Skip to main content
sharethis

เปิดฐานคะแนนดิบเลือกตั้ง 54 ส่องฐานเสียงสองพรรคใหญ่ 'ประชาธิปัตย์-เพื่อไทย' ใน กทม. พบเลือกตั้งปี 54 ในระบบ 33 เขต ชนะขาดเกินห้าพันคะแนนมี 17 เขต ได้แก่ ปชป. 13 เขต เพื่อไทย 4 เขต อีก 16 เขตบี้กันสูสี ในขณะที่เลือกตั้งปี 62 ระบบ 30 เขต พรรคใหม่ๆ พร้อมตัดคะแนนจากทั้งสองพรรคใหญ่

การเลือกตั้งใกล้เข้ามาถึงอีกเพียงไม่กี่อึดใจ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายคน หลากหลายอุดมการณ์ทางการเมืองยังคงลังเลอยู่ว่า รอบตั้งรอบนี้ควรจะลงคะแนนให้พรรการเมืองใด เพื่อที่จะได้ผลลัทพ์ทางการเมืองอย่างที่ต้องการ นอกจากอุดมการณ์การของพรรคการเมือง ตรงกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ตัวเองยึดมั่น นโยบายพรรคการเมือง ตรงต่อความต้องการ และผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นๆ เป็นบุคคลซึ่งไว้เนื้อเชื่อใจได้ จะมีผลต่อการตัดสินในเทคะแนนให้ อีกข้อมูลหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ผลคะแนนของการเลือกตั้งในครั้งก่อน พื้นที่นี้ใครเคยครอง ใครชนะ ใครแพ้ และผลต่างของคะแนนห่างกันมากน้อยเพียงใด

ประชาไทเปิดข้อมูลฐานคะแนนดิบจาการเลือกตั้งปี 2554 เจาะฐานเสียงสองพรรคใหญ่ 30 เขต กทม. ท่ามกลางตัวเลือกที่มากกว่าสองในการเลือกตั้งปี 62 เรียงข้อมูลรายเขตมีรายละเอียดดังนี้

*หมายเหตุ: พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชนปฏิรูป พรรครวมพลังประชาชาติไทย  พรรคพลังท้องถิ่นไท ส่งผู้สมัครครบทั้ง 30 เขต ใน กทม. ขณะที่พรรคกลาง พรรคสามัญชน พรรคไทยศรีวิไลย์ ส่งบางเขต นอกจากนี้ยังมีพรรคขนาดกลางอย่าง พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ที่ส่งผู้สมัครใน กทม. ครบทุกเขตเช่นกัน

00000

เขต 1 เขตพระนคร, เขตสัมพันธวงศ์, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเขตดุสิต (ยกเว้นแขวงถนนนครไชยศรี)

เขต 1 ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ พื้นที่ซึ่งมีฐานเดิมอยู่ในเขต 1 ผนวกรวมกับ เขต 5 ของการเลือกตั้งปี 2554 ในครั้งนั้นเขต 1 ประชาธิปัตย์ได้คะแนน 40,328 เสียง ขณะที่เพื่อไทยได้คะแนน 20,230 เสียง ส่วนในเขตประชาธิปัตย์ได้คะแนน 37,528 เสียง เพื่อไทยได้คะแนน 38,206 เสียง

รอบนี้ประชาธิปัตย์ส่ง นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ อดีต ส.ส. กทม. เขต 1 (ปี 54) ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย ขณะที่เพื่อไทยส่งนางสาวลีลาวดี วัชโรบล อดีต ส.ส. กทม. เขต 5 (ปี 54) เข้ามาลงแข่งขันในเขต 1 ปี 62 โดยที่มีฐานเสียงเดิมอยู่ในเขตดุสิตเท่านั้น

เขต 2 เขตปทุมวัน, เขตบางรัก และเขตสาทร

เขต 2 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ตรงกับเขต 2 ในการเลือกตั้งปี 2554 ประชาธิปัตย์เป็นผู้ชนะได้คะแนน 52,178 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้เพียง 26,956 เสียง โดยรอบนี้ประชาธิปัตย์ยังส่งผู้สมัครคนเดิมคือ นางสาวอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ ลงเลือกตั้งอีกครั้ง ส่วนเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส่วนไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค

เขต 3 เขตบางคอแหลมและเขตยานนาวา 

เขต 3 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ตรงกับเขต 3 ในการเลือกตั้งปี 2554 ประชาธิปัตย์เป็นผู้ชนะได้คะแนน 47,982 เสียง ขณะที่เพื่อไทยได้เพียง 29,976 เสียง และในครั้งนี้ประชาธิปัตย์ยังส่ง หม่อมหลวง อภิมงคล โสณกุล ผู้ชนะในเขตนี้เลือกลงตั้งอีกสมัย ส่วนเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัครในเขตนี้

เขต 4 เขตคลองเตยและเขตวัฒนา 

เขต 4 ในการเลือกตั้งครั้งนี้เขต 4 ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประชาธิปัตย์เป็นผู้ชนะได้รับคะแนน 44,621 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้คะแนนเพียง 29,749 เสียง  และเช่นเดิมประชาธิปัตย์ส่งนายอนุชา บูรพชัยศรี ผู้ชนะในเขตนี้เลือกลงตั้งอีกสมัย ส่วนเพื่อไทยไม้ได้ส่งผู้สมัครในเขตนี้

เขต 5 เขตห้วยขวาง และเขตดินแดง

เขต 5 ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือการผ่าแบ่งครึ่งระหว่างสองเขตเลือกตั้งเดิมในปี 2554 คือ เขต 6 เขตดินแดงและเขตพญาไท ซึ่งประชาธิปัตย์เป็นผู้ชนะได้รับคะแนเสียง 51,501 เสียง เพื่อไทยได้ 45,792 เสียง กับเขต 7 เขตห้วยขวางและเขตวังทองหลาง (เฉพาะแขวงวังทองหลางและแขวงพลับพลา) ซึ่งประชาธิปัตย์เป็นผู้ชนะอีกเช่นกันได้ 38,470 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้ 32,692 เสียง

ผู้ชนะในเขต 6 ปี 2554 คือ นายธนา ชีรวินิจ ซึ่งประชาธิปัตย์ ส่งลงเลือกตั้งอีกสมัยในเขต 5 ปี 2562 ส่วนผู้ชนะในเขต 7 ปี 2554 คือ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ปัจจุบันย้ายไปสังกัดพลังประชารัฐ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐส่ง อรพินทร์ เพชรทัต อดีตประธานสมาชิกสภาเขตดินแดง ลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ด้านเพื่อไทยส่งนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ อดีต ส.ก.เขตห้วยขวาง เดิมอยู่ค่ายประชาธิปัตย์ เคยเป็นทีมงานของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเช่นกัน

เขต 6 เขตราชเทวี, เขตพญาไท และเขตจตุจักร (เฉพาะแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล)

เขตเลือกตั้งนี้ค่อนข้างซับซ้อนเพราะเป็นตัดรวมส่วนต่างๆ ของเขตเลือกตั้งปี 2554 มารวมกันมากถึง 3 เขตคือ

1.เขต 5 เขตดุสิตและเขตราชเทวี เขตนี้เพื่อไทยชนะด้วยคะแนน 38,206 เสียง โดยมีประชาธิปัตย์ตามมาอยู่ไม่ใกล้ด้วยคะแนนเสียง 37,528 เสียง

2.เขต 6 เขตดินแดงและเขตพญาไท ประชาธิปัตย์เป็นผู้ชนะด้วยคะแนน 51,501 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้ 45,792 เสียง

3.เขต 9 เขตจุตจักร ประชาธิปัตย์เป็นผู้ชนะด้วยคะแนน 43,293 เสียง ขณะที่เพื่อไทยได้ 38,187 เสียง

โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปัตย์ส่งนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ผู้สมัครเขต 9 ปี 2554 ลงเลือกตั้งอีกครั้ง ส่วนเพื่อไทยส่งนายประพนธ์ เนตรรังษี อดีต ส.ก. เขตจตุจักร ลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

เขต 7 เขตบางซื่อ และเขตดุสิต (เฉพาะแขวงถนนนครไชยศรี) 

เขตนี้เป็นการตัดรวมกันบางส่วนระหว่างเขต 5 และ เขต 10 ของการเลือกตั้งปี 2554 ในเขต 5 เขตดุสิตและเขตราชเทวี ผู้ชนะคือเพื่อไทยได้คะแนน 38,206 เสียง โดยมีคู่แข่งจากประชาธิปัตย์ตามมาติดๆด้วยคะแนน 37,528 เสียง ขณะที่เขต 10 เขตบางซื่อ ผู้ชนะประชาธิปัตย์ได้คะแนน 32,306 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้ 30,596 เสียง

ในเขตนี้เพื่อไทยส่ง ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ ซึ่งเคยลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. สังกัดเพื่อไทย เขต 10 บางซื่อ ปี 2557 (โมฆะ) ลงสนามเลือกตั้งอีกครั้ง ส่วนประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่อย่าง นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ (หมอเอ้ก) ลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตามผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตบางซื่อในนามประชาธิปัตย์เมื่อปี 2554 คือ นายชืนชอบ คงอุดม บุตรชายของ นายชัชวาล คงอุดม หรือชัช เตาปูน ปัจจุบันชืนชอบย้ายสังกัดไปอยู่พรรคพลังท้องถิ่นไท รวมกับบิดา และในเขตเลือกตั้งนี้พลังท้องถิ่นไทส่ง นางพิมพ์อร คงอุดม ภรรยาของชืนชอบลงเลือกตั้ง

เขต 8 เขตลาดพร้าวและเขตวังทองหลาง (ยกเว้นแขวงพลับพลา)

เขตเลือกตั้งนี้ตรงกับเขต 8 เมื่อการเลือกตั้งปี 54 ซึ่งครั้งนั้นเป็นประชาธิปัตย์ที่ได้รับชัยชนะ ได้คะแนน 43,293 เสียง เพื่อไทยได้ 38,187 เสียง และในครั้งนี้ประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครคนเดิมลงเพื่อรักษาแชมป์คือ นายสรรเสริญ สมะลาภา ส่วนเพื่อไทยโยก ร้อยโทสุณิสา ทิวากรดํารง หรือหมวดเจี๊ยบ อดีตผู้สมัครเพื่อไทยเขตบางแค ซึ่งเคยแพ้ให้กับประชาธิปัตย์ในเขตนั้น 4,942 เสียง มาสู้ในเขตนี้แทน

เขต 9 เขตหลักสี่และเขตจตุจักร (ยกเว้นแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล)

เขตนี้เป็นเขตที่ตัดแบ่งกันใหม่ระหว่าง เขต 9 และ เขต 11 ในการเลือกตั้งปี 54 โดยเขต 9 คือ เขตจตุจักร ประชาธิปัตย์ชนะด้วยคะแนน 43,293 เสียง ขณะที่เพื่อไทยได้ 38,187 เสียง ส่วนเขต 11 คือ เขตหลักสี่และเขตดอนเมือง (เฉพาะแขวงสนามบิน) ในเขตนี้เพื่อไทยชนะด้วยคะแนนเสียง 28,376 เสียง ประชาธิปัตย์ได้ 25,704 เสียง และในเขตนี้เป็นเขตเดียวในกรุงเทพฯ ที่พรรคอันดับสามได้คะแนนเกินหมื่นคือ ภูมิใจไทยได้คะแนน 14,474 เสียง

ในเขตนี้เพื่อไทยส่ง นายสุรชาติ เทียนทอง บุตรชายของนายเสนาะ เทียนทอง ลงรักษาแชมป์ในฐานที่มั่นหลักสี่อีกครั้ง ส่วนผู้ท้าชิงจากประชาธิปัตย์ในรอบนี้คือ พล.ต.อ.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ขณะที่ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์เขต 11 ในปี 2554 คือ สกลธี ภัททิยกุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการลงนามแต่งตั้งโดยพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.

เขต 10 เขตดอนเมือง

เขตนี้คือการรวมดอนเมืองทั้งหมดให้เป็นเขตเดียวจากเดิมในปี 2554 เขตดอนเมืองแบ่งไปอยู่ใน 2 เขตคือ เขต 12 คือเขตดินเมืองยกเว้นสนามบิน เขตนี้เพื่อไทยชนะด้วยคะแนน 38,351 เสียง ส่วนประชาธิปัตย์ได้ 30,675 เสียง อีกเขตหนึ่งคือ เขต 11 เขตหลักสี่และเขตดอนเมือง (เฉพาะแขวงสนามบิน) ในเขตนี้เพื่อไทยชนะด้วยคะแนนเสียง 28,376 เสียง ประชาธิปัตย์ได้ 25,704 เสียง และในเขตนี้เป็นเขตเดียวในกรุงเทพฯ ที่พรรคอันดับสามได้คะแนนเกินหมื่นคือ ภูมิใจไทยได้คะแนน 14,474 เสียง อย่างไรก็ตามเขตนี้ฐานส่วนใหญ่คือ เขต 12 ของการเลือกตั้งปี 2554

ในการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อไทยส่งผู้สมัครคนเดิมคือ นายการุณ โหสกุล ลงรักษาแชมป์ ส่วนประชาธิปัตย์นายธัญญ์นิธิ ชวรัตน์นิธิโชติ ซึ่งเคยเป็นทีมงานของ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัครประชาธิปัตย์คนก่อน ลงเลือกตั้งครั้งแรก

เขต 11 เขตสายไหม

ในการเลือกตั้งครั้งนี้เขต 11 ยังคงเป็นเขตเดิมเหมือนกับปี 2554 ซึ่งคือเขต 13 โดยเขตนี้เพื่อไทยชนะแบบทิ้งห่างประชาธิปัตย์มากที่สุดเป็นอันดับ 28 คือ 17,950 เสียง โดยเพื่อไทยได้ 51,755 เสียง ประชาธิปัตย์ได้ 33,805 เสียง และการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อไทยส่งผู้สมัครคนเดิมคือ นาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ลงรักษาแชมป์ ส่วนประชาธิปัตย์ส่ง นายสมชาย เวสารัชตระกูล อดีต ส.ก. เขตสายไหม ขึ้นท่าชิง

เขต 12 เขตบางเขน

เขตนี้ยังคงเดิม ในการเลือกตั้งปี 2554 เขต 14 (บางเขน) ผู้ชนะคือเพื่อไทยได้คะแนน 49,829 เสียง ส่วนประชาธิปัตย์ได้ 41,735 เสียง เพื่อไทยส่งผู้สมัครคนเดิมลงรักษาแชมป์คือ นายอนุสรณ์ ปั้นทอง อดีต ส.ส. 4 สมัย ส่วนประชาธิปัตย์ส่ง นายรัฐพงศ์ ระหงษ์ ผู้สมัครคนใหม่ดีกรีนักเรียนนอกลงสู้ศึก

เขต 13 เขตบางกะปิและเขตวังทองหลาง (เฉพาะแขวงพลับพลา)

เขตนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมในการเลือกตั้ง 2554 ที่เคยเป็น เขต 15 (บางกะปิ) เพียงเขตเดียว แต่ในครั้งนี้ได้มีการเพิ่มส่วนหนึ่งของ เขต  7 เขตห้วยขวางและเขตวังทองหลาง (เฉพาะแขวงวังทองหลางและแขวงพลับพลา) เข้ามาเพิ่มเติม โดยเขต 15 ผู้ชนะคือประชาธิปัตย์ได้ 37,260 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้ 32,737 เสียง ส่วนเขต 7 ประชาธิปัตย์ได้ 38,470 เสียง เพื่อไทยได้ 32,692 เสียง อย่างไรก็ตามฐานเสียงส่วนใหญ่ยังอยู่ในเขตบางกะปิ

เขตนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ผู้สมัครจากสองค่ายใหญ่ส่งผู้สมัครซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น โดยประชาธิปัตย์ส่ง นาย พริษฐ์ วัชรสินธุ(ไอติม) อายุ 26 ปี ลงเลือกตั้งครั้งแรก เช่นเดียวกันกับเพื่อไทยที่ส่ง นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส (ปุ้น) อายุ 28 ปี ลงเลือกตั้งครั้งแรกเช่นเดียวกัน  นอกจากนี้อนาคตใหม่ก็ส่งผู้สมัครในรุ่นราวคราวเดียวกับลงแข่งขันด้วยคือ นางสาว ณิชชา บุญลือ (พลอย) อายุ 27 ปี

เขต 14 เขตบึงกุ่มและเขตคันนายาว (เฉพาะแขวงรามอินทรา) 

ในเขตนี้ไม่มีการลากเส้นเปลี่ยนแปลงเขตใหม่แต่อย่างใด โดยในการเลือกตั้งปี 2554 เขต 16 เขตบึงกุ่มและเขตคันนายาว (เฉพาะแขวงรามอินทรา) มีผู้ชนะจากเพื่อไทยได้คะแนน 48,690 เสียง โดยมีประชาธิปัตย์ตามมาติดๆ ด้วยคะแนน 47,425 เสียง ทั้งนี้เพื่อไทยยังส่งนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส. พื้นที่ลงป้องกันตำแหน่ง ส่วนประชาธิปัตย์ส่งผู้ท้าชิงคนใหม่คือ นายพรพรหม. วิกิตเศรษฐ์ ซึ่งเป็นบุตรชายของ พานิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้สมัครประชาธิปัตย์ในเขตนี้เมื่อปี 2554 ลงสู้ศึกแทนพ่อ

เขต 15 เขตมีนบุรีและเขตคันนายาว (เฉพาะแขวงคันนายาว) 

เขตเลือกตั้งนี้คือเขต 15 ในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งเพื่อไทยชนะได้ 42,450 เสียง ส่วนประชาธิปัตย์ได้ 39,634 เสียง โดยเพื่อไทยยังส่งอดีต ส.ส. เขต ลงรักษาตำแหน่งเช่นเดิมคือ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ขณะที่ประชาธิปัตย์ส่งนายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย(ไฮโซลูกนัท) ลงเลือกตั้ง ส.ส.เป็นครั้งแรก

เขต 16 เขตคลองสามวา 

เขตนี้คือ เขต 18 ในการเลือกตั้งปี 2554 เพื่อไทยชนะด้วยคะแนน 39,058 เสียง ขณะที่ประชาธิปัตย์ตามาติดๆ ด้วยคะแนน 37,910 เสียง เพื่อไทยยังส่ง อดีต ส.ส. คนเดิมลงรักษาตำแหน่งคือนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส่วนประชาธิปัตย์ส่งนางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง น้องสาว นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ลงเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรก

เขต 17 เขตหนองจอก

เขตเลือกตั้งยังคงเดิมคือ เขต 19 ในการเลือกตั้งปี 2554 เพื่อไทยเป็นฝ่ายชนะด้วยคะแนน 36,530 เสียง ส่วนประชาธิปัตย์ได้ 32,667 เสียง  เพื่อไทยยังส่งอดีต ส.ส. คนเดิมลงเลือกตั้งอีกสมัยคือนายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ ส่วนประชาธิปัตย์ส่ง นางสาว เบญญาภา เกษประดิษฐ อดีต ส.ก. เขตหนองจอก ลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

เขต 18 เขตลาดกระบัง

เขตเลือกตั้งนี้ยังคงฐานเดิมของเขต 20 ในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งเป็นเขตที่เพื่อไทยชนะขาดจากประชาธิปัตย์มากที่สุดคือ 18,658 เสียง โดยเพื่อไทยได้ 44,914 เสียง ส่วนประชาธิปัตย์ได้ 26,256 เสียง เพื่อไทยยังคงส่งอดีต ส.ส. คนเดิมลงสมัครคือ นางสาวธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ ส่วนประชาธิปัตย์ส่งผู้ท้าชิงคนใหม่ นายอนันต์ ฤกษ์ดี (สัตวแพทย์) อดีตผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคลงเลือกตั้ง แทนผู้สมัครคนเดิมซึ่งวางมือทางการเมืองไปแล้ว

อย่างไรก็ตามแม้ผลการเลือกตั้งในเขตนี้เพื่อไทยจะทิ้งห่างเกือบสองหมื่นเสียง แต่พลังประชารัฐได้ส่ง นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ อดีต ส.ก.เขตลาดกะบัง ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของผู้สมัครจากเพื่อไทยลงแข่งขันด้วย

เขต 19 เขตสะพานสูงและเขตประเวศ (เฉพาะแขวงประเวศ)

เขตเลือกตั้งเดิมในปี 2554 คือเขต 21 ซึ่งประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายชนะด้วยคะนแน 42,751 เสียง ทิ้งห่างจากเพื่อไทยเกือบหมื่นเสียง โดยเพื่อไทยได้ 33,317 เสียงในเขตนี้ อย่างไรก็ตามเพื่อไทยได้เปลี่ยนตัวผู้สมัครโดยส่ง นายวิตต์ ก้องธรนินทร์ ซึ่งเป็นสามีของพลอย-จินดาโชติ และพี่ชายแท้ๆ ของจี๊ยบ-ลลนา นางสาวไทยปี 2549 ลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ส่วนประชาธิปัตย์ยังส่งอดีต ส.ส. คนเดิมคือ นาถยา แดงบุหงา หรือนาถยา เบ็ญจศิริวรรณ ลงรักษาแชมป์อีกครั้ง

เขต 20 เขตสวนหลวงและเขตประเวศ (ยกเว้นแขวงประเวศ)

เขตเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลง ในการเลือกตั้งปี 2554 เขต 22 ประชาธิปัตย์ได้ 50,467 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้ 39,437 เสียง โดยประชาธิปปัตย์ยังส่ง นายสามารถ มะลูลีมผู้ชนะในเขตนี้เลือกลงตั้งอีกสมัย ส่วนเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัคร ขณะที่ไทยรักษาชาติถูกยุบแล้ว

เขต 21 เขตพระโขนงและเขตบางนา

เขตเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลง ในการเลือกตั้งปี 2554 เขต 23 ประชาธิปัตย์ได้ 47,993 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้ 39,668 เสียง ประชาธิปัตย์ยังส่ง นายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ ผู้ชนะในเขตนี้เลือกลงตั้งอีกสมัย ส่วนเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัคร และไทยรักษาชาติถูกยุบ

เขต 22 เขตบางกอกใหญ่ เขตคลองสาน และเขตธนบุรี (ยกเว้นแขวงดาวคะนอง แขวงบุคคโล และแขวงสำเหร่) 

เขตนี้เป็นการนำเขตเลือกตั้งปี 2554 มารวมกันบางส่วน 2 เขต คือ เขต 24 เขตธนบุรี (ยกเว้นแขวงดาวคะนอง) และเขตคลองสาน) ซึ่งประชาธิปัตย์ได้ 44,689 เสียง เพื่อไทยได้ 35,789 เสียง และเขต 31 เขตภาษีเจริญและเขตบางกอกใหญ่  ซึ่งประชาธิปัตย์ได้ 50,192 เสียง เพื่อไทยได้ 46,693 เสียง

ประชาธิปัตย์ส่งนาย สุรันต์ จันทร์พิทักษ์ ผู้ชนะในเขต 24 (ปี 2554) เลือกลงตั้งอีกสมัย ส่วนเพื่อไทยไม่ส่งผู้สมัคร และไทยรักษาชาติถูกยุบ

เขต 23 เขตจอมทองและเขตธนบุรี (เฉพาะแขวงดาวคะนอง แขวงบุคคโล และแขวงสำเหร่)

เขตเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลง ในการเลือกตั้งปี 2554 ประชาธิปัตย์ชนะได้ 44,140 เสียง เพื่อไทยได้ 38,399 เสียง ประชาธิปัตย์ส่งนางนันทพร วีรกุลสุนทร ผู้ชนะในเขตนี้ลงเลือกตั้ง ส.ส. อีกสมัย ส่วนเพื่อไทยส่งนายธวัชชัย ทองสิมา อดีต ส.ก. เขตจอมทอง 2 สมัย ลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

เขต 24 เขตราษฎร์บูรณะและเขตทุ่งครุ 

เขตเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลง โดยตรงกับเขตเดิมในการเลือกตั้งปี 2554 คือ เขต 26 ซึ่งประชาธิปัตย์ได้คะแนน 46,910 เสียง เพื่อไทยได้ 45,092 เสียง ห่างกัน 1,818 เสียง แต่เพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และไทยรักษาชาติถูกยุบ ขณะที่ประชาธิปัตย์ส่งนายสาทร ม่วงศิริ ลงเลือกตั้งแทนผู้สมัครคนเดิมที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 คือ นายณฏัฐพล  ทีปสุวรรณ ซึ่งย้ายไปเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว ส่วนพลังประชารัฐส่งนายไกรเสริม โตทับเที่ยง ทายาทธุรกิจปลากระป๋องปุ้มปุ้ย ลงเลือกตั้งครั้งแรก

เขต 25 เขตบางขุนเทียน 

เขตเลือกตั้งยังคงเดิม ในการเลือกตั้งปี 2554 โดยประชาธิปัตย์ได้ 38,137 เสียง เพื่อไทยได้ 33,475 เสียง ประชาธิปัตย์ส่ง ส่งนาย สากล ม่วงศิริ ผู้ชนะในเขตนี้เลือกลงตั้งอีกสมัย ส่วนเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และไทยรักษาชาติถูกยุบ

เขต 26 เขตบางบอนและเขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม)

เขตเลือกตั้งยังเป็นเขตเดิม ในการเลือกตั้งปี 2554 ประชาธิปัตย์เป็นผู้ชนะได้คะแนน 41,601 เสียง โดยที่เพื่อไทยตามมาติดๆ ด้วยคะแนน 40,465 เสียง ห่างกัน 1,136 เสียง การเลือกตั้งในเขตนี้ถือเป็นนัดล้างตาเพื่อทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ต่างส่งผู้สมัครคนเดิมลงแข่งขัน โดยประชาธิปัตย์ส่ง พ.ต.อ.สามารถ ม่วงศิริ ส่วนเพื่อไทยยังคงส่งนายวัน อยู่บำรุง ลงเลือกตั้งเป็น ส.ส. อีกครั้ง ส่วนพลังประชารัฐได้อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์คือ นายวัชระ กรรณิการ์ อดีตโฆษกพรรคชาติไทยพัฒนามาเป็นผู้สมัครในเขตนี้

เขต 27 เขตทวีวัฒนา, เขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองค้างพลู) และเขตตลิ่งชัน (เฉพาะแขวงฉิมพลีและแขวงตลิ่งชัน)

เขตเลือกตั้งนี้เป็นการแบ่งรวมกันกันระหว่างเขต 29 และเขต 32 ในการเลือกตั้งปี 2554 โดยเขต 29 เขตทวีวัฒนาและเขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองค้างพลู) ประชาธิปัตย์ได้ 37,932 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้ 34,457 เสียง ขณะที่เขต 32 เขตตลิ่งชันและเขตบางกอกน้อย (เฉพาะแขวงบ้านช่างหล่อและแขวงบางขุนศรี) ประชาธิปัตย์ได้ 43,407 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้ 40,942 เสียง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาธิปัตย์ส่ง เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ผู้ชนะในเขต 29 ปี 54 ลงเลือกตั้งอีกสมัย ส่วนเพื่อไทยส่ง พ.ต.ท. วันชัย ฟักเอี้ยง ส.ก. เขตตลิ่งชัน ที่ย้ายค่ายจาก ปชป. มาอยู่เพื่อไทย และลงเลือกตั้งครั้งแรก

เขต 28 เขตบางแค 

เขตเลือกตั้งไม่เปลี่ยนแปลง ในการเลือกตั้งปี 2554 ประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 48,362 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้43,420 เสียง ในเขตนี้ประชธิปัตย์ยังส่ง นาง อรอนงค์ คล้ายนก ผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตนี้ลงเลือกตั้งอีกสมัย ส่วนเพื่อไทยปรับตัวผู้สมัครจากเดิมคือร้อยโทหญิงสุณิสา (หมวดเจี๊ยบ) เป็นนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ลงเลือกตั้งในเขตนี้แทน

เขต 29 เขตภาษีเจริญและเขตตลิ่งชัน (ยกเว้นแขวงฉิมพลีและแขวงตลิ่งชัน)

เขตนี้เป็นการรวมกันบางส่วนระหว่าง เขต 31 และเขต 32 ในการเลือกตั้งปี 2554 โดย เขต 31 เขตภาษีเจริญและเขตบางกอกใหญ่ ประชาธิปัตย์ได้  50,192 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้ 46,693 เสียง เขต 32 เขตตลิ่งชันและเขตบางกอกน้อย (เฉพาะแขวงบ้านช่างหล่อและแขวงบางขุนศรี) ประชาธิปัตย์ได้ 43,407 เสียง เพื่อไทยได้ 40,942 เสียง โดยประชาธิปัตย์ส่ง นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ผู้ชนะเลือกตั้งปี 2554 เขต 31 ลงเลือกตั้งอีกสมัย ส่วนเพื่อไทยส่ง นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ลงเลือกตั้งแทนผู้สมัครคนเดิมคือ นายมานะ คงวุฒิปัญญา

เขต 30 เขตบางกอกน้อยและเขตบางพลัด

เขตนี้มีฐานเดิมจากเขต 33 ในการเลือกตั้งปี 2554 ต่างจากเดิมเป็นการนับรวมเขตบางกอกน้อยทั้งหมด โดยประชาธิปัตย์เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตดังกล่าวด้วยคะแนน 36,458 เสียง ส่วนเพื่อไทยได้ 32,217 เสียง ประชาธิปัตย์ยังส่ง นางสาวรชัดา  ธนาดิเรก ผู้ชนะในเขต 33 ปี 2554 ลงเลือกตั้งอีกสมัย ขณะที่เพื่อไทยพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญผู้สมัครคนเดิมลงสู้อีกครั้งเช่นเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net