ศาลเอาผิดทหารผู้สังหาร ปชช. 'วันอาทิตย์นองเลือด' ที่ไอร์แลนด์เหนือเมื่อ 47 ปีก่อน

เหตุการณ์ "วันอาทิตย์นองเลือด" หรือ "Bloody Sunday" เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่กองทัพอังกฤษยิงปราบปรามผู้ชุมนุมไอร์แลนด์เหนือในเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2515 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย ผ่านมา 47 ปีจนถึงเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอัยการก็เปิดเผยว่ามีการตั้งข้อกล่าวหาอดีตทหารนายหนึ่งที่เรียกนามสมมุติว่า "พลทหารเอฟ" (Soldier F) ในข้อหาสังหารผู้ประท้วง แต่อัยการก็ระบุว่าพวกเขาไม่มีหลักฐานมากพอจะเอาผิดกับอดีตทหารอีก 16 นายที่เหลือ

ที่มาของภาพประกอบ: The History Press

18 มี.ค. 2562 เมื่่อสัปดาห์ที่แล้วมีการตั้งข้อกล่าวหาเอาผิดอดีตทหารอังกฤษที่เรียกด้วยนามสมมุติว่า "พลทหารเอฟ" (Soldier F) จากกรณีสังหารผู้ประท้วงเรียกร้องสิทธิพลเมืองในเหตุการณ์  "วันอาทิตย์นองเลือด" (Bloody Sunday) เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2515 หลังจากเหตุการณ์ผ่านมาแล้ว 47 ปี

สำนักงานอัยการแห่งไอร์แลนด์เหนือ (Public Prosecution Service of Northern Ireland) ระบุว่าพลทหารเอฟจะถูกดำเนินคดีในข้อหาสังหาร เจมส์ เวรย์ และ วิลเลียม แมคคินนีย์ รวมถึงพยายามฆ่าคนอื่นๆ ในการชุมนุมที่ลอนดอนเดอร์รีในเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด อย่างไรก็ตามทางอัยการกล่าวว่าพวกเขาไม่หักฐานมากพอจะเอาผิดกับอดีตทหารอีก 16 นายที่เหลือ รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกของกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ผู้ถูกไต่สวนเรื่องข้อกล่าวหาการสังหารผู้คนเหล่านี้ด้วย

การตั้งข้อกล่าวหาในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากใช้เวลา 2 ปี ในการที่ตำรวจส่งเรื่องให้กับอัยการ และใช้เวลาอีกเกือบ 9 ปีแล้วหลังจากมีข้อสรุปการสืบสวนสอบสวนกรณีการสังหารนี้ ซึ่งเดิมทีแล้วคณะไต่สวนในเรื่องนี้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยเน้นการสืบหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมากกว่าการเน้นฟ้องร้องดำเนินคดี คณะไต่สวนข้อเท็กจจริงระบุว่าในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 47 ปีที่แล้ว ทหารอังกฤษเปิดฉากยิงใส่คนที่ไม่มีอาวุธและพลเรือนที่วิ่งหนีโดยไม่มีความชอบธรรมใดๆ และกองทัพอังกฤษก็โกหกในเหตุการณ์นี้มานานหลายสิบปีจากการที่พวกเขากล่าวหาว่าผู้ประท้วงเป็นกลุ่มไออาร์เอที่มีระเบิดและอาวุธปืน ซึ่งหลังจากมีการสืบสวนเรื่องนี้ไม่นานก็พบว่าฝ่ายทหารโกหก

สมาชิกครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ใช้เวลาหลายปีในการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับเหยื่อ ในขณะที่ฝ่ายผู้สนับสนุนกองทัพอังกฤษโต้แย้งว่าพลทหารไม่ควรจะลงโทษจากการตัดสินใจชั่วเสี้ยววินาทีในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายสิบปีมาแล้ว อย่างไรก็ตามในการตัดสินครั้งนี้ที่มีพลทหารเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ถูกตัดสินให้มีความผิดก็สร้างความผิดหวังให้กับญาติหลายสิบคนที่ถือรูปถ่ายขาวดำของผู้เสียชีวิตที่ศาลากลางของลอนดอนเดอร์รี หนึ่งในญาติของผู้เสียชีวิตคือ จอห์น เคลลี กล่าวว่าหลายครอบครัวรู้สึกผิดหวังมากต่อคำตัดสินนี้แต่เขาก็ยินดีกับครอบครัวของเหยื่อ 6 รายที่ได้รับความเป็นธรรมจากการที่พลทหารรายหนึ่งถูกตัดสินให้มีความผิด ซึ่งเคลลีบอกว่า "ชัยชนะของพวกเขาก็เป็นชัยชนะของพวกเราด้วย"

