Skip to main content
sharethis

การเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17 มี.ค.62) มีจำนวนผู้ใช้สิทธิสูงเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม กลับดูเหมือนว่า กกต. ไม่ได้มีความพร้อมในการรองรับผู้ใช้สิทธิจำนวนมากแต่อย่างใด ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ ได้แก่ ไม่มีรายชื่อผู้สมัครติดไว้ที่หน่วยเลือกตั้ง ต้องยืนรอนาน จนไปถึง ได้รับบัตรเลือกตั้งไม่ตรงเขต 

ข้อมูลของ กกต. พบว่ามีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในและนอกราชอาณาจักรกว่า 2.6 ล้านคน โดยมีผู้ลงทะเบียนมากที่สุดในกรุงเทพเป็นจำนวน 928,789 คน รองลงมาคือจังหวัดชลบุรีมีผู้สมัครทั้งหมด 221,541 คน ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าในจำนวนนี้มีผู้ไปใช้สิทธิจริงถึง 1.97 ล้านคน นับเป็น 75% ของผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งหมด และเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 กว่า 57%

อย่างไรก็ตาม ทั้งที่ผู้ลงคะแนนเสียงได้ลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้งในวันที่ 17 มีนาคมแล้ว แต่ กกต. กลับดูเหมือนจะไม่ได้เตรียมการเพื่อรองรับผู้ใช้สิทธิจำนวนมาก หลังเปิดคูหาที่สำนักงานเขตห้วยขวางในเวลา 8.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าไม่มีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ติดไว้หน้าคูหา We Watch ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งว่า กกต. ไม่ได้ส่งรายชื่อมาให้ ผู้ลงคะแนนเสียงจำนวนหนึ่งระบุว่าได้ตรวจสอบรายชื่อผู้สมัครมาก่อนเข้าคูหาแล้ว แต่อีกจำนวนหนึ่งระบุว่าจำหมายเลขผู้สมัครไม่ได้ จำได้แต่ชื่อพรรคการเมือง iLaw รายงานว่ารายชื่อบางส่วนถูกนำมาติดไว้ที่ห่วยเลือกตั้งเมื่อเวลาประมาณ 10.30 แต่ก็ถูกดึงออกอีกเพราะเป็นรายชื่อของผู้สมัครในกรุงเทพมหานคร แทนที่จะเป็นผู้สมัครจากทุกจังหวัด ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้ลงคะแนนเสียงต้องใช้ประกอบการตัดสินใจเมื่อไปเลือกตั้งนอกเขต

iLaw รายงานอีกว่าที่เขตบางกะปิ บางขุนเทียน และห้วยขวาง รายชื่อผู้สมัครของพรรคไทยรักษาชาติยังปรากฏอยู่ในรายชื่อผู้สมัคร ทั้งที่พรรคถูกยุบไปแล้ว เจ้าหน้าที่อธิบายว่า กกต. ให้รายชื่อนี้มาและบอกให้ใช้รายชื่อนี้ อย่างไรก็ตาม รายชื่อดังกล่าวอาจทำให้ผู้ลงคะแนนเสียงเกิดความสับสนและก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งได้ เนื่องจากการเลือกพรรคไทยรักษาชาติจะส่งผลให้บัตรเป็นบัตรเสีย

ปัญหาอีกอย่างที่พบคือผู้ลงคะแนนเสียงต้องยืนรออยู่หน้าคูหาเป็นเวลานาน และส่วนใหญ่แล้วต้องยืนรออยู่นอกอาคารในสภาพอากาศร้อน ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่เขตห้วยขวางประชาชนต้องยืนรอไม่น้อยกว่า 30 นาทีอยู่หน้าคูหา เขตคลองสานผู้ลงคะแนนเสียงต้องรอเกือบ 2 ชั่วโมง ส่วนคูหาที่ศูนย์ประชุมและการแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเช่นกัน เนื่องจากคูหามีทางเข้าเพียงทางเดียว

แฮชแท็ก #เลือกตั้งล่วงหน้า เป็นกระแสในทวิตเตอร์ทั้งวันอาทิตย์ เนื่องจากชาวเน็ตใช้แฮชแท็กดังกล่าวเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนปัญหาที่ตนพบระหว่างที่ไปเลือกตั้ง ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนระบุด้วยว่าได้รับบัตรเลือกตั้งไม่ตรงเขต ผู้ใช้รายหนึ่งกล่าวว่าเธอได้ร้องเรียนเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้บัตรเลือกตั้งใบใหม่และบอกให้เธอเลือก ๆ ไปเถอะ ต่อมาเธอได้ร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ กกต. และพบว่าเธอได้รับบัตรเลือกตั้งไม่ตรงเขตจริง และบัตรของเธอได้กลายเป็นบัตรเสียไปแล้ว iLaw รายงานว่าได้รับแจ้งจากผู้ลงคะแนนที่ได้รับบัตรเลือกตั้งไม่ตรงเขตกว่า 109 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้ที่ร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยทันทีจำนวน 45 ราย แบ่งออกเป็นผู้ได้รับการเปลี่ยนบัตร 21 ราย และผู้ไม่ได้รับการเปลี่ยนบัตรอีก 20 ราย

iLaw คาดการณ์ว่าปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะ กกต. ไม่ได้เตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งอย่างดีพอ เพื่อรับมือกับระบบเลือกตั้งที่แต่ละเขตมีบัตรเลือกตั้งต่างกัน มากกว่าที่จะมีเจตนาลิดรอนสิทธิ มีแนวโน้มด้วยว่าเจ้าหน้าที่อาจจะยุ่งเกินไปจนไม่สามารถรับมือกับผู้มาใช้สิทธิจำนวนมากได้ จึงไม่มีเวลาตรวจสอบว่าให้บัตรเลือกตั้งถูกเขตหรือไม่

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ระบุว่า กกต. ได้รับแจ้งจากผู้ใช้สิทธิว่าได้รับบัตรเลือกตั้งผิดเขตเช่นเดียวกัน ทั้งผ่านการร้องเรียนโดยตรงและผ่านทางโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม กกต. ยังไม่สามารถตรวจสอบปัญหาได้ในทันที เนื่องจากจะเป็นการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง แต่ กกต. จะตรวจสอบอีกครั้งในภายหลัง ขณะเดียวกัน อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. บอกกับสำนักข่าว Workpoint News ว่าบัตรเลือกตั้งที่ให้ผิดเขตถือเป็นบัตรเสีย

ณัฏฐา มหัทธนา ได้นำคอมเมนต์ของผู้ใช้สิทธิคนหนึ่งมาแชร์ในโพสต์ของตน ผู้ใช้สิทธิคนดังกล่าวระบุว่าในจังหวัดบุรีรัมย์มีหน่วยเลือกตั้งสองแห่งที่บัตรไม่เพียงพอ

“อันนี้ซีเรียสมาก” ณัฏฐากล่าว ปกติแล้ว แต่ละหน่วยเลือกตั้งจะได้รับบัตรเลือกตั้งจำนวนพอใช้กับผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ การที่บัตรเลือกตั้งหมดก่อนผู้ใช้สิทธิทุกคนจะลงคะแนนเสียงจึงไม่น่าเป็นไปได้ เพราะการมีบัตรเลือกตั้งน้อยกว่าหรือมากกว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิของหน่วยเลือกตั้งอาจเปิดโอกาสให้เกิดการโกงเลือกตั้ง

อาจมีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น 3 กรณีด้วยกัน ในจังหวัดอุทัยธานี ได้รับรายงานว่ามีการสวมสิทธิโดยคนอื่นนำเลขบัตรประจำตัวประชาชนของตนไปใช้ ในจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่ามีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งปลอมแปลงเอกสาร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจึงไม่รับใบสมัคร แต่ผู้สมัครกลับติดป้ายหาเสียงประหนึ่งว่าได้ลงเลือกตั้ง ในจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับรายงานว่ามีผู้ใช้สิทธิคนหนึ่งกาบัตรเลือกตั้งกว่า 17 ใบ โดยอ้างว่าเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเป็นผุ้มอบให้ แต่ตำรวจในท้องที่ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มีเจตนา เนื่องจากได้คืนบัตรที่เกินมาแก่เจ้าหน้าที่ไปหมดแล้ว

ปัญหาที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องเจอในวันเลือกตั้งล่วงหน้าอาจเกิดขึ้นเพราะบริหารจัดการไม่ดีและขาดการเตรียมการ แต่ประชาชนก็กังขาต่อความน่าเชื่อของ กกต. เช่นกัน เนื่องจาก กกต. รับคำร้องและตรวจสอบพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอย่างหนัก แต่กลับปล่อยให้พรรคสนับสนุน คสช. รอดพ้นจากทุกคดี ในช่วงที่ผ่านมา กกต. ใช้เงินกว่า 12 ล้านบาทเพื่อไปดูงานในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์ ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้ สาธารณชนจึงยิ่งเคลือบแคลงสงสัยขึ้นทุกทีว่า กกต. พยายามลิดลอนสิทธิการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่

นอกจากอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการเก็บบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนไปแล้วด้วย นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่าบัตรเลือกตั้งที่กาในวันเลือกตั้งล่วงหน้าจะถูกนำไปเก็บไว้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์หลักสี่ และจะดำเนินการคัดแยกและส่งไปยังเขตเลือกตั้งทั้ง 350 แห่งทั่วประเทศต่อไป โดยบัตรเลือกตั้งจะถูกนำไปเก็บไว้ที่สถานีตำรวจของเขตเลือกตั้งแต่ละแห่ง นายณัฏฐ์ระบุด้วยว่าประชาชนสามารถเข้าสังเกตการณ์ได้ทุกเมื่อว่าบัตรเลือกตั้งถูกนำไปดำเนินการอย่างไร ทั้งยังมีการติดกล้อง CCTV ในห้องเก็บบัตรเลือกตั้งด้วย อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตหลายคนก็ยังแสดงความกังวลในทวิตเตอร์ว่าบัตรเลือกตั้งของตนอาจถูกแทรกแซงก่อนวันที่ 24 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งใหญ่

จากรายงานของสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับอุปสรรคที่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการต้องยืนรอนานกว่าจะได้ลงคะแนนเสียง บัตรเลือกตั้งยังส่งทางมาไม่ถึง จนไปถึงการที่ผู้ใช้สิทธิส่งบัตรเลือกตั้งที่กาแล้วกลับไปทางไปรษณีย์แต่ถูกตีกลับ ความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเสรี สุจริต และเป็นธรรมยิ่งน้อยลงทุกทีในสายตาของสาธารณชน คงต้องดูกันต่อไปว่า กกต. จะทำได้ดีกว่านี้หรือไม่ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net