Skip to main content
sharethis

ซีรีส์บทสัมภาษณ์ชุดนี้คือการทำงานร่วมกันระหว่างประชาไทและเว็บไซต์ New Mandala ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก Coral Bell มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560

  • ใจกลางของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือการแบ่งแยกดินแดน ไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา
  • ช่วงปี 2550-2551 และช่วงปี 2555-2556 เป็นช่วงที่มีเหตุการณ์รุนแรงมากที่สุด โดยในแต่ละช่วงมีปัจจัยที่แตกต่างกัน
  • มีข้อสมมติฐานว่าการเลือกตั้งอาจเป็นสิ่งที่ฝ่ายขบวนการไม่พึงประสงค์ เพราะในทางยุทธศาสตร์ พื้นที่ทางการเมืองในระบบรัฐสภาเป็นการบ่อนเซาะแนวทางของฝ่ายขบวนการ วิธีการหนึ่งที่จะปฏิเสธรัฐไทยคือการปฏิเสธการเลือกตั้ง
  • ในระบอบที่ยังตั้งชื่อไม่ได้ ใครจะเป็นคนตัดสินว่าการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรดำเนินไปในทิศทางไหน นี่คือคำถามที่ท้าทายในอนาคต
  • ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 10 ปีและกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเลือกตั้ง เมื่อเทียบกับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกล่าสุดที่ยืดเยื้อมา 15 ปี เทียบกันแล้วปัญหาประการหลังดูจะแก้ไขได้ยากกว่า ผ่านมาแล้ว 8 รัฐบาล ความรุนแรงลดลงก็จริง แต่ใจกลางหลักของปัญหายังคงอยู่ ถึงกระนั้นก็มีบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปและท้าทายมากยิ่งขึ้น

รอมฎอน ปันจอร์ Curator จาก Deep South Watch กล่าวว่า 15 ปีมานี้มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ตัวแสดงที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น ทั้งในทางปิดลับและเปิดเผย แบบแผนความรุนแรงก็มีทั้งแบบที่ซ้ำและก็มีปรากฏการณ์ใหม่ๆ

บทสนทนานี้จะลงไปดูรายละเอียด ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และมุมมองจากพื้นที่ที่จะสัมพันธ์กัน

การเมืองในอนาคตไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา

เริ่มด้วยการลบล้างความเข้าใจผิดบางประการก่อน เพราะเลี่ยงไม่ได้ที่สถานการณ์ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะถูกมองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนาของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งรอมฎอนเห็นว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

“ในความเห็นผม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตามมาจากความขัดแย้งหลักคือความขัดแย้งทางการเมืองที่ว่าตกลงแล้วกรุงเทพจะปกครองที่นั่นอย่างไรจึงจะชอบธรรมพอ เพราะว่าอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นขบวนการต่อสู้ชาตินิยมที่ต้องการปลดปล่อยเห็นว่าการอยู่ร่วมกับรัฐไทยในปัจจุบันมีปัญหาที่ไม่ลงรอยกันในเรื่องอำนาจของพวกเขาที่ถูกปล้นชิงไป ประเด็นคือปาตานีมองตัวเองว่าเป็นอาณานิคมของกรุงเทพ ขณะที่กรุงเทพมองว่าพื้นที่นี้เป็นของตนมาแต่เดิม นี่คือใจกลางของปัญหาเมืองที่ว่า”

แล้วศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร? รอมฎอนอธิบายดังนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยในยุคหนึ่งได้สถาปนาพื้นฐานของรัฐที่อิงกับศาสนาพุทธ นั่นเท่ากับเป็นการสร้างเส้นแบ่ง ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นเส้นแบ่งนี้และสร้างความแตกต่างขึ้น เส้นแบ่งนี้มีประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในแง่ที่ว่ามันระดมการสนับสนุนจากมวลชนของตัวเองและให้ความชอบธรรมต่อสิ่งที่ตนเองกระทำ

และเมื่อโลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์ 9/11 จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ช่วงปี 2547-2549 สังคมไทยจะเข้าใจไปว่านี่คือความขัดแย้งระหว่างศาสนาเช่นเดียวกับในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก

“ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ถูกมองแบบนี้เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่แน่นอนว่าโดยตัวความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในพื้นที่ก็มีปัญหาเป็นปกติระหว่างคนที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน มีทั้งในแง่ที่อยู่ร่วมกันได้และก็มีการปะทะกันบ้าง แต่การปะทะกันแบบนี้ถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองในเวลาต่อมา ขณะที่รัฐเองก็ตีความและเข้าใจว่าฝ่ายข้าศึกกำลังใช้ไพ่ทางศาสนาในการขับเคลื่อนผู้คน ก็เลยตอบสนองกลับไปด้วยการสร้างความคิดใหม่ รูปธรรมที่ชัดเจนในช่วงหลัง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เป็นต้นมาคือการพยายามชูแนวคิดพหุวัฒนธรรม

“แนวคิดพหุวัฒนธรรมเป็นแนวคิดเชิงบวก พูดยังไงก็ถูก แต่การเมืองของมันก็คือสิ่งนี้เป็นการตอบสนองต่อแนวคิดชาตินิยมมลายูปาตานีที่พยายามแบ่งเขาแบ่งเรา วิธีการที่จะเคาท์เตอร์สิ่งนี้คือต้องสถาปนาด้านบวก เวลามองความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนจึงมีการเมืองเหล่านี้ซ่อนอยู่”

จากปี 2547 ถึงปัจจุบัน

ตลอด 15 ปีของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงที่มีจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุดคือช่วงปี 2550-2551 และช่วงปี 2555-2556 ทั้งต้องยอมรับว่าในช่วงปีหลังๆ มานี้จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงลดลงจริง ทำไมจึงเป็น 2 ช่วงนี้ รอมฎอนอธิบายว่า

“ในช่วงแรกต้องเข้าใจก่อนว่าความรู้ทั้งของฝ่ายรัฐและสังคมไทยต่อฝ่ายต่อต้านที่ติดอาวุธมีน้อยมาก มีสันนิษฐานมากมายในช่วงแรกๆ ปี 2547-2549 แต่ข้อมูลพวกนี้ค่อยๆ ก่อรูป สร้างตัวตนที่หนักแน่นว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือขบวนการกอบกู้เอกราช แต่ว่ามีรูปแบบในการใช้กำลังที่แตกต่างไป ผมคิดว่าในช่วงสองสามปีแรกเป็นช่วงที่ฝ่ายขบวนการต่อสู้ต้องการยกระดับมากที่สุด”

แต่ในปี 2550 มีปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลไทย มีการปิดล้อมตรวจค้นเพื่อทำลายโครงสร้างทางการทหารและทางการเมืองของขบวนการต่อสู้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเชิญตัว การควบคุมตัวบุคคลหลายร้อยหลายพันคนออกนอกพื้นที่ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ความพยายามต่อต้านของอีกฝ่ายค่อนข้างแรงโดยมาพร้อมๆ กับการชุมนุมเคลื่อนไหวมากมายในช่วงปี 2550-2551 การเผชิญหน้าระหว่างสองฝ่ายในปี 2550 จึงมีจำนวนเหตุการณ์สูงมากก่อนจะลดลง ในทางหนึ่งมีการอธิบายว่าโครงสร้างที่เคยถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อซ้อนอำนาจรัฐในระดับหมู่บ้านเกิดความสั่นคลอนและถูกทำลาย เพราะฉะนั้นปฏิบัติการทางทหารจึงลดลงและเข้าสู่โหมดของการปรับตัวของทั้งสองฝ่าย

โดยฝั่งขบวนการต่อสู้ก็ปรับโครงสร้างและทิศทางการต่อสู้ใหม่ ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐพยายามสร้างกลไกพิเศษ ในปี 2551 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ก็ถูกสร้างขึ้นมา เหตุผลสำคัญอันหนึ่งเพื่อรับมือกับปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ด้วย รวมทั้งการรื้อฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขึ้นมา โดยทั้งสองหน่วยงานมีกฎหมายรองรับชัดเจน

ส่วนการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงปี 2555 รอมฎอนอธิบายว่าเป็นเพราะแนวการปะทะกำลังเคลื่อนย้ายจากพื้นที่ในสนาม ในหมู่บ้าน ไปสู่โต๊ะเจรจา และเพื่อจะสร้างอำนาจต่อรองหรือให้ข้อเสนอของตัวเองถูกรับฟัง ปฏิบัติการทางทหารก็เป็นเครื่องมือเพื่อการนี้

“ทั้งหมดนี้คือสมมติฐานที่เราเห็น แต่มันเห็นรูปแบบชัดเจนว่าปี 2550 และปี 2555 ความรุนแรงพุ่งสูงแล้วก็ลดลง ผมเข้าใจว่าในช่วงเวลานี้ก็อยู่ในช่วงปรับตัวบางอย่างด้วยเหมือนกัน”

ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบัน รอมฎอนกล่าวว่าหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายปรับตัว มีการกำหนดทิศทางใหม่ในการต่อสู้ การใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ การก่อตั้งกลไกเพื่อรับมือปัญหาดังที่กล่าวไปแล้ว สิ่งที่ทิ้งไว้ในพื้นที่เวลานี้ก็คือ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นพื้นที่พิเศษเฉพาะที่มีการบริหารจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ ผู้คน งบประมาณที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่างเห็นได้ชัดเจน แม้จะผ่านรัฐประหารมา 2 ครั้ง พื้นที่นี้ก็ยังเป็นพื้นที่ความมั่นคงสูงอยู่เสมอ

“ผู้คนในพื้นที่ที่เผชิญกับความขัดแย้งของ 2 ฝ่ายตกอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกและถูกจัดการ ถูกจัดระบบระเบียบโดยใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้ การพัฒนาพื้นที่ การจัดการความขัดแย้งในระดับท้องถิ่นทั้งหลายก็ผ่านกลไกพิเศษที่ไม่ใช่แค่ระดับของมหาดไทย นี่คือสิ่งที่ค่อยๆ เปลี่ยนพื้นที่ ผู้คน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับพื้นที่และระหว่างผู้คนกับรัฐ”

อีกอย่างที่ปรากฏขึ้นชัดที่สุดในช่วงปี 2556 คือการปรากฏตัวของขบวนการต่อสู้ติดอาวุธที่เข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง คนในพื้นที่มองเห็นตัวแสดงที่เคยอยู่ในที่มืดปรากฏตัวขึ้นและคุยกับรัฐบาลไทย ที่น่าสนใจก็คือแม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะถูกยึดอำนาจ คณะรัฐประหารที่นำโดยผู้บัญชาการทหารบกก็พยายามจะสานต่อการเจรจานี้ด้วย ทั้งที่เป็นสิ่งต้องห้ามของฝ่ายความมั่นคงมาโดยตลอด

การเจรจาสันติภาพ

รอมฎอนอธิบายต่อว่า ในช่วงปี 2555 ที่กระแสความรุนแรงพุ่งสูง ขณะเดียวกันก็มีความพยายามต่อช่องพูดคุยก่อนจะมีกระบวนการพูดคุยที่เป็นทางการและเปิดเผย คำถามหนึ่งของฝ่ายขบวนการที่ถามตัวแทนของรัฐบาลไทยคือกองทัพคิดอย่างไรต่อการเจรจานี้ ต้องไม่ลืมว่าเวลานั้นประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

“ถ้าเรื่องเล่านี้จริง เขาก็มองรัฐไทยว่าไม่จบแค่รัฐบาล อย่างไรก็ตามการหาทางออกจากความขัดแย้งในชายแดนใต้ แม้จะเป็นวิธีทางการเมืองก็ตาม แต่ก็ขาดการมีส่วนร่วมของทหารไม่ได้แน่นอน มันไม่จบแค่ตัวรัฐบาลหรือรัฐสภา แม้ว่าในระยะเวลาต่อมาที่มีการพูดคุยอย่างเป็นทางการ ข้อเสนอประการหนึ่งที่มาจากฝั่งของบีอาร์เอ็นก็คือการริเริ่มกระบวนการพูดคุยต้องยกเป็นวาระแห่งชาติและต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภา โดยนัยนี้ก็หมายความว่าสำหรับเขาการกระทำนี้จะต้องได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากผู้แทนของประชาชนไทย

“ถ้ามองในแง่ของการเมืองจริงๆ เขาก็มองเห็นว่า ถ้าจะคุยกับรัฐไทย ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทยอาจจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากสถาบันสำคัญของไทยด้วย ตัวแสดงอย่างกองทัพก็ถือว่าสำคัญ เพราะปัญหาที่นั่นเรียกได้ว่าหลังการรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา ทหาร กองทัพ และอาจจะโดย กอ.รมน. มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม อันนี้คือความเป็นจริงที่ต้องยอมรับ”

รอมฎอนคิดว่าฝ่ายขบวนการก็มองเห็นสิ่งนี้ อีกทั้งพัฒนาการใหม่ของการเมืองไทยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งก็อยู่ในสายตาของฝ่ายขบวนการที่ต้องประเมินว่า เวลานี้รัฐไทยกำลังเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลต่อกระบวนการสันติภาพในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Thailand Unsettled

การเลือกตั้งที่กำลังมาถึง

“ตั้งแต่การตั้งพรรคประชาชาติ มีการเปิดตัวบุคคลที่เข้าไปมีส่วนร่วม มันได้รับการตอบสนองจากประชาชนในพื้นที่จำนวนหนึ่งอยู่แล้ว เราต้องเข้าใจว่าภาพที่พรรคประชาชาติพยายามจะชูคือกลุ่มวาดะห์แน่ๆ แม้เขาจะพยายามบอกว่านี่ไม่ใช่กลุ่มวาดะห์แล้ว แต่เราก็เข้าใจว่านี่คือวาดะห์อัพเกรด การยอมรับของวาดะห์ก็มีทั้งบวกและลบโดยตัวมันเอง”

ต้องไม่ลืมว่าในความขัดแย้ง 15 ปีที่ผ่านมา กลุ่มวาดะห์ค่อนข้างล้มลุกคลุกคลาน การเลือกตั้งในปี 2548 หรือ 1 ปีหลังเหตุการณ์ตากใบ กลุ่มวาดะห์ถูกประเมินว่าแทบจะสูญพันธุ์ พอถึงการเลือกตั้งในปี 2554 สมาชิกของกลุ่มวาดะห์ก็แตกกระสานซ่านเซ็นไปอยู่ตามพรรคต่างๆ แต่ก็มีคนของกลุ่มวาดะห์ที่ได้รับการเลือกตั้ง การกลับมาเป็นพรรคประชาชาติครั้งนี้จึงน่าสนใจ เพียงแต่ลำพังแค่พลังของนักการเมืองรุ่นเก่าของกลุ่มวาดะห์อาจไม่เพียงพออีกต่อไป

“เราจึงเห็นภาพของคุณทวี สอดส่อง ซึ่งเป็นข้าราชการที่มีบทบาทสำคัญมากในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่แค่การพูดคุยเท่านั้น คุณทวีริเริ่มทำหลายเรื่องที่ใช้โครงสร้างของ ศอ.บต. ที่ได้ใจประชาชน ส่วนผสมของทั้งสองอย่างนี้ ผมคิดว่าก็ทำให้ได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง"

“คนที่อาจจะกังขากับบทบาทของนักการเมืองรุ่นเก่าอย่างวาดะห์อาจจะโอเคกับบทบาทของคุณทวีที่เข้ามาเป็นส่วนผสมของพรรคประชาชาติ แต่ประเด็นหนึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันคือการเป็นคนรุ่นเก่า เรื่องช่องว่างระหว่างรุ่นตอนนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งปัจจุบัน พรรคประชาชาติเองก็พยายามจะเติมเต็มโดยการดึงพลังของเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาเติม แต่มันก็เห็นได้ชัดว่าความจำเป็นที่จะรวมตัวกันของพรรคประชาชาติทำให้ต้องวางลำดับความสำคัญเอาไว้สำหรับนักการเมืองและบรรดาหัวคะแนนรุ่นเก่า เสียงของความเป็นคนรุ่นใหม่ก็เลยน้อยไปหน่อย เรายังไม่รู้ว่ารอบนี้ นอกจากการต่อสู้กันในทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองที่มีจุดยืนแตกต่างกัน ประเด็นเรื่องรุ่นหรือเจนเนอเรชั่นจะส่งผลขนาดไหน”

รอมฎอนอธิบายลักษณะพื้นฐานของการเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า นโยบายเป็นเรื่องรอง เรื่องใหญ่คือตัวบุคคล และที่ใหญ่กว่าตัวบุคคลก็คือบรรดาเครือข่ายหัวคะแนน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเมืองในพื้นที่

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่รอมฎอนคิดว่าเกี่ยวข้องกับพรรคประชาชาติคือเดิมพันของความขัดแย้งมีสูงมาก เพราะความหมายของการเลือกตั้งรอบนี้ไม่ใช่แค่ว่าใครจะชิงพื้นที่ทั้ง 13 เขตได้เท่านั้น แต่มันเป็นการสู้กันว่าตกลงรัฐไทยจะอนุญาตให้คนมลายูมีพื้นที่หรือมีอำนาจต่อรองในทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน

“ถ้าพรรคประชาชาติครองเสียงที่นั่งส่วนใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คงมีเจ้าหน้าที่บางส่วนไม่โอเค”

และด้วยเดิมพันที่ว่าทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงในพื้นที่ในห้วงยามการเลือกตั้ง

“ความรุนแรงในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองแบบหนึ่งอยู่แล้ว มันอาจจะเกิดขึ้นได้ และมันมีรูปแบบของมันอยู่ ทั้งก่อนการลงประชามติเมื่อปี 2559 หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งก่อนหน้านั้น ก็มีงานวิจัยที่สนับสนุนความคิดที่ว่าความรุนแรงก่อนการเลือกตั้งเพียงไม่กี่สัปดาห์อาจเปลี่ยนกระแสและมีผลต่อการโหวตของคนได้ แต่มันเป็นข้อสมมติฐาน คือมันมีรูปแบบเดิมแบบนี้ แต่เรายังไม่รู้จริงๆ ว่าจะเป็นอย่างไร

“ท่าทีของฝ่ายขบวนการต่อสู้มองการเลือกตั้งอย่างไร ก็ยังเป็นปริศนาอยู่ในตอนนี้ บางข้อสมมติฐานก็มองว่าสำหรับเขาแล้ว การเมืองในระบบรัฐสภาไม่ได้สำคัญ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะเอายังไง จะเลือกใคร หรือจะเทคะแนนไปยังไง เวลานี้เปิดเสรีสำหรับมวลชนของพวกเขาในการสนับสนุน จะเป็นซ้าย ขวา หน้า หลัง แล้วแต่

“หรืออีกทฤษฎีหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ว่าเขามองการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เพราะในทางยุทธศาสตร์ พื้นที่ทางการเมืองในระบบรัฐสภาแบบนี้เท่ากับไปบ่อนเซาะแนวทางของพวกเขา วิธีการหนึ่งที่จะปฏิเสธรัฐไทยคือการปฏิเสธการเลือกตั้ง ข้อสมมติฐานนี้ก็น่าสนใจเพราะถ้าย้อนกลับไปดูผลโหวตการลงประชามติหรือลงคะแนนเสียง ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะอยู่ในอันดับต้นๆ ในการออกมาโหวต บางเขตติดอันดับท็อปไฟว์ของประเทศ แต่ก็มีสัดส่วนของบัตรเสียเยอะเหมือนกัน บ้างก็ว่าบัตรเสียเหล่านี้คือการสะท้อนน้ำเสียงของพวกเขาที่ไม่ต้องการโหวต ทั้งหมดนี้ยังไม่มีหลักฐานที่เป็นประจักษ์ชัดเจน แต่เป็นเรื่องเล่าในพื้นที่ว่าท่าทีของฝ่ายต่อสู้เขามองการเลือกตั้งอย่างไร”

000

เรากำลังอยู่ในสภาวะที่ไม่รู้ว่าใครจะสามารถพูดแทนรัฐไทยได้ คำพูดสุดท้าย คนที่จะเคาะจริงๆ ว่าทิศทางการแก้ไขปัญหาระดับรัฐจะไปทางไหน จะอยู่ที่ไหน จะอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่รัฐสภา หรือที่อื่นด้วย อันนี้เป็นปัญหาใหญ่

รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ

พูดถึงปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นกติกาชุดใหญ่ที่ส่งผลต่อทุกองคาพยพในสังคมไทย และเมื่อดูผลการลงประชามติในพื้นที่สามจังหวัดจะเห็นว่าผลการลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มีมากอย่างมีนัยสำคัญ

“ในปี 2559 เวลาพูดถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ประเด็นสำคัญคือตัวบทในรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนความเป็นพุทธ ประเด็นนี้ถูกต่อยอดในพื้นที่และทำให้คนรู้สึกไกลถึงขั้นว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้ พื้นที่ของมุสลิม การสนับสนุน การอุดหนุนที่รัฐจะให้กับชาวมุสลิมจะน้อยลง จริงเท็จอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี่คือความรับรู้ของคนต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะมีผลในแง่ความไว้วางใจต่อรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ นอกเหนือจากรัฐบาลทหารแล้ว ตัวรัฐธรรมนูญอาจมีผลต่อความรู้สึกของผู้คนตามมา นั่นคือประเด็นที่หนึ่ง”

ประเด็นที่ 2 คือความคงเส้นคงวาในระดับหนึ่งของรูปของรัฐ สื่อถึงมาตรา 1 ในรัฐธรรมนูญที่ระบุว่ารัฐไทยเป็นรัฐที่แบ่งแยกไม่ได้ ขณะที่ใจกลางของปัญหาคือเรื่องดินแดน รอมฎอนจึงเห็นว่านี่เป็นความท้าทายที่จะมองทางเลือกในทางการเมืองอย่างไรภายใต้รัฐธรรมนูญแบบนี้

ประการต่อมา การกระจายอำนาจ เมื่อปัญหาใจกลางคือความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพกับปาตานีและผู้คนที่ไม่ลงรอยทางประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ข้อเสนอหนึ่งคือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ระหว่างผู้คนในพื้นที่กับอำนาจส่วนกลาง ซึ่งประเด็นนี้สำคัญมากเพราะมันจะเปิดโอกาสให้เกิดการคิด การถกเถียง การอภิปราย ทั้งบนโต๊ะเจรจาและนอกโต๊ะ

“ทีนี้รัฐธรรมนูญปี 2560 มันแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ตรงที่ว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 พูดถึงพื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะปกครองตนเองได้ พื้นที่นั้นต้องมีขีดความสามารถด้วย ทั้งในแง่เศรษฐกิจ ความหนาแน่นของประชากร และลักษณะพื้นฐานของประชากร พูดอีกแบบคือพัฒนาการที่เราเห็นคือรัฐธรรมนูญพูดถึงการกระจายอำนาจหรือการปกครองตนเอง ใช่ แต่มีเงื่อนไขว่าพร้อมขนาดไหน ในแง่หนึ่งยังเปิดทางเลือกอยู่ แต่ก็มีเงื่อนไขที่ต้องคิดถึงความเป็นไปได้มากขึ้นเหมือนกัน ผมคิดว่าอันนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะโยงไปสู่แนวทางในการหาทางออกร่วมกันของคู่ขัดแย้งและประชาชนในพื้นที่ในอนาคต”

สิ่งที่ต้องทำเบื้องต้นของรัฐบาลใหม่

“ผมคิดว่าอันดับแรกคือรัฐบาลใหม่จำเป็นอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญกับปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือก็ให้ความสำคัญกันอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่ามาถึงจุดนี้ ถ้าเรามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีความชอบธรรมสูง การพยายามจัดการกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรถูกยกระดับ ไม่ใช่แค่เพราะมันมีความขัดแย้ง ความรุนแรงในพื้นที่เท่านั้น แต่นี่คือปัญหาของรัฐในตัวมันเอง ปัญหาใหญ่เกินกว่าจะเป็นเรื่องของคนในพื้นที่ที่จะดูแลจัดการกันเอง และมันใหญ่เกินกว่าที่จะมอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคงรับผิดชอบเท่านั้น รัฐบาลใหม่มีความจำเป็นและมีความชอบธรรมมากที่จะจัดการกับปัญหาของรัฐแบบนี้"

“เรื่องที่ 2 ผมคิดว่าอย่างไรก็ตาม การมีช่องทางการเจรจายังจำเป็นและเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เพียงแต่ว่าเนื้อหาสาระและทิศทางการพูดคุยกับอีกฝ่ายนั้นจะเป็นอย่างไร ผมคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมที่จะสื่อสารหรือส่งสัญญาณ ทั้งต่อผู้คนในพื้นที่และคู่ขัดแย้งหลัก”

อย่างไรก็ตาม ถ้าปล่อยให้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกจำกัดกรอบเอาไว้แค่เรื่องปัญหาความมั่นคงให้กับหน่วยงานความมั่นคงหรือไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเจรจา ก็จะยิ่งสร้างเงื่อนไขให้สถานการณ์ยืดเยื้อมากขึ้น รอมฎอนเห็นว่าสัญญาณที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลไทยมีส่วนอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนพลวัตของความขัดแย้ง

แต่ถ้า คสช. กลับมาสืบทอดอำนาจต่อ การจัดการปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้อาจไม่ต่างจากที่เป็นมาก่อนหน้านี้หรือไม่

ระบอบที่ยังไม่มีชื่อและความท้าทายในอนาคต

“แน่นอน เมื่อกี้เราอาจจะพูดแง่บวกเกินไปว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนบางอย่าง แต่ถึงแม้จะเป็นการสานต่ออำนาจของผู้นำ คสช. แต่การมีรัฐสภา การมีพรรคฝ่ายค้าน และเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีส่วนผสมจากหลายพรรคการเมือง มีนโยบายที่แตกต่างอย่างสุดขั้วจากรัฐบาลประยุทธ์ ผมคิดว่าตรงนี้จะทำให้พื้นที่ในการพูดคุยอนาคตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากขึ้น มันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของหน่วยงานราชการหรือกลไกปกติของหน่วยงานความมั่นคงเท่านั้น แต่มันมีพื้นที่ทางการเมือง มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น มีทิศทางที่รัฐบาลจะทำบางอย่าง งบประมาณที่จะใช้ จะถูกตรวจสอบเพิ่มมากขึ้น ผมคิดว่ายังไงก็ตามยังเป็นผลบวกอยู่”

แต่สิ่งที่รอมฎอนเห็นว่าเป็นข้อน่ากังวลคือสภาวะที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า ระบอบการเมืองที่ยังไม่มีชื่อ เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบพันธุ์ทาง และสิ่งนี้จะมีผลแน่ๆ ต่อกระบวนการหาทางออกต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมืองหรือการทหาร

“เพราะว่าท้ายที่สุด ในเวลานี้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าระดับรัฐบาล เป็นเรื่องของรัฐ รัฐในแง่ที่ว่ามีประชากรจำนวนหนึ่งไม่โอเคกับการมีส่วนร่วมในรัฐสยาม รัฐไทย และต้องการแยกตัวออก คำถามคือตั้งแต่กระบวนการบังคับใช้รัฐธรรมนูญจนถึงก่อนการเลือกตั้ง 1 เดือนที่ผ่านมา เรากำลังอยู่ในสภาวะที่ไม่รู้ว่าใครจะสามารถพูดแทนรัฐไทยได้ คำพูดสุดท้าย คนที่จะเคาะจริงๆ ว่าทิศทางการแก้ไขปัญหาระดับรัฐจะไปทางไหน จะอยู่ที่ไหน จะอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่รัฐสภา หรือที่อื่นด้วย อันนี้เป็นปัญหาใหญ่"

“แต่ทั้งหมดนี้เรายังเห็นแค่เค้าโครงคร่าวๆ ว่าความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจจะยังดำรงอยู่ในแบบที่เราเห็น คือมีการเจรจาพูดคุย มีการคิดถึงทางเลือกต่างๆ มีการเยียวยา มีการนิรโทษกรรม แต่คนที่จะเคาะกระบวนการเหล่านี้เป็นใครบ้าง นี่คือคำถามที่ท้าทาย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net