สี่ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “รัฐสวัสดิการ”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1. “รัฐสวัสดิการ คือการแจกเงิน”

นี่คือสิ่งที่ได้ยินบ่อยมากๆในการหาเสียงช่วงนี้ เพราะหลายพรรคชูเรื่องสวัสดิการสังคม และคนกลุ่มนึงก็เหมาเอาว่า รัฐสวัสดิการคือการแจกๆๆ หากินกับคนจน บ้างก็บอกว่านี่คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เป็นการให้ปลา มากกว่าเบ็ดตกปลา ซึ่งความเชื่อนี้พัง เพราะ รัฐสวัสดิการไม่ใช่เรื่องของการแจกเงิน แต่เป็นการ “ให้สิทธิ์ที่ประชาชนทุกคนควรได้อย่างเท่าเทียม” นั่นคือสิทธิ์ที่จะมีพื้นฐานชีวิตที่เท่าเทียม เช่นการเกิด การป่วย การเข้าถึงการศึกษา การทำงาน ดังนั้น เงินที่รัฐจ่ายให้ประชาชน ไม่ใช่ความเมตตาของรัฐ “แต่เป็นหน้าที่” ของรัฐที่ต้องจัดสรรงบประมาณให้ประชาชนส่วนมากของประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีต้นทุนในชีวิตในการเข้าสิทธิ์พื้นฐานเท่ากันทุกคน รัฐสวัสดิการจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ “ต้นเหตุ” เวลาดูนโยบายเราต้องดูให้ออกว่านโยบายไหนเป็นการคืนสิทธิ์ที่ทำให้เรามีชีวิตที่มั่นคงขึ้น ไม่ใช่ร่ำรวยขึ้นแค่แป๊บเดียวแล้วจบ เช่น นโยบายแจกเงินผู้สูงอายุห้าร้อยบาทครั้งเดียวจบ อันนี้ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ

2. “รัฐสวัสดิการทำให้คนขี้เกียจ”

เป็นเงื่อนไขที่พบบ่อยครั้งพอๆกับอันแรก ซึ่งมักมาจากกลุ่มคนที่มองว่าตัวเองมีการศึกษาและมองว่าหาคนจนได้สวัสดิการจะขี้เกียจ ความเพี้ยนตรรกะนี้อธิบายได้เห็นภาพชัดๆ เพียงแค่เรามองกลับกัน 

...ถ้าคุณเป็นพนักงานบริษัทเงินเดือนสองสามหมื่น ไม่มีหนี้ก้อนใหญ่ มีบ้านอยู่ ไม่ต้องให้เงินพ่อแม่เพราะพวกเค้าดูแลตัวเองได้ หรือให้นิดหน่อยแล้วมีเงินเก็บเดือนละสามสี่พัน โตมากับการได้เรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี (เรียนโรงเรียนรัฐ มหาลัยรัฐนี่แหละ) โดยไม่ต้องทำงานพิเศษเพื่อเลี้ยงชีวิตและปากท้อง ไม่ต้องกู้ กยศ. เพราะที่บ้านของคุณซัพพอร์ตมาตลอด คำถามคือ คุณขี้เกียจเหรอ? ก็ไม่ ใช่มั้ย? เพราะคุณยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีวิต ..

ถ้ามองกลับไปนี่คือหัวใจของรัฐสวัสดิการ คือการทำให้คนมีสิทธิ์เข้าถึงที่ชีวิตที่มั่นคงและปลอดภัยเหมือนกัน หรือว่าคุณปฏิเสธมันเพราะคุณกลัวว่าคนอื่นจะมีชีวิตที่ดีเหมือนคุณ? การที่คนหลายคนกำลังเอนจอยกับชีวิตที่ไร้ภาระหนักอึ้งทางการเงิน ได้ทำสิ่งที่รักอยู่ทุกวันนี้ หรือตัวเราเองนี่แหละง่ายๆ สิ่งที่เรากำลังเอนจอยมันมาจากโครงสร้างสังคมที่มันเหลื่อมล้ำแต่แรก แม้จะได้ทุนมาเรียน ได้ทำในสิ่งที่รัก แต่การที่เราได้สิ่งเหล่านี้มามันไม่ใช่แค่ระดับปัจเจกชน เราคงไม่ได้เข้าเรียน ไม่ได้รับโอกาสดีๆถ้าเราเกิดมาปุ๊บก็ต้องลาออกจากโรงเรียนมาช่วยแม่ขายโตเกียวทั้งวันทั้งคืน ไม่ต้องพูดถึงความฝันหรือสิ่งที่ตัวเองอยากทำ มันคงไม่มีเวลาให้คิดถึงสิ่งเหล่านั้นแน่ๆ

ดังนั้น รัฐสวัสดิการ ไม่ได้ทำให้คนขี้เกียจ คนจนไม่เคยขี้เกียจ เพราะเค้าไม่มีสิทธิ์ที่จะขี้เกียจ รัฐสวัสดิการคือการสร้างหลังพิง ให้ทุกคนในสังคม ไม่ใช่เรื่องของการ “ทำให้คนขี้เกียจ” แต่เป็นการ “คืนสิทธิ์ความขี้เกียจ” ให้คน รองรับความผิดพลาดในชีวิต เปลี่ยนงาน มีลูก ลาคลอดได้โดยไม่ต้องกังวล คนทำงานส่วนใหญ่ของประเทศนี้ไม่มีใครขี้เกียจ เพราะฉะนั้นแทนที่จะพยายามขีดเส้นแบ่งข้างล่างกับตรงกลาง มองให้ออกดีกว่าว่าตอนนี้คนที่ได้สิทธิ์ที่จะขี้เกียจที่สุดในประเทศอยู่ตรงไหน คนที่คอยสอนคนอื่นให้ขยัน ทั้งๆที่ตัวเองไม่ต้องทำอะไรก็ได้เงินเดือนละแสนเดือนละล้าน คนกลุ่มนี้อยู่ตรงไหน?

3. “รัฐสวัสดิการจะทำให้รัฐเป็นใหญ่ ผูกขาด ทำให้คนไม่มีอำนาจเหนือรัฐ” 

อันนี้มักเป็นคำโจมตีจากกลุ่มทุน ที่มองว่าการปล่อยให้รัฐควบคุมชีวิตคนจะทำให้นำไปสู่รัฐเผด็จการ ซึ่งจริงๆแล้วความเข้าใจนี้ไม่ได้ผิดซะทีเดียว แต่เราต้องควบคุมที่บทบาทของรัฐ ไม่ใช่ลดอำนาจรัฐแล้วย้ายไปให้กลุ่มทุนทั้งหมด เรื่องปัจจัยพื้นฐานอย่าง การศึกษา การรักษาพยาบาล ประกันสังคม เงินบำนาญ สิทธิแรงงาน นี่คือเรื่องที่รัฐต้องรับผิดชอบโดยอยู่บนพื้นฐานของคุณชีวิตประชาชน รัฐสวัสดิการคือฐานคิดที่จะทำให้ประชาชนใกล้กับรัฐในระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด มีอำนาจต่อรองกับรัฐมากที่สุด ทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐ หากเรายินยอมกับการให้ปัจจัยพื้นฐานเป็นเรื่องของเอกชนทั้งหมด เมื่อสิทธิ์ของเรากลายเป็นสินค้า เราจะต่อรองกับเค้าผ่านอะไร? เค้าไม่มาจัดเลือกตั้งให้เรานะ ตัวอย่างชัดๆในประเทศไทย เช่น การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยรัฐ ค่าเทอมพุ่งพรวด แล้วเราทำอะไรได้ นอกจากไปกู้เงินเรียน หรือการที่โรงพยาบาลรัฐหาเงินมาสร้างบริการหรูหราให้เหมือนโรงพยาบาลเอกชน แล้วประชาชนที่ใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อะไร? ดังนั้น ประชาธิปไตย กับ รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องเดียวกัน หากมีประชาธิปไตยที่ปล่อยให้กลุ่มทุนผูกขาดหาประโยชน์ให้กันเองแล้วโยนเศษเนื้อให้ประชาชน นั่นยิ่งเป็นการออกห่างจากประชาธิปไตยไปเรื่อยๆ

4. “โครงสร้างประเทศเปลี่ยนได้ด้วยตัวเองไม่ผ่านระบบสภา" 

อันนี้เหมือนจะไม่เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการโดยตรง แต่เป็นหนึ่งในความเชื่อที่น่ากลัวที่สุดในการทำลายประชาธิปไตย และมักเกิดจากกลุ่มคนที่มีการศึกษา (มีรายงานบอกว่ากลุ่มคนที่ปฏิเสธรัฐสวัสดิการในไทยมากที่สุดคือคนจบปริญญาเอก !) ที่คงคิดว่าตัวเองฉลาดว่านักการเมือง ซึ่งจริงๆเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องโง่หรือฉลาดมันคือเรื่องการคานอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชนต่างหาก ความเชื่อแบบนี้น่ากลัวเพราะเรากำลังตกเป็นเหยื่อของรัฐที่ต้องการควบคุมเราอย่างเบ็ดเสร็จ นั่นคือการทำให้ประชาชนคิดว่าตัวเองไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับรัฐ

ความคิดเหล่านี้เหมือนฝังชิพ “ว่าการเปลี่ยนแปลงให้เริ่มจากตัวเองก่อน” ซึ่งคำพูดนี้ไม่ผิดนะ แต่มันตีความได้หลายแบบ เราเชื่อในการเปลี่ยนแปลงในระดับย่อย เราเชื่อในกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดของคน เราเชื่อในการเรียกร้องรณรงค์ในระดับย่อย เราเชื่อในกระบวนการลับคมความคิดในห้องเรียน แต่เราไม่เชื่อว่ากระบวนการเหล่านี้เพียงอย่างเดียวจะเปลี่ยนโครงสร้างประเทศได้ พี่ตูนวิ่งรอบโลกโครงสร้างสาธารณสุขไทยก็ไม่เปลี่ยน ถ้าเราไม่มองว่าปัญหาสังคมคือการบริหารของรัฐ เพราะฉะนั้นถ้าคุณเชื่อในการเปลี่ยนแปลงระดับย่อย เชื่อในการรณรงค์ เชื่อในการศึกษา สิ่งที่เราทุกคนต้องพูดกันคือ ทำยังไงให้ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐ ทำยังไงเราถึงจะผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้ไปถึงรัฐ ไม่ใช่ตัดรัฐออกจากสมการ และแก้ไขในเชิงปัจเจก เพราะนั่นเป็นสิ่งที่รัฐผูกขาดต้องการไม่ใช่เหรอ 

“จนเพราะออมเงินไม่เป็น จนเพราะโง่ จนเพราะกินเหล้า มีลูกแล้วเลี้ยงไม่ได้เพราะไร้การศึกษา” นี่ยังไม่พออีกเหรอ? นี่คือสิ่งที่รัฐพยายามให้เราเชื่อว่าต้นเหตุของปัญหาปากท้องมาจากตัวเองทั้งหมด และความคิดนี้แหละที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐสวัสดิการ

สรุปสุดท้าย ที่กล่าวมาทั้งหมดมันอาจจะไม่สามารถเข้าใจได้เลย ถ้าคุณไม่ได้มองว่า “คนเราเท่ากัน” รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร หมายถึงสวัสดิการที่ครอบคลุมคนทุกคน ไม่ได้มาในรูปแบบบัตรคนจน ผ่านการพิสูจน์ความจนหรือสงเคราะห์ เพราะนั่นคือการลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นคน การเลืกตั้งครั้งนี้ที่ไม่รู้ผลจะออกมายังไง แต่ดีใจที่วันนี้เราได้เห็นพรรคการเมืองแข่งกันที่นโยบายสวัสดิการ แม้ไม่รู้ว่าแต่ละพรรคจะจริงจังแค่ไหน แต่มันคือสัญลักษณ์ของประชาชน อำนาจที่ประชาชนต้องทวงคืนกลับมาสู่ประชาชน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: รับขวัญ ธรรมบุษดี นักศึกษาปริญญาเอก-ศึกษาเรื่องการแสดงออกซึ่งความสุขของคนไทยในสังคมเสรีนิยมใหม่ มหาวิทยาลัย Warwick

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Punchuchu Rubkwan

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท