มูลนิธิสืบนาคะเสถียรออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่ ครม. ให้ปูนซิเมนต์ไทยใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่ ครม. ให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 ระบุควรมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่โดยรอบตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการอย่างจริงจังเพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นคณะทำงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2562 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออก แถลงการณ์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ต่อกรณีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 โดยระบุว่าจากกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 (ท้องที่ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก และตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี) เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ท้องที่จังหวัดสระบุรี จำนวน 15 แปลง รวมเนื้อที่ 3,311 ไร่ 2 งาน 67 ตารางวา เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา

เนื่องจากบริเวณพื้นที่ดังกล่าวที่ได้รับอนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 A แล้วนั้น พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวเป็นกลุ่มเขาหินปูนในเขตจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และโคราช ชุดต่อเนื่องกันที่อยู่ใจกลางของประเทศไทยและไม่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นภูมิทัศน์เขาหินปูนของไทยที่มีเพียงร้อยละ 5 ของประเทศ แต่มีถึง 75 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ และเป็นถิ่นอาศัยของพืชและสัตว์ถิ่นเดียว Endemic species ไม่พบที่อื่นในโลกอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ตุ๊กกายหางขาว จิ้งจกดินข้างดำ นกจู๋เต้นเขาหินปูนพันธุ์สระบุรี ฯลฯ และพบเลียงผาที่เป็นสัตว์ป่าสงวนอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย ดังนั้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอแถลงการณ์ต่อกรณีการอนุมัติผ่อนผันเพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ดังต่อไปนี้

1. พื้นที่ที่ได้รับอนุมัติผ่อนผันการใช้ประโยชน์ดังกล่าว อยู่ในจุดสำคัญที่สมควรเก็บรักษาไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมีการทำเหมืองแล้วจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเป็นแหล่งต้นน้ำของพื้นที่รอบๆ หากหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่ควรที่จะดำเนินการบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อให้เกิดการรักษาความสมดุลในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ป้องกันการขาดแคลนน้ำหรือการปนเปื้อนของมลพิษในพื้นที่ต้นน้ำ

2. เขาหินปูนในเขตจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และโคราช เป็นเขาชุดต่อเนื่องกัน ที่พบสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ถิ่นเดียวเป็นจำนวนมาก หากมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ ควรมีการสำรวจข้อมูลที่ละเอียดอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการสำรวจพืชและสัตว์ถิ่นเดียวในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวในพื้นที่จริงอย่างเป็นปัจจุบัน และนำผลการศึกษาไปใช้ในการวางแผนการรับมือ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมไปถึงการอพยพและการคุ้มครองประชากรพืชและสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง

3. ควรมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา และวางแผนการจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบในทุกขั้นตอนเพื่อให้เกิดความสมดุลในการบริหารจัดการพื้นที่ โดยมีองค์ประกอบจากบุคคลที่มีองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศเขาหินปูนร่วมด้วยในชุดดังกล่าวด้วย

4. เนื่องจากกลุ่มพื้นที่ทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ดำเนินการมาอย่างยาวนานและมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากกิจกรรมดังกล่าว จึงสมควรมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่โดยรอบตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการอย่างจริงจังเพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นคณะทำงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

5. การเปิดเผยรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) มีความจำเป็น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลในการประกอบการพิจารณาให้ความเห็นต่อกิจกรรมดังกล่าว รัฐจึงไม่ควรเพิกเฉยต่อการให้ข้อมูลเมื่อมีการร้องขออันเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้เกิดความคลางแคลงและข้อสงสัยต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับกิจกรรมที่อาจจะมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนท้องถิ่น

6. จากการที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2562 พบว่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าทับกวาง และป่ามวกเหล็ก แปลงที่ 1 (ท้องที่ตำบลมวกเหล็ก อำเภอมวกเหล็ก และตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี) ยังมีพื้นที่ป่าประกอบไปด้วยอุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย และพื้นที่ป่าคงสภาพอยู่ด้านล่างติดกันต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่ เพื่อการรักษาพื้นที่ต้นน้ำป่าสักและระบบนิเวศเขาหินปูนของไทยที่มีเพียงร้อยละ 5 ของประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมควรเร่งดำเนินการผนวกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพิ่มเติมให้ครอบคลุมบริเวณดังกล่าวอันเป็นเจตนารมณ์ของการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท