จัดการพลาดหรือลิดรอนสิทธิ? สรุปปัญหาเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรใน 8 ประเทศ

การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 4 จนถึงวันที่ 16 มีนาคมเป็นวันสุดท้าย อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้สิทธิจำนวนมากใน 8 ประเทศกลับต้องเผชิญกับความยากลำบากในการลงคะแนนเสียง ทั้งในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา มาเลเซีย แอฟริกาใต้ รัสเซีย และญี่ปุ่น ปัญหาที่พบมีตั้งแต่ผู้ใช้สิทธิยืนรอนานกว่าจะได้ลงคะแนนเสียง บัตรเลือกตั้งยังส่งทางมาไม่ถึง จนไปถึงการที่ผู้ใช้สิทธิส่งบัตรเลือกตั้งที่กาแล้วกลับไปทางไปรษณีย์แต่ถูกตีกลับ 

แฮชแท็ก #การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เป็นกระแสในทวิตเตอร์อย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จากการที่ผู้ใช้คะแนนเสียงจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กกต. รวมไปถึงสถานทูต และกงสุลต่าง ๆ ในต่างประเทศ ผู้ลงคะแนนเสียงชาวไทยต้องเผชิญกับปัญหาจำนวนมาก ได้แก่ ผู้ใช้สิทธิยืนรอนาน บัตรเลือกตั้งส่งมาทางไปรษณีย์แล้วยังไม่ถึง ส่งบัตรเลือกตั้งกลับไปแล้วถูกตีกลับ รวมไปถึง รายชื่อผู้สมัครไม่ตรงกับชื่อพรรคต้นสังกัด 

ที่มา: มติชนออนไลน์

กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย พบประชาชนหลายพันคนเดินทางไปใช้สิทธิ แต่กลับได้รับรายงานว่ามีคูหาลงคะแนนเพียง 3 ส่งผลให้ผู้ลงคะแนนต้องยืนรอเป็นเวลาหลายชั่วโมง รูปหนึ่งที่โพสต์ลงออนไลน์ชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตใช้กระดาษลังเป็นคูหาเสริม ทั้งยังขยายวันลงคะแนนเลือกตั้งออกไป เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิที่มารอแล้วทั้งวันต้องเดินทางมาลงคะแนนใหม่ในวันที่กำหนด

พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ระบุว่าการใช้กระดาษลังเป็นคูหา “อาจจะไม่สวยงาม” แต่สามารถใช้ได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ได้มีการระบุสาเหตุของปัญหาแต่อย่างใด

ไข่แมวเพจการ์ตูนล้อการเมืองได้โพสต์ภาพลงเฟสบุ๊คเพื่อเสียดสี กกต. ว่าได้รับงบประมาณไปมากมาย แต่กลับใช้กระดาษลังมาทำเป็นคูหาเสริม ก่อนหน้านี้ มีการเปิดเผยด้วยว่า กกต. ใช้งบประมาณกว่า 12 ล้านบาทไปกับการศึกษาดูงานในต่างประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของ กกต. ยิ่งลดลงอีกในสายตาของผู้ใช้คะแนนเสียง

หนานจิง ประเทศจีน ได้รับรายงานว่าพลเมืองไทยกว่า 500 คนยังไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ นอกจากนี้ ยังมีผู้ร้องเรียนด้วยว่าข้อมูลที่กรอกลงทะเบียนออนไลน์สูญหาย หรือไม่ก็กลายเป็นตัวอักษรที่อ่านไม่ออกหลังจากส่งข้อมูลเข้าไปในเว็บ ทั้งนี้ กงสุล ณ นครเซี่ยงไฮ้แถลงโดยอ้างว่าไม่มีบัตรเลือกตั้งสูญเสีย และได้ดำเนินการส่งบัตรเลือกตั้งไปให้แก่ผู้ลงทะเบียนแล้ว

ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรายงานว่า ในเอกสารรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและเบอร์ลงคะแนนพบข้อผิดพลาดหลายจุด พริษฐ์ ‘ไอติม’ วัชรสินธุ์ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าชื่อผู้สมัครหลายคนไม่ตรงกับกับชื่อพรรคการเมืองที่สังกัด และส่งผลให้ผู้ลงคะแนนเสียงเกิดความสับสน ตัวอย่างเช่น ใต้รูปของพริษฐ์ไม่มีชื่อพรรคประชาธิปัตย์ แต่กลับอยู่ในหน้าถัดมา
“ความผิดพลาดนี้ไม่ได้มีผลแค่ตัวผมเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อผู้สมัครในพรรคการเมืองอื่น ๆ ด้วย” พริษฐ์ร้องเรียนในเฟสบุ๊ค “ทุกสิทธิ์ทุกเสียงมีค่า ผมหวังว่าด้วยความบกพร่องนี้ ผมอยากให้กกต. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นครับ”

ผู้ลงคะแนนเสียงในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และแอฟริกาใต้ ยังไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งเช่นเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ 16 มีนาคม เป็นวันสุดท้ายของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้ว กลุ่มผู้ใช้สิทธิกังวลว่าการลงคะแนนเสียงของตนเองอาจเป็นโมฆะ ไม่สามารถส่งบัตรเลือกตั้งกลับไปถึงกงสุลได้ทันเวลา ณ เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา พลเมืองไทยคนหนึ่งได้สอบถามไปยังสถานทูตว่าควรทำอย่างไรหากได้รับบัตรเลือกตั้งล่าช้าแล้วส่งกลับไปไม่ทันภายในวันที่ 16 มีนาคม แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ เมื่อเธอถามต่อไปว่าสามารถเดินทางไปเลือกตั้งที่กรุงออตตาวา เมืองหลวงของแคนาดา ด้วยตัวเองได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ทูตตอบว่าทำไม่ได้ เพราะไม่สามารถหาบัตรเลือกตั้งทดแทนใบที่ส่งไปทางไปรษณีย์ได้ ทางเลือกเดียวที่ทำได้คือต้องรอจนกว่าบัตรเลือกตั้งจะมาถึงทางไปรษณีย์ แต่ถึงตอนนั้นทุกอย่างก็อาจจะสายเกินไป

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันได้รับเชิญเป็นนักวิจัยอยู่ที่สถาบันฮาร์เวิร์ด เยนชิ่ง รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ได้โพสต์ร้องเรียนในเฟสบุ๊คเมื่อวันอังคาร (12 มีนาคม) ที่ผ่านมาว่ายังไม่ได้รับบัตรเลือกตั้งเช่นเดียวกัน สถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันดีซีแจ้งว่าได้ส่งบัตรเลือกตั้งไปตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคมแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ขอให้ติดต่อกับที่ทำการไปรษณีย์ที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่เมื่อโทรไปที่ทำการไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่กลับบอกปัดให้โทรไปอีกที่และเป็นเช่นนี้ซ้ำ ๆ ถึง 4-5 ครั้ง ทั้งนี้ พวงทองระบุว่าทำใจแล้วว่าคงไม่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เนื่องจากไม่มีทางส่งบัตรเลือกตั้งกลับไปได้ทัน

“ทำไม กกต.ไม่ทำอะไรให้มันง่ายกว่านี้ ทำไมไม่รู้จักเรียนรู้จากประเทศอื่นบ้าง” พวงทองตั้งคำถามในเฟสบุ๊ค “...การโหวตครั้งนี้คือการประกาศไล่เผด็จการ คือการทวงสิทธิคืน เราต่างอดทนกันมาเกือบ 5 ปีแล้วและเราก็ยินยอมทำตามกฎเกณฑ์ ที่แม้จะเป็นกฎเกณฑ์เฮงซวยที่พวกเขาสร้างกันขึ้นมา แต่เราก็อยากจะใช้โอกาสนี้ยืนยันเสียงของเรา”

ที่มา: เพจ Behind Siberia

ที่ รัสเซีย สถานทูตกำหนดให้ผู้ลงคะแนนเสียงส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ แต่แทนที่จะส่งบัตรเลือกตั้งไปให้ถึงที่พักของผู้ลงคะแนนเสียง สถานทูตกลับให้ประชาชนฝ่าอุณหภูมิ -8 องศาไปรับเอง ณ ที่ทำการไปรษณีย์เอกชนหรือศูนย์ VFS (ตัวแทนบริการขอวีซ่าที่ได้รับการรับรอง) เพจ Behind Siberia ได้โพสต์บอกเล่าประสบการณ์ไปรับบัตรเลือกตั้งบนเฟสบุ๊ค ระบุว่าเมื่อไปถึงแล้วเจ้าหน้าที่กลับบอกว่าไม่มีสิ่งที่ขอและพยายามเชิญให้กลับบ้านไป เธอได้รับเลือกบัตรเลือกตั้งในที่สุดหลังจากที่เจ้าหน้าที่โทรไปหาอีกหน่วยงานหนึ่ง ทั้งนี้ เธอตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเพราะเธออาศัยอยู่ในเมืองเล็กจึงประสบปัญหาดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ในอีกหลาย ๆ ที่ก็ได้รับรายงานด้วยว่าผู้ใช้สิทธิส่งบัตรเลือกตั้งที่กากลับไปยังสถานทูตแล้วถูกตีกลับ ผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งที่นิวยอร์กระบุว่าเธอส่งบัตรเลือกตั้งกลับไปแล้ว แต่ซองถูกส่งกลับมา ที่ทำการไปรษณีย์แจ้งว่าเป็นเพราะจ่าหน้าซองเอกสารทำให้สับสนจึงถูกนำส่งกลับมาที่ต้นทาง

ญี่ปุ่น ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกำลังเผชิญกับปัญหาลักษณะเดียวกัน กงสุลไทย ณ เมืองโอซากาแจ้งผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งว่า ถ้าบัตรเลือกตั้งที่กาแล้วถูกส่งตีกลับ ให้ผู้ลงคะแนนเขียนคำว่า “จาก” เป็นภาษาญี่ปุ่นถัดจากรายละเอียดที่อยู่ของผู้ส่งแล้วลองดำเนินการอีกครั้ง ส่วนสถานทูต ณ กรุงโตเกียวรายงานในเพจเฟสบุ๊คในเวลา ของวันที่ 15 มีนาคมว่าเอกสารบัตรเลือกตั้ง 113 ซองยังส่งไม่ถึงผู้ลงคะแนน เนื่องจากถูกตีกลับเพราะรายละเอียดที่อยู่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ชัดเจน และขอให้ผู้ใช้สิทธินำบัตรประจำตัวประชาชน หรือ หนังสือเดินทางมารับบัตรเลือกตั้งที่สถานทูตด้วยตัวเอง โดยต้องดำเนินการส่งเอกสารให้แล้วเสร็จภายใน 17.30 น. ของวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่โพสต์แจ้ง ขณะนี้ สถานทูต ณ กรุงโตเกียวได้ลบโพสต์ดังกล่าวทิ้งไปแล้ว และขึ้นโพสต์ใหม่ว่า หากลงคะแนนไม่ทันให้กรอกใบ สส.28 เพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองภายใน 7 วันก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง

ความสามารถในการจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมของ กกต. ได้รับการตั้งคำถามอย่างมากในสังคมไทย เนื่องจาก กกต. รับคำร้องเพื่อตรวจสอบพรรคการเมืองที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบไปแล้ว แต่ กกต. กลับปัดตกคำร้องของพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช. หลังจากที่เกิดปัญหาต่าง ๆ ในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร สาธารณะชนจึงยิ่งตั้งคำถามว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สุจริตและเป็นธรรมแท้จริงแล้วหรือไม่

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีประชาชนลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเกือบ 120,000 คน โดยคูหาปิดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม และวันที่ 17 มีนาคม เป็นการเลือกตั้งล่วงหน้าภายในประเทศ โดยมีผู้ลงทะเบียนถึง 2.63 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ผู้ลงคะแนนเสียงในต่างประเทศได้แสดงความกังวลว่าบัตรเลือกตั้งของตนอาจถูกแทรกแซง และแม้ว่าในบางกรณีอาจเป็นเพียงปัญหาทางเทคนิค และแต่ประชาชนก็ยิ่งสงสัยมากขึ้นทุกทีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นการพยายามลิดรอนสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท