก.พ. 62 ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นร้องเรียน กกต. กรณีเว็บพรรคอนาคตระบุประวัติธนาธร ผิดพลาด โดยชี้ว่า กรณีดังกล่าวอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริต อาจเข้าข่ายผิดตามมาตรา 132 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561

4 มี.ค. 62 กกต. รับเรื่องร้องเรียนของศรีสุวรรณ พร้อมตั้งอนุกรรมการไต่สวน

6 มี.ค. 62 ศรีสุวรรณ เข้าให้ปากคำต่อ กกต.

13 มี.ค. 62 กกต.พิจารณาว่า กรณีดังกล่าวเห็นว่าพยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่า ได้กระทำผิดตามมาตรา 73 (5 ) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 จึงมีมติให้ยุติเรื่องร้องเรียนดังกล่าว

2.กล่าวหา ’ธนาธร’ และ ’ปิยบุตร’ มีพฤติการณ์และทัศนคติล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

28 ก.พ. 62 บุญถาวร ปัญญาสิทธิ์ ยื่นเรื่องร้องเรียน กกต. กรณีธนาธร และปิยบุตร มีพฤติการณ์และทัศนคติล้มล้างการปกครองฯ จากกรณีการประกาศสานต่อภาระกิจคณะราษฎรของธนาธร และการแสดงความเห็นวิชาการประเด็น ม.112 ของปิยบุตรก่อนตั้งพรรคการเมือง

8 มี.ค. 62 บุญถาวร ยื่นหลักฐานเพิ่มเติม คือแถลงการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ต่อคำวินิฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ

กกต. ยังไม่มีมติรับเรื่องไว้พิจารณา

3.คนนอกครอบงำพรรคการเมือง เหตุอดีตผู้สมัครไทยรักษาชาติ ประกาศเทคะแนนเสียงให้

15 มี.ค. 62 ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นร้องเรียน กกต. หลังพบว่าโฆษกพรรคอนาคตใหม่กล่าวขอบคุณ ฐิติมา ฉายแสง ที่ประกาศเทคะแนนเสียงให้พรรคอนาคตใหม่  อาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 28 แห่ง พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ซึ่งจะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองมาตรา 92 (3)

กกต. ยังไม่มีมติรับเรื่องไว้พิจารณา

พลังประชารัฐมี 4 แผล รอดแล้ว 1 เหลืออีก 3 ยังรอลุ้นว่าจะรอดด้วยเหตุผลใด

1.ความไม่โปร่งใสการจัดงานระดมทุน โต๊ะจีนพลังประชารัฐ

19 ธ.ค. 61 พปชร จัดงานโต๊ะจีนระดมทุน 200 โต๊ะ โต๊ะ 3 ล้านบาท รวมเงินทั้งสิ้น 622,347,950 บาท สำนักข่าวอิศราเปิดเผยว่า ป้ายที่ปรากฎบนโต๊ะจีนที่จองไว้มีการชื่อช่วยหน่วยงานรัฐ “คลัง-ททท-กทม” ทั้งยังมีเอกชนรายเล็กและรายใหญ่อย่างน้อย 12 บริษัท เป็นคู่สัญญากับรัฐบาล คสช.

20 ธ.ค. 61 สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ชี้แม้จะพิสูจน์แล้วพบว่าไม่มีการใช้เงินของรัฐ แต่ถ้าใช้ชื่อหน่วยงานรัฐเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองก็ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย

21 ธ.ค. 61 ศรีสุวรรณ ยื่นร้องเรียนต่อ กกต. ให้ตรวจสอบการจัดงานระดมทุนของ พปชร.

22 ธ.ค. 61 เลขาธิการ กกต. เผยการจะตรวจสอบการระดมของพรรค พปชร. ได้ต้องรอให้พรรคยื่นรายงานการบริจาค หรือระดมทุนพรรคการเมืองให้ กกต. รับทราบก่อน (ตามกฎหมายระบุให้ยื่นภายใน 30 วัน)

18 ม.ค. 62 ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ได้ยื่นเอกสารรายงานการระดมทุนพรรคการเมืองให้ กกต. โดยแบ่งบัญชีการระดมทุน 90,000,000บาท 24 รายการ ส่วนอีก 532,350,000 บาทจะนำเข้าบัญชีการบริจาคแทน

29 ม.ค. 62 เลขาธิการ กกต. แจ้งว่า พปชร. ต้องยื่นเอกสารเอกสารหลักฐานเพิ่ม เพราะเงินจำนวน 532,350,000 บาท ถือเป็นเงินระดมทุน ไม่ใช่เงินบริจาค โดยให้ชี้แจ้งหรือส่งเอกสารเพิ่มเติมภาย 15 วัน

25 ก.พ. 62 อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เปิดเผยว่าเวลานี้ ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย

12 มี.ค. 62 กกต. สรุปผลการพิจารณา โต๊ะจีน พปชร. ชี้ไม่เข้าข่ายถูกยุบพรรคเพราะไม่มีต่างชาติร่วมบริจาค และไม่มีการใช้เงินจากหน่วยงานรัฐ

2.บังคับสมัครสมาชิกพรรค ก่อนลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

23  ธ.ค. 61 ผู้ใช้เฟสบุ๊ครายหนึ่ง ถ่ายคลิปวิดีโอ ขณะเข้าไปต่อว่าทีมงานพลังประชารัฐ จังหวัดยโสธร ขณะเปิดโต๊ะรับสมัครสมาชิกพรรค โดยเป็นการบังคับว่าหากไม่สมัครสมาชิกพรรคจะไม่สามารถลงทะเทียนเพื่อรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้

24 ธ.ค. 61 เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่ากำลังตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าว

ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า

3.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ?

11 ก.พ.62 เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ และข่ายเข้าข่ายขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 98 (15) หรือไม่

12 มี.ค. 62 เรืองไกร ยื่นเรื่องเร่งรัดให้ กกต. เร่งพิจารณาคำร้องที่ได้ยื่นไปเมื่อเดือนก่อน

13 มี.ค. 62 ประธาน กกต. เปิดว่า กำลังจะเตรียมพิจารณาเรื่องดังกล่าว สาเหตุที่ดูเหมือนว่าดำเนินการช้าเป็นเพราะ กำลังหาข้อมูลอยู่

14 มี.ค. 62 ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาคำร้องของศรีสุวรรณ ที่ขอให้พิจารณาสถานะทางกฎหมายของหัวหน้า คสช. โดยผู้ตรวจการชี้ว่า หัวหน้า คสช. ไม่ใชจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ในช่วงเวลาหนึ่ง

ยังไม่มีผลสรุปจาก กกต.

4.เสนอชื่อ ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร เป็นการกระทำอันอาจเป็น ”ปฏิปักษ์” ต่อระบอบการปกครอง

18 ก.พ. 62 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต. กรณีเสนอชื่อผู้นำคณะรัฐประหารเป็นแคนดิเดตนายกฯ

27 ก.พ. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ยื่นหนังสือถึง กกต.เพื่อทวงถามความคืบหน้า

ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net