Skip to main content
sharethis

หนึ่งในประเด็นที่ร้อนที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้คือการเสนอนโยบายปฏิรูปกองทัพ จากการรวบรวมคำพูดของผู้สมัคร ส.ส. แกนนำพรรค และเว็บไซต์ของพรรคการเมืองต่าง ๆ พบว่ามี 4 พรรคใหญ่ด้วยกันที่เสนอประเด็นเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาธิปัตย์ จากการเปรียบเทียบนโยบายด้านการปฏิรูปกฎหมาย สายบัญชาการ การเกณฑ์ทหาร กำลังพลและนายพล สวัสดิการทหาร งบประมาณ ที่ดินของกองทัพ และยุทโธปกรณ์ พบว่าแต่ละพรรคนำเสนอนโยบายเน้นหลักแต่ละด้านแตกต่างกันไป แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือทั้ง 4 พรรคใหญ่เห็นด้วยกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหารและเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ ส่วนข้อมูลจาก FIDH ระบุว่าในจำนวนพรรคการเมือง 32 พรรค ร้อยละ 40.6 สนับสนุนให้ลดการจัดสรรงบประมาณกลาโหมลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถือว่ายังไม่ถึงครึ่งของจำนวนพรรคการเมืองทั้งหมด 

เปิดนโยบายปฏิรูป 4 พรรคใหญ่

เปิดนโยบายปฏิรูปกองทัพ 4 พรรคใหญ่ พรรคเดียวที่ชูประเด็นเรื่องการยกเลิกศาลทหาร การยุบกองบัญคือพรรคเสรีรวมไทยที่นำโดย พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ เตมียะเวส พรรคที่เสนอประเด็นในรายละเอียดมากที่สุดในด้านต่าง ๆ แต่ไม่ได้พูดถึงประเด็นเรื่องข้อกฎหมายเลยคือพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมี พล.ท.พงศกร รอดชมภู เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ส่วนพรรคที่เสนอเรื่องยกเลิกการเกณฑ์ทหารเป็นพรรคแรกในการเลือกตั้งครั้งนี้ จากการนำร่องนายพริษฐ์ วัชรสินธุ แต่เป็นพรรคที่หาข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพได้น้อยที่สุดในรายละเอียดคือพรรคประชาธิปัตย์

ปฏิรูปกฏหมายกลาโหม: เพื่อไทยชูประเด็นแก้ไขกฏหมายมากที่สุด

จากการรวบรวมคำพูดของผู้สมัคร ส.ส. และข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในสำนักข่าวและเว็บไซต์ของพรรคการเมืองต่าง ๆ พบข้อสังเกตที่น่าสนใจคือพรรคที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขกฎหมายที่สุดคือพรรคเพื่อไทย เนื่องจากเสนอแก้กฏหมายถึง 4 ฉบับ โดยพล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทยด้านความมั่นคง แต่พรรคเสรีรวมไทยก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน เนื่องจากชูนโยบายยุบศาลทหาร และเสนอให้ทหารต้องมาขึ้นศาลพลเรือนเทียบเท่ากับประชาชนคนอื่น ๆ  

4 พรรคใหญ่เห็นตรงกัน: เสนอยกเลิกเกณฑ์ทหาร

จากการเปรียบเทียบนโยบายด้านการปฏิรูปกฎหมาย สายบัญชาการ การเกณฑ์ทหาร กำลังพลและนายพล สวัสดิการทหาร งบประมาณ ที่ดินของกองทัพ และยุทโธปกรณ์ พบว่าแต่ละพรรคนำเสนอนโยบายเน้นหลักแต่ละด้านแตกต่างกันไป แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือทั้ง 4 พรรคใหญ่เห็นด้วยกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหารและเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ พรรคแรกที่เสนอประเด็นยกเลิกการเกณฑ์ทหารในการเลือกตั้งครั้งนี้คือพรรคประชาธิปัตย์

ปฏิรูปสายบัญชาการ: 3 พรรคโดดเด่น ส่วนเพื่อไทยไม่มีข้อมูล

แต่ละพรรคเสนอในสิ่งที่พรรคอื่นไม่มี จากการสืบค้นข้อมูลพบว่าพรรคอนาคตใหม่เสนอให้ใช้ระบบเสนาธิการร่วม เพื่อให้รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ ทั้งยังเสนอยุติระบบอุปถัมภ์เส้นสายในกองทัพในงานแถลงนโยบายด้วย

ส่วนเสรีรวมไทยเสนอให้แก้ พ.ร.บ. พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม โดยให้ฝ่ายการเมืองซึ่งถือว่ามาจากประชาชน มีอำนาจในการบังคับบัญชาทหารได้ พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า: 

“ทั้งหมดมี 7 คน เป็นข้าราขการประจำไป 5 คน ฉะนั้นฝ่ายการเมืองก็สู้ฝ่ายข้าราชการประจำไม่ได้ มันก็กลายเป็นว่าหลังจากมี พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม นายกฯ ย้ายทหารไม่ได้ คุณคิดดูทหารบอกต้องเตรียมพร้อมสรรพ อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ แม้แต่น้ำมันต้องเพียบเต็มอัตราศึกหมด เพราะจะเกิดสงครามเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ขณะเดียวกันก็บอกนายกฯ ย้ายทหารไม่ได้ แล้วพบจะรบ นายกฯ สั่งรบ ทหารแม่งไม่รบ นายกสั่งหยุดทหารแม่งไม่หยุด คุณว่าไงมันถูกไหมตรรกะนี้ ไม่ถูก นายกฯ ต้องย้ายได้ดิ...ไม่ใช่คนที่มาจาการประชาชนไม่มีอำนาจย้ายทหาร แต่ทหารกลับปลดนายกฯ ได้ อยู่ดีๆ ก็เอาปืนมาวางผมยึดอำนาจ”

นอกจากนี้หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยยังสัญญาจะแก้ไขปัญหาทุจริตในกองทัพในรายการ The Standard Debate โดยอ้างว่ารู้เรื่องการทุจริตในกองทัพเป็นอย่างดีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ก็นับว่ามีความน่าสนใจ เนื่องจากเสนอประเด็นเรื่องการกำจัดความรุนแรงออกจากการฝึกทหาร และเปิดให้คนภายนอกสังเกตการณ์หรือร้องเรียนได้ หากการฝึกทหารเกิดความไม่ชอบมาพากล นโยบายนี้เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้สมัคร สส. แบ่งเขตประชาธิปัตย์ ซึ่งผ่านการสมัครทหารเกณฑ์มาด้วยตัวเองก่อนลงสมัคร

นโยบายลดกำลังพล นายพล และผู้ชำนาญการ: เสรีรวมไทยและอนาคตใหม่โดดเด่นที่สุด

สำหรับนโยบายด้านการลดกำลังพล นายพล และผู้ชำนาญการ พบว่าพรรคเสรีรวมไทยซึ่งนำโดย พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส มีความโดดเด่นมากที่สุ คู่คี่สูสีมากับพรรคอนาคตใหม่ซึ่งนำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และมี พล.ท.พงศกร รอดชมภู เป็นกุนซือนโยบายความมั่นคง

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าพรรคเสรีรวมไทยเสนอให้ยุบกองบัญชาการทหารสูงสุด และยุบกองทัพน้อยด้วย เพื่อลดขนาดของกองทัพให้กระทัดรัดขึ้น พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวสเคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า “มีกองทัพภาคแล้ว 4 ภาค ถามว่ามีกองทัพน้อยไว้ทำไมอีก มีกองกำลังของตัวเองอีก มันบ้าหรือเปล่า มันควรจะยุบเสียด้วยซ้ำ" นอกจากนี้ ยังเสนอให้ยุบกองบัญชาการทหารสูงสุดด้วย เพราะในปัจจุบันไม่มีความจำเป็น

แต่พรรคอนาคตใหม่ก็นโยบายน่าดึงดูดไม่แพ้กัน เนื่องจากให้ตัวเลขเอาไว้อย่างเป็นรูปธรรม พล.ท.พงศกร รอดชมภู กล่าวไว้ในวันแถลงนโยบายว่าจะลดกำลังพลจาก 330,000 เหลือ 170,000 และลดนายพลจาก 1,600 เหลือ 400 นอกจากนี้ยังเสนอให้ยกเลิกการเรียน รด. และเปลี่ยนระบบการจ้างทหารมาใช้สัญญาราย 5 ปี และต่อสัญญาเป็นนายสิบทหารได้จนถึงระดับพันโท หรืออายุไม่เกิน 45 ปี

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นายพริษฐ์เคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวไว้และตั้งข้อสังเกตให้ชวนคิดเป็นการคาดการณ์เป็นตัวเลขกว้าง ๆ ว่าอาจจะลดกำลังพลได้ลงเหลือประมาณ 6-7 หมื่นคน 

สวัสดิการทหาร: อนาคตใหม่จัดแพ็กเกจชัดเจนที่สุด

ในส่วนของนโยบายสวัสดิการทหาร พบว่าพรรคอนาคตใหม่จัดแพ็กเพจเป็นรูปธรรมที่สุด จากข้อมูลของข่าวสดพบว่า พล.ท.พงศกร รอดชมภู ระบุในงานแถลงนโยบายไว้ดังนี้: 

"พลทหารในปัจจุบันเมื่อออกไปทำงาน เมื่อเสียชีวิตหรือพิการ ครอบครัวลำบากเพราะเขาไม่ใช่ข้าราชการ นี่คือตัวอย่างชัดๆ เลย ดังนั้นเราต้องเอาเงินเมื่อสักครู่นี่ละครับมาซื้อประกันภัยให้เขา ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ครอบคลุมถึงครอบครัว

สมมุติเขาพิการหรือบาดเจ็บ เราก็หาทุนให้เขาเปลี่ยนอาชีพใหม่ ไม่ใช่ต้องไปเดินขายล็อตเตอรี่ ทายาทก็ให้เรียนจนจบการศึกษาแล้วกลับมาดูแลครอบครัวซึ่งเคยเสียสละให้กับชาติบ้านเมือง"

อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงดังกล่าวยังไม่ได้ให้รายละเอียดที่เป็นรูปธรรมในเชิงนโยบายไว้มากนัก แต่พรรคอื่น ๆ ก็ไม่ได้ให้ความชัดเจนเอาไว้เช่นกัน ใน The Standard Debate พบว่าพรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนการส่งให้ทหารไปเรียนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนา Smart Army ส่วนประชาธิปัตย์ก็สัญญาว่าจะปรับปรุงและยกระดับสิทธิประโยชน์เช่นกัน แต่ทุกพรรคยังไม่ได้ระบุว่าจะให้เป็นตัวเลขมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร

ตัดงบประมาณทหาร: เพื่อไทยตัด 2 หมื่นล้าน ส่วนอนาคตใหม่ตัด 5 หมื่นล้าน

หนึ่งในประเด็นร้อนแรงที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการตัดงบประมาณของกองทัพ เนื่องจากหลังคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ออกมาเสนอปรับลดงบประมาณกลาโหม "บิ๊กแดง" พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพบกถึงขนาดต้องเปิดเพลงหนักแผ่นดินในทุกค่ายทหารเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายดังกล่าว 

แม้ "บิ๊กแดง" จะแสดงไม่พอใจกับท่าทีของพรรคเพื่อไทยอย่างชัดเจน ที่เสนอว่าจะตัดงบประมาณทหารลงร้อยละ 10 คิดเป็นเม็ดเงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ แต่หากลงมาดูนโยบายจริง ๆ แล้วจะพบว่าพรรคอนาคตใหม่เสนอลดงบประมาณกลาโหมมากกว่า โดยสัญญาว่าจะตัดงบกว่า 5 หมื่นล้าน อย่างไรก็ตาม นโยบายที่น่าสนใจไม่แพ้กันมาจากพรรคเสรีรวมไทย ถึงแม้จะไม่ได้เสนอตัวเลขเอาไว้ชัดเจน แต่หัวหน้าพรรคระบุชัดว่าจะนำงบประมาณจากการยุบหน่วยงานต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นมาใช้ไปกับสวัสดิการของประชาชน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน เครื่องมือทางการแพทย์ ฯลฯ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้นสัญญาว่าจะจัดการกับ "ไขมัน" ของกองทัพ โดยลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการส่วนต่าง ๆ แต่ยังไม่ได้ระบุชัดว่าจะทำออกมาในลักษณะใด

ที่ดินกองทัพ: เสรีรวมไทยเป็นรูปธรรมที่สุด

จากบทสัมภาษณ์ พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ ระบุว่าจะย้ายกองทัพออกจากกรุงเทพ เพื่อนำที่ดินมาสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล ที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะ ฯลฯ พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่เสนอนโยบายเหล่านี้เช่นกัน แต่ยังระบุไม่ชัดเท่ากับพรรคเสรีรวมไทย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว 

ยุทโธปกรณ์: อนาคตใหม่ชูอุตสาหกรรม R&D

อนาคตใหม่เสนอว่าจะลดการนำเข้าอาวุธจากต่างประเทศ โดยส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นพรรคที่มีนโยบายด้านนี้ชัดเจนที่สุด ส่วนพรรคเพื่อไทยเสนอนโยบาย Smart Army และสัญญาว่าใช้เทคโนโลยีทหารที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากถ้อยแถลงของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ในงาน The Standard Debate พรรคประชาธิปัตย์เสนอว่าจะพัฒนากองทัพให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเช่นกัน แต่ยังไม่ได้ระบุชัดว่าจะทำในด้านยุทโธปกรณ์ หรือกำลังพล หรือในด้านอื่น ๆ 

เปิดสถิตินโยบายกลาโหม 32 พรรค

ข้อมูลจาก FIDH หรือสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ช่รัฐระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน จนถึงปัจจุบันมีองค์กรสมาชิก 184 องค์ในกว่า 112 ประเทศ ระบุว่าในจำนวนพรรคการเมือง 32 พรรค ร้อยละ 40.6 สนับสนุนให้ลดการจัดสรรงบประมาณกลาโหมลงอย่างมีนัยสำคัญ ร้อยละ 18.8 สนับสนุนยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และร้อยละ 46.9 สนับสนุนให้มีการแต่งตั้งกรรมาธิการรัฐสภาซึ่งมีภารกิจในการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นอิสระต่อข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร

ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวข้อมูลชุดนี้คือพรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งแบบสอบถามให้กับ FIDH ส่วนพรรคไทยศิวิไลย์ที่ตอบสื่อว่าไม่เห็นด้วยกับการลดงบประมาณทหาร ตอบกับ FIDH ว่าเห็นด้วยกับการลดงบประมาณทหาร และถึงแม้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะแถลงนโยบายว่าสนับสนุนลดงบประมาณทหาร และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่ข้อมูลเกี่ยวกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหารของพรรคอนาคตใหม่ไม่ปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลของ FIDH ซึ่งน่าจะเป็นเพราะข้อมูลตกหล่นหรือประเด็นทางเทคนิคมากกว่า

ข้อมูลจาก FIDH - พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐไม่ได้กรอกแบบสอบถาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net