เลือกตั้ง 62 : 4 พรรคลั่นเดินหน้าแก้รธน. ถอนยุทธศาสตร์ คสช. ขณะที่ ปชป.ก็ไม่เห็นด้วย แต่แก้รายประเด็น

(มีคลิป) iLaw ชี้ ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติ แต่เป็นยุทธศาสตร์ คสช. นักวิชาการระบุเป็นยุทธศาสตร์เปิดให้รัฐราชการเข้ามามีบทบาทนำ ขณะที่  'เพื่อไทย-อนาคตใหม่-ประชาชาติ-สามัญชน' ประกาศไม่เอา พร้อมเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่ ปชป.ก็ไม่เห็นด้วย แต่จะแก้รายประเด็น
 

เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พรรคโดมปฏิวัติร่วมกับ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ "บริหารอย่างไรใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" โดยมีตัวแทนจากพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อไทย เข้าร่วมเสวนา

ปชป.ไม่เห็นด้วย แต่จะแก้รายประเด็น

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติว่า พรรคไม่เห็นด้วย แต่จะแก้บางประเด็น โดยเห็นว่าเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศและกำหนดเป้าหมายอย่างกว้างๆ โดยสาระของมันมีทั้งส่วนที่เป็นปัญหาและไม่เป็นปัญหา เมื่อนำเป้าหมายการพัฒนาประเทศไปแตกเป็น 6 ด้านนั้น เราเห็นต่างในหลายเรื่อง ประเด็นที่เห็นต่าง เราก็อยากให้มีการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ การแก้บางประเด็นนั้นจะไม่ให้นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะมุ่งผลักดันนโยบายที่หาเสียงเพื่อให้ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าให้ได้ ส่วนใดที่ยุทธศาสตร์ชาติเป็นอุปสรรคเราก็จะแก้

ยุทธศาสตร์ชาติ 4 เรื่องที่มีปัญหาในมุมของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ศ.ดร.กนก กล่าวว่า 1. ยุทธศาสตร์ชาติสะท้อนการรวมศูนย์ส่วนกลาง และเมื่อดูในรายละเอียดถึงการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติเน้นรัฐราชการอยู่ที่ข้าราชการและระบบราชการ แต่พรรคอยากเห็นการกระจายอำนาจ เพิ่มอำนาจของประชาชน ส่วนข้าราชการต้องเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามเป้าหมายนั้น 2. การเก็บข้อมูลในพื้นที่เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมีการทำน้อยมาก 3. เมื่อลงไปดูใน 6 ด้านของยุทธศาสตร์ชาติก็จะเห็นปัญหามาก เช่น การสร้างความสามารถในการแข่งขัน บางเรื่องเมื่อไปถึงการปฏิบัติจะทำอย่างไร การเน้นรัฐส่วนกลาง แผนปฏิบัติก็ไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนหรือการมีส่วนร่วมของประชาชนในยุทธศาสตร์ชาตินั้นก็มีน้อยมาก การบริหารในยุทธศาสตร์ชาติมองข้ามการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะเทคโนโลยี ฯลฯ  และ 4. กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาตินี้ การรับฟังความเห็นของประชาชนสำคัญมาก และ 5 จังหวัดที่ไปรับฟังมา ไม่เชื่อว่าประชาชนจะไม่พูดถึงการจัดการตัวเองในพื้นที่หรือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่เมื่อกลับมาเป็นยุทธศาสตร์ชาตินั้นกลับหายไป 

ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวด้วยว่า แผนยุทธศาสตร์ชาตินี้ไปผูกกับรัฐธรรมนูญด้วย และพรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศไม่เห็นด้วยในรัฐธรรมนูญแต่แรก ดังนั้นจึงเห็นว่าต้องมีการแก้ไข 

'เพื่อไทย-อนาคตใหม่-ประชาชาติ-สามัญชน' ประกาศไม่เอา พร้อมเดินหน้าแก้รธน.

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยืนยันพรรคไม่เห็นด้วย 6 ประเด็น และจะแก้รัฐธรรมนูญ 

รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติ มี 6 ประเด็น 1. เห็นว่ามันไม่ควรเป็นกฎหมาย ควรเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ เราเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ใช้ยุทธศาสตร์ชาติมาเป็นกฎหมาย การมียุทธศาสตร์ชาติมาเป็นกฎหมายมันเป็นการบังคับ 2. ยุทธศาสตร์ชาติอาจเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศได้ แต่ไม่ใช่วิธีการ ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดทิศทางของประเทศพอสมควร ไม่ใช่แค่กรอบคร่าวๆ 3. ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดให้เรามองอนาคต 20 ปีไปในทางเดียวกัน เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย การระบุว่าทุกคนต้องคิดแบบเดียวกันนั้นผิดแน่ๆ 4. ประเทศมีหลายมิติเกินกว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นคำตอบเดียว 5. ยุทธศาสตร์ชาติจะนำประเทศไปสู่การรวมศูนย์ดึงประเทศกลับไปสู่การรวมศูนย์อีกครั้ง 6. ยุทธศาสตร์ชาติอาจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้ อาจมีการตีความที่นำไปสู่การได้เปรียบทางการเมืองได้ หลังเลือกตั้งรัฐบาลที่มาจากประชาชนยังถูกครอบโดยอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนอันนี้จึงเป็นปัญหา 

ดร.เผ่าภูมิ กล่าวด้วยว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยมีเจตนาแน่วแน่ว่าจะเข้าไปปรับเปลี่ยนรัฐธรรมนูญที่เป็นผลพวงของการสืบทอดอำนาจ 

รังสิมันต์ โรม ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ยืนยันว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติแน่นอนและจะต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ดังนั้นเมื่อแก้รัฐธรรมนูญก็คือเอายุทธศาสตร์ชาติออกจากรัฐธรรมนูญ 

รวิโชติ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 1 พรรคประชาชาติ ยืนยันว่าพรรคไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติ 4 ด้านด้วยกัน คือ 1. ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน 2. ระยะเวลาอีก 20 ปีข้างหน้านั้นยาวเกินไป แผนนี้ไกลเกินไปถึง 20 ปี 3. องค์ประกอบของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติสัดส่วนไม่หลากหลายไม่ครอบคลุมทุกภาคส่วน  และ 4. สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่สุด คือเรื่องของการนำเอายุทธศาสตร์ชาติไปปฏิบัติให้เกิดผลเชิงรูปธรรม หากไม่ทำตามอาจโดนดำเนินคดี หรือข้าราชการเกียร์ว่างไม่ทำตามนโยบายที่อาจไม่ตรงยุทธศาสตร์ชาติ

รวิโชติ กล่าวด้วยว่า หลายเรื่องที่เป็นนโยบายของพรรคหากไปรายงานต่อกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ อาจถูกบล็อกแน่นอนทั้งการจัดรัฐสวัสดิการ การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น การส่งเสริมพหุวัฒนธรรม อาจทำให้การขับเคลื่อนนโยบายสู่รูปธรรมก็เป็นเรื่องยาก เพราะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเน้นการรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจจากส่วนกลาง ฯลฯ

ปกรณ์ อารีกุล โฆษกพรรคสามัญชน ยืนยันว่า พรรคไม่เอายุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว โดยให้เหตุผลว่า เป็นการไม่เอาเพราะที่มาที่ไปของมันมีปัญหา ตั้งแต่กระบวนการร่างขาดกระบวนการมีส่วนร่วม คณะกรรมการที่มีทหารจำนวนมาก และมี อุตตม สาวนายน ที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองตอนนี้เป็นกรรมการด้วย ดังนั้นหากมีโอกาสพรรคไหนต้องการแก้รัฐธรรมนูญพรรคก็จะเข้าร่วมในการแก้รัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติด้วย

ยุทธศาสตร์ คสช.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนวงเสวนาเริ่มต้น มีการบรรยาย "ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีคืออะไร?" ของยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โดย ยิ่งชีพ  ชี้ให้เห็นสภาพปัญหาของยุทธศาสตร์ชาติ หรือ "ยุทธศาสตร์ คสช." ตั้งแต่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 28 คน พบว่าทั้งหมดมีบทบาททำงานกับหรือร่วมกับ คสช.  12 คน เป็นหรือเคยเป็นสมาชิก คสช.  9 คนเป็นสมาชิก สนช. 13 คนเป็นกรรมการใน ป.ย.ป. ที่ คสช.ตั้ง 12 คนเป็นกรรมการประชารัฐ และ 3 คนมาตั้งพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นคนที่มานั่งเป็นการนั่งเก้าอี้ดนตรีกัน ทั้ง 28 คนเป็นผู้ชายหมด ไม่มีผู้หญิง อายุเฉลี่ยตอนนี้น่าจะ 65 ปี 

ผู้จัดการ iLaw ย้ำว่า นี่เป็นยุทธศาสตร์ของ คสช. ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ประชาชน ดังนั้นจะไม่เรียกยุทธศาสตร์ชาติ แต่เรียกยุทธศาสตร์ คสช. โดยยุทธศาสตร์ชาติ เห็นครั้งแรกตาม รัฐธรรมนูญ ม.65 จริงๆ แล้วเขียนก่อนที่รัฐธรรมนูญเขียนขึ้น มันมีมติ ครม. วันที่ 30 มิ.ย.58 ที่มีการวางไว้แล้ว ดังนั้น จริงๆ แล้วตัวแผนการยุทธศาสตร์ คสช. นี้มีมาก่อนที่ รัฐธรรมนูญเสียอีก ดังนั้นยุทธศาสตร์ ของ คสช. ไม่ได้มาจากรัฐธรรมนูญ หรือประชามติ แต่สั่งมาตั้งแต่ปี 58 แล้ว

ตัวยุทธศาสตร์ชาตินั้น ยิ่งชีพ มองว่า เนื้อหาไม่น่ากังวลมากนัก มีเพียง 76 หน้า เนื้อหาส่วนใหญ่ไม่ใช่ว่าไม่มีใครไม่อยากเห็น แต่ตัวยุทธศาสตร์มีความน่ากังวลคือการบังคับใช้ของมัน เพราะมีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง กระบวนการบังคับใช้มี 2 ระดับคือทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ หากหน่วยงานรัฐไม่ได้ทำตามยุทธศาสตร์ข้อไหน ก็จะมีกระบวนการควบคุมกำกับหากวินิจฉัยแล้วไม่ปฏิบัติตาม ก็เท่ากับเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งมีโทษ ส่วนรัฐบาลไม่ทำตามก็จะมีกระบวนการควบคุมกำกับเช่นกัน หากไม่ทำตามจริงก็จะถูกเพิกถอนสิทธิ แต่กระบวนการถอดถอนนักการเมืองนั้นก็ไม่ง่าย มันคงไม่ถึงกับตั้งรัฐบาลแล้วจะถอดถอนเลยก็ไม่ได้

โดยสรุป ยิ่งชีพ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ ร่างโดยคนของ คสช. จัดทำก่อนรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจะอ้างรัฐธรรมนูญก็อ้างไม่ได้เต็มปาก เนื้อหาไม่น่ากังวลมากนัก แต่กระบวนการบังคับใช้และกำกับควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองนั้นน่ากังวล

เปิดให้รัฐราชการเข้ามามีบทบาทนำ

สำหรับหัวข้ออภิปราย "บริหารอย่างไรให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" นำเสนอโดย ผศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ธนพันธ์ กล่าวว่า ตนมีความกังวลในเรื่องของกระบวนการในการชะลอหรือยับยั้งให้หน่วยงานราชการที่รัฐไทยบทบาทของราชการมีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบาย 

สำหรับที่มาของยุทธศาสตร์ชาติมาอย่างไร ผศ.ดร.ธนพันธ์ มองว่า ในทางการเมืองเป็นเรื่องที่รัฐเข้ามาแทรกแซงกระบวนการพัฒนา โดยที่อีกด้านคือด้านเศรษฐกิจที่มีการพูดกันมากคือ ในระบบการพัฒนาแบบทุนนิยมไม่ได้เป็นลักษณะแนวราบที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนา แต่เป็นลักษณะของตัวละครบางตัวที่มีเครือข่ายอำนาจรัฐก็จะมีอำนาจมากกว่า จะปรากฏทั่วไปในรัฐกำลังพัฒนา รัฐที่มีรายได้ระดับปานกลาง แนวคิดเบื้องหลังคือให้รัฐมีบทบาทนำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ อย่างน้อย 20 ปี กระบวนการในการเข้าถึงการพัฒนาประเทศแต่ละภาคส่วนมีโอกาสไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความใกล้ศูนย์กลางของอำนาจของประเทศ 

ที่มาของยุทธศาสตร์ชาติ ผศ.ดร.ธนพันธ์ กล่าวว่า คือ กองทัพ ทุน เทคโนแครตเป็นสำคัญ ดังนั้นที่มานั้นสะท้อนโครงสร้างพีระมิดอยู่แล้ว ส่วนวัตถุประสงค์นั้น เน้นความมั่นคงแบบโบราณที่เน้นความมั่นคงของประเทศ และอีกประเด็นใช้คำเยอะคือคำว่า ส่งเสริมมากกว่าสนับสนุน ประเด็นนี้ตนไม่ค่อยเห็นด้วยนัก เนื่องจากบทบาทของรัฐในปัจจุบันที่ต้องการให้คนพัฒนาเรียนรู้ระยะยาว รัฐไม่ควรมีบทบาททางชี้นำ แต่ควรเป็นการสนับสนุน เพราะฉะนั้นกรณียุทธศาสตร์ชาติที่ลองอ่านอยู่ คือ รัฐต้องมีบทบาทนำ 

ผศ.ดร.ธนพันธ์ กล่าวต่อว่า มีการวางอะไรที่ซับซ้อน เข้าถึงยาก การมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่ก็จะยาก บทบาทหุ้นส่วนของการพัฒนาก็มีข้อสงสัยว่าจะยาก การทบทวนยุทธศาสตร์ก็ยาก ในชีวิตเรามีแผน เมื่อเดินไปแล้วมีสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงก็ต้องเปลี่ยนแผนไป แต่อันนี้ไม่เปิดให้เปลี่ยนแผนก็ขัดกับธรรมชาติของมนุษย์และสังคม อีกอย่างสิ่งที่ขาดหายไป คือมิติของความมั่นคงมันมีความเปลี่ยนแปลงไปตลอด ความมั่นคงของอาหาร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ คือสิ่งที่ขาดหายไป การสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันเรียนรู้  ขาดการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีความไม่ชัดเจนนักในยุทธศาสตร์ชาติ ฯลฯ 

"อยากเห็นรัฐบาลชุดต่อไปเป็น facilitator มากกว่าเป็น leader ควรมีลักษณะเป็นแนวราบมากกว่าแนวดิ่ง" ผศ.ดร.ธนพันธ์ กล่าวย้ำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท