Skip to main content
sharethis

เดินเข้าไปในตลาดนัดกลางคืนห้วยขวาง เยี่ยมชมสินค้า ผู้คน และบรรยากาศยามราตรี รวมถึงเรียนรู้เรื่องการมีส่วนร่วมบนพื้นที่สาธารณะ ภายหลังนโยบายการจัดระเบียบทางเท้า

 

22.00 น.

เปิดตลาด

เมื่อเดินออกจากรถไฟฟ้าใต้ดินสถานี ”ห้วยขวาง” ไม่ไกลเราก็จะได้พบแหล่งจับจ่ายใช้สอยของคนที่ทำงานดึก “ตลาดห้วยขวาง” ที่ในยามกลางวันคือตลาดสดของกินและของใช้อุปโภคบริโภคทั่วไป แต่ยามค่ำคืนนั้นกลับมีชีวิตยิ่งกว่า เราไปเพราะอยากเห็นเบื้องหลังของวิถีชีวิตคนทำงานกลางคืน

บรรดาพ่อค้าแม่ค้าออกมาตั้งแผงสินค้าเรียงราย ค่อยๆ เข็นออกมาเรียงทีละแผงสองแผง หลังสี่ทุ่มคือเวลาที่พ่อค้าแม่ค้าบอกว่านี่คือเวลาที่ได้รับ “อนุญาต” แล้ว ร้านขายของที่เปิดช่วงกลางวันปิดทำการแล้วถูกแทนที่ด้วยราวเสื้อผ้า แผงเหล็กเริ่มถูกนำมากางออกและตั้งเต็มพื้นที่ทางเท้า  ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง

แม้จะเป็นเวลาที่ดึกมากแล้วแต่คนกลับดูหนาแน่นมากขึ้น อาจเป็นเวลาเลิกงานของคนบางกลุ่ม เช่นเดียวกับร้านค้าที่กำลังจัดสินค้าใกล้เสร็จ ร้านค้าทยอยเปิดหลังจากที่ปิดมาทั้งช่วงกลางวัน พวกเขารอการมาถึงของราตรี และรอลูกค้ามาจับจ่าย

“ลองเดินเข้ามาดูกันก่อนได้ค่าาาา”

เสียงแม่ค้าร้านเสื้อร้านหนึ่งเรียก ดูจะไม่ได้สนใจเท่าไรว่าคนที่เดินผ่าน(อย่างเรา) จะใส่สิ่งที่เขาขายได้ไหม

หน้าร้านถูกตั้งด้วยชุดชั้นในหลากสีสัน มีครบครันทั้งลูกไม้ ตาข่าย วันพีซ ทูพีซ เลี้ยวนิดเดียวก็จะได้พบกับชุดนักศึกษา ชุดพยาบาล คอสเพลย์ซูเปอร์ฮีโร่หญิง ทุกชุดถูกดัดแปลงให้มีทรงที่รัดรูปวาบหวิว บางชุดมีภาพประกอบไว้ดูเป็นตัวอย่าง ลึกเข้าไปเกือบสุดร้านก็ยังมีอุปกรณ์เสริม หูแมว บราหลากสีที่เราไม่เคยเห็นในร้านชุดชั้นในทั่วไป อลังการที่สุดคือชุดคอสเพลย์ต่างๆ มีทั้งอาชีพ ตัวละครในเทพนิยาย ชุดนักร้องศิลปินชื่อดังที่พบตามงานคอนเสิร์ต  ถูกเนรมิตมารวมไว้ที่นี่แล้ว

00.00 น.

ความหลากหลายในตลาดที่ไม่เคยหลับ

เวลาของการชอปปิ้งมาถึงอย่างเป็นทางการ ผู้คนเดินกันอุ่นหนาฝาคั่ง เดินกันแทบไหล่ชนไหล่เต็มสองข้างถนน ว่ากันว่านี่คือเวลาหลังเลิกงานของสถานบันเทิง นอกจากสิ่งของในหมวดความสวยความงามแล้วยังมีบริการต่างๆ ทำเล็บ นวดเท้า ทำผม

เสียงเพลงอีสานดังออกมาจากร้านขายบราร้านหนึ่ง ร้านซึ่งชายร่างกำยำเป็นผู้จัดเรียงสินค้า ชายผู้นี้ทราบภายหลังว่าแกเป็นคนใต้ ในร้านแกมีบราหลากสีสัน มีทั้งแบบมีโครงและดันทรง กางเกงในลายลูกไม้ จีสตริง ที่เสริมก้น ชุดนอนไม่ได้นอน  

“ทำไมป้ายต้องเขียนว่าคนทำนมต้องใส่แบบนี้” - เราถามพี่บ่าว

“แบบทั่วไปมันจะเจ็บ ใส่แบบนี้มันไม่มีโครง ไม่เคยมีเมียเหรอ ทำไมไม่รู้ ” - พี่บ่าวตอบ

“ทำไมเป็นผู้ชาย แต่ขายเสื้อผ้าผู้หญิง รู้ได้ยังไงว่าลูกค้าชอบแบบไหน” - เราถาม

“เมื่อก่อนก็ไม่ได้ขายเอง จ้างลูกน้องเป็นผู้หญิงมาขาย วันหนึ่งมันว่าเรา มันบอกว่าหน้าอย่างเราไม่มีปัญญาขายได้หรอก เราเลยออกมาขายให้มันดู ขายดีด้วย ” - พี่บ่าวตอบ

“แล้วทำไมต้องเป็นชุดนอนไม่ได้นอน” - เราถาม

“ถ้าขายแถวนี้ก็ต้องแนวนี้ เรามองว่ามันเป็นเครื่องแบบ มันเป็นชุดทำมาหากินของเขา หน้าที่การงาน แต่บางคนเขาพาแฟนมาซื้อไปใช้เองก็มีเยอะแยะ ความสุขในครอบครัว” - พี่บ่าวตอบ

หลังจากเรียงของเสร็จ พี่บ่าวก็ลากเก้าอี้พับมานั่งข้างทาง มือกดเปลี่ยนเพลง แต่ก็ยังเป็นแนวเดิม

03.00 น.

ตลาดที่ถูกจัดระเบียบ

เราเดินลัดเลาะวนไปมาในตลาด เราสังเกตเห็นว่าร้านอาหารก็เป็นที่นิยม ร้านหมูกระทะ อาหารอีสาน อาหารตามสั่ง รถเข็นสตรีทฟู้ดต่างๆ เรียงขายกันเป็นแถวๆ หลังการเดินชอปปิ้งจนอ่อนล้า หลายคนก็จะมาแวะเติมพลัง ข้าวเหนียวส้มตำ ลาบน้ำตกน่าจะเป็นอาหารยอดนิยมย่านนี้ ระหว่างที่เรากำลังเดินถ่ายรูปอยู่นั้น ก็มีชายคนนึงเดินมาสะกิด ด้วยสีหน้าที่ดูไม่ค่อยพอใจ

“น้องมาทำอะไร เห็นเดินวนอยู่แถวๆ นี้หลายทีแล้ว ”

“มาถ่ายภาพสารคดีครับ” (เปิดรูปให้ดู)

“ได้ขออนุญาตหรือยัง จะมาถ่ายกันแบบนี้ไม่ได้”

แต่หลังจากที่เราอธิบายเจตนาของการทำงานไป พี่ชายคนดังกล่าวก็ดูเข้าใจมากขึ้น เขาเล่าว่าตนเองก็เป็นพ่อค้าแม่ค้าที่อยู่แถวนั้น เมื่อเห็นเราจึงเกิดความสงสัย บวกกับความไม่สบายใจเพราะกลัวที่จะถูกร้องเรียน นั่นทำให้เราเห็นบาดแผลในตลาดแห่งนี้ ที่เอาเข้าจริงแล้ว พวกเขากลัวการถูกจับถูกร้องเรียนมากแค่ไหน

ย้อนไปในปี 2558 ตลาดนัดห้วยขวางคือหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกจัดระเบียบทางเท้า ด้วยเหตุผลเพื่อความเป็นระเบียบ จากเนื้อหาข่าวระบุว่า บริเวณดังกล่าวมีผู้ค้าประมาณ 900 ราย แบ่งเป็น ผู้ค้านอกจุดผ่อนผันกว่า 200 ราย และผู้ค้าในจุดผ่อนผัน 573 ราย โดยในวันที่ 25 พ.ค. 58 สำนักงานเขตดินแดงได้ยกเลิกจุดผ่อนผัน พร้อมตรึงกำลังห้ามผู้ค้าตั้งวางแผงนอกจุดผ่อนผันอย่างเด็ดขาด

แม้จะมีความพยายามในการเยียวยาผลกระทบแก่ผู้ค้า ด้วยการจัดพื้นที่อื่นให้พ่อค้าแม้ค้าไปขาย แต่ก็มีพื้นที่รองรับเพียง 500 จุดเท่านั้น ซึ่งใช้วิธีจับสลากในการคัดสรร ซึ่งก็มีเสียงเรียกร้องความไม่พอใจของพ่อค้าแม่ค้าออกมาเป็นระยะ

นาย(นามสมมติ) พ่อค้ารายหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของร้านเสื้อผ้าเล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะมีการจัดระเบียบพวกตนเคยมีเอกสารสิทธิ์ในการจัดตั้งร้านค้าทุกประการ แต่หลังจากนั้นก็กลายเป็นกลุ่มคนผิดกฏหมาย ช่วงแรกๆ ถึงขั้นแอบมาตั้งขายเลยก็มี เพราะถ้าไม่ขายก็อยู่ไม่ได้ บางคนใช้เงินหมุนวันต่อวัน พอขายไม่ได้ก็ไม่มีเงิน ปัจจุบันหลายคนที่รู้จักเลิกรากันไปก็มาก แต่ตนยังเลิกไม่ได้ เพราะไม่รู้จะไปทำอะไร

นายเล่าให้ฟังต่อว่า หลังการจัดระเบียบบวกกับสภาพเศรษฐกิจ ก็ทำให้คนซื้อของลดลงไปมาก จากเดิมที่เคยเปิดได้ช่วงค่ำ ก็ต้องมาเปิดช่วงดึก ทำให้จำนวนผู้ซื้อลดลงไปมาก กลุ่มฐานลูกค้าของตลาดแห่งนี้เลยเหลือเพียงกลุ่มทำงานกลางคืน ซึ่งดึกมากๆ

สำหรับเรื่องที่ขายที่หน่วยงานรัฐจัดให้ นายมองว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะฐานลูกค้าเป็นคนทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ หากต้องย้ายไปขายในจุดอื่น คิดว่าคงไม่มีใครมาซื้อ

“เคยมีคนทำงานกลางวันเดินมาดูเสื้อผ้าที่ร้าน แล้วเขาก็หัวเราะ เขาบอกเราว่าใครจะบ้าใส่”

สอดคล้องกับต้น (นามสมมติ) พ่อค้าขายลูกชิ้นจากเมืองเหนือ เล่าถึงชีวิตการทำงานของต้นที่ดั้นด้นมากรุงเทพเพื่อมาหางานทำ ที่พอมาทำจริงแล้วก็พบว่าตนถูกเอาเปรียบจากระบบแรงงานที่ทำ สุดท้ายจึงเลือกมาทำมาค้าขาย เพราะมีความเป็นอิสระ แต่ทุกวันนี้มีลูกค้าน้อยลงมากหลังการจัดระเบียบ และประเมินว่าน่าจะน้อยลงมากกว่านี้อีกเนื่องจากเศรษฐกิจ

05.00 น.

ตลาดวาย

หลังจากเปิดตลาดมาแล้ว 8 ชั่วโมงเต็มเป็นอย่างน้อย ก็ต้องถึงเวลาที่ตลาดเป็นอันต้องวาย หลายร้านทยอยเก็บข้าวของมาตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง หลายร้านยังคงขายอยู่ แม้จะแทบไม่มีลูกค้าแล้ว กลายเป็นพระที่ออกมาเดินบิณฑบาตแทน เจ้าหน้าที่ กทม. ออกมาเก็บกวาดขยะ พอถึงช่วงย่ำอรุณที่ทุกอย่างก็กลับมาเงียบสงบ และรอให้ถึงราตรีถัดไปอีกครั้ง

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองได้ขยายให้เราฟังถึงปัญหาเรื่องแผงลอยและการมีส่วนร่วมว่า ฐานคิดเรื่องทางสัญจรในเมือง คนมักคิดถึงเพียงถนน และคิดถึงทางสัญจรในแบบอื่นเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ทั้งที่การใช้งานทางเท้าต้องรองรับงานหลายส่วน ทั้งระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งท่อประปา ที่วางเสาไฟฟ้า ป้ายจราจร  

“ทางเท้าใช้ทำอะไรบ้าง หน่วยงานภาครัฐที่ไปลงเสาไฟฟ้า ประปา สาย ระบบสาธารณูปโภค ผลักทุกอย่าง เอาไปลงทุกอย่างในพื้นทึ่ 5-10% ของพื้นที่สาธารณะ ของเมืองซึ่งเป็นถนนและทางเท้า แต่เราให้ 90-95% กับคนขับรถยนต์

“กลายเป็นว่าความจริงแล้ว คู่ขัดแย้งของหาบเร่แผงลอยในการใช้พื้นที่ไม่ได้มีแค่การทวงคืนทางเท้าจากหาบเร่แผงลอย  แต่เป็นการทวงคืนทางเท้าจากคนใช้รถยนต์ด้วย อย่างในต่างประเทศมีมาตรการลดช่องจราจรลง จากจราจรแบบสี่เลน เหลือสองเลน ลดการใช้งาน เปิดพื้นที่ให้เป็นสาธารณะ สมมติถ้าเรามีทางเท้าที่กว้าง 4 เมตร แผงลอยอยู่ได้ ในขณะที่คนเดินเท้าก็เดินได้ ไม่ต้องมาทวงคืนว่ามันไม่มีทางเดิน

“เราไม่ได้มีหลักคิดว่าทางเท้า มันเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมี ถ้าเราคิดว่าทางเท้าไม่ใช่ส่วนเกินของเมือง พื้นที่ส่วนเกินนี้ต้องรองรับการใช้งานแบบหลากหลายมากๆ ประเด็นแรกคือเรื่องของการจัดการ ถ้าจัดการพื้นที่ มันสามารถจะทำให้ความขัดแย้งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ลดลงได้ ถ้ามีการจัดการที่เป็นธรรม  

“อันที่สอง คือการจัดการตัวแผงลอยเอง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าแผงลอยก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมืองสกปรก อย่างเรื่องน้ำเสีย ขยะอะไรต่างๆ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นปัญหาที่เขาอย่างเดียว ปัญหาที่รัฐด้วย ว่ารัฐไม่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะสามารถรองรับกิจกรรมเศรษฐกิจของเมือง ในลักษณะอย่างนี้ ตัวอย่างเช่น ระบบระบายน้ำเสียของเมือง ในต่างประเทศเขาจะยึด แยกระหว่างน้ำดีกับน้ำเสีย จริงๆ เรามีมาตรการในการแก้ไขได้ เป็นนวัตกรรมของตัวหาบเร่แผงลอยเอง ตัวอย่างเช่น บ่อดักไขมัน ป้องกันน้ำเสีย กรองตั้งแต่จุดทิ้ง กรองไขมัน มีมาตรการเรื่องของการจัดการขยะ

“หรือจะเป็นเรื่องการจัดการพื้นที่ แบบสร้างซอยแยกให้เป็นพื้นที่ที่สามารถขายของได้ เป็นพื้นที่ที่เป็นสตรีทฟู้ด แล้วรัฐก็ลงทุนสิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้และเก็บภาษีจากการขายบนพื้นที่นั้น ให้มันเป็นระบบ พยายามลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คนขายก็เสียภาษีในรูปแบบบำรุงค่าน้ำ ค่าไฟต่างๆ คนไปเที่ยวก็สบายใจเพราะมันถูกกฎหมาย ไม่ต้องรู้สึกว่าซื้อของโจรหรือสนันสนุนระบบอะไร

“ในบ้านเราไม่เรียกการบริหารจัดการ บ้านเราเรียกว่าการผลักปัญหามากกว่า มันเป็นการผลักเฉยๆ ให้เอาออกไป อย่างเขาจะมีที่อยู่ มีที่กินไม่มีที่กินอีกเรื่องนึง ซึ่งความจริงแล้วการบริหารจัดการบ้านเมือง คุณต้องคิดถึงคนเล็กคนน้อย ต้องคิดถึงการมีงานทำ เพราะว่าอีกด้านนึงของการดีเบตฝั่งสังคมคือโอกาสของการมีรายได้ โอกาสของการมีงานทำในเมืองสำหรับคนกลุ่มต่างๆ มีคนทำงานมากขึ้น และภาวะพึ่งพิงในเมืองลดลง กลายเป็นว่ามันส่งเสริมเศรษฐกิจ ทั้งระบบที่ทำให้มันลดลง แต่ว่าพอรัฐไม่มองไกล มันก็ดูแย่”

ภาพถ่ายในรายงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Shoot it Right 2 จัดโดย Realframe ร่วมกับ Amnesty International Thailand และองค์กรภาคีเครือข่าย อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมได้ที่ https://prachatai.com/journal/2019/02/80829

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net