สิริพรรณ นกสวน สวัสดี: อ่านจุดเปลี่ยน-แตกหักเลือกตั้ง 62 ผ่านขั้วการเมือง สังคม

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ให้ความเห็นในเวทีเกาะติดเลือกตั้ง 62 ย้อนดูพรรคการเมืองในฐานะเครื่องมือรัฐอำนาจนิยม กับการกลับมาของพรรคหนุนทหารในไทย ‘บันไดสี่ขั้น’ สู่การสืบอำนาจที่อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด ปัจจัยการเมือง-สังคมสร้างยุทธศาสตร์-คณิตศาสตร์-การเมืองเรื่องเลือกตั้ง ในขณะที่มหกรรมลงคะแนนเสียงที่ประชาชน 'อิน' ยังเป็นโมฆะได้อยู่

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาบันทางการเมืองจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

เมื่อ 19 มี.ค. 2562 สำนักข่าวมติชนจัดเวทีบรรยายหัวข้อ “เกาะติดเลือกตั้ง 62 ตอน จุดเปลี่ยน หรือ จุดแตกหักประเทศไทย โดยมี ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศ.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ รศ.อนุสรณ์ อุณโณ ผู้ดำเนินรายการ โดยในส่วนนี้จะกล่าวถึงช่วงที่ รศ.สิริพรรณ ขึ้นบรรยาย

พรรคการเมืองของรัฐ-รัฐบาล การกลับมาของพรรคหนุนทหาร

ประเด็นที่มติชนตั้งไว้วันนี้คือ จุดเปลี่ยนหรือจุดแตกหักประเทศไทย แต่สิ่งที่นึกในใจคืออยากจะชวนย้อนมองจุดแตกต่างก่อน เรากำลังมีการเลือกตั้งnสิ่งที่น่าสนใจคือเราเห็นความแตกต่างอะไรระหว่างพรรคการเมืองในไทยกับที่ต่างประเทศ ในเอเชีย ที่เป็นภูมิภาคที่มีรัฐอำนาจนิยมสูงมาก และรัฐเหล่านี้ใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือยึดกุมอำนาจ ปฏิบัติภารกิจสำคัญของรัฐนั้น อย่างไต้หวันตั้งแต่ตั้งตัวเป็นเอกราชก็มีพรรคก๊กมินตั๋งเป็นพรรคหลัก เรียกได้ว่าเป็นการที่ประชาชนติดอาวุธมาก่อตั้งพรรคและรัฐบาล ทำให้มีลักษณะพรรคกับรัฐเป็นเนื้อเดียวกันอย่างยาวนาน นั่นคือประวัติศาสตร์ ปัจจุบันพรรคก๊กมินตั๋งก็ถูกท้าทาย ในมาเลเซียก็มีพรรคอัมโน่ หรือกลุ่ม BN ที่ครองอำนาจรัฐอย่างยาวนานตั้งแต่มาเลเซียได้เอกราชจากอังกฤษ เป็นตัวอย่างของการที่รัฐใช้พรรคการเมืองเข้าสู่อำนาจและยึดกุมอำนาจ เราเห็นตัวอย่างนี้ในกัมพูชา คือพรรค CPP ของฮุนเซน ที่ใช้ไทยแลนด์โมเดลยุบพรรคการเมืองแล้วทำให้ CPP เป็นพรรคเดียวในการแข่งขัน ย้อนกลับไปเราก็จะเห็นตัวอย่างในอินโดนีเซียสมัยที่มีพรรคนิวออเดอร์หรือโกลคาร์ของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต เป็นพรรคที่ยึดกุมอำนาจแต่เพียงพรรคเดียวนานมาก และมีแค่อีกสองพรรคที่จะแข่งขันได้และแข่งขันได้ภายใต้กรอบกติกาของโกลคาร์เท่านั้น

แต่ประเทศไทยมีคำถามหลักคือ ทำไมสังคมไทยไม่เคยมีพรรคลักษณะดังกล่าวอย่างยาวนาน เราอาจจะนึกถึงบางพรรคอย่างพรรคเสรีมนังคศิลา ชาติสังคม สหประชาไทยหรือสามัคคีธรรม แต่ของไทยนั้น ชนชั้นนำไม่เลือกใช้พรรคการเมืองเป็นทางเลือกในการยึดกุมอำนาจ อาจเพราะว่าเรามีระบบราชการที่พรรคการเมืองเข้ามาเกาะกุมได้ไม่ดีเท่าทหาร ระบบราชการจึงกลายเป็นเครื่องมือการสร้างสายสัมพันธ์เชิงอุปถัมป์และต่างตอบแทนได้มีประสิทธิภาพกว่าพรรคการเมือง เราจึงไม่เห็น Party-state หรือพรรคการเมืองที่รัฐให้การสนับสนุนเป็นหลัก คือมีอภิสิทธิ์ทางกฎหมายและได้เปรียบในการแข่งขันอย่างชัดเจน

คำถามคือทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มีสมมติฐานว่า ประการที่หนึ่ง เพราะประเทศอื่นๆ มีรัฐบาลพลเรือนที่เหนือทหาร ถ้าจะให้พรรคเป็นเนื้อเดียวกับรัฐ เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศก็หมายความว่า พรรคการเมืองเป็นที่มาของผู้นำทางการเมือง และผู้นำทางการเมืองเหล่านั้นเป็นผู้นำแบบพลเรือน อันนี้อาจมีคนเถียงว่าอินโดนีเซียเป็นรัฐทหาร แต่ก็เป็นข้อยกเว้น รัฐไทยยังคงปฏิเสธการมีรัฐบาลพลเรือนเหนือกองทัพ

ประการที่สองน่าจะเป็นเพราะความไม่ไว้วางใจในพรรคการเมืองที่สูงมากทั้งในหมู่ชนชั้นนำเองและในหมู่ประชาชนที่ถูกปลูกฝังมาให้เกลียดกลัวนักการเมืองและนักเลือกตั้ง ทำให้เราไม่เคยเห็นพรรคการเมืองที่เป็นตัวขับเคลื่อนและเป็นเนื้อเดียวกับรัฐอย่างประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ปี 2489 เป็นช่วงแรกที่สังคมไทยมีพรรคการเมืองแข่งขันภายใต้การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2489 เราอาจจะย้อนกลับไปนึกถึงพรรคแนวร่วมรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเดียวกัน ปี 2489 มีรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มี พ.ร.บ. พรรคการเมือง พ.ร.บ. ดังกล่าวมึขึ้นทีหลังเมื่อปี 2498 ที่รับรองการมีพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการ และจุดนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พรรคการเมืองไทยอยู่ภายใต้การควบคุมโดยรัฐ ระเบียบ กติกากำหนดว่าจะต้องส่งผู้สมัครเท่านั้นเท่านี้ ต้องมีสาขาพรรคเท่านั้นเท่านี้ ในบางสมัยถ้ามีผู้สมัครไม่ได้รับเลือกตั้งก็ถูกยุบพรรคไปด้วย ทุกวันนี้เรายังอยู่ในจุดเดิม คือการที่พรรคยอมจำนนภายใต้กติกาของรัฐที่ถูกออกแบบโดยองค์กรอิสระ ศาลและทหาร

จุดเดิมที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ การกลับมาของพรรคที่สนับสนุนทหาร ในอดีตมีพรรคเสรีมนังคศิลาที่สนับสนุนจอมพล ป.พิบูลสงคราม และลงแข่งขันในการเลือกตั้งที่เราทราบว่าเป็นการเลือกตั้งที่ถูกประณามว่าสกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยในปี 2500 ทำให้พรรคเสรีมนังคศิลาต้องยุติบทบาทลง พรรคชาติสังคม โดยจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) พรรคสหประชาไทยโดยจอมพลถนอม (กิตติขจร) พรรคเหล่านี้ดูเหมือนจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการยึดกุมอำนาจรัฐเพื่อจะบอกว่าเรามีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งคิดว่ามีเหตุผลจากที่ชนชั้นนำไม่สามารถเจรจาต่อรองหรือควบคุมนักการเมืองภายใต้ระบบรัฐสภาได้ ล่าสุดที่เราเห็นในยุคพฤษภาฯ ทมิฬคือพรรคสามัคคีธรรมที่ชนะเลือกตั้งด้วยวิธีพิเศษ ก็เหมือนกลับมาอยู่จุดเดิมก็คือการดึง ส.ส. ทั้งหลายมาอยู่ใต้ร่มเงาของพรรค แต่สามัคคีธรรมก็พบจุดจบจากการต่อต้านของประชาชน

ปัจจุบันการกลับมาที่จุดเดิมก็คือการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คำถามหลักคือ การเกิดขึ้นของ พปชร. จะเป็นจุดเปลี่ยนในสังคมไทยที่ชนชั้นนำและรัฐใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือยึดกุมอำนาจอย่างยาวนาน ปฏิบัติภารกิจตามที่ตั้งหวังไว้ได้หรือไม่ แล้วอะไรคือความต่างระหว่าง พปชร. กับพรรคสนับสนุนทหารในอดีต ซึ่งก็มองว่าคือหน้าฉากของ พปชร. ที่ไม่เป็นพรรคที่เป็นทหาร คิดว่าแทบไม่มีสมาชิกที่เป็นตัวแสดงหลักในพรรคที่เป็นทหารยกเว้นแคนดิเดตนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ภายในพรรคประกอบไปด้วยเทคโนแครตจำนวนมาก ระบบราชการที่เป็นองคาพยพทั้งหลาย รวมถึงโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้การกำกับของแกนนำ นักการเมืองภูมิภาคที่รู้จักกันในชื่อสาม ส. และที่สำคัญคือกลุ่มทุนระดับชาติ นี่คือจุดแตกต่างที่สำคัญว่าแม้จะกลับมาอยู่ที่จุดเดิมที่พรรคการเมืองกลับมายอมจำนนอยู่ภายใต้ระบบราชการ ทหาร องค์กรอิสระ แต่สิ่งที่ต่างคือการปรับตัวของพรรคที่สนับสนุนทหาร โดยการเอากลุ่มทุนใหญ่มาอยู่ภายใต้ร่มเงาของพรรค

‘บันไดสี่ขั้น’ พรรคหนุนทหารสืบอำนาจที่อาจไม่ง่าย

แต่คำถามคือ การกลับมาของพรรคที่สนับสนุนทหารจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องมาดูว่าเขาจะทำอย่างไรกัน ขอเสนอสิ่งที่เรียกว่าบันไดสี่ขั้นในการสร้างรัฐที่มีพรรคในกำกับเป็นตัวขับเคลื่อน วิศวกรรมของรัฐครั้งนี้ชัดมากว่าจงใจให้โครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองบิดเบี้ยวเพื่อให้คงไว้ซึ่งอำนาจของรัฐที่มีอยู่เดิม หรือเพื่อให้การเลือกตั้งไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งหมดเพื่อให้ระบอบอำนาจนิยมที่มาจากการรัฐประหารสามารถอยู่ในอำนาจต่อไปได้

สิริพรรณเกริ่นบันไดสี่ขั้นเอาไว้ดังนี้

หนึ่ง รัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง ส.ว. 250 เสียง กติกาการเลือกนายกฯ และอำนาจขององค์กรอิสระ

สอง การมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำกับนโยบายการหาเสียงของพรรครัฐบาล ไม่ว่าพรรคใดจะขึ้นมา ยุทธศาสตร์ชาติยังคงอยู่ และตัวแสดงหลักของรัฐบาลปัจจุบันก็อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติด้วย

สาม รัฐภายใต้อุปถัมภ์ของทุนใหญ่ ภายใต้นโยบายประชารัฐ ซึ่งบังเอิญมากว่าชื่อไปคล้องจองกับชื่อพรรคพลังประชารัฐ การใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐและการดึง ส.ส. เก่าเข้าพรรค

สี่ คิดว่าสำคัญที่สุดคือระบบเลือกตั้ง ที่ไม่ส่งเสริมประสิทธิภาพทางการเมือง จะเห็นได้ว่าระบบเลือกตั้งทำให้เจตนารมณ์ประชาชนกำกวม

หลายคนบ่นว่าไม่รู้จะเลือกใครเมื่อช่วงการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ตัวอย่างที่ได้ยินมาคือมีคนอยากเลือกพรรคการเมืองเล็กๆ พรรคหนึ่ง เลยไปค้นหาชื่อผู้สมัครในเขตตัวเอง ปรากฏว่าผู้สมัครดังกล่าวเคยถูกจับในข้อหายาเสพติด มีภาพปรากฏในข่าว เคยติดคุกมาแล้ว คำถามคือเขาจะเลือกไหม มีตัวเลือกอะไรบ้าง แต่ในที่สุดเข้าใจว่าเขาเลือกเพราะว่าพรรค เพื่อให้คะแนนเสียงไม่ทิ้งน้ำ ให้เทเข้าไปที่พรรคการเมือง นี่คือปัญหาของระบบการเลือกตั้งที่ไม่มีประสิทธิภาพทางการเมืองแล้วทำให้เจตนารมณ์กำกวม ไม่เอื้อกับการตรวจสอบ ทิศทางและเส้นทางของการตรวจสอบถูกตัดตอน และยังให้โบนัสกับพรรคที่แพ้ อันนี้คิดว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมองว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่จะลดทอนอิทธิพลและที่นั่งของพรรคการเมืองขนาดใหญ่สองพรรค และเมื่อพรรคขนาดกลางถูกสร้างมาจะประสบความสำเร็จเพราะพรรคที่ไม่ต้องชนะในระบบเขตก็จะไปมีคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ แต่ส่วนตัวมองว่าประเด็นนี้คือความท้าทายที่อาจเป็นหนามหันมาทิ่มตำผู้ออกแบบระบบเลือกตั้งแบบนี้ เพราะพรรคที่เกิดมาในภูมิทัศน์การเมืองปัจจุบันก็เข้ามาฉกฉวยโบนัสในระบบนี้

การออกแบบระบบเลือกตั้งและการจัดการทำให้การจัดการเลือกตั้งยุ่งยากเกินความจำเป็น สิ่งที่เห็นได้ชัดๆ เลยคือบัตรเลือกตั้ง มีตัวอย่างที่บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าของคนไปใช้สิทธิไม่ใช่บัตรในเขตของเขา ภาพรวมคิดว่าหน้าที่ของการเลือกตั้งถูกออกแบบมาจัดระเบียบทางการเมืองภายใต้ระบอบใหม่ภายใต้การนำของชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมเดิม อีกประเด็นที่เห็นคือการใช้กลไกองค์กรอิสระ และองคาพยพของระบบราชการอย่างการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เคยใช้มาก่อน ตัวอย่างที่เห็นคือการแบ่งเขตเลือกตั้งของ จ.สุโขทัยที่ไม่รู้ว่าเชื่อมต่อกันตรงไหน แต่กลับอยู่ในเขตเดียวกัน

อีกประเด็นคือเรื่องพลังดูด พปชร. ใช้อำนาจในการดึง ส.ส. เก่าเข้ามา แต่โอกาสที่ ส.ส. เก่าที่ย้ายออกไปแล้วจะชนะเลือกตั้งมีเท่าไหร่ เมื่อเก็บข้อมูลในอดีตตั้งแต่ปี 2538-2539 2544-2550 และ 2550-2554 อัตราส่วนจะอยู่ประมาณชนะ 60 แพ้ 40 เชื่อว่าน่าจะประมาณนี้ แปลว่าคนย้ายออกไปไม่ใช่ว่าจะชนะทุกคน

ดูจุดเปลี่ยนแปลงจากขั้ว รอยแยกทางการเมือง-สังคม นโยบายไม่สำคัญเท่าคนแต่มีบทบาทสูง

ประการแรกคือพฤติกรรมประชาชนเปลี่ยนไป คาดเดาได้ยาก สอง เกิดกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงหน้าใหม่ (New voters) ราว 7-8 ล้านคน ถ้าพวกเขาไปเลือกตั้งกันทุกคนก็จะได้ ส.ส. ประมาณร้อยคน แน่นอนว่าคงไม่ออกไปเลือกตั้งทั้งหมด ราวๆ ร้อยละ 60-70 ก็สูงแล้ว แต่คำถามคือเขาจะเลือกใคร นี่คือคำถามที่สำคัญเพราะเขาไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ไม่ได้เป็นเหลือง ไม่ได้เป็นแดง ไม่เคยเลือกพรรคเพื่อไทย ไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ คนกลุ่มนึ้จึงถูกมองว่าน่าจะเป็นที่มาของคะแนนเสียงของพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่ถูกมองว่ามาแรงมาก

สิ่งที่อยากชวนคุยจริงๆ คือภูมิทัศน์การเมืองไทย และพรรคหน้าใหม่ในการเลือกตั้ง ลักษณะรวมๆ ที่เห็นคือทุกพรรคเน้นตัวผู้นำ และยังเห็นพรรคการเมืองประเภทต่างๆ อย่างพรรคนักเลือกตั้ง พรรคตกปลาบ่อเพื่อน พรรคพร้อมร่วมรัฐบาลหรือพรรคแทงกั๊ก ซึ่งตอนแรกถูกมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ดี เพราะอย่างไรก็ได้ร่วมรัฐบาล แต่เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้คะแนนเสียงจะไม่มาทางพรรคประเภทดังกล่าวเพราะคนต้องการความชัดเจน หลังๆ จึงเห็นหัวหน้าพรรค 2-3 พรรคออกมาประกาศจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น พรรคที่เน้นนโยบายเศรษฐกิจ พรรคประชานิยมหว่านแห ทั้งหมดนี้ทำให้ไม่ได้เห็นว่าพรรคการเมืองมีนโยบายเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจ เราจะเห็นพรรคไทยนิยม อยากใช้คำว่า Ultra nationalism เมื่อมาผนวกกับสังคมไทยก็จะเป็นพรรคไทยนิยม+คนดี

อีกกลุ่มหนึ่งคือพรรคที่มีฐานทางศาสนา หลายคนอาจนึกถึงพรรคน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้า แต่ส่วนตัวนึกถึงพรรคประชาชาติที่เป็นพรรคของ ดร.วันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา) ในภาคใต้ที่เชื่อว่าจะเป็นพรรคที่มีฐานทางอิสลามอย่างชัดเจนแม้พรรคจะบอกว่ามีความผสมผสานกันทางศาสนาอยู่ และอีกแบบหนึ่งคือพรรคที่เคลื่อนไหวทางสังคมอย่างเช่นพรรคสามัญชน สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายและคิดว่ายังมีช่องที่พัฒนาได้คือยังไม่เห็นพรรคที่เป็นตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนต่อกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนกลุ่มใหญ่สุดของสังคม

เชื่อว่านโยบายไม่ใช่ปัจจัยหลักของการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะพรรคการเมืองเสนอนโยบายออกมาคล้ายกันหมด อยู่ที่ใครจะเกทับได้มากกว่ากัน และการเกทับก็ไม่ใช่การทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือก เพราะคนเชื่อถึงความสามารถในการส่งนโยบาย (Policy Delivery) ซึ่งตรงนี้ พท. และ พปชร. ได้เปรียบ เนื่องจากเคยทำนโยบายออกมาได้แล้วจริง แต่สิ่งที่เป็นตัวแปรหลักคือ เชื่อว่าคนจำนวนมากจะลงคะแนนเสียงตามขั้วทางการเมืองและรอยแยกทางสังคม (Cleavage) อย่างเช่น เมื่อพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ถูกยุบ ผู้ลงคะแนนเสียงจะไม่ย้อนกลับไปเลือก ปชป. หรือ พปชร. หรือพรรคที่สนับสนุน คสช. เพราะฐานเสียงเดิมของเขาคือกลุ่มคนที่ไม่เอา คสช. รอยแยกตรงนี้ในสังคมไทยยังแข็งแรงอยู่มาก

แม้นโยบายไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่การเสนอนโยบายของพรรคครั้งนี้มีคุณูปการอย่างสูงมาก เพราะทำให้เราเห็นว่าปัญหาต่างๆ ที่ถูกหมกไว้ภายใต้การรัฐประหารถูกพรรคการเมืองคลี่ออกมา ประชาชนเห็นความเป็นไปได้ เห็นความฝันที่คนจะออกมาเสนอทางแก้ นี่คือข้อดีของการเลือกตั้งซึ่งทำให้กังวลใจเช่นกันว่าการเลือกตั้งจะจบอย่างไร เพราะตรงนี้เป็นเรื่องที่กลุ่มคนที่อยากจะเก็บสังคมไทยเอาไว้ในจุดเดิมกังวลอย่างมาก  

สิ่งที่ไม่เห็นในการเสนอนโยบายคือการออกนโยบายที่มาจากประชาชน อาจเป็นเพราะระยะเวลาเตรียมการเลือกตั้งสำหรับประชาชนนั้นสั้นมากเพราะเลื่อนอยู่เรื่อย พรรคการเมืองก็ไม่มั่นใจว่าเมื่อไหร่จะได้ลงเวทีสักที แต่ความแตกต่างที่เห็นคือ มีพรรคที่สร้างบทสนทนากับผู้เลือกตั้งในฐานผู้บริโภค มองว่าวิถีชีวิตเขาคืออะไร และออกนโยบายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเขา ซึ่งส่วนตัวก็มองว่าเป็นหัวใจหลักที่ทำให้ประชาชนอยากเลือกเช่นกัน ไม่ขอเอ่ยนโยบายเดี๋ยวจะหาว่าหาเสียงให้

นอกจากนั้นยังมีพรรคที่มีนโยบายแบบที่ส่งมาจากบนลงล่าง ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่านโยบายที่พรรคขับเคลื่อนสวนทางกับที่แคนดิเดตนายกฯ พูด สะท้อนถึงความไม่เข้มแข็งขององค์กรพรรค อีกประเด็นที่เถียงกันในสังคมออนไลน์คือการรณรงค์ให้ไปใช้สิทธิแบบมียุทธศาสตร์ (Strategic voting) หมายความว่า ถ้าพรรคหนึ่งได้ ส.ส. เขตมากไปแล้วจะไม่ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ แล้วจะแบ่งคะแนนให้อย่างไรบ้าง คำว่าเลือกแบบมียุทธศาสตร์นั้นอยู่ตรงกันข้ามกับคำว่าเลือกตามที่ชอบ (Sincere voting) ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการเลือกตามที่ชอบนั้นเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องด้วยกลไกการเลือกตั้งที่หนึ่งบัตรต้องเลือกทั้งผู้สมัคร เลือกพรรค และแคนดิเดตนายกฯ ทำให้การเลือกตามใจชอบแทบจะทำไม่ได้เลย อย่างไรก็ต้องเลือกแบบมียุทธศาสตร์

ยุทธศาสตร์-คณิตศาสตร์-การเมืองก่อนและหลังเลือกตั้ง ‘โมฆะ’ ยังเป็นไปได้

พอมีประเด็น ทษช. ถูกยุบ ประชาชนที่ตั้งใจจะเลือก ทษช. จะเลือกพรรคไหน ก็ต้องมียุทธศาสตร์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พรรคในฝั่งเดียวกันไม่ได้ส่งผู้สมัครก็จะเกิดปัญหา ที่สำคัญคือการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่มีคำถามว่า พรรคใหญ่สองพรรคจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อหรือไม่ ก็ตอบคำถามด้วยการคำนวณคร่าวๆ นักวิชาการ นักวิเคราะห์จำนวนมากประเมินว่าจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงต่อ ส.ส. หนึ่งคนจะสูงถึง 80,000-100,000 คะแนน โดยสมมติฐานส่วนตัวที่อาจจะผิด คือคิดว่าไม่น่าจะถึง ประมาณว่าถ้าคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 80 หรือ 40 ล้านคน คิดว่าจำนวนคะแนนที่ ส.ส. หนึ่งคนพึงมี คือ 40 ล้าน ลบบัตรเสีย บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน และคะแนนทิ้งน้ำ

คะแนนทิ้งน้ำในการเลือกตั้ง 2554 คือคะแนนที่ต่ำกว่าประมาณ 70,000 คะแนนจะไม่ถูกนำมาคิด และคะแนนไม่ประสงค์ลงคะแนน บัตรเสียที่มีประมาณร้อยละ 4-8 ต้องเอามาหักทิ้ง เมื่อประมาณว่าคนจะออกมาใช้สิทธิ 40 ล้านคนและอาจจะสูงกว่านี้ จะทำให้ ส.ส. หนึ่งคนต้องใช้คะแนนเสียงประมาณ 75,000 คะแนน แต่ตรงนี้เป็นสูตรที่เรียกว่าเหลือค่าเฉลี่ยสูงสุด (Largest Remainer) ถ้ามีพรรคที่ได้ไม่ถึง 75,000 คะแนนหลายพรรคก็จะกระจายที่นั่งได้ไม่ครบ 150 ที่นั่ง จะกลายเป็นการกระจายก่อนแล้วทอนกลับมา เขตที่พรรคการเมืองส่งน้อยที่สุดมีจำนวน 21 พรรค เขตที่ส่งมากที่สุดมี 44 พรรค เขตที่มีพรรคส่งมากที่สุดจะอยู่ราวๆ 34-39 พรรคการเมือง เมื่อพรรคมีเยอะ โอกาสที่คนไม่เลือกก็มีมาก ในปี 2554 ผู้สมัครบางคนได้ 5-6 คะแนน ก็คือจากครอบครัวของเขา เมื่อรวมคะแนนก็จะมีผู้สมัครที่คะแนนไม่ถึงเยอะมาก จากการเลือกตั้งปี 2554 คะแนนเสียงหลังหักบัตรเสียและไม่ประสงค์ลงคะแนนแล้ว หารด้วย ส.ส. ที่พึงมีในระบบบัญชีรายชื่อ จะได้โควต้า 250,000 คะแนนต่อ ส.ส. หนึ่งคน แต่ในทางปฏิบัติ พรรคอย่างพรรคมหาชนและประชาธิปไตยใหม่ที่ได้ไม่ถึง 250,000 ก็ได้ที่นั่งไปด้วย สิ่งนี้หมายถึงการกระจายกลับไปใหม่เมื่อพรรคหนึ่งๆ ได้ไม่ถึงโควต้า ดังนั้นคนที่รณรงค์เรื่องลงคะแนนเสียงแบบยุทธศาสตร์เพราะกลัวจะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อนั้น ก็ยังคงมีโอกาสอยู่แต่แน่นอนว่าจะลดทอนกัน

ส่วนสุดท้ายที่จะพูดคือเรื่องการร่วมรัฐบาล ประเมินดูคร่าวๆ พท. เคยได้สูงสุดร้อยละ 60 กว่าๆ ต่ำสุดคือร้อยละ 42 ดังนั้นก็คิดว่า พท. น่าจะได้ราวๆ ร้อยละ 40 กว่า คือประมาณ 16 ล้านคน แต่ว่า พท. ส่งแค่ 250 เขต ก็ลบไปราว 2.3 ล้านคะแนน โดยสรุปก็คิดว่า พท. ได้ 170-180 ที่นั่งบวกลบ พูดแบบกลางๆ ไม่ถล่มทลาย ไม่มีสึนามิทางการเมือง ส่วน ปชป. เมื่อปี 2548 ได้ต่ำสุดคือร้อยละ 28 ตอนนี้ ปชป. มีศึกทั้งภายในและภายนอก ก็มีสิทธิ์จะลดลงมาเหลือร้อยละ 20 ได้ ก็ให้ ปชป. ไว้ที่บวกลบ 100 ที่นั่ง

พปชร. คิดว่าไม่น่าเกิน 70 ที่นั่ง ประเมินจากฐานเสียงของ ส.ส. เก่าที่ไปดึงมา ซึ่งบวกได้ประมาณ 54-55 ที่นั่ง เนื่องจาก พปชร. เป็นพรรคใหม่ แต่ด้วยอภินิหารกลไกองค์กรอิสระ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ให้ไปเลย 70 รวมถึงพรรคที่หนุนๆ อยู่ก็น่าจะเป็น 80

ตัวแปรหลักที่ไม่ได้ถูกจินตนาการไว้ตั้งแต่แรก ไม่ได้อยู่ในสมการของการคิดระบบเลือกตั้งครั้งนี้คือพรรค อ.น.ค. เดิมคิดว่าพรรคที่ยังไม่เลือกข้าง และพรรคที่สนับสนุน คสช. จะมาช้อนโบนัสของพรรคใหญ่ที่ไม่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อไปได้ แต่การเกิดขึ้นของ อ.น.ค. เป็นอะไรที่คาดไม่ถึง กระแส “ฟ้ารักพ่อ” กระแสจุดยืนทั้งหลายก็เชื่อว่า อ.น.ค. จะได้ 30 ที่นั่งขึ้นไป อาจจะถึง 50 แน่นอนว่าจุดยืนของธนาธรและ อ.น.ค. คือไม่หนุน คสช. นอกจากนั้นยังมีพรรคเศรษฐกิจใหม่ของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่ได้ข่าวว่าได้กระแสจากประชาชนพอสมควร

คำถามหลักก็คือ พรรคที่ไม่หนุน คสช. จะได้เกิน 250 ที่นั่งไหม ตรงนี้สำคัญ เพราะแม้พรรคที่ประกาศชัดเจนว่าไม่หนุน คสช. ได้เกินนั้น ฝั่ง คสช. ก็ยังจัดตั้งรัฐบาลได้เพราะต้องการแค่ 126 ที่นั่ง แต่จะอยู่ใเป็นรัฐบาลอย่างไร ก็มีคนกระซิบว่าอยู่ได้ เพราะเขาจะใช้ สนช. โหวต พ.ร.บ. งบประมาณฯ ก่อน รัฐบาลนั้นก็จะอยู่ได้หนึ่งปีก่อนจะเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ อันนี้ก็เป็นอีกลูกเล่นหนึ่ง

ต่อให้พรรคที่เป็นแนวร่วมต้าน คสช. ต่อให้ชนะเป็นอันดับหนึ่งก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะไม่ถึง 376 ที่นั่ง ยกเว้นแต่ ส.ว. จะแปรพักตร์ แน่นอนว่า คสช. คุม ส.ว. ไม่ได้ทั้งหมด จาก 250 คนก็อาจจะมีสักร้อยคนที่ไม่ได้เลือกเอง แต่กระนั้นก็ไม่เชื่อว่าจะหันมาร่วมกับฝั่งต้าน คสช. เมื่อแนวทางที่หนึ่งเป็นไปไม่ได้ แนวทางที่สอง คิดว่าโอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลอีกครั้งคงเป็นไปได้ยาก เมื่อประเมินกระแสแล้ว จึงมาที่ความเป็นไปได้ที่สาม คือ ปชป. + พปชร. + พรรคอื่นๆ ที่พร้อมจะสนับสนุน แต่ไม่ได้ชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

ถ้าทั้งหมดนี้ไม่สำเร็จ บังเอิญฝั่งที่ไม่เอา คสช. ได้เกิน 251 สิ่งที่ชนชั้นนำจะต้องคิดคือ จะเกิดอะไรขึ้นหลังการเลือกตั้ง ถ้ามีรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพจะรอรับได้ไหม ดังนั้นอีกความเป็นไปได้คือการใช้ ม.272 ตั้งนายกฯ คนนอก แต่ต้องใช้คะแนนเสียงในสภาถึง 500 จากทั้งหมด 750 ถือว่าสูง คำถามคือทำได้ไหม ซึ่งเชื่อว่าทำได้ถ้ามีสัญญาณบางอย่างบอกมา เป็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้สำหรับการมีนายกฯ คนนอกและรัฐบาลแห่งชาติ แต่ถ้าเป็นรัฐบาลแห่งชาติก็อยากให้ประกาศภารกิจชั่วคราวระยะสั้น เช่น แก้รัฐธรรมนูญบางมาตราเช่น การเลือกตั้งที่ไม่ทำประโยชน์ให้ใครเลย ที่ตอนแรกถูกสร้างมาเป็นบันไดขั้นที่สี่ แต่ดันเป็นบันไดที่ผุและพัง เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว เช่น ไม่เกินหกเดือน

“อีกทางหนึ่งที่เพิ่งคิดได้หลังการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าคือ การโมฆะการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่องที่ดิฉันไม่อยากเห็นที่สุด เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยความรู้สึก ความผูกพัน เป็น emotional บ้าง คนบางคนพอรู้ว่าบัตรเลือกตั้งที่ตัวเองได้ไม่ตรงกับเขต กลัวว่าบัตรตัวเองจะไม่ถูกนับนี่ ร้องไห้นะคะ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ดิฉันคิดว่าได้สร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของของการเลือกตั้งในใจของประชาชน ปักหมุดอย่างแท้จริง ดังนั้นถ้าใครคิดจะทำให้เป็นโมฆะ อันนี้คุณใจร้ายมาก แต่ทั้งหมดนี้คือ ถ้าจะเป็นโมฆะ โอกาสที่จะเกิดขึ้น อย่างเช่นอะไรบ้าง เช่น กกต. ไม่สามารถประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการทั้งหมดภายใน 180 วัน หลัง พ.ร.บ. ลูกทั้งสี่ฉบับประกาศใช้แล้ว ก็คือภายในวันที่ 9 พ.ค. 2562 หรือมีนักร้อง ซึ่งเรามีนักร้องมืออาชีพจำนวนมากไปร้องด้วยประเด็นต่างๆ ของการจัดการเลือกตั้ง ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดการโมฆะได้”

“สิ่งที่ดิฉันขอจบไว้คือ ถ้ามันจำเป็นจะโมฆะเลือกตั้งหรือจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ดิฉันไม่ทราบว่าสังคมไทยจะรับได้หรือเปล่า สิ่งที่จะเกิดขึ้น ก็จบได้แค่ จุดจุดจุดค่ะ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท