วิธีสืบค้นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ 2562

การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากประชาชนต้องรอคอยมากว่า 5 ปี ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหลายคนอาจยังลังเลว่าจะใช้คะแนนเสียงอย่างไรดีให้คุ้มค่าที่สุด เหตุผลชุดหนึ่งที่ประชาชนสามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้คือการลงคะแนนเสียงในเชิงยุทธศาสตร์ ทีมข่าวการเมืองขอนำเสนอแนวทางการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งกติกาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบบเลือกตั้งเป็นแบบบัตรใบเดียวได้ทั้ง ส.ส.แบ่งเขต และบัญชีรายชื่อแบบจัดสรรปันส่วนผสม

บรรยากาศในการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2562 (แฟ้มภาพประชาไท)

การเลือกตั้งใกล้เข้ามาถึงอีกเพียงไม่กี่อึดใจ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากยังคงลังเลอยู่ว่า การเลือกตั้งรอบนี้ควรลงคะแนนให้พรรคการเมืองใด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางการเมืองอย่างที่ต้องการ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ตอบทุกข้อสงสัย: ทบทวนความรู้ก่อนเข้าคูหา

- เลือกตั้ง 62: ข้อมูลเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ 30 เขต กทม.

(สาระ+ภาพ) การเมืองไทยเอ๋ยจงซับซ้อนยิ่งขึ้น: การเมืองไทยกับความน่าจะเป็น

หลายคนอาจพิจารณาอุดมการณ์การของพรรคการเมืองโดยเปรียบเทียบกับแนวทางการเมืองที่ตัวเองยึดมั่น หลายคนอาจพิจารณานโยบายพรรคการเมือง (ดูเปรียบเทียบนโยบายสวัสดิการ และปฏิรูปทหารของพรรคต่าง ๆ ได้ที่นี่) และสืบค้นประวัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้นๆ ว่าเป็นบุคคลซึ่งไว้เนื้อเชื่อใจได้หรือไม่และเพียงใด ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจเทคะแนน แต่อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ผลคะแนนของการเลือกตั้งในครั้งก่อน ว่าเขตเลือกตั้งนี้ใครเคยชนะ ใครแพ้ และผลต่างของคะแนนห่างกันมากน้อยเพียงใด

ผลคะแนนของการเลือกตั้งในครั้งก่อนมีความสำคัญ เนื่องจากรูปแบบการเลือกตั้งครั้งนี้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีลงคะแนน จากเดิมมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบแยกเป็นคะแนน ส.ส.แบ่งเขต และคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รอบนี้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กลับกลายเป็นว่ามีประชาชนจะได้รับบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเพราะคะแนนจากบัตรเลือกตั้งใบเดียวจะนำไปใช้คำนวณกับทั้ง ส.ส. ระบบแบ่งเขต 350 ที่นั่ง และ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ แบบจัดสรรปันส่วนผสม 150 ที่นั่ง

รัฐธรรมนูญ 2560 วางกรอบกติกาการเลือกตั้งไว้โดยเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองขนาดกลาง ส่งผลให้มีพรรคการเมืองต่าง ๆ จำนวนมากเพิ่มเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ การเลือกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง อาจส่งผลให้พรรคคู่แข่งอื่น ๆ ที่เคยขับเคี่ยวกันอยู่ตกเป็นฝ่ายได้เปรียบหรือเสียเปรียบได้ 

จำลองสถานการณ์: การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ 

การลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์คือการตัดสินใจเลือกผู้สมัครภายใต้กรอบกติกาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางการเมืองใกล้เคียงตามต้องการมากที่สุดจากคะแนน 1 เสียงที่มีอยู่ เพื่อทำความเข้าใจการลงคะแนนเสียงเชิงยุทธศาสตร์ ขอให้ผู้อ่านลองจำลองสถานการณ์ขึ้นมาดังนี้

1. สมมติว่าในการเลือกตั้งนี้มีอยู่ 3 พรรคด้วยกัน ได้แก่ พรรคการเมือง A พรรคการเมือง B และพรรคการเมือง C

2. สมมติว่าคุณชอบพรรคการเมือง C มากที่สุด ชอบพรรคการเมือง A รองลงมา และไม่ชอบพรรคการเมือง B   

3. ในการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ พรรคการเมือง A ขับเคี่ยวกับพรรคการเมือง B อย่างสูสี และปกติแล้ว คุณชอบและเลือกพรรคการเมือง A และไม่ชอบพรรคการเมือง B

4. แต่ในครั้งนี้ คุณชอบพรรคการเมือง C มากที่สุด เพราะนโยบายโดนใจ คุณจึงตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง C

5. จากที่เดิมเคยลงคะแนนให้กับพรรคการเมือง A หรือพรรคการเมือง B กลายเป็นว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนจำนวนมากเปลี่ยนมาเลือกพรรคการเมือง C เช่นเดียวกับคุณ

6. การเลือกพรรคการเมือง C อาจส่งผลให้พรรคการเมือง A ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และส่งผลให้พรรคการเมือง B เป็นฝ่ายชนะได้ ทั้ง ๆ ที่คุณไม่ชอบพรรคการเมือง B แม้ว่าเสียงของคุณจะยังถูกนำไปนับรวมในการคำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อของพรรค C อยู่ก็ตาม

7. และในทางตรงกันข้าม หากคุณเลือกพรรคการเมือง A แล้วพรรคการเมือง A เป็นฝ่ายชนะ นอกจากจะช่วยให้พรรค B ไม่ชนะในการเลือกตั้งแบ่งเขตแล้ว ยังช่วยให้พรรค A ซึ่งนโยบายอาจไม่โดนใจทั้งหมดแต่สอดคล้องกับแนวทางของคุณ มีอำนาจต่อรองมากขึ้นในสภาด้วย เนื่องจากคะแนนถูกนับรวมทั้งในการคำนวน ส.ส. ระบบแบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อของพรรค A ดังนั้น แทนที่จะสนับสนุนให้พรรค C ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพียงเก้าอี้เดียว การลงคะแนนเสียงให้กับพรรค A อาจเป็นการช่วยให้พรรค A เป็นฝ่ายได้ ส.ส. ถึง 2 เก้าอี้ 

จะเห็นได้ว่าในสถานการณ์เชิงยุทธศาสตร์เช่นนี้ การเลือกพรรคที่ชอบที่สุดอาจส่งผลให้พรรคที่คุณไม่ชอบเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งแบ่งเขตได้ แม้ว่าเสียงของคุณจะยังถูกนำไปนับรวมในการคำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่ออยู่ก็ตาม และดังนั้น การตรวจสอบข้อมูลผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจึงอาจเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะในกรณีที่ผลคะแนนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วพบว่ามีพรรคการเมืองที่คับเคี่ยวกันอยู่อย่างสูสี 

ประชาไทขอแนะนำวิธีหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจสำหรับการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.เช็คก่อนว่ามีสิทธิเลือกตั้งในเขตใด

เช็คข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้ที่ https://election.bora.dopa.go.th/Election/cervote/  โดยเข้าไปกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ข้อมูลจะแสดงผลว่าคุณมีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดใด และเขตเลือกตั้งใด หรือเช็คข้อมูลได้อีกทางคือ https://elect.in.th/candidates/ โดยเข้าไปกรอกรหัสไปรษณีย์ตามทะเบียนที่คุณสังกัดอยู่ จากนั้นระบบอาจจะแสดงผลเป็นเขตเลือกตั้ง 1-3 เขต ให้เช็คว่าตำบล อำเภอ ตามทะเบียนบ้านของคุณอยู่ในเขตเลือกตั้งใด 

2.เช็ครายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตที่คุณสังกัด

เช็คข้อมูลพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งในเขตที่คุณสังกัดได้ที่ https://elect.in.th/candidates/ โดยเข้าไปกรอกรหัสไปรษณีย์ตามทะเบียนที่คุณสังกัดอยู่ จากนั้นระบบอาจจะแสดงผลเป็นเขตเลือกตั้ง 1-3 เขต ให้เช็คว่าตำบล อำเภอ ตามทะเบียนบ้านของคุณอยู่ในเขตเลือกตั้งใด คลิกเข้าไปตามลิงค์นั้น ระบบจะแสดงผลรายชื่อผู้สมัคร พรรคการเมือง และหมายเลข ทั้งหมดในเขตนั้น

3.เช็คผลคะแนนเลือกตั้งปี 2554 ตามเขตการเลือกตั้งพร้อมดูว่าเขตเลือกตั้งในปี 2562 แปลงเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่

หากคุณเป็นผู้ใช้สิทธิใช้เสียงใน กทม. คุณสามารถตรวจสอบสถิติผลการเลือกตั้งปี 2554 ที่ประชาไทรวบรวมนำเสนอไว้ได้ที่นี่ หากคุณเป็นผู้ใช้สิทธินอก กทม. การเช็คผลคะแนนเลือกตั้งปี 2554 สามารถทำได้โดยดาวน์โหลด รายงาน ข้อมูลสถิติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2554 (อ่านเอกสารที่นี่) โดยข้อมูลคะแนนดิบรายเขต 375 เขตของการเลือกตั้งปี 2554 จะแสดงผลเริ่มต้นตั้งแต่หน้า 280 – 344 โดยจะเรียงข้อมูลเขตรายตามรายชื่อจังหวัดเรียงตามตัวอักษร

ข้อมูลนี้จะแสดงให้เห็นถึงคะแนนที่ผู้สมัครของแต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งปี 2554 ในเขตนั้นๆ คุณจะเห็นความห่างของช่วงคะแนนระหว่างผู้ที่ได้คะแนนอันดับ 1, 2 และ 3

ทั้งนี้มีหลายกรณีที่เขตเลือกตั้งในปี 2562 เปลี่ยนแปลงไปจากเขตเลือกตั้งในปี 2554 เนื่องจาก ส.ส.ระบบแบ่งเขตลดลงจาก 375 เขต เป็น 350 เขต เมื่อเป็นเช่นนี้ให้พิจารณาว่า เขตเลือกตั้งใหม่มีพื้นที่หลักอยู่ในเขตใด ให้ดูเขตนั้นเป็นหลัก หรือกรณีที่เขตเลือกตั้งเปลี่ยนไปจากเดิมเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ให้ดูฐานจาก 2 หรือ 3 เขตเดิมมารวมกัน และหากรู้ข้อมูลเชิงพื้นที่ว่าพื้นที่ต่างๆ ในเขตนั้นเคยเป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคการเมืองใด หรือผู้สมัครคนใด ก็จะทำให้ประเมินได้มากขึ้น

4.เช็คความเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งปี 2562

ขั้นตอนนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนเพราะจำเป็นต้องดูว่า ผู้สมัครของพรรคการเมืองต่างๆ มีการย้ายพรรคการเมืองหรือไม่ และอาจส่งผลให้สถานการณ์เชิงยุทธศาสตร์เป็นอย่างไร ประชาชนเน้นเลือกโดยตัดสินใจจากตัวผู้สมัคร หรือยึดพรรคการเมืองเป็นหลัก ทั้งนี้ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับผลคะแนนเลือกตั้งในปี 2554 ว่าแต่ละพรรคคับเคี่ยวคู่คี่สูสีกันหรือไม่และอย่างไร 

เมื่อมีข้อมูลเพียงพอต่อการพิจารณาแล้ว สุดท้ายจะตัดสินใจเลือกตั้งแบบจริงใจต่อความต้องการของตนเอง หรือจะตัดสินใจเลือกเชิงยุทธศาสตร์ก็เป็นอำนาจการตัดสินใจของคุณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท