Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีข้อถกเถียงเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ขณะที่มีพรรคการเมืองสองพรรคได้แก่พรรคอนาคตใหม่ และพรรคสามัญชนที่พูดตรงไปตรงมาว่า รัฐสวัสดิการคือปลายทางของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องมีควบคู่กับการปรับค่าจ้างให้เหมาะสม

ดู เลือกตั้ง 62: เทียบนโยบายรัฐสวัสดิการ 11 พรรค

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นเราจำเป็นต้องทำลายมายาคติของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำถึงข้อดีและข้อจำกัดของมัน จากนั้นส่วนที่สองผู้เขียนจะอธิบายว่าเหตุใดรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าจึงสามารถเป็นทางออกของการจัดการความเหลื่อมล้ำและเติบโตทางทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาวซึ่งดีกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ โดยพิจารณางานวิจัยสองชิ้นคือ

1. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยและผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวม ผู้วิจัย: ปกป้อง จันวิทย์ พรเทพ เบญญาอภิกุล และ 2. สถานะ ความใฝ่ ฝัน และ มาตรการ เพื่อแรงงานนอกระบบ โดย แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ถิรภาพ ฟักทอง ปรเมศร์ รังสิพล วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร

ประเด็นสำคัญคือ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ทำให้ SME เจ๊ง ไม่ทำให้ทุนใหญ่หนี ไม่ทำให้ไทยเป็นเวเนซูเอลา –ทั้งหมดคือเรื่องมโนที่คนปลุกกระแสควรมีความรับผิดชอบ แต่ขณะเดียวกันการปรับค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่เพียงพอต่อการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านความมั่นคงของมนุษย์

จากงานวิจัยของ ปกป้อง และ พรเทพ เมื่อปี 2556 เมื่อวิเคราะห์ถึงการปรับตัวของของดัชนีผู้บริภค เงินเฟ้อ หลังการปรับค่าจ้างครั้งใหญ่ในปี 2554 ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ผมขอสรุปดังนี้

การปรับค่าจ้างโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีการปรับสองครั้ง ครั้งแรกนำร่อง 7 จังหวัด ในปี 2555 ก่อนที่จะเท่ากันทั่วประเทศในปี 2556 การวิเคราะห์จากงานวิจัยระบุว่าแม้ค่าจ้างขั้นต่ำจะมีการปรับขึ้น  35-40 % แต่ทำให้สัดส่วนค่าจ้างขั้นต่ำต่อผลผลิตทั้งหมดปรับเพิ่มขึ้น 4-27 % โดยภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือก่อสร้าง แต่ถ้าพิเคราะห์เฉพาะแรงงานในระบบ (มีค่าจ้างประจำ) ผลกระทบมีเพียง 0.18-9 % เท่านั้น ดูได้จากตาราง

งานวิจัยนี้มีการคำนวณทางเศรษฐมิติอย่างละเอียดผมไม่นำยกมาอธิบายโดยยกมาแต่ผลเพื่อพิจารณาต่อเมื่อพูดถึง ระดับราคาสินค้าก่อนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ (ที่เรามักพูดว่าพอจะปรับค่าจ้างค่าของก็จะขึ้นไปก่อน) หรือ พอปรับแล้วก็เงินเฟ้อซื้อของไม่ได้มันจริงเท็จเพียงใด จากการสำรวจของงานวิจัยพบว่ามีเพียง ร้อยละ 0.82 เท่านั้น จากทุกหมวดสินค้า ต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทุก 10 % ซึ่งตีความต่อไปได้ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 30% ย่อมมีผลต่อการปรับราคาสินค้า ราว 2.5 % เท่านั้น หรือหากข้าวจานละ 40 ก็จะแพงขึ้นประมาณ 1-2 บาทเท่านั้น เมื่อมองในภาพรวม(บรรทัดนี้ตีความโดยผู้เขียน)

ส่วนเรื่องการจ้างงานพบว่า การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยในอดีตไม่มีผลต่อการจ้างงาน แม้จะมีคือผลต่อชั่วโมงการทำงานที่ลดลงแต่ถือว่าเล็กน้อย ไม่มีผลที่สามารถตีความได้ และเมื่อเปรียบเทียบค่าความยืดหยุ่นโดยผู้วิจัยเปรียบเทียบ ระหว่างปี 48-49 พบว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ “ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ” ต่อการจ้างงานมากขึ้นหรือลดลง ทั้งนี้ค่าจ้างขั้นต่ำมีผลต่อกลุ่มรายได้น้อยเป็นหลักต่อชั่วโมงการทำงานหรือการจ้างที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือในกำลังแรงงานมีกลุ่มคนที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำหรือต่ำกว่า อยู่ที่ร้อยละ 28 เท่านั้น กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในกรณีที่ การปรับสามารถบังคับใช้ได้ครบทั้งหมด แต่หากปรับไม่ได้ ก็จะมีผู้ที่ได้รับค่าจ้างสัดส่วนที่พอดีกับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ 13 เท่านั้น

จากการสรุปข้างต้นจึงตีมายาคติเรื่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย SME ปิดตัวฯลฯ แต่ก็เช่นเดียวกันว่า ค่าจ้างขั้นต่ำเพียงลำพังอาจไม่สามารถตอบโจทย์แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ทั้งหมด “อาจแก้”ได้เฉพาะความยากจนเท่านั้น โดยสามารถพิจารณาได้โดยข้อมูลดังต่อไปนี้

จากข้อมูลของ แบ๊งค์ งามอรุณโชติและคณะ 

รายได้ที่เพียงพอในการใช้ชีวิตในปี 2556 จะอยู่โดยเฉลี่ย 8,857 บาท หรือเราตีเป็นเลขกลมๆราว 9,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ดังนั้นในครอบครัวหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเฉลี่ย 3.1 คน ก็ต้องการรายรับไม่ต่ำกว่า 27,000 บาท หากทำงานสองคนคือ 13,500 บาท แต่หากทำงานคนเดียว ย่อมหมายถึงการแบกภาระ 27,000 บาท โดยสถิติรายรับของครัวเรือนไทยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 26,000 บาท/เดือน แต่การแจกแจกที่ไม่ปกติพบว่า ประชากรมากกว่าร้อยละ 50 มีรายรับครัวเรือนไม่ถึง 26,000 บาท/เดือน ดังนั้นหมายความว่า มีครัวเรือนไทยมากกว่าครึ่งที่มีรายรับไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตพื้นฐาน แต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ อาจส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มประชากรในวัยทำงานร้อยละ 12-30 % เท่านั้น (เน้นโดยผู้เขียน) นอกจากนี้รายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำคือกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่มีชั่วโมงการทำงานที่สูง ไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่มีอำนาจต่อรอง กลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มใหญ่ซึ่งไม่ได้ประโยชน์จากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยตรง แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มที่มีอำนาจต่อรอง ก็ได้รับค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นปกติอยู่แล้ว

หากมองวิกฤติอีกด้านคือการเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม งานวิจัยของธนาคารโลกก็ยืนยันปัญหานี่ในเมืองไทยที่คนที่เกิดในครึ่งล่างของสังคมมีโอกาสเพียงแค่ 1 ใน 7 เท่านั้น ที่จะมีชีวิตเป็นชนชั้นสูง 25% ของประเทศ ปัญหาคือแม่ค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับให้การเริ่มชีวิตของคนไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน แต่ยังมีอุปสรรคอีกมาก ที่ทำให้คนไม่สามารถเปลี่ยนสถานะได้ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายในสาธารณูปโภคพื้นฐาน การศึกษา การรักษาพยาบาล การคมนาคมขนส่ง ซึ่งสิ่งพื้นฐานเหล่านี้กินรายได้ของคนจนมากกว่าคนรวยและชนชั้นกลาง เมื่อกลับมาดูงานของ ปกป้อง-พรเทพ จะพบรายละเอียดดังนี้

ตารางที่ 14 ระบุค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง (การซื้อเป็นการเฉลี่ยตลอดอายุการใช้งาน) จะพบว่ากลุ่มคนที่จนที่สุด 30% ใช้จ่ายค่าเดินทาง ประมาณ 5-7 % ของรายได้ หรือหากมองภาพรวม ก็จะพบว่าค่าอาหารเป็นรายจ่ายสำคัญ โยเป็นค่าใช้จ่าย 1 คน ดังนั้นหากพิจารณาที่ประชากรกลุ่มใหญ่ฐานะปานกลาง กลุ่มที่ 3-6 (10 รวยสุด) ค่าใช้จ่ายพื้นฐานเหล่านี้ก็สอดรับกับงานวิจัยของ แบ๊งค์ และคณะ คือต้องอยู่ที่ประมาณ 22,000-24,000 บาท/เดือน หรืออิงกับกลุ่มที่จนที่สุด ก็ยังต้องการ 12,000/เดือน สำหรับสามชีวิต-แต่อยู่อย่างไม่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเมื่อคำนึงถึงมาตรฐานชีวิตแล้ว  ถ้าเกิดแม่ต้องลาออกมาเลี้ยงลูกเพื่อลดค่าใช้จ่ายการจ้างพี่เลี้ยง และพ่อยังได้หยุดเสาร์อาทิตย์เพื่อใช้ชีวิตกับครอบครัวมัน รายได้ 20,000 บาท/เดือน หรือ 1,000 บาท/วัน มันเป็นไปไม่ได้แน่นอน แต่ เงื่อนไขนี้สามารถทำให้ง่ายขึ้ได้ด้วยการสร้างรัฐสวัสดารถ้วนหน้าครบวงจร เพื่อลดค่าใช้จ่ายพื้นฐานเหล่านี้

การสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจรมีหลายข้อเสนอแต่หัวใจคือ ระบบถ้วนหน้า คือทุกคนได้ประโยชน์ และความครบวงจรอันหมายถึงการให้อย่างครบครันตั้งแต่เกิดจนตาย จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้แก่คนทุกกลุ่ม ซึ่งหากเทียบกับค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้ประโยชน์โดยตรงแก่กลุ่ม 12-28% รัฐสวัสดิการที่จัดเงินเลี้ยงดูเด็ก เบี้ยผู้สูงอายุ การศึกษาที่ฟรีและมีคุณภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับหลายงานวิจัยแล้วจะสามารถลดรายจ่ายพื้นฐานของประชากรครึ่งล่างของประเทศได้ราว 10-20 % (หากพิจารณาตามข้อเสนอรัฐสวัสดิการของหลายพรรค คือ เงินเลี้ยงดูเด็ก เงินเดือนนักศึกษา ปฏิรูปประกันสังคม-การว่างงาน ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ตลอดจนบำนาญผู้สูงอายุ) การมีรัฐสวัสดิการจะทำให้คนสามารถวางแผนการใช้ชีวิตได้ดีกว่าการไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเรา

ข้อสำคัญรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจะเป็นระบบที่เกื้อหนุนคนส่วนใหญ่โดยชนชั้นำไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกปล้นชิง และยังสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ผ่านการวางโครงร้างพื้นฐานของการรับรู้ว่าด้วยความมั่นคง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพียงลำพังโดยไม่มีรัฐสวัสดิการ ก็ไม่สามารถแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ เพราะเมื่อสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดีถูกทำให้เป็นสินค้าไปหมดค่าจ้างขั้นต่ำเท่าไรก็ไม่พอซื้อชีวิตคืน

"รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า" คือประโยชน์สูงสุดของประชาชน ไม่ว่าคุณจะเป็นแรงงานแรกเข้า แรงงานนอกระบบ แรงงานเกือบจน แรงงานชนชั้นกลาง ผู้ประกอบการ จะได้อย่างเท่าเทียมกันอย่างมีศักดิ์ศรี ในฐานะมนุษย์ ด้วยการดูแลคุณในฐานะมนุษย์ไม่ว่าอยู่ตำแหน่งแห่งที่ไหนของสังคม”

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำหลักสูตร ปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net