เก็ทเลย ผู้เชี่ยวชาญเสนอ 3 แนวคิด อธิบาย-เข้าใจระเบียบการเมืองพม่ากว่าเดิม

นิค ชีสแมน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าจัดบรรยายสาธารณะที่ มธ. เรื่องระเบียบการเมืองในพม่า ใช้ปัจจัยเรื่องมุมมองด้านประชาธิปไตย ทำความเข้าใจความผิดหวังต่อพรรค NLD และอองซานซูจี แว่นเศรษฐกิจเพื่อดูสวัสดิการแบบอุปถัมภ์ที่ชาวบ้านต้องพอเพียงแบบย้อนแย้ง แว่นเผ่าพันธุ์-ชาติพันธุ์ที่นิยามคนกลุ่มหนึ่งๆ เป็นผีหรือคนในทางการเมือง

ซ้ายไปขวา: นิค ชีสแมน ศ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ดุลยภาค ปรีชารัชช

8 มี.ค. 2562 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาได้จัดบรรยายสาธารณะในหัวข้อ Political order in Myanmar (ระเบียบการเมืองในพม่า) บรรยายโดยนิค ชีสแมน (Nick Cheesman) อาจารย์จากภาควิชาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

นิคเริ่มต้นด้วยคำถามว่า เราจะรับรู้ถึงระเบียบทางการเมืองปัจจุบันในพม่าอย่างไร และคิดว่ารู้เช่นนั้นได้อย่างไร ซึ่งเขาอธิบายระเบียบทางการเมืองของพม่าผ่านสามมุมใหญ่ๆ ได้แก่ ประชาธิปไตย สวัสดิการ และเรื่องเชื้อชาติ

ในประเด็นประชาธิปไตย ก่อนปี 2554 รัฐบาลทหารควบคุมการถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยอย่างหนัก นักกิจกรรมที่อยู่นอกประเทศ รวมทั้งในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยก็ได้ชูประเด็นประชาธิปไตยกันสูง ภาพที่ตราตรึงใจกันอยู่จึงถูกเล่าผ่านเรื่องราวการต่อสู้แบบวีรบุรุษระหว่างอำนาจเสรีประชาธิปไตยแบบรัฐฆราวาสที่มาจากนอกประเทศ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD และอองซานซูจี ผู้ก่อตั้งพรรคและที่ปรึกษาแห่งรัฐในรัฐบาลปัจจุบัน สู้กับเผด็จการทหารและนายพลอาวุโส

แต่ตอนนี้พรรค NLD ก็เป็นรัฐบาลแล้ว กลับไม่ได้ทำให้เห็นว่าเป็นประชาธิปไตยได้อย่างที่ประชาชนคิด ก็มีคำถามจากฝ่ายประชาธิปไตยว่า ทำไม NLD ไม่พยายามพัฒนาประชาธิปไตยให้ดีขึ้น คำตอบของคำถามคือเอาจริงๆ NLD ไม่เคยมีโครงการเรื่องเสรีประชาธิปไตย นอกจากนั้น ในกลุ่มนักกิจกรรมพม่าก็มีลักษณะการเล่าเรื่อง (Narrative) เรื่องประชาธิปไตยใหญ่ๆ ในสามลักษณะ ดังนี้

แบบสถาบันนิยม แนวคิดนี้เชื่อว่าปัญหาอยู่ที่การเมืองที่เน้นตัวบุคคล การวินิจฉัยปัญหาการภาวะต่อต้านประชาธิปไตยเพราะว่าสถาบันอ่อนแอ ดังนั้นจึงต้องสร้างและเพิ่มพูนทักษะ จัดทำโปรแกรมส่งเสริมทางเทคนิคให้กับสถาบันเพื่อให้มีพื้นฐานทางประชาธิปไตยที่ทนทาน แนวคิดนี้เป็นที่นิยมน้อยที่สุดในหมู่นักกิจกรรมพม่า

ภายใต้แนวคิดนี้ อองซานซูจีเป็นผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจ แต่ว่าไม่มีเทคนิค ทักษะของการปกครอง และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างโครงสร้างที่เป็นทางการมากพอ อองซานซูจีจึงไม่ได้มีคุณค่าทั้งในทางบวกและลบ

แบบบุญ-บาป แนวคิดนี้เชื่อว่าปัญหาเกิดจากผู้นำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเรื่องโครงสร้าง ผู้นำที่เป็นทหารอย่างตานฉ่วย หรือเนวินนั้นไม่มีคุณธรรม ผู้นำที่ไม่มีคุณธรรมทำให้การเมืองขาดซึ่งคุณธรรมด้วย วิธีแก้คือการรณรงค์ให้ผู้นำที่ไม่เห็นแก่ตนมานำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย แนวคิดนี้ค่อนข้างเป็นที่นิยมในหมู่นักกิจกรรมที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด

แนวคิดนี้มองอองซานซูจีเป็นผู้นำที่มีจริยธรรมและไม่เห็นแก่ตน เป็นภาพของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นเบอร์หนึ่งของฝั่งประชาธิปไตยของพม่าและสามารถนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยได้ การตัดสินใจนั้นเป็นหน้าที่ของเธอ แนวคิดนี้จะไม่วิจารณ์เธอเนื่องจากอองซานซูจีมีคุณค่าทางศีลธรรมที่พวกเขาคิดว่าจำเป็น อองซานซูจีจึงมีคุณค่าต่อประชาธิปไตยในทางบวกมาก (Big plus)

แบบเสมอภาค มองว่าการมีลำดับศักดิ์ไปยับยั้งการสื่อสารและการมีบทบาทของตัวแสดงที่จำเป็นต่อชีวิตชีวาทางประชาธิปไตย ดังนั้นจึงท้าทายแนวคิดแบบมีลำดับศักดิ์

แนวคิดนี้มองว่าอองซานซูจีตอนนี้กำลังผลิตซ้ำแนวคิดแบบเผด็จการต่อจากสมัยรัฐบาลทหาร เธอจึงมีคุณค่าเป็นลบต่อประชาธิปไตยและจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตชีวาทางประชาธิปไตยด้วยการส่งเสริมการมีลำดับต่ำ-สูง

ในประเด็นสวัสดิการ นิคยกงานของเจราร์ด แมคคาร์ธี (Gerard McCarthy) ขึ้นมาอธิบายว่าหนึ่งเหตุผลที่ระบบเศรษฐกิจการเมืองพม่ายังคงไม่เปลี่ยนแปลงแม้จะเปลี่ยนระบอบก็คือแนวคิดเรื่องทุนนิยมสวัสดิการ (welfare capitalism) ที่มีอยู่ทั้งในสมัยรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือน

ในสมัยรัฐบาลทหารนั้น เจ้าหน้าที่ทางการจะจัดจ้าง (outsource) ความรับผิดชอบเรื่องสวัสดิการในพื้นที่ไปให้กับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการลงทุน และกลุ่มธุรกิจก็จะต้องรับผิดชอบเนื่องจากมีผลกับความสำเร็จทางธุรกิจ เช่นถ้าอยากสร้างโรงงานก็ต้องไปถามทหารเพื่อแลกเปลี่ยนการได้มาซึ่งใบอนุญาตและที่ดิน ซึ่งนักธุรกิจต้องเข้าใจว่าจะต้องมีกำไรบางส่วนถูกส่งกลับไปในภูมิภาค เช่นต้องทำบุญ ต้องส่งเงินให้กลุ่มสวัสดิการสังคม และการให้ก็จะต้องทำแบบใหญ่โต มีภาพออกมาเพื่อให้คนเห็นว่าคุณคืนเงินให้กับชุมชน เป็นกระบวนการนอกเหนือจากการเก็บภาษีเงินได้ของรัฐ เป็นการเพิ่มต้นทุนทางสังคมของนายทุนซึ่งต่อมาก็จะได้รับโอกาสทางธุรกิจมากขึ้นและได้รับการยอมรับจากทหารมากขึ้นด้วย

นิคกล่าวว่าแนวทางเช่นนี้เป็นแนวทางที่ถดถอยและต่อต้านประชาธิปไตย ในระบบนี้ไม่มีตัวชี้วัดว่าคนจนที่ต้องการสวัสดิการจริงๆ จะเข้าถึงสวัสดิการได้ เป็นการสนับสนุนความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่ทำให้คนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็จนลง หลังเปลี่ยนระบอบการปกครองก็มีความคาดหวังว่าพรรค NLD จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงแต่สุดท้ายก็ยังเป็นแบบเดิม เพียงแค่เปลี่ยนคนคุมเป็นสมาชิกพรรค NLD หรือสมาชิกรัฐสภา กลายเป็นทุนนิยมสวัสดิการแบบประชาธิปไตย

เอาจริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงก็ต้องใช้เวลา โครงสร้างรายได้ไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงไปภายในคืนเดียว แต่แมคคาร์ธีก็แย้งว่า เหตุผลไม่ใช่แค่เรื่องเวลาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคุณค่าด้วย เขาบอกว่าสมาชิก NLD เองก็ยืนยันว่าการทำให้ชุมชนยืนด้วยลำแข้งตัวเอง ต้องพอเพียงได้นั้นถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องทางจริยธรรม แต่สิ่งที่ย้อนแย้งก็คือชุมชนต้องทำตัวให้เป็นที่ยอมรับว่าพอเพียงเพื่อให้เข้าถึงเงินทุนจากรัฐและเอกชน เช่น ถ้าชุมชนอยากได้ถนนก็ระดมทุนกันมา แล้วไประดุมทุนจากเอกชนที่อยู่ใกล้เคียง จากนั้นขอทุนจากรัฐผ่านตัวแทนในสภาอีกที ซึ่งพอเป็นเช่นนี้ก็มีบางชุมชนเท่านั้นที่ทำได้ แต่ปัญหาคือเงื่อนไขแบบนี้ทำให้คนที่ไม่มีทุนจริงๆ ไม่สามารถเป็นที่มองเห็นได้ในระบบนี้ ความช่วยเหลือที่จำเป็นจึงไปไม่ถึงคนที่ต้องการจริงๆ

ในประเด็นเชื้อชาติ นิกกล่าวว่าจะต้องจำแนกระหว่างคำว่าเผ่าพันธุ์ (Race) และชาติพันธุ์ (Ethnicity) คำว่าชาติพันธุ์นั้นมีความหลากหลายเชิงอัตลักษณ์ เช่น ภาษา ศาสนา วัฒนธรรมและเชื่อมโยงผ่านการสืบสายเลือด ในรายละเอียดเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่เผ่าพันธุ์เป็นเรื่องทางชีวภาพ เป็นอัตลักษณ์ทางชีวภาพมากกว่าทางสังคมวิทยา เรื่องของเผ่าพันธุ์เข้ามาในเวลาที่พม่าตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ ก่อนหน้านี้เป็นความสัมพันธ์ที่แยกกันระหว่างชนชั้นกษัตริย์กับสามัญชน

แต่หลังปี 2505 หลังทหารเข้ายึดอำนาจก็มีแนวคิดเรื่องเผ่าพันธุ์แห่งชาติ (National Race - ไตญินตา) คือเผ่าพันธุ์อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่จีนหรืออินเดีย แล้วให้บัตรประชาชนเป็นตัวรับรองสถานภาพดังกล่าว คำว่าไตญินตานั้นไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นได้ คนที่เป็นก็จะเป็นสมาชิกของชุมชนทางการเมืองพม่า เป็นคนที่มีสิทธิที่จะมีชีวิตในทางการเมือง ตัวอย่างของกรณีนี้คือชาวโรฮิงญา เหตุใดถึงมีความรุนแรงต่อชุมชนโรฮิงญา ก็เพราะการเมืองพม่าถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของเผ่าพันธุ์ มีคนที่ถูกกีดกันออกไปจากกลุ่มไตญินตา

ต่อคำถามเรื่องการใช้แนวคิดเรื่องเผ่าพันธุ์-ชาติพันธุ์ ในการทำความเข้าใจกระบวนการสันติภาพของพม่านั้น นิคตอบว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นมุมมองทางประวัติศาสตร์ และจะเห็นว่าไม่ใช่ทุกเผ่าพันธุ์เข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ สังเกตว่ากลุ่มติดอาวุธที่ถูกมองเป็นเผ่าพันธุ์แห่งชาติก็มีความชอบธรรมมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นอย่างชาวโรฮิงญาหรือกลุ่มกองทัพกู้ชาติอะรากันโรฮิงญา (ARSA) ก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะพูดหรือแสดงออกเหมือนกับกลุ่มอื่น  แต่กลุ่มที่ได้รับการยอมรับในฐานะเผ่าพันธุ์แห่งชาติก็มีความชอบธรรมในการใช้ระเบียบนี้เพื่อสื่อสาร คนที่ศึกษาเรื่องกระบวนการสันติภาพก็มองว่าอย่างน้อยกระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องดีที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีอำนาจในสร้างประโยชน์ให้กับคนที่พวกเขาเป็นตัวแทน นิควิจารณ์ว่าแนวคิดเผ่าพันธุ์แห่งชาตินั้นเกิดขึ้นเพื่ออำนวยให้รัฐทำการควบคุมชุมชนชาติพันธุ์อื่น ดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ดังนั้นการสร้างจุดยืนพหุนิยมแบบเผ่าพันธุ์แห่งชาติ ที่พูดว่าชาติพันธุ์ต่างๆ มีสิทธิมาร่วมจึงเป็นเรื่องย้อนแย้งเพราะแท้ที่จริงเป็นกระบวนการสร้างอำนาจนำ ดึงทุกคนเข้าสู่การควบคุมของรัฐที่มีชาติพันธุ์พม่าที่นับถือศาสนาพุทธอยู่บนสุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท