Skip to main content
sharethis

ศรีวุวรรณ ร้อง กกต. เอาผิด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุ ไม่ใช่นักการเมืองคนแรกโอนหุ้นให้ Blind trust ดูแล ชี้เป็นการอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงหลายประการ เนื่องจากในอดีตเคยมีนักการเมืองต่างๆ ได้เคยโอนหุ้นให้บริษัทกองทุนต่างๆดูและจัดการแล้วไม่ต่ำกว่า 15 คน

19 มี.ค.2562 วันนี้ เวลา 10.00 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ศรีวุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ไต่สวน สอบสวน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยอ้างว่าเนื่องจากวานนี้ (18 มี.ค.62) ธนาธร ได้เปิดแถลงข่าว เพื่อเผยแพร่แนวทางการจัดการทรัพย์สินของตนเองในการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง ณ ห้องแถลงข่าวของพรรคฯ ในที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ ชั้น 7 อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ โดย ธนาธร ได้กล่าวอ้างว่า กรณีการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนที่ถือหุ้นธุรกิจเครือซัมมิทมูลค่า 5 พันล้านบาทว่าจะใช้แนวทาง Blind trust คือโอนทรัพย์สินไปให้ trust หรือ กองทุน เป็นผู้ดูแล ส่วนใหญ่จะให้ บริษัท phatara asset management ทั้งหมดคือ หุ้นในบริษัทมหาชน ส่วน บ้าน รถ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเก็บไว้ในนามส่วนตัว และยังบอกอีกว่า วิธิการนี้จะเป็นมาตรฐานใหม่ ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนใช้ private fund มาก่อน เป็นนวัตกรรมใหม่ เป็นการทำให้ Blind ด้วยความสมัครใจโดยไม่ต้องมีกฎหมายมาบังคับ ยกระดับมาตรฐานแสดงความจริงใจให้เกิดต่อสาธารณะนั้น

ศรีวุวรรณ ระบุว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ตามมาจำนวนมาก มีทั้งนักวิชาการ ผู้รู้ ประชาชน สื่อมวลชน และนักการเมืองออกมาร่วมแสดงความเห็นในคำแถลง พอสรุปความได้ว่า การอ้างว่าเป็นครั้งแรกที่มีการทำเช่นนี้ เป็นการอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงหลายประการ เนื่องจากในอดีตเคยมีนักการเมืองต่างๆ ได้เคยโอนหุ้นให้บริษัทกองทุนต่างๆดูและจัดการแล้วไม่ต่ำกว่า 15 คน และการโอนหุ้นแบบนี้เป็นมาตรการบังคับตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ หาใช่ทำด้วยความสมัครใจแต่อย่างใจ การแถลงเยี่ยงนี้อาจเป็นการสร้างความนิยมเพื่อตนเองและพรรคของตน จึงอาจเข้าข่ายหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ตามมาตรา 73 (5) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 และอาจมีโทษตาม ม.159 มีโทษจำคุก 1-10 โทษปรับ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งถึง 20 ปีด้วย

ศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด ระบุว่า ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมฯ จึงจะนำความมาร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยว่ากรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หน.พรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวโอนทรัพย์สินไปให้ trust หรือ กองทุน เป็นผู้ดูแล โดยอ้างว่าวิธิการนี้จะเป็นมาตรฐานใหม่ ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนใช้ private fund มาก่อน เป็นนวัตกรรมใหม่ และอื่นๆ เข้าข่ายความผิดตาม ม.73(5) ของ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 หรือไม่ อย่างไร

สำหรับประเด็นนี้เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'Sarinee Achavanuntakul - สฤณี อาชวานันทกุล' ถึงกรณีคำถามที่ว่า ธนาธรเป็นนักการเมือง "คนแรก" ในไทยหรือเปล่าที่โอนทรัพย์สินให้จัดการแบบ blind trust นั้น สฤณี กล่าวว่าส่วนตัวไม่แน่ใจ นักข่าวควรไปเช็ค แต่ที่แน่ๆ เป็นคนแรก เท่าที่เคยเห็น ที่เปิดเผยรายละเอียด MOU ต่อสาธารณะ และการระบุว่าจะไม่รับโอนทรัพย์สินกลับมาจนกว่าจะพ้นตำแหน่งการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ก็นับเป็นมาตรฐานขั้นสูง กฎเกณฑ์ลักษณะคล้ายกันนี้ (revolving door) ในหลายประเทศระบุเพียง 2 ปีเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net