Skip to main content
sharethis

'ธนาธร' ลงนามนำทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดเข้า blind trust สั่งไม่ได้-มองไม่เห็น-ไม่มีหุ้นไทย-สามปีพ้นตำแหน่งค่อยคืน 'สฤณี' ชี้ขยับเพดานธรรมาภิบาลนักการเมือง

18 มี.ค.2562 จากกรณีวันนี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวถึงกรณีการจัดการทรัพย์สินของตนเอง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำทางกฎหมาย และเพื่อสร้างมาตรฐานจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใหม่ให้มีความโปร่งใสมากขึ้น โดยจะนำทรัพย์สินของตนไปให้บริษัทจัดการทรัพย์สิน คือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด นั้น

'สฤณี' ชี้ขยับเพดานธรรมาภิบาลนักการเมือง

สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล' ถึงกรณีดังกล่าวว่า  มีนักข่าวมาถามความเห็นต่อข่าวนี้ เลยมาแปะไว้ในนี้สั้นๆ ด้วยเผื่อเป็นประโยชน์

1. การจัดการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญที่นักการเมืองผู้มาจากภาคธุรกิจทุกคนควรใส่ใจ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่า มุ่งคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย (ออกนโยบายเอื้อธุรกิจตัวเองหรือพวกพ้อง) หรือใช้ข้อมูลภายใน (ที่ได้จากตำแหน่งทางการเมือง) ไปซื้อหุ้นทำกำไร เรื่องนี้ รัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยก็ให้ความสำคัญมาตลอด (แต่ก็มีหลายคนหาทางซิกแซก "ซุกหุ้น" ตลอดมา อย่างเช่นคดีอดีตนายกทักษิณเมื่อหลายปีก่อน ที่ตัวเองก็เคยเขียนวิจารณ์ไปหลายรอบ)

รัฐธรรมนูญ 2560 วางเกณฑ์เข้มข้นกว่าเดิมอีก โดยมาตรา 184 ​ห้าม​ไม่​ให้​ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ถือ​หุ้น​ใน​บริษัท​หรือ​กิจการ​ที่​ได้​รับ​สัมปทาน​จาก​ภาค​รัฐ​หรือ​เป็น​คู่สัญญา​กับ​รัฐ​ทั้ง​ทาง​ตรง​และ​ทาง​อ้อม

2. ทีนี้ ถ้าการห้ามถือหุ้น แปลว่าต้องขายหุ้นไปให้คนอื่น นักการเมืองก็จะไม่ได้รับประโยชน์โภชผลใดๆ ในหุ้นนั้นอีก เท่ากับหมดสิทธิได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่(เคย)เป็นของตัวเอง ซึ่งก็จะลดแรงจูงใจของนักธุรกิจที่จะเข้ามาทำงานการเมือง

ฉะนั้นคำถามก็คือ มีวิธีใดหรือไม่ที่จะป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน โดยไม่ตัดสิทธิของนักการเมืองที่จะได้ประโยชน์จากหุ้น? คำตอบซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ทำกันทั่วโลก คือ ให้ทำข้อตกลงโอนหุ้นนั้นให้มืออาชีพทางการเงินบริหารแทน ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าจะให้ดีก็ควรให้บริหารแบบ blind trust คือ ให้เจ้าของเดิม (นักการเมือง) ไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ ในทรัพย์สินนั้นเลย ไว้ใจให้มืออาชีพบริหารจัดการแทนให้เกิดผลงอกเงย ระหว่างที่ตัวเองมีตำแหน่งทางการเมือง

การโอนหุ้นให้คนอื่นบริหารแทนนี้ กฎหมายไทยก็เปิดช่องให้ทำได้ โดย พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ออกตั้งแต่ พ.ศ. 2543 (ดู http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A1106/%A1106-20-2543-a0001.htm) แต่กฎหมายนี้กำหนดเฉพาะระดับรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่รวม ส.ส. และ ส.ว. และไม่ได้ระบุว่าต้องเป็น blind trust ระบุแค่หลวมๆ ว่า ให้โอนให้กองทุนส่วนบุคคลบริหารได้

3. การลงนาม MOU ของคุณธนาธร โอนทรัพย์สินให้จัดการแบบ blind trust ก่อนที่ตัวเองจะรู้ผลการเลือกตั้ง (ยังไม่ได้เป็น ส.ส. ด้วยซ้ำ) จึงนับเป็นก้าวที่น่าชื่นชม ขยับเพดานธรรมาภิบาลนักการเมือง สังคมควรเรียกร้องให้นักการเมืองคนอื่นทำตาม

สำหรับคำถามที่ว่า ธนาธรเป็นนักการเมือง "คนแรก" ในไทยหรือเปล่าที่โอนทรัพย์สินให้จัดการแบบ blind trust นั้น สฤณี กล่าวว่าส่วนตัวไม่แน่ใจ นักข่าวควรไปเช็ค แต่ที่แน่ๆ เป็นคนแรก เท่าที่เคยเห็น ที่เปิดเผยรายละเอียด MOU ต่อสาธารณะ และการระบุว่าจะไม่รับโอนทรัพย์สินกลับมาจนกว่าจะพ้นตำแหน่งการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ก็นับเป็นมาตรฐานขั้นสูง กฎเกณฑ์ลักษณะคล้ายกันนี้ (revolving door) ในหลายประเทศระบุเพียง 2 ปีเท่านั้น

ธนาธร ระบุ 'blind trust' สั่งไม่ได้-มองไม่เห็น-ไม่มีหุ้นไทย-สามปีพ้นตำแหน่งค่อยคืน

ในการแถลงข่าวกรณีดังกล่าวของธนาธร เขากล่าวด้วยว่าการที่นักธุรกิจเข้ามาทำงานการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ และในต่างประเทศมีการสร้างมาตรฐานเพื่อให้สาธารณชนไว้วางใจอย่างชัดเจน ซึ่งรูปแบบที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดคือรูปแบบของ blind trust หรือการโอนทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมดเข้าไปอยู่ในกองทุน ให้บุคคลที่สามเป็นผู้ดูแล และทำให้ blind คือหมายความว่าเจ้าของทรัพย์สินจะมองไม่เห็น และอำนาจในการบริหารทรัพย์สินอยู่ที่ผู้รับมอบอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น

ธนาธรระบุต่อไป ว่าแม้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันระบุไว้แล้วว่าให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการถือหุ้นบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ และรัฐมนตรีจะต้องโอนทรัพย์สินไปให้บริษัทจัดการทรัพย์สินเป็นผู้ดูแล แต่ไม่ได้ระบุให้ต้องทำให้เป็น blind ทั้งนี้ ในต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่ นักการเมืองจะทำการเอาทรัพย์สินของตนเองเข้าไปอยู่ใน blind trust เป็นมาตรฐานทางศีลธรรมที่ไม่ได้มีการบังคับ นี่คือรูปแบบการจัดการทรัพย์สินที่จะลบข้อครหาทางสังคมได้ ทั้งนี้ ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่รองรับ blind trust จึงทำเป็น blind trust ในลักษณะเดียวกันไม่ได้ แต่สิ่งที่ตนกำลังจะทำร่วมกับภัทร เป็นนวัตกรรมใหม่ เป็นการทำให้ blind ด้วยความสมัครใจโดยไม่ต้องมีกฎหมายมาบังคับ

“ผมอยากจะสร้างมาตรฐานการทำการเมืองใหม่ ผมว่าข้อดีอันดับแรกคือไม่ต้องวอกแวกไปกับการจัดการทรัพย์สินของตัวเอง ทำให้เราทุ่มเทพละกำลังและเวลาของเราไปในการทุ่มเททำงานรับใช้ประชาชนได้อย่างเต็มที่ ประการที่สอง มันแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ผลักดันให้พวกเรามาทำงานการเมือง ก็เพื่อทำให้สังคมดีขึ้น ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แม้จะมีขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดให้เราทำ แต่สิ่งที่เราจะทำให้มากกว่านั้นคือสร้างมาตรฐานใหม่ ยกระดับความโปร่งใส มาตรฐานการดูแลผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ไปไกลกว่ากฎหมาย” ธนาธรกล่าว

นอกจากนี้ ธนาธรยังได้ระบุถึงบางส่วนของเงื่อนไขที่อยู่ใน MOU ระหว่างตนกับภัทร คือจะต้องไม่ซื้อหุ้นไทยทุกตัว และถ้าจะลงในหุ้น ต้องจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศอย่างเดียว เพื่อจำกัดข้อครหาทุกกรณี ว่านโยบายที่ออกไปนั้นจะเป็นนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตน นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขที่ระบุว่าการได้กรรมสิทธิ์ในการบริหารจัดการทรัพย์สินกลับมาเป็นของตัวเอง จะต้องผ่านไปแล้วสามปีหลังจากพ้นตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น

ส่วนสาเหตุทึ่เลือกบริษัทภัทรมาเป็นผู้บริหารจัดการกองทุน ก็เพราะว่าที่ผ่านมาตนกับภัทรไม่เคยมีธุรกิจร่วมกัน มีความเป็นมืออาชีพ ได้รับการยอมรับว่าเป็นแถวหน้าของวงการการเงินในประเทศไทย และเชื่อมั่นว่าภัทรจะไม่ยอมจำนนต่อคำสั่งใดๆเมื่อตนมีอำนาจ

นอกจากนี้ ธนาธรยังได้ประกาศถึงกรณีสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของตน จะทำการขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทมติชนออกไปในระยะเวลาอันใกล้นี้ พร้อมระบุว่าก่อนหน้านี้ ตนไม่เคยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจซื้อหุ้นมติชนของครอบครัวเลย เพียงถูกส่งไปนั่งทำงานเป็นกรรมการบริหารเพียงอย่างเดียว โดยทำหน้าที่อย่างสุจริตมาตลอด และหลังจากตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งทางธุรกิจมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ครอบครัวจึงรุ่งเรืองกิจก็ไม่เคยส่งใครไปนั่งบริหารแทนตนเลยตั้งแต่นั้นมา และที่ผ่านมาก็ไม่เคยทำการแทรกแซงหรือสั่งการใดๆ แต่เพื่อความโปร่งใสและสบายใจของสังคม นางสมพรก็เตรียมที่จะขายหุ้นออกไปในเร็วๆนี้

ส่วนกรณีข้อครหาว่าการทำงานการเมืองของตนจะมีผลประโยชน์กับบริษัทไทยซัมมิทหรือไม่ ตนยืนยันว่ารายได้เกือบทั้งหมดของไทยซัมมิทมาจากคู่ค้าระดับนานาชาติทั้งหมด แทบไม่มีหน่วยงานรัฐเลย และที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็ไม่เคยเป็นคู่สัมปทานกับรัฐ ไม่เคยมีแนวคิดที่จะทำธุรกิจกับรัฐ และเชื่อว่าแนวคิดนี้จะดำรงอยู่ต่อไป แต่หากในอนาคตบริษัทไทยซัมมิทจะมีการทำโครงการร่วมกับรัฐ ตนจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาใดๆทั้ งสิ้น และขอให้สาธารณะร่วมกันตรวจสอบอย่างเข้มข้นด้วย

“นักธุรกิจที่เข้ามาทำงานการเมืองไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนคิดเสมอไป ว่าจะต้องมากอบโกยหาผลประโยชน์ เราต้องการที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ ซึ่งสิ่งที่ผมกำลังจะทำกับภัทรจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ไกลเกินกว่าใครๆ และไกลเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด” ธนาธรกล่าว

โดยหลักการที่ ธนาธรทำร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน คือ ธนาธรจะโอนสิทธิการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนเองไปให้บริษัทจัดการแทน ซึ่งมีเงื่อนไขว่า

1. ธนาธรจะไม่สามารถกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหาร ครอบงำ หรือออกคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินทั้งหมดของตนเองได้

2. เพื่อป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน บริษัทจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลรายละเอียดให้ ธนาธรหรือบุคคลอื่นใดได้รับทราบถึงรายละเอียดการบริหารจัดการทรัพย์สินทั้งหมด

3. บริษัทจะต้องไม่เข้าไปลงทุนเป็นหุ้นส่วนในบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานรัฐใดๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net