"พวกเราเดินทางมาไกลนับตั้งแต่ที่พ่อและพี่น้องของพวกเราถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมบนถนนเดอร์รีในวันอาทิตย์นองเลือด ในช่วงที่เวลาเดินผันผ่าน พ่อแม่ของผู้ถูกสังหารได้เสียชีวิตไปแล้ว พวกเราจะอยู่ที่นี่เพื่อเป็นตัวแทนให้พวกเขาเหล่านั้น" เคลลีกล่าว

การสืบหาความจริงในคดีนี้ทั้งรัฐบาลอังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ และสหรัฐฯ รวมถึงญาติของเหยื่อต่างก็มองว่าเป็นกระบวนการเยียวยาหนึ่งในบาดแผลที่ใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือยาวนาน 4 ทศวรรษ

ทั้งนี้ หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณชื่อ เอมอนน์ แมคแคนน์ ผู้ที่เป็นนักข่าวและนักกิจกรรมสิทธิพลเมืองเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2515 ว่ามีผู้คนมากกว่า 10,000 คนเดินขบวนไปตามท้องถนนเพื่อประท้วงที่กองทัพอังกฤษคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นสมาชิกของกลุ่มกบฏไออาร์เอโดยไม่มีการไต่สวนใดๆ แมคเคนน์บอกว่าสภาพภูมิอกาศในวันนั้นแจ่มใสมากทำให้ผู้เดินขบวนอารมณ์ดีและบรรยากาศการเดินขบวนก็มีลักษณะแทบจะเหมือนกับ

แมคแคนน์เล่าต่อไปว่าในการเดินขบวนในครั้งนั้นมีทหารอังกฤษมาปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงใจกลางเมือง ทำให้ผู้เดินขบวนพากันหันหลังไปสู่ย่านของชาวคาทอลิกที่ชื่อบ็อกไซด์แทน มีผู้ชุมนุมบางส่วนที่เริ่มด่าทอทหารและบ้งก็ขว้างปาก้อนหินใส่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติมาก สถานการณ์ปกตินี้ดำเนินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการเริ่มเปิดฉากยิงเกิดขึ้นจากฝ่ายทหาร ทำให้แมคแคนน์ต้องหาที่หมอบลงกับพื้นเพื่อหลบกระสุน 

การสังหารในครั้งนี้กลายเป็นรอยด่างของกองทัพอังกฤษที่พยายามกล่าวหาว่าฝ่ายผู้ประท้วงเป็นฝ่ายยิงก่อน แต่ก็มีการสืบสวนแล้วว่าไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามแมคแคนน์บอกว่าการสังหารเมื่อ 47 ปีที่แล้วทำให้จิตใจของชาวไอร์แลนด์แข็งกร้าวขึ้นและความแข็งกร้าวนี้ก็ถูกทำสอบอีกครั้งหลังการตัดสินของอัยการในช่วงเวลาที่ใกล้กับวันเฉลิมฉลองเซนต์แพทริกซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาและทางวัฒนธรรมของไอร์แลนด์ มีการพ่นกราฟิตีใหม่ในที่เกิดเหตุสังหารด้วยข้อความว่า "ไม่มีความยุติธรรม ก็ไม่มีสันติภาพ"

"มันกลายเป็นบาดแผลร่วมกันของคนผู้คน" แมคแคนน์กล่าว และสื่อวอชิงตันโพสต์ก็ระบุว่าดูเหมือนบาดแผลนี้จะยังไม่ได้รับการเยี่ยวยา เมื่อมองจากความไม่พอใจของครอบครัวชาวไอร์แลนด์เหนือที่สื่อถึงความไม่พอใจการตัดสินที่พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม

เรียบเรียงจาก

British ex-soldier to be charged in Bloody Sunday killings, The Washington Post, 14-03-2019

In Ireland, Bloody Sunday’s 'communal wound’ reopened on St. Patrick’s Day’s eve, The Washington Post, 16-03-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท